หนังสือ “Mein Kampf” หรือชื่อไทยว่า “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” หนังสือที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขียนขึ้นระหว่างถูกคุมขังในคุก Landsberg
ขอบคุณภาพจาก AFP
เปิดหนังสือต้องห้ามและความเข้าใจผิดที่ ฮิตเลอร์ มีต่อ ชาวอารยัน
“เราแบ่งเชื้อชาติของมนุษย์ออกเป็น 3 พวก คือพวกเริ่มสร้าง, พวกรักษาไว้, และพวกทำลายวัฒนธรรม และชาวอารยันเท่านั้นที่ตามประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเป็นเชื้อชาติที่อยู่ในประเภทแรกประเภทเดียว”
“จากประวัติศาสตร์ย่อมจะเห็นตัวอย่างได้มากมายว่าทุกๆ ครั้งที่เลือดชาวอารยันต้องถูกผสมกับเลือดของคนต่ำๆ นั้น ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรมอย่างใดบ้างในอเมริกาเหนือ พลเมืองโดยมากมีเลือดเยอรมัน และได้ผสมกับเลือดคนถิ่นเดิมแต่เพียงน้อย ก็ยังมีวัฒนธรรมสูงกว่าพวกอเมริกากลางหรือใต้ที่มีเลือดลาตินแต่ผสมกับชาวพื้นเมืองต่ำๆ อย่างเปิดเผยและอิสระ จากตัวอย่างข้างบนนี้เราย่อมเห็นได้ว่าการผสมระหว่างเชื้อชาติภายในประเทศนั้นให้ผลอย่างไรบ้าง ชนชาวเยอรมันที่อยู่ในทวีปอเมริกาโดยมากมักจะร่วมสัมพันธ์ระหว่างพวกกันเอง ไม่ใคร่จะยอมให้เลือดเยอรมันต้องผสมกับชาวชาติอื่น ทั้งนี้ย่อมทำให้ชาวเยอรมันมีวัฒนธรรมอันสูงเป็นใหญ่เป็นโต และเป็นที่เชื่อแน่ว่าอย่างไรเสียก็คงต้องดำรงความเป็นใหญ่เป็นโตต่อได้เรื่อยๆ จนกว่าจะยอมให้เลือดเยอรมันของตนต้องไปผสมกับชาวชาติอื่น”
เนื้อหาข้างต้นคัดลอกมาจากส่วนหนึ่งของบทที่ 11 “ชาติและเชื้อชาติ” จากหนังสือ “Mein Kampf” หรือชื่อไทยว่า “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” หนังสือที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขียนขึ้นระหว่างถูกคุมขังในคุก Landsberg หลังสั่งให้กองทหารของพรรคนาซีที่เขาจัดตั้งขึ้นเดินขบวนในเมืองมิวนิค เป็นเหตุให้ถูกกองทหารและเจ้าหน้าที่ของตำรวจเข้าปราบปรามและจับกุม ภายในเล่าถึงประวัติตนเอง พร้อมแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองของลัทธินาซี ขณะนั้นเป็นเวลาช่วง 5 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นเวลา 4 ปีมาแล้วที่พรรคนาซีได้ก่อตั้งขึ้น ประเทศเยอรมนีกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลังพ่ายแพ้สงคราม อังกฤษและฝรั่งเศสผู้ชนะสงครามดำเนินนโยบายบีบคั้นทวงค่าปฏิกรรมสงครามส่งผลให้ผู้คนอดอยาก หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1925 และขายได้เพียง 20,000 เล่มเท่านั้น ทว่าหลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1933 หนังสือเล่มนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ประชาชนมีหนังสือ “Mein Kampf” เก็บไว้ในบ้านไม่ต่างจากยาสามัญ ผู้คนมอบหนังสือให้กันเป็นของขวัญแต่งงาน และของขวัญจบการศึกษา
ปี 1665 เกิดการระบาดของกาฬโรคในยุโรป มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 25 ล้านคน ชาวยิวถูกกล่าวหาว่าเป็นพาหะนำโรค จึงมีการกวาดล้างชาวยิวเพราะความแค้น นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนว่าชาวยิวไม่ได้รับการยอมรับในยุโรปมานานแล้ว
