น้ำประปาเค็ม จากผลกระทบของน้ำทะเลหนุน

น้ำประปาเค็ม จากผลกระทบของน้ำทะเลหนุน

ในช่วงนี้ การประปานครหลวงเปิดเผยว่า เกิดสถานการณ์ น้ำประปาเค็ม ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกมีค่าความเข้มข้นของคลอไรด์สูงกว่าค่ามาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งกำหนดให้น้ำประปามีปริมาณคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีช่วงเวลาเกิดน้ำประปาเค็ม 6-12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากนำไปบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีอาการบางประการ เช่น โรคไต หรือความดันโลหิตสูง

น้ำประปาเค็ม มีสาเหตุมาจากแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปาถูกน้ำทะเลรุกล้ำ เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมีไม่เพียงพอในการผลักดันน้ำเค็ม เมื่อน้ำทะเลรุกล้ำขึ้นมาถึงจุดที่มีการผันน้ำเข้าคลองประปา จึงทำให้น้ำดิบที่เข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปามีค่าความเข้มข้นของคลอไรด์สูงกว่าปกติ ซึ่งระบบการผลิตน้ำประปาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นไม่สามารถกำจัดคลอไรด์ในน้ำได้ จึงทำให้เกิดภาวะ “น้ำประปาเค็ม”

น้ำประปาเค็ม, น้ำประปากรุงเทพ, การประปานครหลวง,

น้ำประปาเค็มจะพบได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูแล้ง และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงเวลาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเขตศูนย์สูตรมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติตั้งแต่ 0.5 ºC ขึ้นไป ส่งผลให้เกิดพายุฝนที่รุนแรงบริเวณชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่ประเทศที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไทย จะเกิดความแห้งแล้งมากผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำประปาเค็มมักพบได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่นี้รับน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำประปา 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำสามเสน โรงงานผลิตน้ำบางเขน และโรงงานผลิตน้ำธนบุรี ภายใต้การดูแลของการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งโรงประปาเหล่านี้รับน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จุดรับน้ำ ตำบลสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีระยะทางห่างจากอ่าวไทยประมาณ 90 กิโลเมตร

ดังนั้น ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำจึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำดิบที่เข้าสู่โรงประปาทั้ง 3 แห่ง มีความเค็มสูงขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำประปาในประเทศไทยเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นในการกำจัดความขุ่นและการฆ่าเชื้อโรคจากแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีขั้นตอนในการผลิตน้ำประปาเริ่มจากการรวมตะกอนที่แขวนลอยในน้ำโดยการเติมสารเคมีและปรับค่าความเป็นกรดด่าง

น้ำประปาเค็ม, น้ำประปากรุงเทพ, การประปานครหลวง,

จากนั้นจึงทำการตกตะกอนเพื่อแยกของแข็งแขวนลอยออก ก่อนจะผ่านเข้าสู่กระบวนการกรองเพื่อให้ได้น้ำใสออกมา และผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนก่อนจ่ายออกสู่ผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบผลิตนั้น ไม่มีระบบใดเลยที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับกรณีที่น้ำดิบมีปริมาณคลอไรด์สูง จึงทำให้ปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำส่งผลโดยตรงต่อความเค็มของน้ำประปา

ทางเลือกหนึ่งที่โรงงานผลิตน้ำประปาใช้ในการรับมือสถานการณ์น้ำทะเลรุกล้ำ คือการหยุดผลิตน้ำประปาในช่วงที่เกิดน้ำทะเลหนุนสูง แต่ก็เป็นทางเลือกที่ทำได้ชั่วคราวในกรณีที่น้ำทะเลหนุนเพียง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูงติดต่อกันนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การประปานครหลวงจะไม่สามารถหยุดกระบวนการผลิตน้ำประปาได้เพราะน้ำประปาที่สำรองไว้มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการส่งจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ

น้ำประปาเค็ม, น้ำประปากรุงเทพ, การประปานครหลวง,

น้ำประปาที่มีความเค็มสูงเกิดค่ามาตรฐานนี้สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคได้ตามปกติ แต่สำหรับการบริโภคแล้วอาจทำให้เกิดรสที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งหากเป็นผู้ใช้น้ำที่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ การบริโภคน้ำที่มีความเค็มเกิดค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ แต่สำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น คงต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาที่ปลายทางเป็นประการแรก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำประปาที่มีความเค็ม อาทิ การเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำเป็นประเภทที่สามารถจัดการกับคลอไรด์ในน้ำได้ หรือการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดสำหรับการบริโภค

