บีเวอร์สร้างเขื่อนแทนรัฐบาลเช็ก ประหยัดเงินทุนไป 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บีเวอร์สร้างเขื่อนแทนรัฐบาลเช็ก ประหยัดเงินทุนไป 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“โครงการสร้างเขื่อนในสาธารณรัฐเช็กหยุดชะงักหลังวางแผนมาเจ็ดปี

แต่บีเวอร์แปดตัวเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ได้ในชั่วข้ามคืน”

เจ้าหน้าที่ในภูมิภาค Brdy แห่งสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ถึงทางตัน เพราะแม้จะได้รับเงินทุนกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐในการสร้างเขื่อนใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ โครงการนี้กลับต้องหยุดชะงักไปหลังวางแผนมานานถึงเจ็ดปี เนื่องจากไม่สามารถขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ 

แต่แล้วเช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 พวกเขาตื่นขึ้นมาและพบว่าเขื่อนดังกล่าวถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยที่ไม่ได้เสียเงินไปแม้แต่เหรียญเดียว เพราะทั้งหมดนี้เป็นผลงานของบีเวอร์แปดตัว

“พวกบีเวอร์มักรู้ดีที่สุด” Jaroslav Obermajer ผู้อำนวยการสำนักงาน Czech Nature and Landscape Protection Agency สาขาภูมิภาค Central Bohemian กล่าวกับ Radio Prague International ซึ่งเป็นสื่อแรกที่รายงานข่าวนี้

บีเวอร์เป็นสัตว์ฟันแทะที่มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในน้ำ (Semi-aquatic rodents) พวกมันมักใช้หิน โคลน และกิ่งไม้ เป็นวัสดุในการสร้างเขื่อนกั้นลำธาร ทำให้เกิดพื้นที่ชุ่มน้ำที่เรียกว่า “บ่อบีเวอร์” (beaver ponds) ซึ่งสัตว์ชนิดนี้ใช้เป็นแหล่งหาอาหาร รวมทั้งเป็นเกราะกำบังปกป้องพวกมันจากสัตว์ผู้ล่า

บีเวอร์นั่งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเอลเบอ (Elbe) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในยุโรปกลาง ที่ไหลจากสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic) ผ่านประเทศเยอรมนีไปยังทะเลเหนือ สัตว์ชนิดนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น “วิศวกรระบบนิเวศ” เพราะมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและสร้างทรัพยากรขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง ภาพถ่ายโดย Dirk Eisermann/laif/Redux

นอกจากนี้ เขื่อนบีเวอร์ยังกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น แมลงน้ำ ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่มีขนาดใหญ่อย่างนกกระสา นกกระเรียนกู่ กวางมูส และควายไบซัน ยิ่งไปกว่านั้น เขื่อนบีเวอร์ยังทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟและแหล่งกักเก็บคาร์บอน แถมยังควบคุมน้ำท่วมได้อีกด้วย  

Gerhard Schwab ผู้ควบคุมบีเวอร์ประจำพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐบาวาเรีย (Bavaria) ในสังกัด Federal Nature Conservation Association เผยว่า เมื่อได้ทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาไม่รู้สึกแปลกใจเลย อย่างไรก็ตาม เขาไม่เชื่อแหล่งข่าวที่ระบุว่าเหล่าบีเวอร์สร้างเขื่อนขึ้นมาได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน

“ก็คงพอ ๆ กับการเชื่อว่าพีระมิดสร้างเสร็จภายในสัปดาห์เดียว” Schwab ตอบในอีเมล 

Schwab เสริมว่า แม้บีเวอร์จะสามารถทำให้น้ำท่วมพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ภายในคืนเดียว แต่การสร้างเขื่อนอย่างสมบูรณ์นั้นอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ดังนั้น กรณีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ไม่มีใครสังเกตเห็นผลงานของเหล่าบีเวอร์ จนกระทั่งพวกมันสร้างเขื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

บีเวอร์ วิศวกรระบบนิเวศ

นักวิทยาศาสตร์ให้คำจำกัดความของ “ecosystem engineers” หรือ “วิศวกรระบบนิเวศ” ว่าเป็นสัตว์ที่สามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและสร้างทรัพยากรขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือบีเวอร์ 

บีเวอร์ใช้ฟันหน้าที่แข็งแรงแทะต้นไม้และพืชพรรณต่าง ๆ พฤติกรรมดังกล่าวช่วยทำให้พื้นที่ป่าโล่งขึ้น นอกจากนี้ การที่พวกมันนำต้นไม้ที่โค่นลงมาไปใช้สร้างเขื่อน ยังช่วยชะลอการไหลของน้ำได้อีกด้วย