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 “Mein Kampf” กลายเป็นหนังสือต้องห้าม และเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาหนังสือเล่มนี้เพิ่งจะหมดอายุด้านลิขสิทธิ์ของรัฐบาลท้องถิ่นรัฐบาเยิร์นไป หลังครบรอบ 70 ปี ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหภาพยุโรป และกลายมาเป็นสมบัติสาธารณะที่สามารถตีพิมพ์ได้ ซึ่งในปี 2016 หลังนำกลับมาพิมพ์ใหม่หนังสือเล่มนี้ครองแชมป์หนังสือขายดีที่สุดในเยอรมนี
แล้วทำไมฮิตเลอร์ถึงเกลียดชังยิวนัก? คำถามนี้มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมาย ระบุว่าเดิมฮิตเลอร์นั้นเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ปลูกฝังแนวคิดเกลียดชังชาวยิวอยู่แล้ว แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ยุคกลาง เนื่องจากชาวยิวนับถือศาสนาและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวยุโรป ประกอบกับในช่วงก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นสู่อำนาจ เศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังย่ำแย่ ผู้คนตกงานมากมาย ในขณะที่ชาวยิวสามารถเอาตัวรอดหาเงินเลี้ยงปากท้องและยังคงความมั่งคั่งได้ จึงเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาว่าเพราะยิวนี่แหละที่ทำให้ชาวเยอรมันยากจน ไปจนถึงเพราะยิว เยอรมนีจึงพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1
ในทรรศนะของฮิตเลอร์ มนุษย์เราไม่เท่าเทียมกันตามชาติกำเนิด และชาวเยอรมันที่มีเลือดอารยันคือมนุษย์ผู้สูงส่งที่สุด โดยคุณลักษณะของชาวอารยันแท้ๆ จะต้องมีผิวขาว ผมทอง ดวงตาสีฟ้า ส่วนมนุษย์เผ่าพันธุ์ที่ต่ำลงไปได้แก่ชาวสลาฟ, ชาวเช็ก, ชาวโปลส์ และชาวรัสเซีย ขณะที่ชาวยิวถูกจัดเป็นเผ่าพันธุ์ที่ต่ำที่สุด ซึ่งในหนังสือ “Mein Kampf” นอกเหนือจากถ้อยคำยกยอความประเสริฐของชาวเยอรมันแล้ว ฮิตเลอร์ยังแสดงความจงเกลียดจงชังชาวยิวออกมาอย่างชัดเจน และเปรียบยิวกับเชื้อโรคร้าย
“เชื้อชาติที่ตรงกันข้ามกับอารยันคือยิว ไม่มีชาวชาติใดในโลกที่ความเจริญในทางเห็นแก่ตัวจะมีมากไปกว่าพวกยิว ยิวไม่ถือขอบเขตใดเป็นอาณาเขตของตน เชื้อชาติที่ดีย่อมจะต้องมีประเทศ มีอาณาเขตที่ควรสงวน ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็คือ แม้จนตราบเท่าทุกวันนี้ ชาวชาตินี้ก็ยังคงปรากฏยืนยงอยู่เรื่อยๆ มา โดยไม่คำนึงถึงประเทศและอาณาเขตใดๆ ที่ตนต้องพึงรักษา ความเป็นอยู่ของพวกนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความจริงในเรื่องนี้ได้ว่า พวกยิวไม่มีรากฐานแห่งวัฒนธรรมที่จะพึงรักษาไว้แต่ประการใดๆ”
แนวคิดของนาซีที่ว่าชาวเยอรมันคือสายเลือดอารยันบริสุทธิ์เริ่มต้นมาจากไหน? เรื่องราวเริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของนักวิชาการตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่คิดกันว่าภาษาสันสกฤตคือร่องรอยที่ยังหลงเหลือของตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ต่อมา Friedrich Schlegel นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมันพัฒนาทฤษฎีขึ้นมาว่าภาษาสันสกฤตมีความเชื่อมโยงกับภาษาเยอรมัน จากคำที่มีการออกเสียงคล้ายกันระหว่างคำว่าอารยัน (Aryan) กับคำว่า “Ehre” ในภาษาเยอรมันที่แปลว่าเกียรติยศ
