ทุกปีมีฉลามถูกฆ่ามากกว่า 100 ล้านตัว ขณะที่มีสถิติฉลามจู่โจมคนทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิดปีละประมาณ 80 ครั้งเท่านั้น
รายงานการวิจัยฉบับหนึ่งที่ศึกษาการลดลงของฉลามทั่วโลกยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบริเวณที่ประชากรฉลามและกระเบนหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก โดยฝั่งอันดามันมีปริมาณฉลามที่จับได้ลดลงกว่าร้อยละ 96 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับสถานะของประเทศไทยที่กลายเป็นผู้ส่งออกหูฉลามรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก แซงหน้าจีนและฮ่องกง ตามข้อมูลระหว่างปี 2000-2011 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO
งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Fish Biology โดยนักวิจัยคนไทย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย พบว่าความหลากหลายของปลาฉลามที่จับได้ลดลงจากงานวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก รวมทั้งการลดลงอย่างน่าตกใจของฉลามขนาดใหญ่ชนิดที่โตช้า และใช้เวลานานกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะกลุ่มฉลามหัวค้อน (sphyrinid) และกลุ่มฉลามครีบดำ (carcharhinid) นอกจากนี้ฉลามที่พบระหว่างการสำรวจยังเป็นฉลามวัยเด็กและตัวอ่อนเป็นส่วนใหญ่ บ่งชี้ปัญหาสำคัญอีกประการว่า มีการทำประมงในแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน แน่นอนว่าฉลามเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เติบโตขึ้นมาทดแทนรุ่นพ่อรุ่นแม่ สภาพการณ์ดังกล่าวตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่า ประชากรฉลามหลายชนิดในประเทศไทยน่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติและเสี่ยงต่อการหมดไปจากทะเลไทยแล้ว
มองไปทั่วโลก สถานการณ์ของฉลามก็อยู่ในภาวะเสี่ยงไม่ต่างกัน ฉลามหลายชนิดมีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 90-95 ภายในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา มีการประเมินว่าทุกปีมีฉลามถูกฆ่าจากการจับทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมากกว่า 100 ล้านตัว หรือคิดเป็นวันละกว่า 200,000 ตัว ชั่วโมงละ 10,000 ตัว นาทีละ 200 ตัว วินาทีละ 3 ตัว ขณะที่มีสถิติฉลามจู่โจมคนทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิดปีละประมาณ 80 ครั้งเท่านั้น
การจะอนุรักษ์ฉลามไว้ได้เราจำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ ทัศนคติใหม่ต่อฉลาม นอกจากงดบริโภคหูฉลามและควบคุมการจำหน่ายมากกว่านี้ เรายังต้องช่วยกันคิดและวางกติการ่วมกันใหม่ว่า เราจะใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกันอย่างไร เราจะจัดการประมงอย่างไรให้มีความยั่งยืน เราจะกำหนดและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลกันอย่างไรให้เข้มแข็งจริงจัง
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศในท้องทะเลเป็นสายใยที่สลับซับซ้อน และฉลามคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการควบคุมให้ระบบนิเวศอันเปราะบางนี้ดำเนินต่อไปได้ หากวิวัฒนาการ 400 ล้านปีของฉลามต้องมาพบกับจุดจบในยุคมนุษย์ครองโลก เราน่าจะพอคาดเดาได้ไม่ยากว่า จุดจบของทะเลและสายพันธุ์มนุษย์จะเป็นอย่างไร
เรื่อง เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
อ่านเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง:
Arunrugstichai, S., True, J.D. & White, W.T. (2018). Catch composition and aspects of the biology of sharks caught by Thai commercial fisheries in the Andaman Sea. Journal of Fish Biology, in press doi:10.1111/jfb.13605
Davidson, L. N., Krawchuk, M. A. & Dulvy, N. K. (2016). Why have global shark and ray landings declined: improved management or over-fishing? Fish and Fisheries 17, 438–458. https://doi.org/10.1111/faf.12119
Dent, F. & Clarke, S. (2015). State of the global market for shark products. FAO Fisheries and Aquaculture Technical Paper 590. Rome: FAO. http://www.fao.org/3/a-i4795e.pdf
Dulvy, N.K. et al. (2014). Extinction risk and conservation of the world’s sharks and rays. eLife 2014;3:e00590. DOI: 10.7554/eLife.00590
Krajangdara, T. (2005). Species, maturation and fishery of sharks in the Andaman Sea of Thai- land. Thai Fisheries Gazette 48, 90–108 (in Thai).