ก่อนทะเลสาบเหือดแห้ง

ก่อนทะเลสาบเหือดแห้ง

ทะเลสาบโปโอโป, โบลิเวีย ภาพถ่ายโดย เมารีซีโอ ลิมา : ก้นทะเลสาบแห้งขอดปกคลุมด้วยชั้นเกลือทอดตัวยาวไกลสุดสายตาในโบลิเวีย เรือเกยตื้น ปลาและนกน้ำหายไปไป ชาวประมงที่พึ่งพาอาศัยทะเลสาบพากันโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เกิดการพลัดถิ่นสืบเนื่องจากภัยแล้ง

ก่อนทะเลสาบเหือดแห้ง

รอยล้อรถยนต์ทอดยาวไปตามพื้นก้นทะเลสาบแบนราบไปจนจดเส้นขอบฟ้า เราขับรถซูซูกิรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อตามรอยนั้นไปเพื่อมองหาเบาะแสว่า  เกิดอะไรขึ้นกับโปโอโป  ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโบลิเวีย แล้วกลับอันตรธานไปในอากาศเบาบางของที่ราบสูงแอนดีส

แม้จะขับกันอยู่บนพื้นก้นทะเลสาบ แต่เราอยู่สูงจากระดับทะเลมากกว่า 3,650 เมตร อากาศฤดูใบไม้ผลิแห้งจนปากแตก หมู่บ้านชาวประมงจำนวนมากที่เคยพึ่งพาทะเลสาบโปโอโปมาตลอดหลายพันปีก็อยู่ในสภาพว่างเปล่าเช่นกัน เราขับผ่านกลุ่มบ้านเรือนก่อด้วยอิฐที่ถูกทิ้งร้าง  ลมบ้าหมูเริงระบำอยู่รายรอบ หมุนวนดูดกระแสลมร้อนเข้ามา ไกลออกไป เรามองเห็นเรืออะลูมิเนียมขนาดเล็กหลายลำที่ดูเหมือนลอยอยู่บนน้ำ  จนเมื่อขับเข้าไปใกล้ภาพลวงตานั้นก็เลือนหายไป และพบว่าเป็นเรือที่ถูกทิ้งเกยตื้นอยู่บนทรายแป้ง  ผมก้าวลงจากรถ  รองเท้าเหยียบพื้นที่คราบเกลือเกาะหนาเป็นชั้นตะปุ่มตะป่ำส่งเสียงดังกรอบแกรบ

มัคคุเทศก์ของผม รามิโร พิลล์กู โซลา เดินย่ำเท้าไปบนแอ่งเกลือ มุ่งหน้าไปยังซากเรือผุพังลำหนึ่งที่จมทรายอยู่ครึ่งลำ ความทรงจำสมัยเป็นเด็กชายที่ออกมาพายเรือในทะเลสาบแห่งนี้ถาโถมเข้ามาในความคิด เนิ่นนานก่อนที่เขาจะทิ้งหมู่บ้านซานเปโดรเดคอนโดไปร่ำเรียนวิชาอุทกวิทยาจนได้รับปริญญาเอกสาขาอุทกวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยลุนด์ในประเทศสวีเดน  “เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องเล็กๆนะครับ” พิลล์กู โซลาบอกผม “เมื่อสามทศวรรษก่อน ทะเลสาบนี้ปกคลุมพื้นที่ 3,000 ตารางกิโลเมตร การจะกู้ให้ฟื้นกลับมานี่ยากนะครับ”

ทะเลสาบเออร์เมีย, อิหร่าน ภาพถ่ายโดย นูว์ชา ทาวาโกเลียน : อาคารร้างกับเรือที่จอดทิ้งคือสิ่งที่เหลืออยู่ของท่าเรือราห์มันลู เมื่อครั้งทะเลสาบยังมีน้ำเต็ม รถราจะมาต่อแถวกันบนท่าแห่งนี้เพื่อรอลงเรือข้ามฟากซึ่งช่วยประหยัดเวลาการขับรถรอบทะเลสาบจากเมืองตาบรีซไปยังเออร์เมียร์ที่อยู่ฟากตรงข้ามได้หลายชั่วโมง