ผ่านไปหลายสิบปี ในทศวรรษ 1850 Arthur de Gobineau นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเขียนตำราวิชาการว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ของมนุษย์ ระบุชาวเยอรมัน, สแกนดิเนเวีย และทางตอนเหนือของฝรั่งเศสคือผู้สืบสายเลือดชาวอารยันแท้ ส่วนบรรดาชาวยุโรปใต้, สลาฟ, อาหรับ, อิหร่าน, อินเดีย ไปจนถึงชาติพันธุ์อื่นๆ คือสายเลือดไม่บริสุทธิ์ที่เกิดจากการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ แนวคิดนี้ค่อนข้างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 Alfred Rosenberg นักทฤษฏีชาวเยอรมันขยายแนวคิดดังกล่าวด้วยการเรียกร้องให้ทำลายบรรดาผู้ที่มีสายเลือดไม่บริสุทธิ์ให้หมดไปจากยุโรป ผู้ที่เข้าข่ายไม่ใช่ชาวอารยันในอุดมคติครอบคลุมตั้งแต่ชาวยิว, ชาวโรมาเนีย (ยิปซี), ชาวสลาฟ และรวมถึงชาวแอฟริกัน, เอเชีย และชนพื้นเมืองอเมริกันด้วย ในที่สุดแนวคิดนี้ก็มาถึงพรรคนาซีและกลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญของพรรคที่จะต้องรักษาเชื้อชาติอารยันอันสูงส่งเอาไว้
ด้านดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลางและสมัยใหม่ เคยให้สัมภาษณ์กับ 101 ระบุว่า ฮิตเลอร์เริ่มรับแนวคิดเกลียดชาวยิว (Antisemitism) มาตั้งแต่สมัยเป็นทหารที่เมืองมิวนิค ฮิตเลอร์เคยไปฟังเลคเชอร์เกี่ยวกับ Antisemitism ของอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค นอกจากนี้ช่วงที่ฮิตเลอร์เป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หัวหน้าหน่วยทหารที่ฮิตเลอร์สังกัดเองล้วนมีแนวคิดต่อต้านยิว ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และชาตินิยมสุดโต่งทั้งสิ้น
die Endlsung der Judenfrage ภาษาเยอรมันแปลว่า “การแก้ปัญหาชาวยิวอย่างเบ็ดเสร็จ” ศัพท์ทางการที่ฮิตเลอร์ใช้ดำเนินนโยบายในการจัดการกับชาวยิว
ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 1920 คณะกรรมการพรรคนาซีจัดการประชุมครั้งใหญ่ เพื่อกำหนดจุดหมาย 25 ข้อ เหล่านี้คือตัวอย่างของนโยบายที่บ่งชี้ถึงแนวคิดเกลียดกลัวชาวต่างชาติ ทว่าในเวลานั้นนาซียังเป็นแค่พรรคชาตินิยมพรรคหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่ได้มีบทบาทหรือความน่าสนใจมากไปกว่ากลุ่มการเมืองอื่นๆ และไม่เคยมีใครคาดคิดเลยว่าในอนาคตอันใกล้ การผงาดขึ้นของพรรคนี้จะนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้ง
“ข้อ 23. เราต้องการรักษาสวัสดิภาพของชาวชาติในทางการเมือง โดยวิธีควบคุมหนังสือพิมพ์และจัดหนังสือพิมพ์แห่งชาติเยอรมันให้เป็นประโยชน์แก่ชาติจริงๆ ด้วย ก. บรรณาธิการตลอดจนผู้ช่วยทุกๆ คนต้องเป็นคนเยอรมัน ข. ถ้าหนังสือพิมพ์ใดๆ จะพิมพ์เป็นภาษาอื่นต้องได้รับการอนุญาตเสียก่อน ค. คนที่ไม่ใช่ชาวเยอรมัน ต้องมีกฎหมายบังคับไม่ให้มีส่วนในการเงิน หรือมีอิทธิพลใดๆ ในหนังสือพิมพ์เยอรมัน
ข้อ 24. เราต้องการให้พลเมืองมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการนับถือศาสนาเท่าที่จะไม่เป็นภัยแก่ชาติ และแก่ธรรมจรรยาหรือความรู้สึกของเชื้อชาติเยอรมัน คณะพรรคนี้จะยอมรับรองศาสนาคริสเตียน แต่ก็จะไม่นับมารวมกับทางการเมือง และเราจะต่อต้านกับลัทธิวัตถุของชาวยิว ทั้งภายนอกและภายในประเทศ และต้องให้เป็นที่แน่นอนว่า ชาวชาติของเราจะอยู่เป็นสุขโดยยึดมั่นในหลักการที่ว่า ประโยชน์ส่วนร่วมมาก่อนส่วนตัว”
