ปลาที่ถูกเด็กๆ จับเหล่านี้มาจากอ่าวมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นระบบนิเวศและแหล่งวางไข่ที่ปนเปื้อนมลพิษจากขยะครัวเรือน ขยะพลาสติก และขยะอื่นๆ ยังไม่มีไครรู้ว่าไมโครพลาสติกที่ปลากินเข้าไปนั้นจะส่งผลต่อมนุษย์หรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นหาคำตอบกันอยู่ ภาพถ่ายโดย RANDY OLSON
รายงานชิ้นใหม่เปิดเผยว่าผู้คนกว่าหนึ่งล้านคนอาจเสียชีวิตในแต่ละปี เนื่องจากการจัดการ ขยะ อย่างไม่ถูกวิธี
รายงานชิ้นใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยองค์กรการกุศล Tearfund, Fauna & Flora International, WasteAid และ The Institute of Development Studies ระบุว่าในแต่ละปี ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนากว่า 400,000 ถึง 1,000,000 คนต้องเสียชีวิตเนื่องจากการจัดการ ขยะ ด้วยวิธีที่ผิด และพลาสติกกำลังทำให้ปัญหาเหล่านั้นสาหัสยิ่งขึ้น
ขยะจากครัวเรือนเพียงหนึ่งในสี่ของโลกเท่านั้นที่ถูกจัดเก็บ และร้อยละ 93 ของประเทศกำลังพัฒนา มีการจัดการขยะอย่างผิดวิธี ส่งผลให้มีขยะทั้งพลาสติกและขยะชนิดอื่นๆ ยังถูกทิ้งอยู่ในสภาพแวดล้อม และก่อให้เกิดอันตรายหลายประการกับมนุษย์
บ่อยครั้งที่ประเทศรายได้ต่ำและกลางไม่มีวิธีอื่นในการกำจัดขยะ นอกจากการเผา กระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากสารพิษในพลาสติก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ประมาณการว่า ผู้คนกว่า 3.7 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศในแต่ละปี โดยการประมาณครั้งล่าสุด ระบุว่าร้อยละ 25 ของการเสียชีวิตเหล่านี้อาจเกิดจากการเผาขยะในที่โล่ง (Open Burning)
นอกจากมลพิษทางอากาศ ขยะพลาสติกยังปล่อยสารพิษชนิดอื่นๆ และยังแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรเมื่อเสื่อมสภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่กลับยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่ระบุถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษย์
นอกจากปัญหามลพิษ ขยะพลาสติกยังนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ในประเทศเหล่านี้
เนื่องจากขยะพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ จึงทำให้ทางระบายน้ำอุดตันจนเกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง และทำให้ปัญหาอื่นๆ ตามมา อย่างโรคระบาด เช่นการระบาดของอหิวาตกโรคหลังน้ำท่วมในเมืองอักกรา (Accra) ประเทศกานา ซึ่งยังผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน นอกจากนี้ น้ำที่ขังอยู่ในขยะพลาสติกยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคเช่นไข้เลือดออกและมาลาเรีย
นอกจากนี้ ขยะยังเป็นอันตรายต่อคนที่ยังชีพด้วยการเก็บขยะหลายแสนคนทั่วโลก โดยเฉพาะคนเก็บขยะที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขาขยะ เพราะต้องเผชิญกับมลพิษและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้คืออุบัติเหตุในโมซัมบิกในปี 2018 เมื่อภูเขาขยะ Hulene ในประเทศดังกล่าวถล่มลงมาเนื่องจากฝนตกหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 16 คน และบาดเจ็บอีก 6 คน และมีบ้านเรือนถูกฝังกว่า 10 หลัง และการอาศัยอยู่ใกล้กองขยะยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคท้องร่วงกว่าสองเท่า ซึ่งโรคชนิดนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนา
นอกจากนี้ ผลกระทบจากขยะพลาสติกในประเทศยากจนยังรวมถึงความสูญเสียด้านการประมง เมื่อสัตว์ทะเลกินพลาสติกเข้าไป ความเสียหายด้านการเกษตรเมื่อหนึ่งในสามของปศุสัตว์และแพะจำนวนครึ่งหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนากินพลาสติกเข้าไปปริมาณมาก จนเป็นอันตรายถึงชีวิต และขยะพลาสติกซึ่งถูกซัดขึ้นมาเกยชายฝั่งและปะการังทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเยือนประเทศยากจน ซึ่งอาศัยการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญ
รายงานฉบับดังกล่าวสรุปว่า ผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่มีการจัดการขยะที่ดีพอ ควรรับผิดชอบขยะพลาสติกที่ตนก่อขึ้น และเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยจำนวนพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งที่ถูกใช้และจำหน่ายในแต่ละประเทศภายในปี 2020 ตลอดจนลดจำนวนของพลาสติกดังกล่าวลงครึ่งหนึ่งให้ได้ทุกประเทศ โดยหันมาใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ ภายในปี 2025
“บริษัทต่างๆ เน้นการรีไซเคิลและโครงการนำร่องต่างๆ แต่นี่ยังไม่ดีพอ เราต้องลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียว และเราต้องการให้บริษัทต่างๆ ลงมือทำเพื่อลดบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ลง” โจแอน กรีน (Joanne Green) ผู้ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ Tearfund กล่าว และเสริมว่า “พวกเราร้องขอให้บริษัทเหล่านี้จัดการผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาขาย Coca-Cola ลงมือทำแล้วในระดับโลก แต่เราอยากเห็นบริษัทต่างๆ ทำด้วย”
เมื่อสัปดาห์ก่อน หลายประเทศทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ลงนามในแผนของสหประชาชาติที่ว่าด้วยการลดการส่งออกของพลาสติกที่หลั่งไหลไปยังประเทศกำลังพัฒนา แม้จะมีสัญญาณจากบางบริษัทว่าจะพยายามแก้ไขปัญหา แต่เหล่านักรณรงค์ก็บอกว่าความพยายามเหล่านั้นเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทร
Sir David Attenborough รองประธานของ Fauna & Flora International หนึ่งในองค์กรที่ร่วมติพิมพ์รายงานดังกล่าว กล่าวว่า “พวกเราต้องการให้ผู้ที่ส่งพลาสติกไปยังประเทศที่ไม่สามารถจัดการพวกมันได้ดีพอเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา และพวกเราต้องการให้นานาชาติลงมือสนับสนุนชุมชนและรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้อย่างหนักหนาที่สุด”
มลพิษจากพลาสติก “เป็นหายนะที่กำลังก่อตัวซึ่งถูกมองข้ามมายาวนานเกินไป” เขากล่าว นี่เป็นเวลาที่ต้องลงมือแก้ปัญหา “ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่ดีมีสุขของโลก แต่เพื่อความผาสุกของผู้คนทั่วโลกด้วย”
แหล่งอ้างอิง
Mismanaged waste ‘kills up to a million people a year globally’
Plastics killing up to a million people a year, warns Sir David Attenborough
Companies urged to clean up their act on plastic as study shows deadly impact