ไฟป่า ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากภาวะโลกร้อน

ไฟป่า ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากภาวะโลกร้อน

ไฟป่า (Wildfire) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันมีทั้งความรุนแรนแรงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงลุกลามในหลายพื้นที่มากกว่าเดิม มนุษย์จะรับมือและแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ?

ไฟป่า  คือ ไฟที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามไปได้ โดยปราศจากการควบคุม ซึ่งไฟป่าอาจเกิดจากสาเหตุจากธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ สำหรับไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณภูขาจะมีความรุนแรงและขยายพื้นที่ได้เร็วกว่าพื้นราบ

สาเหตุของการเกิดไฟป่า

1.เกิดจากธรรมชาติ ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่องผ่านหยดนํ้า ปฏิกริยาเคมีในดินป่าพรุ การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต แต่สาเหตุที่สำคัญ คือ

1.1 ฟ้าผ่า คือ สาเหตุส้าคัญของการเกิดไฟป่าในเขตอบอุ่น ใน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของไฟป่าที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากฟ้าผ่า จนต้องมีการตั้งหอระวังไฟป่าจำนวนมากในเขตป่าอุทยาน

1.2 กิ่งไม้เสียดสีกัน อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ป่าที่มีไม้ขึ้นอยู่อย่าง หนาแน่นและมีสภาพอากาศแห้งจัด อาทิ ในป่าไผ่หรือป่าสน

2.เกิดจากมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของ มนุษย์ ส่วนประเทศไทยจากการเก็บสถิติไฟป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-2542 ซึ่งมีสถิติไฟป่า ทั้งสิ้น 73,630 ครั้ง พบว่าเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น คือ เกิดที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ที่ห้วยนํ้าดัง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ท่าแซะ จังหวัดชุมพร และที่เขา ใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แห่งละหนึ่งครั้ง ดังนั้นจึงถือได้ว่าไฟป่าในประเทศไทยทั้งหมด เกิดจากการกระทำของคน โดยมีสาเหตุต่างๆ กันไป เช่น

2.1 เก็บหาของป่า เป็นสาเหตุที่ท้าให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ อาทิ ไข่มดแดง ไม้ไผ่ ไม้ฟืน และ ไผ่ การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสง สว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด

2.2 เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใช ชโดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

2.3 ความประมาท เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ

2.4 ล่าสัตว์ โดยใช้วิธีจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบิน หนีไฟ ล่อให้สัตว์ชนิดต่างๆ อาทิ กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์นั้นๆ

2.5 เลี้ยงปศุสัตว์ ประชาชนที่เลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ มักลักลอบจุด ไฟเผาป่าให้โล่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์

สถานการณ์ไฟป่าทั่วโลก

สหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับไฟป่ามากที่สุดชาติหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่แคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แถมยังทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาอีกหนึ่งรัฐที่เจอกับมหันตภัยไฟป่าได้แก่ ฮาวาย ซึ่งถูกระบุว่าเป็นไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศสหรัฐฯ ในรอบกว่า 100 ปี เนื่องจากคร่าชีวิตคนไปมากกว่า 100 ศพ ส่วนประเทศรองมาในภูมิภาคเดียวกันคือ แคนาดา ก็เจอปัญหาไฟป่าที่หนักหนาขึ้นทุกปี เช่นกัน

ในทวีปยุโรปเมื่อปี 2023 มีทั้ง ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ตุรกี ที่เจอกับไฟป่าที่ลุกลามไปไกลจนสร้างความเสียหายมหาศาล ซึ่งในปี 2021 เคยเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในพื้นที่ ไซบีเรีย ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โลกพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี

ด้านทวีปอเมริกาใต้ก็เกิดไฟป่าในแอมะซอน ประเทศบราซิลบ่อยขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายต่อป่าดิบชื้นสำคัญที่ผลิตออกซิเจนให้กับโลกประมาณ 20% ขณะที่ในทวีปแอฟริกาซึ่งมีผืนป่าขนาดใหญ่ก็มี แทนซาเนีย แอลจีเรีย รวมถึง แอฟริกาใต้ ที่มีไฟป่าลุกลามจนประชาชนต้องอพยพ

