“แมลงวัน ‘เปราะบาง” ต่อภาวะโลกร้อน”
แม้จะเป็นแมลงที่ดูน่ารำคาญในสายตาของเราแต่ก็เป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศไม่แพ้ผึ้ง และในตอนนี้นพวกมันกำลังเสี่ยงตายอยู่เงียบ ๆ โดยไม่ได้รับความสนใจ
เราพบแมลงวันได้ในทุกที่ พวกมันอยู่ในทุกแห่งคอยมาตอมอาหารและน้ำดื่มของเรา พร้อมกับนำเชื้อโรคต่าง ๆ แพร่กระจายไปด้วยซึ่งสร้างการเจ็บป่วยในหลาย ๆ ครั้ง จนเราจำเป็นต้องทิ้งอาหารจานนั้นแล้วไปหาวิธีจัดการกับแมลงวันตัวร้ายเหล่านี้
แต่แม้จะดูน่ารำคาญและน่าหงุดหงิดเท่าไหร่ แมลงวันเหล่านี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะแมลงผสมเกสรที่แพร่พันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของโลกไม่แพ้ผึ้ง กระนั้นเราก็แทบไม่ตระหนักเลยว่าแมลงที่พบได้ทั่วไปนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
ในงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Melttology ที่ได้ศึกษาการทนทานต่อความร้อนของแมลงชนิดต่าง ๆ ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของทวีปอเมริกา ซึ่งเผยให้เห็นว่าในขณะที่อุณหถูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ แมลงวันมีความเปราะบางมากกว่า และต่อความร้อนได้น้อยกว่าผึ้งอย่างมาก
“ผึ้งและแมลงวันมีความสำคัญต่อการผสมเกสรของพืช ทั้งในป่าและในภาคเกษตรกรรม” มาร์การิตา โลเปซ-อูริเบ (Margarita López-Uribe) รองศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายพันธุ์ของแมลงผสมเกสร กล่าว “อย่างไรก็ตามแมลงที่สำคัญเหล่านี้กำลังลดลงเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ยาฆ่าแมลง โรค และภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น
โลเปซ-อูริเบ อธิบายว่าแมลงวันมีบทบาทสำคัญในการเป็นแมลงผสมเกสรรองจากผึ้ง ในแง่ของปริมาณพืชผลและพื้นที่ที่มันผสมเกสร นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมและความหลากหลายของระบบนิเวศในป่า มันช่วยให้พืชสายพันธุ์ต่าง ๆ ขยายพันธุ์ได้
ในทางกลับกันแมลงวันก็เป็นแหล่งอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่น ต้นโกโก้ที่เป็นวัตถุดิบในการทำช็อกโกแลตเองก็พึ่งพาแมลงวันในการผสมเกสร
ตามการวิเคราะห์พืชผลทั่วโลกในปี 2020 ชี้ว่าพืชผลกว่า 105 ชนิดที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายนั้นได้รับประโยชน์จากแมลงผสมเกสรและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์ (27,000 ล้านล้านบาท) รวมถึงผัก ผลไม้ และถั่วด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ได้รับประโยชน์จากแมลงวันโดยเฉพาะแมลงวันดอกไม้ (hoverflies) และ แมลงวันหัวเขียว (blowflies) ที่มักจะเป็นแมลงผสมเกสรอันดับต้น ๆ รองจากผึ้งเสมอ
“ถึงเวลาแล้วที่แมลงวันจะได้รับการยอมรับมากขึ้นเกี่ยวกับบทบาทของมันในฐานะแมลงผสมเกสร” โลเปซ-อูริเบ อธิบาย “แมลงวันมีบทบาสำคัญ แต่พวกมันไม่ได้รับความสนใจมากนัก และก็มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกับผึ้ง”
สิ่งที่ทำให้แมลงวันมีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุดก็คือ ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิตัวที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกจุดดังกล่าวว่า ‘ค่าความร้อนวิกฤตสูงสุด’ หรือ CTMax ซึ่งก็คืออุณหภูมิสูงสุดที่สิ่งมีชีวิตดังกล่าวสามารถทนได้ก่อนที่จะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว
ในรายงานนี้ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลตลอดช่วงการล็อกดาวน์ของไวรัสโควิด-19 โดยมีข้อมูลจากทั่วทวีปอเมริกา และพบว่าผึ้งสามารถทนต่อความร้อนได้มากกว่าแมลงวันอย่างมาก โดยค่าเฉลี่ย CTMax ของผึ้งสูงกว่าแมลงวันถึง 2.3 องศาเซลเซียส
“เราส่งอุปกรณ์ทั้งหมดเพื่อทำการศึกษาให้นักศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้” โลเปซ-อูริเบ กล่าว “นักศึกษาเหล่านี้รวบรวมข้อมูลในบ้านเกิดของตัวเอง โดยใช้ห้องครัวเพื่อทำความเข้าใจความร้อนในระบบนิเวศที่แมลงเหล่านี้สามารถทนได้ เราสามารถมอบประสบการณ์การวิจัยระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิผลโดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ”
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ภูมิศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญต่อค่า CTMax ของแมลงด้วยเช่นกัน โดยพบว่าแมลงวันและผึ้งจากพื้นที่เขตร้อนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลอย่างมาก เช่น กาฮิกา ประเทศโคลอมเบียนั้นมีค่า CTMax ต่ำกว่าแมลงวันและผึ้งในพื้นที่กึ่งเขตร้อน ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่แมลงวัน แต่มีประโยชน์อย่างมากต่อทั้งระบบนิเวศเพื่อสร้างแนวทางการอนุรักษ์ที่ดีที่สุด
“ในพื้นที่อัลไพน์และซับอาร์กติก แมลงวันเป็นแมลงผสมเกสรหลัก” โลเปซ-อูริเบ กล่าว “การศึกษาครั้งแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคทั้งหมดนั้นอาจสูญเสียแมลงผสมเกสรหลักไปเมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศเหล่านั้น”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.technologynetworks.com