10 ปีต่อมา เมื่อพรรคนาซีมีอำนาจ และมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น พวกเขาร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ทั่วประเทศจัดมหกรรมการเผาวรรณกรรมและงานเขียนต่างๆ ที่ผลิตโดยชาวยิวและกลุ่มคนอื่นๆ ที่เนื้อหาของงานไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของระบอบนาซี 5 ปีต่อมา หลังฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ 2 ปี พรรคนาซีออกพระราชบัญญัตินูเร็มเบิร์ก 1935 ประกอบด้วยกฎหมายสองฉบับ คือ กฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมัน โดยห้ามชาวเยอรมันสมรสหรือมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสกับชาวยิว และกฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองไรช์ (Reich citizenship) ซึ่งบัญญัติว่า ผู้มีสายเลือดเยอรมันหรือสายเลือดที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะเป็นพลเมืองไรช์ ส่วนคนที่เหลือจัดเป็น “พสกนิกรของรัฐ” ซึ่งจะไม่ได้รับสวัสดิการ
ในความเป็นจริงแล้วคำว่าอารยันคืออะไร? ทางพระพุทธศาสนา “อารยัน” ตรงกับคำศัพท์ในพระพุทธศาสนาคืออริยะ หรืออริยกะ หมายถึง ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐ สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงในภาษาสันสกฤตที่ให้ความหมายว่าคำนี้สื่อถึงความสูงศักดิ์ หรือมีเกียรติ ในภาษาจีนกลางคำว่า Aryan สามารถตั้งเป็นชื่อให้กับลูกชายได้ มีความหมายว่า “ชายผู้มีความแข็งแกร่งเหนือใคร” ส่วนทางมานุษยวิทยา คำว่า “อารยัน” สื่อถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสเตปป์ทางตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน เมื่อ 3,500 ปีก่อนคริสต์กาล หรือบริเวณรอยต่อระหว่างเอเชียตอนกลางและยุโรปตะวันออก และอพยพลงใต้มาเรื่อยๆ ผ่านอิหร่าน จนไปถึงทางตอนเหนือของอินเดียเมื่อช่วง 1,500 ปีก่อนคริสต์กาล พวกเขาตั้งถิ่นฐาน ผสมกลมกลืนกับชาวดราวิเดียนซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิม และให้กำเนิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือและใต้ตามมา นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าร่องรอยการอพยพในอดีตนี้ถูกบอกเล่าผ่านตำนานรามายณะ วรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดียที่เล่าต่อกันมาอย่างยาวนานถึงการต่อสู้ระหว่างมนุษย์ (ชาวอารยัน) และยักษ์ (ชาวดราวิเดียน)
ปี 2018 ทีมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 92 คน จากสถาบันชื่อดังไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือ MIT ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนขึ้นถึงที่มาของชาวอินเดีย พวกเขาวิเคราะห์จีโนมของมนุษย์โบราณจำนวน 612 คน ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน โดยตัวอย่างที่พวกเขาเลือกนำมาวิจัยประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายจากทั้งอิหร่านตะวันออก, อุเบกิซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, คาซัคสถาน รวมไปถึงในเอเชียใต้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 362 ตัวอย่างที่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบมาก่อน ผลการวิเคราะห์ที่ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างจีโนมของชาวอินเดียในปัจจุบันจำนวน 246 คน จากแหล่งที่มาซึ่งแตกต่างกัน