ผลกระทบของน้ำประปาเค็มที่มีต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากภาวะประปาเค็มนี้ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคน้ำประปาเค็มในช่วงนี้ยังไม่มีผลต่อคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะโซเดียมในน้ำประปายังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน แต่จะมีผลในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งไตยังทำหน้าที่ขับโซเดียมได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีผลต่อผู้ป่วยโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะจะทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายสูงขึ้น

ลดการเติมเครื่องปรุง – ใช้การกรองน้ำระบบ RO ช่วยแก้ปัญหา – ห้ามแก้ปัญหาโดยการต้มน้ำ

เนื่องจากการใช้น้ำประปาในช่วงนี้ทำให้เรามีโอกาสได้รับโซเดียมมากขึ้น ดังนั้น การประปานครหลวงได้แนะนำให้ลดการเติมเครื่องปรุงให้น้อยลงจากการใช้นํ้าประปาปรุงอาหารช่วงนี้ไปก่อน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำในการรับมือปัญหาน้ำเค็มว่า การบริโภคน้ำดื่มที่ถูกต้องก็คือการเอาไปผ่านระบบที่ทำให้เกลือแร่หายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น การกรองด้วยระบบ Reverse osmosis หรือระบบอาร์โอ (RO) หรือการกลั่นน้ำ ซึ่งได้จากเครื่องกรองน้ำแบบอาร์โอที่เป็นเครื่องกรองน้ำแบบมีความละเอียดสูง

การกรองน้ำระบบนี้คือการกรองโดยใช้แรงดันให้น้ำผ่านเยื่อเมมเบรน (Membrane) ที่กรองน้ำได้ละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน จึงสามารถกรองโซเดียมที่ปะปนมากับน้ำได้ โดยน้ำที่ได้มาจะมีความบริสุทธิ์ถึง 95% จึงเป็นระบบกรองน้ำที่สามารถรับมือกับภาวะน้ำประปาเค็มได้ แต่ก็ไม่ควรดื่มน้ำที่ได้จากการกรองประเภทนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะการกรองน้ำระบบนี้ทำให้แร่ธาตุในน้ำที่จำเป็นต่อร่างกายในการซ่อมแซมและเสริมสร้างกระดูกและฟัน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันต่างๆให้ร่างกาย อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิกา ฟลูออไรด์ และซิงก์ (สังกะสี) หายไปด้วย ทำให้ร่างกายอาจขาดแร่ธาตุที่จำเป็นได้

เครื่องกรองน้ำในบางครัวเรือนเป็นระบบอาร์โออยู่แล้ว หรือแม้แต่ตู้กดน้ำหยอดเหรียญที่เป็นระบบอาร์โอก็ให้ผลเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้บริโภคต้องเลือกตู้กดน้ำที่มีหลักฐานการเปลี่ยนไส้กรองน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือบางคนอาจแก้ปัญหาโดยการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดบริโภค ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ เพียงแต่ต้องเป็นน้ำดื่มที่มีตราสัญลักษณ์ อย. และผ่านการกรองน้ำด้วยระบบอาร์โอ

รองศาสตราจารย์เจษฎาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มีความเชื่อว่าการต้มน้ำจะทำให้ความเค็มหายไป ซึ่งความจริงแล้วการทำเช่นนั้นจะส่งผลร้ายแรงกว่าเดิม เพราะการต้มน้ำจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การระเหย” ทำให้ปริมาณของน้ำลดลง แต่ความเค็มที่เกิดจากตะกอนของเกลือไม่ได้ระเหยไป การต้มจึงทำให้น้ำมีอัตราความเข้มข้นของเกลือมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำลดลง แต่ปริมาณเกลือเท่าเดิม ดังนั้น เมื่อนำน้ำต้มไปดื่ม ก็จะยิ่งได้รับเกลือในปริมาณมากขึ้น จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนป่วย

นอกจากการรับมือปัญหาเพื่ออยู่กับน้ำประปาเค็มให้ได้แล้ว เราควรตระหนักถึงภัยแล้งซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำจืดไม่เพียงพอจนเกิดภาวะนี้ขึ้น โดยงานวิจัยระดับโลกระยะหลังชี้ให้เห็นตรงกันว่า ในอนาคตโลกของเราจะมีปริมาณน้ำจืดลดลง เนื่องจากแหล่งต้นน้ำสำคัญตามธรรมชาติกำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น สิ่งที่ควรเกิดขึ้นหลังจากนี้คือการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและดูแลรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงจะสามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

การประปานครหลวง – https://www.mwa.co.th/

Green Network – https://www.greennetworkthailand.com/


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ – สำรวจโลก: เพราะน้ำคือชีวิต

Recommend