นักบินอวกาศ มองโลกเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

นักบินอวกาศ มองโลกเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

นักบินอวกาศ มองโลกเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

ตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษยชาติ การมองโลกจากมุมมองของจักรวาลนอกโลก เป็นเรื่องยากจนเข้าขั้นเป็นไปไม่ได้

ข้อจำกัดที่เกิดจากความโน้มถ่วงและชีววิทยา ทำให้เราออกไปท่องอวกาศนอกโลก เหนือโลก หรือห่างโลกไม่ได้ แม้จนบัดนี้ หลังจากเกือบหกทศวรรษแห่งการบินอวกาศของมนุษย์ คนที่ได้ขึ้นจรวดทะยานสู่วงโคจรและเห็นดวงอาทิตย์โผล่พ้นโค้งขอบฟ้ายังมีน้อยมาก นับตั้งแต่ปี 1961 มีคนเพียง 556 คนได้สัมผัสประสบการณ์หายากนี้ และยิ่งน้อยกว่านั้น คือแค่ 24 คน ที่เคยมองโลกจากระยะไกลเล็กลงไปเรื่อยๆ และมีเพียงหกคนที่เคยอยู่ตามลำพังที่ด้านไกลของดวงจันทร์ ตัดขาดจากภาพโลกของเรา ขณะกำลังท่องไปในทะเลดาวอันลึกล้ำไม่สิ้นสุด

ไมก์ มัสซีมีโน : เมื่อปี 2009 มนุษย์อวกาศขององค์การนาซาผู้นี้ได้ไปเยือนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ระดับความสูงราว 560 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ในภารกิจซ่อมดวงตาสวรรค์อันเป็นที่รักครั้งสุดท้าย ขณะตัวผูกโยงอยู่กับกล้องขนาดใหญ่กล้องนั้น มัสซีมีโนกลับหลงเสน่ห์โลกเบื้องล่าง ภาพป่าดิบชื้นเขียวขจีในอเมริกาใต้ ทะเลทรายกันดารในแอฟริกา และแสงไฟเรืองรองในเมืองต่างๆ โลกดูดั่งสรวงสวรรค์

การบินอวกาศ (spaceflight) เป็นสิ่งผิดธรรมชาติโดยแท้ เพราะที่จริงร่างกายของเราวิวัฒน์มาเพื่ออยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่นอกดาว บางทีนี่อาจเป็นสาเหตุที่มนุษย์อวกาศรู้สึกว่าประสบการณ์การเห็นโลกจากอวกาศเป็นเรื่องยากที่จะพรรณนา

นักเดินทางอวกาศชาวอิตาลี ลูกา ปาร์มีตาโน บอกว่า เรายังไม่ได้พัฒนาคำสำหรับสื่อถึงความจริงของการบินอวกาศได้อย่างถ่องแท้ ถ้อยคำนั้นจำกัดอยู่กับความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้ภาษาไหน (ปาร์มีตาโนพูดได้ห้าภาษา) และจนถึงกระทั่งกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ก็ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องบอกว่าการมองเห็นดาวเคราะห์ของเราในอวกาศดึกดำบรรพ์อันแสนดิบนั้นมีความหมายอย่างไร “เราแค่ไม่คิดในบริบทของการบินอวกาศครับ” เขากล่าว

(อยากรู้ไหมบรรดานักบินอวกาศหญิงจัดการกับประจำเดือนอย่างไร?)

การเห็นโลกจากอวกาศเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนได้ มนุษย์อวกาศของสหรัฐฯ นิโคล สกอตต์ บินไปกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีสองครั้งและกลับมาพร้อมกับแรงผลักดันใหม่ๆในการสร้างงานศิลปะจากภาพที่เธอเห็น นักเดินทางอวกาศชาวแคนาดา คริส แฮดฟีลด์ บอกว่า ขณะโคจรรอบโลก เขารู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับผู้คนบนโลกมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน

เอ็ด ลู : ลูผ่านเที่ยวบินอวกาศขององค์การนาซามาแล้วสามเที่ยวในช่วงปี 1997 ถึง 2003 เขามองกลับมายังโลกและสะดุดใจกับหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่มากมายที่การถล่มในอดีตประทับไว้บนเปลือกโลก เมื่อปี 2002 เขาร่วมก่อตั้งมูลนิธิบี612 องค์กรไม่แสวงกำไรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการชนโลกอย่างทำลายล้างโดยดาวเคราะห์น้อย

แคที ซัลลิแวน สตรีชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ออกไปเดินท่องอวกาศเมื่อปี 1984 กลับมาพร้อมกับความตรึงใจในระบบอันซับซ้อนที่รวมตัวกันจนทำให้โลกกลายเป็นโอเอซิสที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เธอบอกว่า “สิ่งที่งอกงามในตัวฉันขณะอยู่ในเที่ยวบินเหล่านี้ คือแรงจูงใจและความปรารถนา…ที่ไม่เพียงเพื่อรื่นรมย์กับทิวทัศน์ต่างๆและการถ่ายภาพ แต่เพื่อทำให้ภาพเหล่านั้นมีความหมายด้วยค่ะ”

หลังเกษียณอายุจากองค์การนาซา ซัลลิแวนคุมบังเหียนสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา ต่ออีกสามปี โดยใช้ตาของดาวเทียมในวงโคจรทำในสิ่งที่เธอหลงใหล

