มาดูชีวิตของเหล่าแมวเหมียวตามท้องถนนทั่วโลกกันเถอะ

มาดูชีวิตของเหล่าแมวเหมียวตามท้องถนนทั่วโลกกันเถอะ

บรรดาทาสแมวอย่ารอช้า การเดินทางอันยิ่งใหญ่ของเหล่า แมวข้างถนน จากโมร็อกโกไปจนถึงญี่ปุ่นกำลังรอคอยเราอยู่ในหนังสือภาพเล่มใหม่นี้

เป็นเวลา18 ปีแล้วที่ ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ ถ่ายรูปผู้คน เมือง และ ทิวทัศน์ต่างๆ ทั่วโลก และในขณะเดินทาง พวกเขาก็บังเอิญเก็บรวบรวมภาพของเจ้าสัตว์ขนฟูหน้าตาเป็นมิตรอย่างแมวข้างถนนด้วยเช่นกัน

ในหนังสือ La Grand Odysée des Chats (“The Grand Odyssey of Cats”) ของทั้งคู่ เจ้าสัตว์หน้าขนผู้เป็นดารานำเหล่านี้ บ้างก็พักผ่อนหย่อนใจอยู่ตามอาคารสีฟ้าสดใสของ เชฟชาอูน เมืองโบราณในโมร็อกโก บ้างกระโดดข้ามสิ่งปรักหักพังในกรีซ บ้างเฝ้ามองเหล่าชาวประมงในญี่ปุ่นอย่างใคร่สงสัยว่าโอกาสที่จะขโมยเศษปลาเหลือทิ้งจะมาถึงเมื่อไหร่

เจ้าแมวน้อยโผล่หน้าออกมาจากข้างหลังกำแพงสีฟ้าของเมืองโบราณ เชฟชาอูน ทางตอนเหนือของเมืองโมร็อกโก เชื่อกันว่าเมื่อชาวยิวหนีมาที่เมืองนี้ในปี 1492 ช่วงศาลไต่สวนศรัทธาของสเปน (the Spanish inquisition) พวกเขานำเอาประเพณีการทาสีอาคารสีฟ้าติดตัวมาด้วย
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เอฟิซัส เมืองท่าโรมันโบราณ เป็นที่อยู่ของแมวมากมายนับไม่ถ้วน ที่ๆ ช่างภาพได้จับภาพเจ้าแมวสามสีระหว่างการกระโดดท่ามกลางซากปรักหักพังอายุ 2000 ปี
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เหล่าแมวลายสลิดก้าวย่างขนานไปกับเรือประมงในญี่ปุ่นที่ซึ่งแมวเพลิดเพลินกับ “ความสัมพันธ์พิเศษ” ที่พวกมันมีต่อชาวประมง ช่างภาพกล่าว
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ

ตุล และ บรูโน่ เองก็เป็นทาสแมว พวกเขาอุทิศหนังสือเล่มนี้แด่ “มุยร่า” แมวอายุ 10 ปีของพวกเขา ซึ่งตุลบรรยายถึงมันไว้ว่า “สวยและใจดี”

ในระหว่างออกทริปทำงาน ความลุ่มหลงต่อเหล่าแมวเหมียวรวยเสน่ห์ทำให้พวกเขาอดใจไม่ไหวต้องถ่ายรูปพวกมันเก็บไว้ เมื่อมีรูปภาพมากพอ พวกเขาลองถามบรรณาธิการว่าจะสามารถเอารูปเหล่านี้มารวมเล่มเป็นหนังสือได้ไหม ปรากฏว่าทางบรรณาธิการก็เห็นด้วย ดังนั้น ตุล และ บรูโน่ เลยเริ่มบันทึกภาพเจ้าสัตว์เลี้ยงกึ่งสัตว์ป่านี้ในมุมมองใหม่ๆ

พวกเขาเปรียบเทียบการถ่ายรูปแมวกับการถ่ายรูปคนไว้ว่า “สำหรับพวกเราแล้ว มันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่” ตุล โมรานดิ กล่าว “เพราะเราเป็นช่างภาพประเภทที่ชอบถ่ายรูปทีเผลอและรูปชีวิตบนท้องถนนอยู่แล้ว” ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปมีส่วนรวมกับเป้าหมายโดยตรง พวกเขาจะพยายามถ่ายช่วงจังหวะไร้การวางท่าและเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์และสัตว์ที่เล็งไว้ หลังจากนั้นพวกเขาถึงจะพูดคุยกับตัวบุคคล ซึ่งสำหรับแมว ถ้าพวกมันยอม ช่างภาพก็จะลูบหัวและเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

