ชะตากรรมบนเส้นด้ายของปลาโรนัน
ปลาโรนันจุดขาว (White-spotted Guitarfish) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchobatus australiae 30 ตัวที่เพิ่งเข้ามาติดอวนจมปูของชาวบ้านบริเวณทะเลสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นรายงานการค้นพบที่น่าตื่นเต้น เพราะปลาโรนันจัดเป็นกลุ่มปลาทะเลหายากที่เรามีข้อมูลด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาน้อยมาก
ปลาโรนันจุดขาวจัดเป็นปลากระเบนขนาดใหญ่ในวงศ์ Rhynchobatidae มีลักษณะคล้ายปลาโรนิน (Bowmouth Guitarfish) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Rhina ancylostoma แต่มีปลายจะงอยปากแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีแถวหนามขนาดเล็กบนลำตัวด้านบน ทั่วโลกพบปลากระเบนในวงศ์นี้ทั้งสิ้น 8 ชนิด ในประเทศไทยพบ 4 ชนิดมีชื่อเรียกรวมๆกันว่าปลาโรนันจุดขาว ปลาโรนันจุดขาวชนิด R. australiae พบได้ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
จากข้อมูลที่มีอยู่บ่งชี้ว่า ปลาโรนันจุดขาวอาศัยอยู่ในน่านน้ำจากบริเวณใกล้ฝั่งไปจนถึงไหล่ทวีป โตเต็มที่อาจมีความยาวถึง 223 เซนติเมตรสำหรับเพศเมีย และน่าจะยาวถึง 300 ซมสำหรับเพศผู้ โดยปลาชนิดนี้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่ความยาวประมาณ 131 เซนติเมตร รายงานการศึกษาเมื่อ 40 ปีที่แล้วจากรัฐควีนส์แลนด์ในออสเตรเลียพบว่า ปลาโรนันอาศัยกินปูและสัตว์ที่มีเปลือกแข็งชนิดอื่นๆ ปลาในวงศ์นี้ออกลูกเป็นตัว
ภัยคุกคามสำคัญของปลาโรนันจุดขาวคือการถูกจับทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจด้วยเครื่องมือประมงทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ตลอดถิ่นกระจายพันธุ์ ความที่เนื้อปลาชนิดนี้เป็นที่ต้องการสำหรับการบริโภคในเอเชีย รวมทั้งครีบขนาดใหญ่ที่สามารถขายได้ในราคาสูง ทำให้ปลาที่ถูกจับได้มักไม่ได้รับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ว่ากันว่าปลาโรนันจุดขาวเป็นปลากระดูกอ่อนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย เพราะครีบหลังและครีบหางของปลาชนิดนี้จัดว่ามีคุณภาพเยี่ยมและขายได้ราคาสูงมาก มีรายงานว่าครีบคู่หนึ่งสามารถขายได้เกือบ 400 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม นี่เป็นราคาเมื่อ 22 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1996)
ความเสี่ยงต่อการถูกจับด้วยเครื่องมือประเภทต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น อวนลาก อวนลอย (อวนติดตา) และเบ็ด ประกอบกับสามารถขายได้ราคาดี จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าประชากรปลาชนิดนี้ลดจำนวนลงตลอดเขตการแพร่กระจาย ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีการทำประมงอวนติดตาโดยมีเป้าหมายจับปลาโรนินและโรนัน พบว่าปริมาณการจับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับโลกนักวิทยาศาสตร์จึงจัดให้สถานภาพปลาโรนันจุดขาวมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ตากหลักเกณฑ์ของบัญชีรายชื่อสัตว์ที่ถูกคุกคามในระดับโลกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Threatened Species)
ปลาโรนันจุดขาว 30 ตัวนับว่าโชคดีที่มีคนตั้งใจรับซื้อจากชาวประมงเพื่อนำไปปล่อยคืน แม้จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่โดยทีมสัตวแพทย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บ่อพักของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมประมง ทว่าสภาพของปลาที่บอบช้ำจากการถูกจับมัดหางรวมกัน ผนวกกับการขนส่งและคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ปลาโรนันค่อยๆ ตายลงเกือบทั้งหมด เหลือรอดเพียงปลาโรนันขนาดเล็ก 1 ตัวและขนาดใหญ่อีก 1 ตัว ซึ่งเมื่อได้รับยาเข้าไปก็มีสภาพดีขึ้นและแข็งแรงพอที่จะได้รับการปล่อยคืนสู่ท้องทะเล
ข่าวดีในข่าวร้ายของเรื่องนี้คือการยืนยันสถานภาพการมีอยู่ที่เป็นปัจจุบันและแหล่งอาศัยของปลาโรนันจุดขาวในอ่าวไทย ซึ่งอาจเป็นแหล่งรวมตัวเพื่อผสมพันธุ์ หรือพื้นที่เลี้ยงดูตัวอ่อนของปลาโรนัน แนวทางการอนุรักษ์ที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือการเร่งสำรวจและศึกษาแหล่งอาศัยในธรรมชาติเพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจใช้แนวทางการซื้อคืนเพื่อไถ่ชีวิตในกรณีที่ชาวประมงจับได้ การทำความเข้าใจและการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ชาวประมงเกิดความมั่นใจในการรายงานข้อมูล และทราบ แนวทางการช่วยชีวิตในกรณีที่ติดเครื่องมือประมงมาโดยไม่ตั้งใจ มาตรการทั้งหมดควรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปลาโรนันตัวสุดท้ายจะถูกจับออกมาจากทะเลไทย
เรื่อง เพชร มโนปวิตร
ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
อ่านเพิ่มเติม