พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร
นักทำสารคดีรายการ “หนังพาไป”
พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร สองคู่หูผู้ผลิตรายการ “หนังพาไป” แห่งช่องไทยพีบีเอส ที่สร้างความหมายใหม่ของรายการสารคดีการเดินทาง ซึ่งได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนาน เริ่มต้นผลิตรายการจากการเดินทางไปยังเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกที่ทั้งสองส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ทำให้มีโอกาสสำรวจความแตกต่างของผู้คน สังคมและวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็ย้อนกลับมามองและพาให้ผู้ชมครุ่นคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของเราเอง
การสำรวจเกี่ยวข้องกับงานตัวเองยังไง
งานที่ทำอยู่มันเกี่ยวข้องกับการเดินทาง เหมือนเป็นการสำรวจไปด้วย สังเกตเรื่องราวของคนในพื้นที่ ความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตในสถานที่ที่เราเดินทางไป และในขณะเดียวกันเราได้ย้อนมาสำรวจตัวเอง และประเทศของเราด้วย
การสำรวจอาจจะเป็นการสำรวจที่เราอยากรู้ ซึ่งเรารู้สึกว่าแตกต่างจากการรายการท่องเที่ยวสมัยก่อนที่นำเสนอเฉพาะความสวยงามของประเทศนั้น แต่เวลาพวกเราเดินทางไปประเทศนั้น พวกเรารู้สึกว่า เราสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรามากกว่า การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เขาทำกันยังไง เขากินอยู่อย่างไร บ้านเมืองเขาแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร จุดนี้ก็เหมือนเป็นการสำรวจอย่างหนึ่งที่ทำให้ทราบถึงสิ่งที่ยังไม่รู้มาก่อน
การสำรวจ ในมุมของบอล-ยอด
พอเริ่มเดินทางและเห็นคนอื่นๆ ออกเดินทางมากขึ้น การสำรวจไม่ใช่แค่การสำรวจพื้นที่ หรือผู้คน แต่เมื่อเวลาเราเดินทาง เราก็จะได้สำรวจตัวเองไปด้วย แม้ว่า เราจะเดินทางไปไกลแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องมองเข้าไปในจิตใจของตัวเอง เหมือนเป็นการสำรวจภายในของตัวเอง ในวัยเด็ก เราจะมองว่าคนที่เดินทางเยอะๆ ได้ไปในที่แปลก เรามองคนเหล่านั้น เป็นเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ และน่าทึ่งมา แต่พอเติบโตมา เราได้เห็นคนมากขึ้น ต่อให้คนที่ไม่ได้เดินทางเยอะ แต่เขารู้จักตัวตนภายในของตัวเอง เราก็รู้สึกว่าคนนั้นก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน และไม่ได้ต่างกันกับคนที่เดินทางเยอะๆ
เบื้องหลังรายการหนังพาไป
เริ่มต้นจากการส่งหนังไปประกวด และได้เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อทำหนังไปประกวดอีก ด้วยหลายๆ ปัจจัย จึงกลายมาเป็นรายการทีวีที่รูปแบบเนื้อหารายการแปลกออกไปในยุคนั้น เรามองย้อนกลับไปทบทวนดู แล้วพบว่า รายการที่ถ่ายทอดออกมาเกิดจากการแก้ปัญหา เช่น เราไม่มีพิธีกร เราก็ใช้คนใกล้ตัวของเราเอง ทุกอย่างเกิดจากการแก้ปัญหา แล้วก็ผสมกันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนบอกว่า มันเป็นนวัตกรรมใหม่ สุดท้ายแล้ว ผมรู้สึกว่า สมองเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุดเมื่อเราเจอปัญหา
“พอเริ่มเดินทางและเห็นคนอื่นๆ ออกเดินทางมากขึ้น การสำรวจไม่ใช่แค่การสำรวจพื้นที่ หรือผู้คน แต่เมื่อเวลาเราเดินทาง เราก็จะได้สำรวจตัวเองไปด้วย แม้ว่า เราจะเดินทางไปไกลแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องมองเข้าไปในจิตใจของตัวเอง”
อะไรคือแรงบันดาลใจของพี่ๆ ในการออกเดินทาง
เมื่อเราดูรายการเดินทางท่องเที่ยวในยุคนั้น เรารู้สึกว่า การเดินทางไปต่างประเทศเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เงินจำนวนมาก ครั้งเมื่อตอนส่งหนังไปประกวดปรากฏว่าเราได้เดินทาง และค้นพบว่า การเดินทางในต่างประเทศเป็นเรื่องสนุกจังเลย และไม่เหมือนกับต่างประเทศที่เราเคยเห็นในรายการทีวี เราไม่จำเป็นต้องแต่งตัวดี ไม่ต้องกินของแพง แต่เราสนุกกับการแก้ปัญหา เราไม่จำเป็นต้องมีรถมารับ เราก็ขึ้นรถโดยสารประจำทาง เราก็ไปได้ การเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งสามารถมีส่วนลดบัตรลด ซึ่งรายการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอในจุดนี้ เราเลยรู้สึกว่ายิ่งเดินทางยิ่งสนุก อาจจะเป็นการสำรวจโลกที่เราไม่เคยรู้
ที่ผ่านมาการเดินทางให้อะไรกับพวกพี่ เติบโตอะไรจากการเดินทาง
การเดินทางเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เป็นเหมือนรูปแบบการใช้ชีวิตของเรามากกว่า เราเลือกเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ทำงานประจำ เพราะฉะนั้น เราเลือกออกเดินทางไปเรื่อยๆ และหารายได้จากการเดินทาง จึงเป็นเหมือนแบบแผนของชีวิตในแบบที่เราออกแบบเอง
พวกเรารู้สึกว่า พอไปในหลายๆ ประเทศ โลกเรามันกว้างกว่าที่เราเคยรู้มา บางอย่างมันจริงในสังคมหนึ่ง แต่อีกในสังคมหนึ่งเป็นเรื่องไม่จริง บางที่การมองภาพว่า โลกเราต้องเป็นแบบนี้ เรารู้ว่ามันไม่จริง โลกเรามันมีความหลากหลายกว่าที่เรารู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เรารู้รูปแบบอะไรมา เช่น ฝรั่งเค้าทำแบบนี้ ตะวันตกเค้าคิดแบบนี้ เค้าถึงเจริญกว่าเรา เราก็จะไม่เชื่อ เราก็จะเกิดคำถามประมาณว่า ฝรั่งชาติไหน ในยุคใดของช่วงประวัติศาสตร์ พอไปเราก็จะเห็นว่า เขาก็มีพัฒนาการ มีความผิดพลาดในแบบของเขา พอไปอีกประเทศข้างๆ กัน เขาก็มีความขัดแย้งในมุมมองของฝรั่งด้วยกัน พอเราเจออะไรเรื่องพวกนี้ เราเลยรู้สึกว่า ความจริงแท้ บางทีก็ต้องฟังหลายๆ หู
อ่านเพิ่มเติม