จากหลากหลายเมือง พวกเขาสังเกตเห็นว่าแมวจะมีนิสัยที่เหมือนกันอยู่ แต่ก็เหมือนกับมนุษย์ แมวบางตัวจะขี้อายกว่าบางตัว ในขณะที่แมว “ดุร้าย” นั้นสามารถแยกออกได้ด้วยความกลัวและความเกลียดที่พวกมันมีต่อมนุษย์ แมวไร้เจ้าของ แมวข้างถนน แมวจรจัด หรือ แมวที่อยู่กันเป็นฝูง บางทีก็พบว่ามีความเป็นมิตรอยู่บ้าง “บางครั้ง แมวบางตัวก็ขี้อายมากๆ แต่ที่ญี่ปุ่น แมวส่วนใหญ่ที่เราเจอไม่ขี้อายเลย” ตุล กล่าว และเสริมว่า “พวกมันรู้ว่ามนุษย์นั้นใจดี ซึ่งอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่พวกมันมีกับเหล่าผู้คนที่ให้อาหาร”

แมวข้างถนน
เจ้าแมวลายสลิดมองไปที่แมวอีกตัวด้วยความสงสัยบน “เกาะแมว” ของญี่ปุ่น
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
ที่โตเกียวนั้นมีวัดอยู่สองสามแห่งที่อุทิศให้กับแมว ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ผู้มาเยือนสามารถมองเห็นได้ทั้งแมวสลักหินและแมวเหมียวที่มีชีวิต
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ

ที่ญี่ปุ่น ผู้คนจะใจดีกับแมวเป็นพิเศษโดยเฉพาะชาวประมงที่มี “สัมพันธ์อันดี” กับแมว  ตุล กล่าว แมวเหล่านี้ต่างก็ถูกคิดว่าสามารถนำโชคลาภมาให้ได้ มีวัดอยู่หลายแห่งที่คนสามารถไปสักการะบูชาพวกมัน และแมวยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องด้วยญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของเกาะแมวหลายเกาะ

วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และตำนาน เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อสาธารณชนที่มีต่อแมว มีคนกล่าวไว้ว่า ท่านนบีมุฮัมมัดเคยเทศน์โดยมีแมวน้อยอันเป็นที่รักของท่านนาม มุอัซซะฮฺ อยู่บนตัก และเมื่อเจ้าเหมียวหลับไปบนเสื้อคลุมของท่าน ท่านยอมตัดแขนเสื้อออกเสียดีกว่าที่จะรบกวนมุอัซซะฮฺ “ในประเทศที่นับถืออิสลามส่วนใหญ่ เช่น โมร็อกโก และ ตุรกี ต่างก็มีความสัมพันธ์พิเศษกับแมว” ตุล อธิบาย โดยเสริมต่อว่า “เพราะท่านนบีมุฮัมมัดรักแมว”

ทว่า ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะรักแมวจรจัด เพราะในหลายๆ ที่ แมวนิสัยดุร้ายถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ล่าจอมรุกราน นักอนุรักษ์จึงกังวลว่าพวกมันอาจไปสร้างความเสียหายให้กับสัตว์ป่าชนิดอื่นในท้องถิ่น  เป็นเรื่องเข้าใจกันดีว่า แมวที่อาศัยอยู่นอกบ้านจะคร่าชีวิตสัตว์อื่นมากมาย และในปี 2013 งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications พยายามวัดปริมาณของการตายที่เกิดขึ้น จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ที่สหรัฐอเมริกา แมวจรจัดฆ่านก 1,300 ถึง 4,000 พันล้านตัว และรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆอีก 6,300 ถึง 22,300 พันล้านตัว ต่อปี

แมวข้างถนน
เจ้าแมวสองตัวกำลังเล่นต่อสู้กันข้างๆ ชาวบ้านที่ไม่แยแสอะไรพวกมัน บนเกาะลามู เคนยา
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
นอกจากประชากรแมวข้างถนนที่หนาแน่นแล้ว เมืองลามูยังเป็นบ้านของลาอีกหลายพันตัว
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ

ถึงกระนั้น งานวิจัยก็ยังเป็นที่ถกเถียงและผลลัพธ์ที่ได้ก็ถูกวิจารณ์โดยคนบางคนว่า “น่าสงสัย” เนื่องจากจำนวนแมวจรจัดในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ และดูเหมือนว่างานวิจัยอื่นๆ เรื่องพฤติกรรมแมวจะทำในสถานที่ที่ความหนาแน่นของประชากรแมวสูงผิดปกติ ดังนั้นการได้มาซึ่งการวัดที่แม่นยำเรียกได้ว่าเกือบเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกัน อีกงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยเรียกข้อสงสัยนี้ว่าเป็น “การปฏิเสธความจริงทางวิทยาศาสตร์” ของเหล่าคนรักแมว