มาที่ทวีปเอเชีย อินโดนีเซีย น่าจะเป็นชาติอันดับ 1 ในภูมิภาคที่ต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมี มาเลเซีย เนปาล อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฯ ซึ่งต้องก็เจอกับไฟป่าที่ทำลายธรรมชาติ ต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง สัตว์  และชีวิตคนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันในทวีปออสเตรเลียเองก็มีวิกฤตไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำในสองประเทศใหญ่อย่าง ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ ที่ช่วงหลังไฟป่าแต่ละครั้งกินเวลายาวนานจากหลายวันกลายเป็นหลายสัปดาห์กว่าจะควบคุมได้

ฤดูไฟป่าในไทย

ฤดูกาลของไฟป่าทั่วโลกในตอนนี้ อาจกล่าวได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกเดือน จากเรือนกระจก เอลนินโญ่ คลื่นความร้อน ที่มีต้นตอมาจากภาวะโลกร้อน โลกรวน ซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของโลก โดยแต่เดิมฤดูไฟป่าในไทยเริ่มตั้งแต่ เดือน มกราคมและไปสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทว่าปัจจุบัน ไฟป่า ที่เกิดนอกฤดูไฟป่าเริ่มมีมากขึ้น รวมถึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5

ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่ามาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถึง ปี พ.ศ. 2564 ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการบันทึกข้อมูลพื้นที่ถูกเผาไหม้ทั้งหมดประมาณ 49.97 ล้านไร่ โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2564 มีพื้นที่ถูกเผาไหม้รวมทั่วประเทศ 100,772.92 ไร่ เป็นพื้นที่ภาคเหนือมากถึง ร้อยละ 83 จากสถานการณ์ไฟป่าที่ผ่านมาและคาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับไฟป่าให้มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง จากสถิติย้อนหลังที่ผ่านมาของประเทศไทย ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึง ปัจจุบัน จากข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จำนวนจุดความร้อนสะสมของประเทศไทย ถูกพบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 64,900 จุด  2) จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 62,427 จุด 3) จังหวัดตาก จำนวน 56,146 จุด 4) จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 42,710 จุด และ 5) จังหวัดลำปาง จำนวน 39,007 จุด โดยจำนวนจุดความร้อนสะสมของทั้ง 5 จังหวัดรวมกันเท่ากับ 265,190 จุด หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือ สาเหตุนั้นอาจเพราะสภาพภูมิประเทศเนื่องจากภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ เมื่ออากาศร้อนเข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดการสะสมและไม่สามารถถ่ายเทไปยังที่อื่นได้ หากเกิดการลุกไหม้ของไฟแล้ว ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี และลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่านั้นมาจากพฤติกรรมมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเริ่มต้นสำหรับการทำเกษตรครั้งใหม่ การเข้าไปหาของป่า หรือการแกล้งจุด สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาส่งผลในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อน เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5

ดังนั้นเรื่องของไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนและจำเป็นต้องช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ซึ่งประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี พ.ศ.2565 ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ไฟป่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์ไฟป่าทั่วโลกมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยผลวิจัยเมื่อปี 2022 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์จากการเฝ้าสังเกตจากสถานการณ์ไฟป่าทั่วโลกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น โดยอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 50% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ตามรางงานใหม่ของสหประชาชาติ นอกจากนี้ในรายงานยังพบอีกว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือพื้นที่แถบอาร์กติกและภูมิภาคอื่นๆก่อนหน้าที่เคยเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่ารุนแรง

นักวิทย์ฯจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) นิยามไฟป่าเหล่านี้ว่า เป็นเพลิงไหม้ที่ไม่ธรรมดา เป็นปรากฏการณ์ที่หายาก 100 ปี มี 1 ครั้ง นักวิจัยยังชี้อีกว่าอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากการเผาไหม้ที่ดำเนินมาเนิ่นนานกับวิธีการใช้งานที่ดินของมนุษย์ผลักดันให้เกิดไฟป่าถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

การศึกษาล่าสุดระบุว่าไฟป่าที่รุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 14% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับจำนวนที่บันทึกไว้ในปี 2010-2020 การเพิ่มขึ้นอาจถึง 30% ภายในปี 2050 และ 50% ภายในช่วงสิ้นศตวรรษนี้