ผลการศึกษาพบว่ามีสามกลุ่มประชากรหลักที่ผสมปนเปกันในอดีต และให้กำเนิดบรรพบุรุษของชาวอินเดีย กลุ่มแรกคือประชากรนักล่าสัตว์ชาวเอเชียใต้ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอนุทวีปแห่งนี้ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมา และมีความเชื่อมโยงกับชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย กลุ่มที่สองคือเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขา Zagros ในอิหร่านปัจจุบัน พวกเขาเดินทางมายังอนุทวีปอินเดียและนำเอาภูมิปัญญาการปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์มาด้วย และกลุ่มสุดท้ายคือชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ในเอเชียกลางและทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ชาวอารยัน”
(อนิเมชั่นแสดงการอพยพของชาวอารยันโดย Infognostica)
ทีมนักวิจัยถอดข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นแผนที่การอพยพย้ายถิ่นฐานระบุว่า ประชากรชนพื้นเมืองของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุเกิดขึ้นจากการผสมกลมกลืนกันของกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง (นักล่าสัตว์ชาวเอเชียใต้ + เกษตรกรในอิหร่าน) จากนั้นราว 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล ชาวอารยันได้อพยพลงใต้จากทุ่งหญ้าสเตปป์มาผสมกลมกลืนเข้ากับประชากรในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุด้วย ก่อให้เกิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือ ต่อมาประชากรกลุ่มหนึ่งจากลุ่มแม่น้ำสินธุอพยพลงไปทางอินเดียตอนใต้และผสมเข้ากับชนพื้นเมืองซึ่งเป็นนักล่าสัตว์อีกครั้ง ก่อให้เกิดบรรพบุรุษของชาวอินเดียใต้ และเมื่อเวลาผ่านไปลูกหลานของทั้งบรรพบุรุษชาวอินเดียเหนือและใต้เผชิญหน้ากันอีกครั้ง และผสมผสานกันจนกลายมาเป็นประชากรของชาวอินเดียดังปัจจุบัน
นี่คือเรื่องราวของชาวอารยัน ที่ไม่ได้หมายความถึงผู้คนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งดังที่ฮิตเลอร์เข้าใจ เลวร้ายยิ่งกว่าคือแนวคิดนี้กลายมาเป็นข้ออ้างในการฆาตกรรมหมู่กลุ่มคนที่แตกต่าง ในนามของความรักชาติอันสูงส่ง พรรคนาซีสังหารชาวยิวในยุโรปไปมากถึง 6 ล้านคน ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ใช่แค่ยิว เหยื่อจากแนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่งในครั้งนั้นยังมีชาวยิปซีอีกราว 220,000 คน ชาวสลาฟในบอลข่านอย่างโครเอเชีย และบอสเนียอีก 312,000 คน ผู้พิการอีก 250,000 คน และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีรสนิยมรักเพศเดียวกันตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน นักประวัติศาสตร์คาดคะเนว่าเหยื่อจากนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพรรคนาซีหากรวมกันแล้วอาจสูงถึง 17 ล้านคน
ความคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์บริสุทธิ์ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ระหว่างช่วงสงครามโลกอีกหนึ่งเป้าหมายนอกจากการกำจัดผู้ที่ไม่ใช่อารยันแล้ว พรรคนาซียังต้องการผลิตสายเลือดอารยันให้ได้มากที่สุดด้วย ในปี 1935 Heinrich Himmler ผู้บัญชาการหน่วย SS (Schutzstaffel) ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองฮิตเลอร์และพิทักษ์เชื้อชาติบริสุทธิ์อันสูงส่งของเยอรมันก่อตั้งโปรเจค “Lebensborn” ขึ้น หญิงสาวชาวเยอรมันที่มีคุณลักษณะตรงกับชาวอารยันในอุดมคติจะถูกคัดเลือกเข้ามายังศูนย์ เพื่อให้พวกเธอมีลูกกับทหารของหน่วย SS เด็กที่เกิดมาจะกลายเป็นสมบัติของหน่วย SS พวกเขาจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการศึกษา แต่พวกเขาจะไม่ทราบเลยว่าพ่อแม่ของตนเป็นใคร มากไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่หน่วย SS ยังดำเนินภารกิจลักพาตัวเด็กๆ ที่มีผมสีทอง ดวงตาสีฟ้ามาเลี้ยงในศูนย์ด้วย หลังสิ้นสุดสงครามเด็กกำพร้าเหล่านี้กระจัดกระจายกันไปยังศูนย์ที่เปิดเลี้ยงดูเด็กๆ จากโครงการ Lebensborn ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์ และลักเซมเบิร์ก หรือหากโชคดีก็อาจมีครอบครัวรับอุปการะ
ส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัตินูเร็มเบิร์ก 1935 กำหนดให้ชาวยิวทุกคนต้องติดสัญลักษณ์ดาวหกแฉกสีเหลืองไว้ที่แขนเสื้อ เพื่อแบ่งแยกชาวยิวออกจากพลเมืองคนอื่นๆ นอกจากนั้นพรรคนาซียังสร้างเกตโตหลายแห่ง เพื่อใช้กักขังชาวยิว ซึ่งภายในมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย หนาแน่น และต้องรับการปันส่วนอาหารซึ่งไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้มีชาวยิวหลายแสนคนเสียชีวิตด้วยโรคระบาดหรือความหิวโหย
ขบวนการนาซีใหม่
ผู้คนจดจำสิ่งที่นาซีทำกับเหยื่อได้ขึ้นใจ แต่เกิดอะไรขึ้นกับชาวเยอรมันเองเมื่อพวกเขาพ่ายแพ้สงคราม เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองกรุงเบอร์ลิน ผู้คนแทบไม่เชื่อสายตา สิ่งที่ยากกว่าการยึดดินแดนคือการล้างอุดมการณ์ในหัวที่ปลูกฝังแก่ชาวเยอรมันทุกช่วงวัยมานานหลายสิบปี หลังที่ผ่านมาพวกเขาถูกหล่อหลอมและวาดหวังด้วยอุดมคติจากพรรคนาซีว่าชาวเยอรมันคือที่หนึ่งในโลก และอาณาจักรของพวกเขาจะขยายกว้างไกลไปสุดหล้าฟ้าเขียว ยืนยงอีกนานนับพันปี ทุกสิ่งพังทลายลงต่อหน้า สหภาพโซเวียตเอาคืนหลังสูญเสียพลเมืองให้แก่พรรคนาซีหลายล้านคน กองทัพแดงเข้ากวาดล้างและคุมขังชาวเยอรมันต้องสงสัยมากกว่า 180,000 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกพรรคนาซีระดับรองๆ ตลอดจนยุวชนของฮิตเลอร์
บรรดาผู้ต้องขังถูกปล่อยให้อดอยาก ขาดการติดต่อกับญาติพี่น้อง ส่วนผู้ชายที่แข็งแรงถูกส่งไปใช้แรงงานยังไซบีเรีย และไม่ได้กลับมาอีกเลย จำนวนผู้ใช้แรงงานตลอดจนจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเป็นปริศนา ส่วนพื้นที่ที่ถูกปลดปล่อยโดยสหรัฐฯ และอังกฤษเอง ทหารได้รับคำสั่งไม่ให้เหลืออาหารแก่ชาวเยอรมัน และปฏิเสธความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศล มีรายงานว่าช่วงปี 1945 – 1946 หลังพ่ายแพ้สงครามส่งผลให้มีจำนวนชาวเยอรมันที่อดอยากจนเสียชีวิตมากถึงหลักล้านคน และหลายคนมองว่านี่คือความยุติธรรมเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาก่อไว้กับโลก
