พบกับชายผู้ใช้ชีวิตกับไฮยีน่า
ค่ำคืนคืบคลานมายังกำแพงเก่าของเมืองฮารา เสียงเห่าหอนอย่างอารมณ์ดีดังมาจากในที่สลัว ณ ที่นั่นไฮยีน่า 5 ตัวที่กำลังหิวโหยเดินวนรอบเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำลังนั่งอยู่บนพื้นดิน หูที่เหมือนค้างคาวของมันสะบัดไปมา ในขณะที่ขากรรไกรของมันขยับเผยให้เห็นเขี้ยวแหลมภายในปาก เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าได้เวลาอาหารแล้ว
เป็นที่รู้กันดีทั่วโลกว่าไฮยีน่าเป็นสัตว์กินซาก แต่เมืองเล็กๆ ในประเทศเอธิโอเปียนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ยังที่นี่ไม่มีใครกลัวไฮยีน่า เด็กหนุ่มคว้าชิ้นเนื้อขึ้นจากตะกร้าแกว่งไปมาในอากาศ แทนที่ไฮยีน่าจะกระโจนเข้าโจมตี หนึ่งในนั้นกลับเดินตรงเข้ามาและงับชิ้นเนื้อไปจากมือของเขา ไม่ต่างจากสุนัข
อับบาส ยูซุฟ เป็นที่รู้จักกันในฉายาไฮยีน่าแมน ตัวเขาเรียนรู้วิธีการให้อาหารไฮยีน่ามาจากพ่อ ยูซุฟ มูเม่ ซาเลห์ ผู้เคยโยนเศษอาหารเพื่อล่อไฮยีน่าให้ออกห่างจากฝูงสัตว์ของเขา และในหลายปีต่อมาวัฒนธรรมการให้อาหารไฮยีน่าก็กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของเมืองนี้ และยิ่งช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
สำหรับไบรอัน เลห์มัน ในฐานะของช่างภาพแล้ว ตัวเขาสนใจบันทึกความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ “ผมรู้สึกหวาดหวั่นในความสัมพันธ์ของพวกเขา” เลห์มันกล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก “ผู้คนทั่วไปยกเว้นคนในเมืองนี้ล้วนหวาดกลัวไฮยีน่ากันหมด เพราะเจ้าสัตว์ชนิดนี้สามารถฉีกเนื้อของคุณ และทำให้คุณนอนจมกองเลือดได้ภายในไม่กี่นาทีห่างออกไปจากที่นี่ไม่กี่ไมล์ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกไฮยีน่ากัดเข้าที่หน้าและลากลงไปที่แม่น้ำ แต่เด็กๆ ที่นี่ไม่มีใครกลัวไฮยีน่าเลย”
เมืองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างคนและไฮยีน่า เมื่อหลายร้อยปีก่อนสัตว์ชนิดนี้โจมตีและฆ่าชาวเมืองเป็นบางครั้ง ชาวบ้านท้องถิ่นจึงเริ่มเจาะรูกำแพงเมือง และโยนเศษอาหารให้พวกมัน “แล้วไฮยีน่าก็เริ่มกินอาหารที่ให้แทนที่จะกินผู้คน” จากรายงานระบุในเมืองแห่งนี้ไม่มีไฮยีน่าโจมตีมนุษย์มานานกว่า 200 ปีแล้ว
เช่นเดียวกับการให้อาหารของยูซุฟ ไฮยีน่าเหล่านี้จะรอฟังเสียงของรถขยะที่มาเป็นเวลาทุกวัน และเมื่อกลางคืนมาถึงเสียงสัญญาณจะดังขึ้นเพื่อบอกให้พวกมันรู้ว่าสามารถมาคุ้ยขยะหาอาหารกินได้ “อับบาสจะยืนอยู่บนเนินเขาและเรียกพวกมันเข้าไปในบ้าน เพื่อที่เขาจะได้ป้อนอาหารพวกมันให้นักท่องเที่ยวดู” เลห์มันกล่าว ทุกๆ คืนอับบาสทำเช่นนี้ และไฮยีน่าทุกตัวที่เขาเลี้ยงไว้ แต่ละตัวมีชื่อเรียกเป็นของตนเอง ซึ่งอับบาสพัฒนาเสียงเรียกขึ้นมาสำหรับใช้ในการเรียกหาพวกมันโดยเฉพาะ
แม้ว่าเลห์มันจะไม่ใช่ช่างภาพสายสัตว์ป่า แต่ตัวเขาก็เคยมีประสบการณ์กับการถ่ายภาพสัตว์ป่ามาก่อน “ความจริงก็คือคุณควรที่จะเข้าใกล้มันให้ได้มากที่สุด เพื่อได้ภาพที่ทรงพลัง” แทนที่จะใช้วิธีการตั้งกล้องทิ้งเอาไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างไฮยีน่าและอับบาสมีส่วนช่วยเขาได้มาก “ตอนที่ผมอยู่กับอับบาสผมสามารถทำอะไก็ได้ แต่ตอนที่ผมอยู่ตัวคนเดียว ผมต้องใช้เวลากว่าจะให้ไฮยีน่าไว้ใจผม” เขากล่าว
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าทึ่งเกิดขึ้นในคืนหนึ่ง เมื่อไฮยีน่าตัวที่ใกล้ชิดกับอับบาส พาทั้งคู่กลับไปที่ถ้ำ “ในตอนนั้นผมรู้สึกลังเลใจว่าตัวเองอาจจะโดนฆ่าก็เป็นได้” เขากล่าว “แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอับบาสกับไฮยีน่าทำให้ผมอุ่นใจขึ้น”หนึ่งในถ้ำที่ทั้งสองเข้าไปมีลูกไฮยีน่าอยู่ในนั้นด้วย “คุณสามารถได้ยินเสียงไฮยีน่าอยู่รอบตัวและสามารถฆ่าคุณได้ภายในสองนาที แต่พวกมันก็ไม่ทำแบบนั้น” เขากล่าว “พวกมันปล่อยให้อับบาสทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ”
ประเพณีนี้ถูกสืบทอดมานานหลายชั่วอายุคนและทำลายความเข้าใจผิดที่เรามีต่อสัตว์ป่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม้พวกมันจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่พวกมันก็มีความงามอยู่ภายใน” เลห์มันกล่าว
เรื่อง อเล็กซานดรา เจโนวา
ภาพถ่าย ไบรอัน เลห์มัน
อ่านเพิ่มเติม