บรรดาทาสแมวอย่ารอช้า การเดินทางอันยิ่งใหญ่ของเหล่า แมวข้างถนน จากโมร็อกโกไปจนถึงญี่ปุ่นกำลังรอคอยเราอยู่ในหนังสือภาพเล่มใหม่นี้
เป็นเวลา18 ปีแล้วที่ ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ ถ่ายรูปผู้คน เมือง และ ทิวทัศน์ต่างๆ ทั่วโลก และในขณะเดินทาง พวกเขาก็บังเอิญเก็บรวบรวมภาพของเจ้าสัตว์ขนฟูหน้าตาเป็นมิตรอย่างแมวข้างถนนด้วยเช่นกัน
ในหนังสือ La Grand Odysée des Chats (“The Grand Odyssey of Cats”) ของทั้งคู่ เจ้าสัตว์หน้าขนผู้เป็นดารานำเหล่านี้ บ้างก็พักผ่อนหย่อนใจอยู่ตามอาคารสีฟ้าสดใสของ เชฟชาอูน เมืองโบราณในโมร็อกโก บ้างกระโดดข้ามสิ่งปรักหักพังในกรีซ บ้างเฝ้ามองเหล่าชาวประมงในญี่ปุ่นอย่างใคร่สงสัยว่าโอกาสที่จะขโมยเศษปลาเหลือทิ้งจะมาถึงเมื่อไหร่
ตุล และ บรูโน่ เองก็เป็นทาสแมว พวกเขาอุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ “มุยร่า” แมวอายุ 10 ปีของพวกเขา ซึ่งตุลบรรยายถึงมันไว้ว่า “สวยและใจดี”
ในระหว่างออกทริปทำงาน ความลุ่มหลงต่อเหล่าแมวเหมียวรวยเสน่ห์ทำให้พวกเขาอดใจไม่ไหวต้องถ่ายรูปพวกมันเก็บไว้ เมื่อมีรูปภาพมากพอ พวกเขาลองถามบรรณาธิการว่าจะสามารถเอารูปเหล่านี้มารวมเล่มเป็นหนังสือได้ไหม ปรากฏว่าทางบรรณาธิการก็เห็นด้วย ดังนั้น ตุล และ บรูโน่ เลยเริ่มบันทึกภาพเจ้าสัตว์เลี้ยงกึ่งสัตว์ป่านี้ในมุมมองใหม่ๆ
พวกเขาเปรียบเทียบการถ่ายรูปแมวกับการถ่ายรูปคนไว้ว่า “สำหรับพวกเราแล้ว มันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่” ตุล โมรานดิ กล่าว “เพราะเราเป็นช่างภาพประเภทที่ชอบถ่ายรูปทีเผลอและรูปชีวิตบนท้องถนนอยู่แล้ว” ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปมีส่วนรวมกับเป้าหมายโดยตรง พวกเขาจะพยายามถ่ายช่วงจังหวะไร้การวางท่าและเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์และสัตว์ที่เล็งไว้ หลังจากนั้นพวกเขาถึงจะพูดคุยกับตัวบุคคล ซึ่งสำหรับแมว ถ้าพวกมันยอม ช่างภาพก็จะลูบหัวและเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย
จากหลากหลายเมือง พวกเขาสังเกตเห็นว่าแมวจะมีนิสัยที่เหมือนกันอยู่ แต่ก็เหมือนกับมนุษย์ แมวบางตัวจะขี้อายกว่าบางตัว ในขณะที่แมว “ดุร้าย” นั้นสามารถแยกออกได้ด้วยความกลัวและความเกลียดที่พวกมันมีต่อมนุษย์ แมวไร้เจ้าของ แมวข้างถนน แมวจรจัด หรือ แมวที่อยู่กันเป็นฝูง บางทีก็พบว่ามีความเป็นมิตรอยู่บ้าง “บางครั้ง แมวบางตัวก็ขี้อายมากๆ แต่ที่ญี่ปุ่น แมวส่วนใหญ่ที่เราเจอไม่ขี้อายเลย” ตุล กล่าว และเสริมว่า “พวกมันรู้ว่ามนุษย์นั้นใจดี ซึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่พวกมันมีกับเหล่าผู้คนที่ให้อาหาร”
ที่ญี่ปุ่น ผู้คนจะใจดีกับแมวเป็นพิเศษโดยเฉพาะชาวประมงที่มี “สัมพันธ์อันดี” กับแมว ตุล กล่าว แมวเหล่านี้ต่างก็ถูกคิดว่าสามารถนำโชคลาภมาให้ได้ มีวัดอยู่หลายแห่งที่คนสามารถไปสักการะบูชาพวกมัน และแมวยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องด้วยญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของเกาะแมวหลายเกาะ
วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และตำนาน เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อสาธารณชนที่มีต่อแมว มีคนกล่าวไว้ว่า ท่านนบีมุฮัมมัดเคยเทศน์โดยมีแมวน้อยอันเป็นที่รักของท่านนาม มุอัซซะฮฺ อยู่บนตัก และเมื่อเจ้าเหมียวหลับไปบนเสื้อคลุมของท่าน ท่านยอมตัดแขนเสื้อออกเสียดีกว่าที่จะรบกวนมุอัซซะฮฺ “ในประเทศที่นับถืออิสลามส่วนใหญ่ เช่น โมร็อกโก และ ตุรกี ต่างก็มีความสัมพันธ์พิเศษกับแมว” ตุล อธิบาย โดยเสริมต่อว่า “เพราะท่านนบีมุฮัมมัดรักแมว”
ทว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะรักแมวจรจัด เพราะในหลายๆ ที่ แมวนิสัยดุร้ายถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ล่าจอมรุกราน นักอนุรักษ์จึงกังวลว่าพวกมันอาจไปสร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่าชนิดอื่นในท้องถิ่น เป็นเรื่องเข้าใจกันดีว่า แมวที่อาศัยอยู่นอกบ้านจะคร่าชีวิตสัตว์อื่นมากมาย และในปี 2013 งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications พยายามวัดปริมาณของการตายที่เกิดขึ้น จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ที่สหรัฐอเมริกา แมวจรจัดฆ่านก 1,300 ถึง 4,000 พันล้านตัว และรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆอีก 6,300 ถึง 22,300 พันล้านตัว ต่อปี
ถึงกระนั้น งานวิจัยก็ยังเป็นที่ถกเถียงและผลลัพธ์ที่ได้ก็ถูกวิจารณ์โดยคนบางคนว่า “น่าสงสัย” เนื่องจากจำนวนแมวจรจัดในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ และดูเหมือนว่างานวิจัยอื่นๆ เรื่องพฤติกรรมแมวจะทำในสถานที่ที่ความหนาแน่นของประชากรแมวสูงผิดปกติ ดังนั้นการได้มาซึ่งการวัดที่แม่นยำเรียกได้ว่าเกือบเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกัน อีกงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยเรียกข้อสงสัยนี้ว่าเป็น “การปฏิเสธความจริงทางวิทยาศาสตร์” ของเหล่าคนรักแมว
เพื่อที่จะรักษาประชากรแมวจรจัดให้อยู่ภายใต้การควบคุม องค์กรบางองค์กรใช้กระบวนการ Trap Neuter Return หรือ TNR ซึ่งเหล่าอาสาสมัครก็จะทำหมันให้กับสัตว์จรจัดที่ไม่สามารถมีบ้านอยู่อย่างถาวรได้ เพื่อให้พวกมันใช้ชีวิตตามท้องถนนอย่างปกติสุขโดยไม่เพิ่มจำนวนประชากรให้สูงขึ้น ตามทฤษฎีแล้ว การใช้วิธี TNR อย่างพอเหมาะจะนำไปสู่การลดลงของจำนวนแมวไร้เจ้าของอย่างช้าๆ หรืออย่างน้อยจำนวนประชากรจะได้คงที่ แต่ไม่ว่าอย่างไร งานวิจัยมากมายพบว่าแมวนั้นสืบพันธุ์อย่างรวดเร็วจน TNR จะได้ผลก็ต่อเมื่อร้อยละ 75 ของประชากรแมวหรือมากกว่านั้นได้รับการทำหมันในแต่ละปี
ถึงแม้ผลกระทบที่แมวมีต่อสภาพแวดล้อมจะยังเป็นที่ถกเถียง ผู้คนทั่วโลกต่างก็เพลิดเพลินกับเพื่อนสี่ขาเหล่านี้ ที่เมืองลามู เกาะนอกชายฝั่งเคนยา แมวข้างถนนถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ที่กรีซ แมวได้รับการปกป้องตามกฎหมาย และในรูปถ่ายของสามีภรรยาโมรานดิตามสถานที่ต่างๆ ถ้าคนไม่เมินเฉยพวกมันไปเลยก็ลูบหัวและอุ้มพวกมันอย่างกระตือรือร้น
“แมวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตบนท้องถนนของพวกเขาไปแล้ว” เธอกล่าว
อ่านเพิ่มเติม
ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวระบบปิด
แมว สมัครใจเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงของเราด้วยตัวเอง