เขื่อนบีเวอร์บางแห่งมีขนาดใหญ่มาก โดยเขื่อนบีเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติวูดบัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ในประเทศแคนาดา มีความยาวเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลถึง 7 สนาม และมีขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ

ภาพถ่ายทางอากาศจาก Google Earth แสดงให้เห็นเขื่อนบีเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (World’s Largest Beaver Dam) ซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติวูดบัฟฟาโล (Wood Buffalo National Park) ประเทศแคนาดา

“ณ จุดนี้ พวกบีเวอร์จะทำอะไร ผมก็ไม่แปลกใจแล้วละครับ” Ben Goldfarb นักข่าวและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับบีเวอร์ ชื่อ Eager: The Surprising, Secret Life of Beavers and Why They Matter กล่าว

Goldfarb เสริมว่า สัตว์ฟันแทะที่มีน้ำหนักถึง 60 ปอนด์ชนิดนี้ นอกจากจะเป็นสัตว์ที่สร้างประโยชน์แก่สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดแล้ว พวกมันยังมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยเช่นกัน 

เช่น ในรัฐออริกอน (Oregon) บีเวอร์เข้าไปสร้างเขื่อนในพื้นที่ของโรงควบคุมคุณภาพน้ำฝนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เมื่อกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เข้าตรวจสอบอย่างละเอียด พวกเขาพบว่า เหล่าบีเวอร์สามารถกรองโลหะหนักและสารมลพิษอื่น ๆ ได้ดีกว่าโรงบำบัดน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นถึงสองเท่า

เนื่องจากในบางพื้นที่ กฎหมายยังไม่อนุญาตให้นำบีเวอร์เข้ามา บางชนเผ่า เช่น ชนเผ่า Yurok ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงเริ่มสร้างเขื่อนเลียนแบบเขื่อนของบีเวอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในลักษณะเดียวกับที่บีเวอร์ทำเท่านั้น แต่ยังอาจดึงดูดให้บีเวอร์เข้ามาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติได้อีกด้วย

ประโยชน์ของบีเวอร์ยังปรากฏให้เห็นหลังเหตุการณ์ไฟป่า Sharps Fire ในรัฐไอดาโฮ (Idaho) ซึ่งเผาผลาญภูเขาและป่าไม้จนมอดไหม้สุดสายตา ยกเว้นในหุบเขาที่บีเวอร์อาศัยอยู่ ที่ยังคงชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ และเขียวขจี

ใครทำดีก็ควรได้รับการยกย่อง

บีเวอร์สายพันธุ์ยูเรเชียน (Eurasian beavers) ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองของทวีปยุโรป เคยถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรของบีเวอร์สายพันธุ์นี้ได้รับการฟื้นฟู และมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในหลายพื้นที่ เช่น สาธารณรัฐเช็ก

Goldfarb กล่าวว่า เขาขอยกความดีความชอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสาธารณรัฐเช็ก 

“พวกเขาตระหนักว่าเหล่าบีเวอร์ทำหน้าที่ในระบบนิเวศได้ดี เพราะฉะนั้นแทนที่จะพูดว่า ‘นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราวางแผนไว้ในตอนแรก’ พวกเขาจึงพูดว่า ‘เราจะปล่อยให้พวกมันทำต่อไป พวกบีเวอร์ทำได้ดีมาก” Schwab ผู้เพิ่งกลับจากการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของบีเวอร์ กล่าว

Schwab รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รายงานว่า เขาพบหุบเขาในประเทศเบลเยียม (Belgium) ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบ่อน้ำและลำธาร ซึ่งคาดว่าเพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยฝีมือของบีเวอร์ นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังอันมหัศจรรย์ของสัตว์ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวิศวกรระบบนิเวศชนิดนี้

เขาทิ้งท้ายว่า “ลำธารที่ไม่มีบีเวอร์น่ะไม่เรียกว่าลำธารหรอก มันก็เป็นแค่น้ำเท่านั้นแหละ!”

เรื่อง Jason Bittel

แปลและเรียบเรียง พิมพ์มาดา ทองสุข

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ชวนรู้จัก บีเวอร์ วิศวกรน้อยผู้สรรค์สร้างเขื่อนในธรรมชาติ

 

Recommend