โลกร้อนทำฉลามอพยพช้าลง: เสี่ยงถูกมนุษย์จับ ส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศ

โลกร้อนทำฉลามอพยพช้าลง: เสี่ยงถูกมนุษย์จับ ส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศ

“อุณหภูมิของมหาสมุทรที่เปลี่ยนไปกำลังทำให้พฤติกรรม

การอพยพของฉลามเปลี่ยน แทนที่พวกมันจะอพยพลงใต้เหมือนปกติ

แต่ฉลามจำนวนกลับอ้อยอิ่งอยู่นานขึ้นเกือบ 1 เดือน”

ผลการวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Conversation Biology แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนทำให้ฉลามบางสายพันธุ์มีการอพยพลงช้าลงตั้งแต่ 1-29 วัน ความล่าช้านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการอนุรักษ์ฉลาม และความสมดุลของระบบนิเวศภายในมหาสมุทรแอตแลนติก 

“ทั้งอุณหภูมิและระยะเวลาของแสง (ความยาวของกลางวันกลางคืน) ต่างมีอิทธิพลต่อช่วงเวลาการอพยพของฉลามในการเดินทางลงใต้” มาเรีย แมนซ์ (Maria Manz) นักศึกษาปริญญาเอกจากสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและชั้นบรรยากาศ (SoMAS) ของมหาวิทยาลัยบรู๊ก กล่าว “และมีแนวโน้มว่าทั้งสองปัจจัยนี้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการอพยพโดยรวม”

พร้อมเสริมว่า “แบบจำลองของเราได้ทำนายการอพยพภายใต้สถานการณ์อุณหภูมิน้ำในทะเล(ที่เปลี่ยนแปลงไป)ไว้ว่า สิ่งมีชีวิตจะชะลอการเริ่มต้นอพยพลงไปทางใต้ นอกจากนี้เรายังพบความแตกต่างทั้งในระดับภูมิภาคและชนิดพันธุ์เกี่ยวกับระยะเวลาการอพยพของฉลามที่คาดการณ์ไว้ด้วย”

ฉลามนักเดินทาง

โดยทั่วไปแล้วนักวิทยาศาสตร์ให้คำนิยามการอพยพลงไปทางใต้ไว้ว่า เป็นการตรวจพบฉลามประจำครั้งล่าสุดที่เคลื่อนตัวไปตามแนวละติจูดไหล่ทวีปของภูมิภาคแอตแลนติก โดยแบ่งการเคลื่อนตัวตาม 5 พื้นที่ของมหาสมุทรตลอดแนวชายฝั่งตะวันออก 

จากนั้นจึงมุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ฉลามที่มีการอยพยย้ายถิ่นฐานจำนวนมากเป็นประจำทุกปี จากบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันตกหรือก็คือ ‘ตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังแคนาดา’ 

จากนั้นเมื่ออากาศเย็นลงในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ฉลามเหล่านั้นก็จะเริ่มว่ายน้ำไปยังถิ่นที่อยู่ทางใต้ หรือก็คือ ‘จากรัฐแคโรไลนาลงไปยังฟลอริดา’ ซึ่งฉลามเหล่านั้นที่ถูกติดตามได้แก่  ฉลามครีบดำ, ฉลามดัสกี้, ฉลามแซนด์บาร์, ฉลามเสือทราย และฉลามขาว จำนวนทั้งหมด 155 ตัว

โดยทีมวิจัยได้ติดตามฉลามแต่ละสายพันธุ์ด้วยตัวรับเสียงที่จะตรวจจับแท็กจากพื้นทะเลอย่างต่อเนื่องเมื่อฉลามเข้ามาใกล้ในระยะประมาณ 900 เมตร และตัวแท็กเองที่ติดกับฉลามแต่ละตัวซึ่งจะคอยบอกตำแหน่งวันเวลาเฉพาะตัว นักวิทยาศาสตร์ติดตามเป็นเวลาทั้งหมด 5 ปี (2018-2022) 

เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ทีมวิจัยก็นำมาพัฒนาเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำการเคลื่อนไหวของฉลามแต่ละสายพันธุ์ และเพื่อระบุตัวแปรสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการอพยพลงใต้ของพวกมัน 

“ผลของแบบจำลองนี้ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลที่คาดการณ์ไว้ตลอดหลายทศวรรษ อาจทำให้การอพยพของฉลามตามชายฝั่งเดินทางไปใต้ในฤดูใบไม้ร่วงล่าช้าออกไป” แมนซ์ กล่าว “เนื่องจากฉลามหลายชนิดยังคงอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยทางตอนเหนือเป็นเวลานานกว่าเดิม” 

“ผลการศึกษาของเราสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งอุณหภูมิและช่วงแสง เป็นตัวกำหนดระยะเวลาการอพยพของฉลาม” ทีมวิจัยเสริม 

โดยรวมแล้วพวกเขาพบว่า ฉลามบางสายพันธุ์เช่น ฉลามแซนด์บาร์มีระยะเวลาล่าช้านานที่สุดถึง 29 วัน ขณะที่ฉลามขาวและฉลามเสือทรายมีระยะเวลาล่าช้าน้อยที่สุดราว 1 วันเท่านั้น นักวิจัยเชื่อว่า อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปนี้อาจส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งโดยเฉพาะอาหารของฉลาม จึงทำให้พวกมันมีการอพยพที่ไม่เหมือนเดิม

สิ่งที่น่ากังวล

หากฉลามเลื่อนการอพยพออกไป แต่มนุษย์ยังทำกิจกรรมเหมือนเดิมตามกำหนดเวลา นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อาจนำไปสู่ปัญหาได้เช่น การประมงเชิงพาณิชย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ของสหรัฐฯ) มักจะเพิ่มขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง แต่หากฉลามยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนจับโดยไม่ได้ตั้งใจ

“ผลการวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการจับสัตว์น้ำอย่างไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการใช้งานแบบผสมผสาน” ทีมวิจัยเขียน 

ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่ตรงกันของเวลาอาจลดความสำเร็จในการล่าเหยื่อไปจนการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะฉลามแซนด์บาร์ที่ล่าช้าสุด (29 วัน) ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว อาจโดนจับมากขึ้นและสืบพันธุ์ได้ช้าลง นอกจากนนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับระบบนิเวศในระยะยาวอีกด้วย 

“การศึกษาของเราเป็นการเพิ่มหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ประชากรฉลามที่อพยพนั้นจะตอบสนองต่อภาวะโลกร้อนอย่างไร ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงพลวัตของระบบนิเวศในภูมิภาคและการเผชิญกับภัยคุกคามจากมนุษย์” แมนซ์ ทิ้งท้าย

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://conbio.onlinelibrary.wiley.com

https://www.earth.com

https://phys.org


อ่านเพิ่มเติม : เมธาวี จึงเจริญดี : นักวิจัยฉลามกับบทพิสูจน์ที่ ‘ไม่ง่าย’ ในประเทศไทย

Recommend