ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System)

ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System)

ในช่วงพัฒนาการทางร่างกายของมนุษย์ ระบบประสาท (Nervous System) เป็นระบบแรกที่พัฒนาขึ้นมาหลังกระบวนการปฏิสนธิของสเปิร์มและไข่ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย รวมถึงการรับรู้และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ระบบประสาทของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System: PNS)

ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) คือระบบศูนย์กลางการควบคุมการทำงานของร่างกาย ทั้งด้านกลไกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อโครงร่างและกระดูก รวมถึงการตอบสนองทางปฏิกิริยาเคมีภายใต้อำนาจของจิตใจ ประกอบด้วยเส้นประสาทจำนวนหลายล้านเส้น ทำหน้าที่จัดส่งข้อมูลในรูปของกระแสประสาทจากศูนย์กลางการควบคุม ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะสำคัญ 2 ส่วน คือ สมองและไขสันหลังที่ทำงานร่วมกันผ่านเซลล์ประสาท มีหน้าที่ประสานงานการรับและส่งข้อมูล หรือกระแสประสาท จากทุกส่วนของร่างกาย

องค์ประกอบของระบบประสาทส่วนกลาง

1. สมอง (Brain)

เป็นศูนย์กลางการควบคุมและการสั่งการของระบบภายในร่างกายทั้งหมด ทั้งควบคุมการเคลื่อนไหว การแสดงออกด้านพฤติกรรม รวมไปถึงการรักษาสมดุลภายในร่างกาย อีกทั้งสมองยังเป็นแหล่งที่มาของความสามารถทางด้านสติปัญญา ความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกทางด้านอารมณ์ของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ การจดจำ การใช้เหตุผล และการตัดสินใจ

สมอง, ระบบประสาทส่วนกลาง, CNS, ระบบประสาท สมอง, ระบบประสาทส่วนกลาง, CNS, ระบบประสาท

การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองมนุษย์เริ่มขึ้นตั้งแต่ระยะตัวอ่อนภายในครรภ์มารดา และเจริญอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างอายุ 1 ถึง 9 ปี โดยเซลล์สมองเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อมีอายุระหว่าง 18 ถึง 20 ปี สมองของมนุษย์จำแนกออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ สมองส่วนหน้า (Forebrain) สมองส่วนกลาง (Midbrain) และสมองส่วนท้าย (Hindbrain) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระบบภายในร่างกายที่แตกต่างกันออกไป ดังตารางต่อไปนี้

ระบบประสาทส่วนกลาง

2. ไขสันหลัง (Spinal Cord)

เป็นเนื้อเยื่อประสาทที่ทอดยาวจากก้านสมองเข้าไปยังโพรงกระดูกสันหลัง มีลักษณะเป็นรูปแท่งทรงกระบอก ห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มไขสันหลัง รูปร่างคล้ายผีเสื้อ (Butterfly Shape) เนื้อเยื่อไขสันหลังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อสีขาวด้านนอก (White Matter) ซึ่งเป็นที่อยู่ของใยประสาท และเนื้อเยื่อสีเทาด้านใน (Grey Matter) ซึ่งประกอบขึ้นจากเซลล์ประสาทจำนวนมาก

สมอง, ระบบประสาทส่วนกลาง, CNS, ระบบประสาท, ไขสันหลัง

หน้าที่หลักของไขสันหลังคือ การถ่ายทอดกระแสประสาท (Neural Signal) ระหว่างสมองกับส่วนต่างๆของร่างกาย โดยกระแสประสาทถูกส่งผ่านไขสันหลังทั้งกระแสประสาทเข้าและออกจากสมอง รวมถึงกระแสประสาทที่ส่งเข้ามายังไขสันหลังโดยตรง นอกจากนี้ ไขสันหลังยังควบคุมการเกิดปฏิกิริยาการตอบสนองหรือ “รีเฟล็กซ์” (Reflex) อีกด้วย

3. เซลล์ประสาท (Neuron)

แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามหน้าที่การส่งสัญญาณประสาท คือ 1) เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Sensory Neuron) ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากส่วนต่างๆของร่างกายเข้าสู่สมองและไขสันหลัง 2) เซลล์ประสาทสั่งการ (Motor Neuron) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากสมองและไขสันหลัง ส่งไปยังกล้ามเนื้อและต่อมต่างๆภายในร่างกาย และ 3) เซลล์ประสาทประสานงาน (Association Neuron) ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างเซลล์รับความรู้สึกกับเซลล์สั่งการเพื่อให้การส่งสัญญาณภายในร่างกายดำเนินไปอย่างราบรื่น

สมอง, ระบบประสาทส่วนกลาง, CNS, ระบบประสาท, เซลล์ประสาท

องค์ประกอบของเซลล์ประสาท

  • ตัวเซลล์ (Cell Body) มีลักษณะคล้ายเซลล์ทั่วไป ทำหน้าที่สร้างพลังงาน สังเคราะห์โปรตีน เป็นสารสื่อประสาท และทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและกระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism) ของเซลล์ประสาท
  • ใยประสาท (Nerve Fiber) เป็นส่วนประกอบที่ยื่นออกมาจากตัวเซลล์ มีลักษณะเป็นเส้นแขนงเล็กๆ ใยประสาทมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ เดนไดรต์ (Dendrite) ซึ่งเป็นใยประสาทที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์ และ แอกซอน (Axon) ซึ่งเป็นใยประสาทที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์ โดยแอกซอนนั้นมีเยื่อไมอิลิน (Myelin Sheath) ที่เป็นสารจำพวกไขมันซึ่งมีคุณสมบัติการเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีห่อหุ้ม ทำให้กระแสประสาทในแอกซอนสามารถส่งผ่านหรือเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ


ข้อมูลอ้างอิง

ทรูปลูกปัญญา – http://www.trueplookpanya.com/new/asktrueplookpanya/questiondetail/1038

มหาวิทยาลัยมหิดล – https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/ch1/chapter1/part_4.htm

มหาวิทยาลัยพายัพ – http://science.payap.ac.th/sar/sar56/sc/04/ref/4_1_2_2.pdf

โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย – http://www.kruseksan.com/book/keyhuman1.pdf


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ดำดิ่งสู่การทำงานของสมอง

การทำงานของสมอง
สีสันแห่งความคิด : บริเวณต่างๆ ของสมองเชื่อมโยงกันด้วยเส้นใยที่มีความยาวรวมกัน 160,000 กิโลเมตร หรือยาวพอที่จะพันรอบโลกได้สี่รอบ เรียกรวมๆ กันว่า เนื้อขาว (white matter) ภาพที่สร้างขึ้นที่ศูนย์มาร์ติโนส์นี้เผยให้เห็นวิถีเฉพาะเจาะจงของกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เช่น มัดเส้นสีชมพูและสีส้มส่งสัญญาณที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการใช้ภาษา

 

Recommend