การเดินทางทะลุขีดจำกัด: นักวิทยาศาสตร์พบฉลามเพศเมียว่ายน้ำข้ามทวีปไกลกว่า 7,200 กิโลเมตร

การเดินทางทะลุขีดจำกัด: นักวิทยาศาสตร์พบฉลามเพศเมียว่ายน้ำข้ามทวีปไกลกว่า 7,200 กิโลเมตร

“ในช่วงการเดินทางจากประเทศโมซัมบิกไปไนจีเรีย

ของฉลามเพศเมียขนาด 2.4 เมตร ตัวนี้ต้องเจอกับเขตน่านน้ำที่เย็นจัด

ซึ่งเคยเป็นเหตุที่ทำให้ประชากรฉลามหัวบาตรในแอฟริกา

แยกจากกันมาเป็นเวลา 55,000 ปี”

เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ท่ามกลางทะเลใกล้เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย กัปตันชาวกานาที่ชื่อ ทูราวา ฮาคีม ไม่ได้คาดคิดเลยว่าลูกเรือของเขากำลังหมุนรอกดึงฉลามหัวบาตรที่จะสร้างสถิติระดับโลก มาบนเรือไม้ของเขา

ตามรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ecology ประจำเดือนนี้เผยว่า ฉลามหัวบาตรเพศเมียยาว 2.4 เมตรตัวนี้ได้ออกเดินทางว่ายน้ำโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เป็นระยะทางอย่างน้อย 7,242 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการเดินทางที่ไกลที่สุดของฉลามชนิดพันธ์ุนี้ อีกทั้งการผจญภัยครั้งนี้ยังเป็นบันทึกครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่ฉลามหัวบาตรว่ายน้ำข้ามผ่านมหาสมุทรสองแห่ง โดยว่ายจากช่องแคบโมซัมบิกในมหาสมุทรอินเดีย ผ่านไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ก่อนจะมุ่งขึ้นเหนือผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกไปไนจีเรีย

“ผมไม่อยากเชื่อเลยจริง ๆ ไม่คิดเลยว่ามันจะว่ายไปได้ไกลขนาดนั้น” ฮาคีมกล่าว

ขณะที่ลูกเรือกำลังชำแหละฉลามเพื่อนำเนื้อไปขายในตลาดท้องถิ่น ฮาคีมก็พบภาชนะทรงกระบอกสีดำขนาดเท่านิ้วมืออยู่ภายในร่างของมัน ซึ่งมีข้อความเขียนว่า “สำหรับการวิจัย มีรางวัลตอบแทนหากส่งกลับ” ด้วยความสงสัย ฮาคีมจึงส่งอีเมลไปยังที่อยู่ที่เขียนไว้ และได้ติดต่อกับไรอัน เดลี หัวหน้าผู้เขียนงานวิจัยและนักนิเวศวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม จากสถาบันวิจัยทางสมุทรศาสตร์ (Oceanographic Research Institute) ซึ่งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ดำเนินโครงการวิจัยในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตก โดยเดลีเป็นคนที่ฝังเครื่องส่งสัญญาณไว้ในตัวฉลามหัวบาตรตัวนี้ในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 2021

เดลีก็ตกใจและสงสัยไม่น้อยเช่น “ตอนแรกผมนึกว่าจะหลอกกัน เพราะโอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมันมีเพียงแค่หนึ่งในล้าน” เขากล่าว

การได้ฉลามตัวนี้มาถือเป็นความโชคดี เพราะมันให้ข้อมูลเชิงลึกต่อการเคลื่อนไหวของฉลามหัวบาตรและแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำลายข้อจำกัดทางสิ่งแวดล้อมที่เคยขวางกั้นการอพยพของสัตว์ทะเลบางชนิดในอดีต

ฉลามหัวบาตร (Bull shark) เป็นที่รู้จักในด้านความดุร้ายและมักอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง ซึ่งทำให้พวกมันดูน่ากลัว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ฉลามหัวบาตรเพศเมียตัวหนึ่งซึ่งมีความยาวถึง 2.4 เมตร ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยการว่ายน้ำไกลถึง 7,242 กิโลเมตร ภาพถ่ายโดย RYAN DALY

ฉลามตัวนี้ว่ายข้ามไปสู่อีกมหาสมุทรได้อย่างไร ?