แม้เมื่อถ้อยคำไม่อาจบรรยาย ภาพดาวเคราะห์ “บ้าน” จากเบื้องบนเพียงหนึ่งภาพก็อาจเปลี่ยนความคิดของคนนับล้าน

แคเรน ไนเบิร์ก : เมื่อเดือนกันยายน ปี 2013 ระหว่างไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติครั้งที่สอง ไนเบิร์กทำตุ๊กตาไดโนเสาร์ยัดนุ่นให้ลูกชายวัยสามขวบของเธอ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ที่วิศวกรเครื่องกลหาได้บนสถานีอวกาศนั่นเอง การทำตุ๊กตาช่วยให้เธอรู้สึกสัมผัสได้ถึงคนที่เธอรักในโลกเบื้องล่างอันห่างไกล

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1968 ลูกเรืออะพอลโล 8 เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ขึ้นจรวดออกไปไกลจากโลกและได้วนรอบดวงจันทร์ หนึ่งวันก่อนวันคริสต์มาส มนุษย์อวกาศ วิลเลียม แอนเดอส์ ถ่ายภาพที่จะติดอยู่ในความทรงจำของผู้คน คือภาพโลกสีเขียวลอยขึ้นเหนือขอบฟ้าไร้ชีวิตและขรุขระของดวงจันทร์ ภาพถ่ายซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “โลกอุทัย” (Earthrise) นี้ปลุกชาวโลกให้สำนึกถึงความงดงามและความเปราะบางของโลก

(พบกับหญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านการบินอวกาศของสหรัฐฯ)

“ปี 2018 จะครบรอบ 50 ปีของภาพประวัติศาสตร์ที่ช่วยก่อกำเนิดขบวนการสิ่งแวดล้อมภาพนั้น การปรับแก้แนวทางซึ่งเราจำเป็นต้องทำในตอนนี้เพื่อช่วยให้เราไปถึงวาระครบรอบ 100 ปีให้ได้ควรเป็นอย่างไร” มนุษย์อวกาศของสหรัฐฯ ลีแลนด์ เมลวิน ตั้งคำถาม เขากำลังทำงานร่วมกับเพื่อนนักเดินทางอวกาศในการใช้ประสบการณ์ของมนุษย์อวกาศเพื่อช่วยให้คนอื่นรู้จักใช้ชีวิตแบบยั่งยืนมากขึ้น

เป็นที่ชัดเจนว่า ความปรารถนาจะปกป้องโลกเป็นลักษณะร่วมของคนที่เคยออกไปนอกโลก มนุษย์อวกาศชาวรัสเซีย เกนนาดี ปาดัลคา ใช้เวลาอยู่ในอวกาศรวมแล้วมากกว่าใครทั้งหมด ความเย้ายวนของการบินอวกาศทำให้เขายึดอาชีพเดิมอยู่นานถึง 28 ปี แต่บางสิ่งที่ทรงพลังยิ่งกว่าความโน้มถ่วงนำพาเขากลับบ้านได้เสมอ

“เราเชื่อมโยงกับดาวเคราะห์ดวงนี้ในระดับพันธุกรรมครับ” เขากล่าว และเท่าที่เรารู้ โลกก็โดดเด่นในการโอบอุ้มชีวิตอย่างที่เรารู้จัก ดาราศาสตร์ในทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า เราเป็นหนึ่งในหลายพันล้านพิภพในดาราจักรทางช้างเผือก แต่โยงใยอันยุ่งเหยิงของธรณีวิทยา นิเวศวิทยา และชีววิทยาของเรา ทำให้หินประหลาดก้อนนี้เป็นก้อนใกล้ตัวที่สุดเพียงหนึ่งเดียวซึ่งมีสภาพเหมาะสมกับมนุษย์พอดี

ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านจริงๆอีกแล้ว

เรื่อง นาเดีย เดรก

ภาพถ่าย มาร์ติน โชลเลอร์

เกนนาดี ปาดัลคา : มนุษย์อวกาศชาวรัสเซียผู้นี้ครองสถิติการใช้เวลาอยู่ในอวกาศรวมกันมากที่สุด ด้วยจำนวนวันที่นับรวมได้ 878 วันจากปี 1998 ถึง 2015 สำหรับเขาแล้ว ประสบการณ์นี้เป็นบทเรียนที่สอนคุณค่าของการทำงานเป็นทีมและมิตรภาพ ซึ่งยิ่งเด่นชัดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่อันตรายถึงชีวิตของการบินอวกาศ
ลีแลนด์ เมลวิน : เมลวินได้รับคัดเลือกเป็นผู้เล่นอเมริกันฟุตบอลระดับอาชีพเมื่อปี 1986 และได้ลงเล่นอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อการบาดเจ็บทำให้เขาต้องยุติอาชีพนักกีฬา ชีวิตของเขาก็พลิกผันเข้าสู่วงโคจร ในระหว่างสองเที่ยวบินของเขาในฐานะมนุษย์อวกาศขององค์การนาซาเมื่อปี 2008 และ 2009 เมลวินตกตะลึงกับภาพมหาสมุทรของโลกเมื่อมองจากเบื้องบน สีสันอันหลากหลายและเข้มข้นทำให้เขาต้องค้นหาแนวทางใหม่ในการพรรณนาถึงสีน้ำเงินมากมายหลายเฉด

 

อ่านเพิ่มเติม

โลกอนาคต : หรือนี่คือโฉมหน้าของเมืองในอีกร้อยปีข้างหน้า

Recommend