น้ำซึ่งเคยแผ่กว้างกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลพอๆ กับประเทศเล็กๆ หายไปแล้ว  รองเท้าบูตยางคู่หนึ่งถูกทิ้งอยู่ข้างๆ เรือลำนั้น กะโหลกปลาตัวหนึ่งที่ถูกแดดกัดจนขาวโพลนสว่างวาบใต้ดวงอาทิตย์แผดจ้า  แล้วอยู่ๆลมก็หยุดพัด  ความเงียบเข้าปกคลุมฉากเหมือนหลังวันสิ้นโลกนั้น  หากน้ำคือชีวิต ที่แห่งนี้ไม่มีทั้งสองอย่าง

ทะเลสาบเออร์เมีย : ในฤดูร้อน นักท่องเที่ยวเดินลุยเล่นน้ำที่กลายเป็นสีแดงเพราะแบคทีเรียและสาหร่ายที่ชื่นชอบเกลือ ทะเลสาบเออร์เมียดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วอิหร่านมาหลายชั่วคน แต่จำนวนผู้มาเยือนลดน้อยลงเมื่อทะเลสาบหดเล็กลงถึงร้อยละ 80 นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกว่า นี่อาจเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่จะได้ลงเล่นน้ำที่นี่

หลายภูมิภาคทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ทะเลสาบจำนวนมากร้อนขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามหาสมุทรและอากาศ  ความร้อนที่สูงขึ้นนี้เร่งให้น้ำระเหยเร็วขึ้น และเมื่อผนวกกับการจัดการที่ผิดพลาดของมนุษย์ ก็ยิ่งส่งผลให้การขาดแคลนน้ำ มลภาวะ การสูญเสียถิ่นอาศัยของนกและปลา กลายเป็นปัญหารุนแรงขึ้น แต่ในขณะที่ “ลายนิ้วมือ [หรือหลักฐาน] ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง แต่หน้าตาของมันไม่เหมือนกันในแต่ทะเลสาบ” แคเทอรีน โอไรลีย์  กล่าว  เธอเป็นนักนิเวศวิทยาแหล่งน้ำสังกัดมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สเตต และเป็นผู้นำร่วมของโครงการสำรวจทะเลสาบทั่วโลกโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ 64 คน

ยกตัวอย่างเช่น ที่ทะเลสาบไท่ในภาคตะวันออกของจีน  น้ำผิวดินจากเรือกสวนไร่นาและน้ำเสีย  กระตุ้นให้เกิดการสะพรั่งของไซยาโนแบคทีเรีย ขณะที่น้ำซึ่งอุ่นขึ้นเป็นตัวช่วยเร่งการเจริญเติบโต จุลินทรีย์ชนิดนี้เป็นภัยคุกคามต่อแหล่งน้ำดื่มสำหรับประชาชนร่วมสองล้านคน  ทะเลสาบแทนกันยีกาในแอฟริกาตะวันออกอุ่นขึ้นมากจนปริมาณปลาที่จับได้ซึ่งเลี้ยงชีพคนยากจนหลายล้านคนในสี่ประเทศโดยรอบ  ลดลงถึงขั้นสุ่มเสี่ยง  น้ำหลังเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกูริอันใหญ่โตของเวเนซุเอลา  มีระดับต่ำมากถึงขั้นวิกฤติในช่วงหลายปีมานี้  จนรัฐบาลต้องสั่งให้หยุดการเรียนการสอนตามโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาโดยการปันส่วนไฟฟ้า แม้แต่คลองปานามาที่เพิ่งผ่านการขยายช่องการจราจรให้กว้างขึ้น และขุดร่องน้ำให้ลึกขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสืบเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อทะเลสาบกาตูนที่มนุษย์ขุดขึ้น  ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงช่องการจราจรของคลองดังกล่าวให้ใช้สัญจรได้เท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับเกือบทั้งประเทศด้วย นอกจากนี้ ระดับน้ำที่ต่ำยังบังคับให้ต้องจำกัดขนาดการกินน้ำลึกของเรือต่างๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เรือเกยตื้นน้ำในทะเลสาบ