นักวิจัยร่วมในการศึกษาเรื่องนี้คือ ดันซิน อาบิมโบลา โบลาจิ นักชีววิทยาทางทะเลจาก สถาบันสมุทรศาสตร์และการวิจัยทางทะเลไนจีเรีย (Nigerian Institute for Oceanography and Marine Research) ได้ยืนยันเรื่องราวของฮาคีมว่าเป็นความจริง

ในปีถัดจากที่ถูกติดเครื่องส่งสัญญาณ ฉลามหัวบาตรเพศเมียตัวนี้ถูกตรวจพบถึง 567 ครั้ง ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้และโมซัมบิก โดยผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณใต้น้ำจำนวน 43 เครื่องที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ

แต่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2022 ฉลามก็ได้หายตัวไป และไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลย จนกระทั่งลูกเรือของฮาคีมจับได้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมของปีที่แล้ว

ในการวิจัยเกี่ยวกับการอพยพของฉลาม เดลีและเพื่อนร่วมทีมได้ติดแท็กเพื่อติดตามฉลามจำนวน 102 ตัว ประกอบไปด้วยฉลามหัวบาตร ฉลามครีบดำ ฉลามเสือ และฉลามแนวปะการังในทวีปแอฟริกาใต้ โดยการเดินทางที่ไกลที่สุดที่เคยบันทึกไว้ของบรรดาฉลามเหล่านี้คือ 2,253 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามของระยะทางที่ฉลามหัวบาตรเพศเมียตัวนั้นเดินทาง ก่อนจะถูกจับใกล้เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย

ฉลามหัวบาตร โดยธรรมชาติแล้วอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง มันไม่ใช่ชนิดพันธุ์ที่เดินทางไกลในมหาสมุทรเปิด พวกมันชอบอยู่ในพื้นที่น้ำตื้น โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำจืดไหลมาบรรจบกับน้ำเค็ม และพวกมันต้องการอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นกว่า ประมาณ 18 องศาเซลเซียส เพื่อความอยู่รอด

ระหว่างการเดินทางขึ้นเหนือ ฉลามหัวบาตรเพศเมียตัวนี้ต้องเผชิญกับกระแสน้ำเย็นที่แผ่ตัวไปตามชายฝั่งตะวันตกของประเทศแอฟริกาใต้และนามิเบีย กระแสน้ำเย็นนี้กลายเป็น “กำแพง” ที่แยกประชากรฉลามหัวบาตรของแอฟริกาออกจากกันมานานกว่า 55,000 ปี

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฉลามตัวนี้อาจหลีกเลี่ยงความเย็นโดยว่ายน้ำอ้อมออกไปนอกฝั่ง เนื่องจากกระแสน้ำเย็นนี้อาจแผ่ออกไปไกลถึงราว 144 กิโลเมตร จากชายฝั่ง หรืออาจเป็นไปได้ว่ามันอาศัยกระแสน้ำอุ่นที่ไหลวนรอบประเทศแอฟริกาใต้เข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Benguela Niño หรือช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณนั้นอุ่นขึ้นผิดปกติ

ลักษณะภูมิอากาศเช่นนี้คล้ายกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกา ปลาน้ำเย็นบางชนิด เช่น ปลาแมกเคอเรลและปลาซาร์ดีนก็ถูกผลักขึ้นไปทางเหนือในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ Benguela Niño เช่นกัน 

เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้นและกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน เดลีระบุว่ากำแพงของกระแสน้ำเย็น Benguela นี้มีโอกาสพังทลายบ่อยขึ้น ซึ่งอาจทำให้สัตว์ทะเลสามารถเคลื่อนย้ายข้ามละติจูดได้ด้วย  การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นีโญเหล่านี้ อาจทำให้สมดุลของระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนไปทั้งหมด ส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่สาหร่าย แพลงก์ตอน ไปจนถึงปลาฉลาม 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการอพยพของฉลามหัวบาตรอาจเป็นข่าวดีก็ได้ “ถ้ามันหมายถึงการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมที่มากขึ้น โดยทั่วไปมันก็เป็นเรื่องที่ดี เราเองก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน” เดลีอธิบาย

​​เดลีสันนิษฐานว่ามันอาจเป็นฉลามวัยเยาว์ที่ “แค่ออกสำรวจโลก” เนื่องจากโดยปกติแล้ว ฉลามเพศเมียจะยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์จนกว่าจะอายุประมาณ 20 ปี และเมื่อถึงเวลานั้น พวกมันจะกลับไปยังปากแม่น้ำเดิมซ้ำ ๆ เพื่อวางไข่ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น พวกมันอาจออกเดินทางไกลเพื่อ “ค้นหาจังหวะชีวิตและเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง” เขากล่าว

เรเชล เกรแฮม นักชีววิทยาฉลามที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษานี้ ทั้งยังเป็นผู้อำนวยการบริหารของ MarAlliance องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์ที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ได้แสดงความคิดเห็นว่า “การเดินทางของฉลามเพศเมียตัวนี้ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกเลยก็ได้” 