โดยนักวิทยาศาสตร์ห่วงว่า พื้นที่อาร์กติกทางเหนือที่ห่างไกลซึ่งกว้างมากๆ และมันหนาวเย็นจนไม่มีมนุษย์ไปอยู่อาศัย หากเกิดไฟป่าขึ้นมาเพราะพื้นที่ทั้งแห้งและเย็น เป็นฉนวนติดไฟได้ เมื่อเกิดไฟป่า อาจไม่มีใครดับไฟ หรือถ้ามีก็ลำบาก เนื่องจากความเย็นของอากาศ กลายเป็นไฟไปที่ทำให้น้ำแข็งในพื้นที่ละลาย และจะกินพื้นที่เป็นวงกว้างมาก สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโลก

อนึ่ง ในทางกลับกัน แอฟริกาที่เกิดไฟป่าบ่อยประมาณ 2 ใน 3 ของโลก มีแนวโน้มว่าไฟจะเกิดน้อยลงในทศวรรษหน้า เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นกำลังเคลียร์พื้นที่ป่าสำหรับการทำการเกษตรมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะช่วยขจัดไฟป่าได้แล้วจบนะ เพราะแอฟริกายังคงต้องเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงและการขาดแคลนอาหาร จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าการเกษตรของพวกเขานั้นจะได้ผลหรือไม่

โลกร้อนส่งผลต่อการเกิดไฟป่าอย่างไร?

ปี 2023 ภาวะโลกร้อนและโลกรวนมีส่วนผลักดันให้คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์จากองค์การ World Weather Attribution ระบุว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงแผดเผายุโรปตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 มีแนวโน้มเกิดขึ้นอีกครั้งในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหากเทียบกับแบบจำลองที่ว่าโลกนี้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ จะพบว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือน้อยกว่ากัน 100 เท่า

โซเนีย เซเนวีรัตเน (Sonia Seneviratne) นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของ ETH Zurich ระบุว่า หากมนุษย์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เหตุคลื่นความร้อนรุนแรงจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 ครั้งในรอบ 10 ปี แต่ปัจจุบันนี้ โลกของเราเจอกับคลื่นความร้อนมหาโหดถี่กว่านั้นถึง 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม โลกร้อนมีส่วนสัมพันธ์กับความรุนแรงของไฟป่า เพราะสภาพภูมิอากาศโลกร้อนขึ้นและแห้งแล้งขึ้นกว่าเดิม คลื่นความร้อนที่แผดเผาเอื้อให้ไฟสามารถลามไปได้อย่างรวดเร็ว เผาไหม้กินเวลานานขึ้น สร้างความเสียหายได้มาก

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ เกาะโรดส์ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทางตะวันออกของทะเลอีเจียน ประเทศกรีซ เผชิญกับไฟป่าที่เผาไหม้นานต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ประชาชนราว 20,000 คนถูกบังคับให้อพยพออกจากเกาะ หลังไฟป่าเริ่มไหม้ลามพื้นที่รีสอร์ตริมชายฝั่งหลายแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่แห่งนี้ไม่เคยต้องเจอกับภัยไฟป่ารุนแรงแบบนี้มาก่อน

สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นได้ดึงเอาความชื้นจากพืชพรรณไม้ออกไป กลายเป็นเชื้อเพลิงแห้งชั้นดีที่โหมกระพือไฟให้ลุกลาม สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้วในเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ในรัฐฮาวาย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกาะเมาวีของฮาวายเจอกับความเสียหายรุนแรงคือหญ้ากินนี พืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของเกาะ ซึ่งหญ้าเหล่านั้นเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนแล้งก็ทำให้พวกมันกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเลยทีเดียว

ผลการวิจัยของ World Weather Attribution บ่งชี้ว่า หากไม่มีภาวะโลกร้อน โลกรวน ไปจนถึงโลกเดือดที่มนุษย์ร่วมกันก่อขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงฤดูร้อนนี้คงเกิดขึ้นได้ยากกว่านี้มาก ซึ่งภาวะเหล่านี้บทบาทสำคัญในการทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นในทุกทวีปทั่วโลก

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพจาก MARK THIESSEN, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5414&lang=TH

https://thestandard.co/climate-change-to-wildfires/

https://www.springnews.co.th/spring-life/821245

อ่านเพิ่มเติม : การเกิดไฟป่า (Wildfire) และประเภทของไฟป่า

 

 

Recommend