ทุกวันนี้สังคมเยอรมันก้าวไกลจากนาซีมามาก นี่คือประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยอันดับต้นๆ ทั้งยังเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทว่าอุดมการณ์ขวาจัดกลับผุดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกแทน รวมไปถึงในเยอรมนีด้วย แนวคิดชาตินิยมสุดโต่งแบบสมัยใหม่ไม่ใช่แค่ความเกลียดยิว แต่หากครอบคลุมไปถึงการเหยียดเชื้อชาติ, สีผิว และรสนิยมทางเพศ และในหลายประเทศแนวคิดดังกล่าวถูกนักการเมืองชูขึ้นเป็นนโยบาย ดังเช่นพรรคการเมืองในหลายประเทศของยุโรปที่แม้จะมีเนื้อหาของนโยบายต่างกัน แต่กลับมีคุณลักษณะร่วมคือ การเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อพยพ, การใช้คำพูดต่อต้านศาสนาอิสลาม และการวิจารณ์สหภาพยุโรป ส่วนในสหรัฐฯ รายงานจากสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ ระบุว่าช่วงปี 2014 – 2017 สังคมมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิต 66 ราย จากเหตุโจมตีทำร้ายกันจำนวน 127 ครั้ง ทั้งในแบบลงมือทำกันเป็นกลุ่ม และเป็นรายบุคคล โดยมีที่มาจากแนวคิดขวาจัดสุดโต่งต่อคนที่ต่างเชื้อชาติ สีผิว และศาสนา
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนมาจากสปีชีส์เดียวกันและจากบรรพบุรุษเดียวกัน” – ปฏิญญาว่าด้วยเชื้อชาติและอคติทางเชื้อชาติ ปี 1978 บ่งบอกถึงความเกี่ยวข้องเป็นสายพันธุ์เดียวกันตั้งแต่เกิดจนดับไป และไม่มีเชื้อชาติใดที่เหนือกว่าใคร
ย้อนกลับไปที่งานวิจัยด้านพันธุกรรมของชาวอินเดียเมื่อปี 2018 สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เปิดเผยข้อมูลใหม่ หากยังสั่นคลอนความเชื่อเดิมของชาวฮินดู เมื่อหลักฐานมากมายกำลังบอกว่าชาวอารยันแท้จริงไม่ได้กำเนิดขึ้นในอินเดียตามแบบฉบับของคัมภีร์พระเวท แต่แท้จริงแล้วชาวอินเดียคือส่วนผสมปนเปของผู้อพยพและคนพื้นเมืองเดิม หากยอมรับแนวคิดใหม่นี้ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าใครคือชาติพันธุ์แท้ไม่แท้ หรือใครคือชาติพันธุ์บริสุทธิ์อีกต่อไป ระบอบนาซีได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความเกลียดชังทางเชื้อชาติผลักดันให้มนุษย์สร้างเรื่องเลวร้ายที่สุดได้ขนาดไหน ทว่า 74 ปีที่ผ่านมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังยังคงถูกบ่มเพาะให้เติบโต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนล้วนเป็นลูกหลานของมนุษย์สองสามพันคนแรกที่ทิ้งแอฟริกาไปเมื่อราว 60,000 ปีก่อนเหมือนๆ กันมิใช่หรือ?
อ่านเพิ่มเติม
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนาซี มีที่มาอย่างไร
แหล่งข้อมูล
หนังสือ “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
หนังสือ “กำเนิด จุดจบ และโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์” โดย นฤนารท พระปัญญา
หนังสือ “ปรักปรำศาสตร์” แปลโดย อลิสา สันตสมบัติ
แนวคิดเพ้อคลั่งของเจ้าพ่อแห่งไรช์ที่ 3
นาซีศึกษา : อ่านอดีต เพื่อเข้าใจปัจจุบัน กับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
Aryan — A Much Misunderstood Word
The True Aryans: Who Were They Really and How Were Their Origins Corrupted?
Hitler’s Views on Eugenics and Aryan Supremacism
How did the Nazis construct an Aryan identity?