เพื่อที่จะรักษาประชากรแมวจรจัดให้อยู่ภายใต้การควบคุม  องค์กรบางองค์กรใช้กระบวนการ Trap Neuter Return หรือ TNR ซึ่งเหล่าอาสาสมัครก็จะทำหมันให้กับสัตว์จรจัดที่ไม่สามารถมีบ้านอยู่อย่างถาวรได้ เพื่อให้พวกมันใช้ชีวิตตามท้องถนนอย่างปกติสุขโดยไม่เพิ่มจำนวนประชากรให้สูงขึ้น ตามทฤษฎีแล้ว การใช้วิธี TNR อย่างพอเหมาะจะนำไปสู่การลดลงของจำนวนแมวไร้เจ้าของอย่างช้าๆ หรืออย่างน้อยจำนวนประชากรจะได้คงที่ แต่ไม่ว่าอย่างไร งานวิจัยมากมายพบว่าแมวนั้นสืบพันธุ์อย่างรวดเร็วจน TNR จะได้ผลก็ต่อเมื่อร้อยละ 75 ของประชากรแมวหรือมากกว่านั้นได้รับการทำหมันในแต่ละปี

ถึงแม้ผลกระทบที่แมวมีต่อสภาพแวดล้อมจะยังเป็นที่ถกเถียง ผู้คนทั่วโลกต่างก็เพลิดเพลินกับเพื่อนสี่ขาเหล่านี้ ที่เมืองลามู เกาะนอกชายฝั่งเคนยา แมวข้างถนนถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ที่กรีซ แมวได้รับการปกป้องตามกฎหมาย และในรูปถ่ายของสามีภรรยาโมรานดิตามสถานที่ต่างๆ ถ้าคนไม่เมินเฉยพวกมันไปเลยก็ลูบหัวและอุ้มพวกมันอย่างกระตือรือร้น

“แมวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตบนท้องถนนของพวกเขาไปแล้ว” เธอกล่าว

แมวข้างถนน
แมวเหล่านี้อาศัยอยู่บนหนึ่งใน “เกาะแมว” ของญี่ปุ่นที่มีอยู่เกือบครบโหลของญี่ปุ่น ช่างภาพกล่าวว่าแมวญี่ปุ่นนั้นเป็นมิตรต่อมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกมันรู้ว่ามนุษย์ก็เป็นมิตรกับมัน 
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เหล่าลูกแมวนั่งกันอยู่ในเมืองเก่าลามู เมืองสวาฮีลีที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออกและเป็นหนึ่งในแหล่งมรดกโลก เจ้าแมวบนเกาะลามูเหล่านี้โดดเด่นออกมาจากประชากรแมวแอฟริกันตัวอื่นๆ ด้วยหน้าที่แหลมกว่าและขาที่ยาวกว่า
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เจ้าแมวตัวจริงนอนอยู่ท่ามกลาง มาเนกิเนโกะ หรือรูปสลัก “แมวกวัก” ที่วัดแมวแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เจ้าแมวจรจัดนอนเอนกายอยู่บนหิ้งที่ซิคละดีส หมู่เกาะในประเทศกรีซ
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เหล่าแมวเหมียวสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัวอยู่ในเมืองเชฟชาอูน โมร็อกโก
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
แมวเหมียวกำลังหลับใหลไม่ใส่ใจมนุษย์ที่เดินกันไปมาบนถนนในเมืองเชฟชาอูน
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
เจ้าแมวเหมียวนอนพักผ่อนหย่อนใจอยู่บนหนึ่งในซากปรักหักพังอายุ 2,000 ปี ที่โบราณสถานแห่งอิฟีซัส เมืองท่าโรมันโบราณ ประเทศตุรกี ณ ปัจจุบัน
ภาพถ่ายโดย ดุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
เจ้าแมวขี้เล่นกำลังยืดขาทั้งสี่ข้างอยู่กลางแสงแดดบนซากปรักหักพังในตุรกี อิสลามเป็นศาสนาหลักของประเทศตุรกีและมีการเล่าขานกันว่าท่านนบีมุฮัมมัดเคยเทศน์ไปพร้อมกับแมวที่อยู่บนตักของท่าน
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ
แมวข้างถนน
อาโอชิมะหรือที่รู้จักกันในนาม “เกาะแมว” ในญี่ปุ่นเป็นที่อยู่ของแมวซึ่งมีจำนวนมากกว่ามนุษย์เป็นสิบเท่า
ภาพถ่ายโดย ตุล และ บรูโน่ โมรานดิ

 


 

อ่านเพิ่มเติม

ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวระบบปิด

 

แมว สมัครใจเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงของเราด้วยตัวเอง

 

Recommend