ทะเลสาบเออร์เมีย : เรซา มานัฟซาเดห์ ทำงานในสวนผลไม้ซึ่งตั้งอยู่ริมขอบทะเลสาบ พืชผลที่นี่ปลูกด้วยระบบชลประทานแบบใหม่ นั่นคือใช้น้ำรีไซเคิลจากโรงงานที่ขนมาโดยรถบรรทุก “ผมห่วงอนาคตของลูกชายผมมากครับ” เขาบอก “ถ้าน้ำเหือดแห้งไปจากอิหร่าน ลูกหลานของเราจะหมดความสนใจในประเทศตัวเอง”

ในบรรดาปัญหาท้าทายทั้งหมดที่ทะเลสาบต่างๆ เผชิญอยู่ในโลกที่ร้อนขึ้น  ตัวอย่างที่ชัดแจ้งที่สุดพบได้ตามพื้นที่รับน้ำแบบปิดที่ซึ่งน้ำไหลเข้ามาลงทะเลสาบต่างๆ แต่ไม่มีทางให้น้ำไหลออกสู่แม่น้ำหรือทะเล  ในพื้นที่ปลายน้ำหรือลุ่มน้ำในแผ่นดินที่ไม่มีทางระบายน้ำออกสู่ทะเล (endorheic basin) เหล่านี้  ทะเลสาบมักจะตื้น  เค็ม และอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อปัจจัยหรือกิจกรรมรบกวนต่างๆ  การอันตรธานไปของทะเลอารัลในเอเชียกลางคือตัวอย่างขั้นหายนะของปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับน่านน้ำในแผ่นดินประเภทนี้  ในกรณีของทะเลอารัล ตัวการหลักได้แก่โครงการชลประทานอันทะเยอทะยานของโซเวียตที่ทำให้ทิศทางการไหลของแม่น้ำหลายสายซึ่งหล่อเลี้ยงทะเลอารัลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้กำลังดำเนินอยู่ตามทะเลสาบปลายน้ำในเกือบทุกทวีป ซึ่งก็คือการใช้ประโยชน์มากเกินไป ผนวกกับภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น  ภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาเทียบเคียงกันเผยให้เห็นความสูญเสียที่น่าตกใจยิ่ง ทะเลสาบชาดในแอฟริกาหดเล็กลงจนเหลือเพียงเสี้ยวหนึ่งของผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาลนับจากทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ส่งผลให้การขาดแคลนปลาและน้ำชลประทานรุนแรงขึ้น  ขณะที่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้อพยพที่ต้องพึ่งพาทะเลสาบดังกล่าวในปัจจุบันยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อทรัพยากร  การขาดแคลนด้านต่างๆ รวมทั้งความตึงเครียดในภูมิภาคซาเฮลอันแห้งแล้งและร้อนระอุ  กำลังก่อให้เกิดความขัดแย้งและการอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่

เรื่อง เคนเน็ท อาร์. ไวส์

ทะเลสาบแทนกันยีกา, แทนซาเนีย ภาพถ่ายโดย ไมเคิล คริสโตเฟอร์ บราวน์ : ปลาที่ลากอวนมาได้เช้านี้ที่หมู่บ้านคีบีริซีคือปลาซาร์ดีน ปริมาณปลาที่จับได้ลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีเรือจำนวนมากเกินไปแย่งกันจับปลาที่มีอยู่น้อยเกินไปในทะเลสาบของแอฟริกาแห่งนี้ ซึ่งทอดตัวคร่อมพรมแดนประเทศแทนซาเนีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บุรุนดี และแซมเบีย
ทะเลสาบแทนกันยีกา : นอกชายฝั่งหมู่บ้านคาซินกา พวกผู้ชายลากอวนจับปลาซาร์ดีน อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นแม้เพียงครึ่งหรือหนึ่งองศาเซลเซียส ก็อาจกระทบต่อปริมาณปลาที่จะจับได้ และหมายถึงหายนะสำหรับคนนับล้านที่ต้องพึ่งพาแหล่งโปรตีนเหล่านี้

 

อ่านเพิ่มเติม

ทะเลสาบโบราณของออสเตรเลียเผยประวัติศาสตร์มนุษย์

 

Recommend