ฉลามหัวบาตรอาจเดินทางไกลกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คิดไว้ หรือฉลามเพศเมียตัวนี้อาจเป็น “แกะดำของฝูงที่เลือกเส้นทางที่ต่างสุดขั้ว เพื่อสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ชนิดพันธุ์” เกรแฮมเล่าเสริม

อันตรายที่ฉลามเผชิญ

แม้จะเดินทางไกลอย่างน่าทึ่ง แต่ฉลามเพศเมียตัวนี้ก็ไม่อาจสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ หลังต้องพบจุดจบแบบที่ฉลามทั่วโลกต้องเผชิญ นับตั้งแต่ปี 1970 ตัวเลขฉลามทั่วโลกลดลงไปกว่าครึ่ง โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการลดจำนวนลง มีปัจจัยหลักมาจากการจับปลาเกินขนาด แต่กว่าสามในสี่ของฉลามราว 100 ล้านตัวที่ถูกจับในแต่ละปี ไม่ใช่เป้าหมายของการล่า หากแต่พวกมันถูกพรากชีวิตไปโดยไม่ตั้งใจ (เป็นเหยื่อจากการตกปลาเชิงพาณิชย์)

เมื่อปริมาณปลาชนิดอื่นทั่วโลกลดฮวบลง ผู้คนจำนวนมากจึงหันมาพึ่งเนื้อฉลามเป็นแหล่งโปรตีนแทน โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกาใต้ซาฮารา เช่น ไนจีเรีย ที่ผู้คนยังต้องพึ่งพาการประมงในการยังชีพ

“มันไม่มีโอกาสหนี เพราะมีการจับปลาเยอะมาก เหมือนกับฉลามกำลังวิ่งฝ่าดงอันตราย ไม่ว่าจะไปประเทศไหน พวกมันก็ต้องเจอกับภัยคุกคามหลายแบบ แถมยังต้องรับมือกับโลกร้อนอีกด้วย” เดลีกล่าว

ฮาคีมเล่าว่าลูกเรือของเขาไม่ได้ตั้งใจจับฉลามหัวบาตรเพศเมียตัวนั้นเลย มันเผลอกินเหยื่อที่เตรียมไว้สำหรับปลาหมอทะเลหรือปลากระพงแดงที่มีราคาดีกว่า

เพื่อให้ฉลามยังคงอยู่รอดได้ รวมถึงตัวที่อาจสร้างสถิติใหม่ในอนาคต เกรแฮมกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องร่วมมือกับชาวประมงอย่างฮาคีมมากขึ้น เพื่อช่วยติดตามการเคลื่อนที่ของฉลาม และเพื่อเรียนรู้ว่ามีสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เดินทางข้ามมหาสมุทรเช่นเดียวกันอีกหรือไม่


“ชาวประมงคือเพื่อนร่วมงานของเราในด้านวิทยาศาสตร์” เกรแฮมกล่าว “พวกเขารู้เรื่องทะเลเหมือนเรียนมาทั้งชีวิต”

ความร่วมมือรูปแบบใหม่นี้ อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมากขึ้นว่าพวกมันกำลังย้ายถิ่นไปที่ไหน และเพราะเหตุใด

อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจเปิดทางให้สัตว์ทะเลเขตร้อนขยายถิ่นไปยังพื้นที่ใกล้ขั้วโลกมากขึ้น ซึ่งช่วยให้พวกมันรอดจากการประมงหรือทำให้หาบ้านใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทำให้เกิดเหตุการณ์อากาศเย็นจัดรุนแรงขึ้นในพื้นที่เดิมที่พวกมันเคยอาศัยอยู่ เช่น เหตุการณ์กระแสน้ำเย็นตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 2021 ที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปถึง 81 ชนิดพันธุ์ รวมถึงฉลามด้วย

“มันเหมือนโดนกับดัก อุณหภูมิน้ำอาจอุ่นขึ้นก็จริง แต่แล้วก็เกิดกระแสน้ำเย็นพัดแรงขึ้น สัตว์พวกนี้เลยอาจติดอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันเป็นที่สุดท้ายที่สัตว์เขตร้อนจะอยู่ได้ สุดท้ายพวกมันก็ไม่รอด” เดลีกล่าว

เรื่อง Brianna Randall

แปลและเรียบเรียง ญาณิศา ไชยคำ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : เมธาวี จึงเจริญดี : นักวิจัยฉลาม

กับบทพิสูจน์ที่ ‘ไม่ง่าย’ ในประเทศไทย

Recommend