Outdoors DNA กลุ่มคนที่รักการปีนเขาอยู่ในดีเอ็นเอ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวแอ็กชันผจญภัย สิ่งหนึ่งที่มักเห็นในฉากภาพยนตร์เสมอคือการผจญภัยแบบสุดขั้ว ทั้งการปีนเขาแบบใช้เชือกโรยตัว การกางเต็นท์นอนในแดนหิมะ เดินลุยในป่ารกชัฎ นอนเต็นท์แคร่ริมผา (Portal-edge) ซึ่งหลายคนอาจนึกว่า กิจกรรมสุดโหดแบบนั้นคงมีแค่ชาวต่างชาติที่สามารถเข้าถึงได้ แต่สำหรับประเทศไทย เราพบว่ามีกลุ่มคนที่หลงใหลการเล่นเชือกผูกเงื่อน ปีนเขา โรยตัว นอนริมหน้าผาสูง และลุยหิมะบ้างในกรณีที่ผจญภัยในต่างประเทศ พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ Outdoors DNA ” ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่น่าจับตาที่สุดในตอนนี้
กองบรรณาธิการออนไลน์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิน – นวิน ฟูทวีมั่งทรัพย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มOutdoors DNA
พวกเขามีแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
“จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มท่องเที่ยวขึ้นเพราะ ผมและพี่ดี้ – ศรีพงษ์ พรรณ์แผ้ว เป็นผู้รักการผจญภัย เขากับพี่หนุ่ม – ทิพากร วิชชุรังษี เคยคุยกันว่าอยากทำเฟซบุ๊กแฟนเพจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบผจญภัย เพราะนอกเหนือจากเดินป่าแล้ว ยังมีเรื่องของการปีนเขา (Mountaineering) ที่น่าสนใจ ซึ่งในตอนนั้นก็วางแผนจะไปเที่ยวอินเดียด้วยกัน” คุณวินเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟัง
เมื่อมีโอกาสคุยกันก็พบว่า พวกเรามีแนวทางในการท่องเที่ยวคล้าย ๆ กัน เลยอยากหาสิ่งที่ทำร่วมกันเพื่อต่อยอดให้ได้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นทางใหม่ ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ หรือเส้นทางการปีนเขาในประเทศไทย
“สำหรับประเทศไทย เรามีภูเขาหลายลูกที่ภาพภูมิทัศน์บนยอดเขาสวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก” คุณวินเล่าและเสริมว่า “แต่ด้วยมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างนั้นจึงเป็นผลให้การเผยแพร่เรื่องราวการเดินทางในสื่อออนไลน์ค่อนข้างล่าช้า ” อีกทั้ง ในช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งทางเจ้าหน้าทีได้ประกาศหาผู้ที่มีความสามารถในการใช้เชือกโรยตัวปีนเขา พวกเราจึงอาสาไปช่วยในเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “Outdoors DNA”
พอเสร็จสิ้นภารกิจพวกเราจึงได้ข้อสรุปว่า นี่คือจุดประสงค์ของพวกเรา นอกเหนือจากการปีนเขาเพื่อการท่องเที่ยวตามแบบฉบับของเราแล้ว เราต้องสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจึงเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา ทำให้เรามีโอกาสนำทักษะที่ร่ำเรียนออกมาใช้อย่างเต็มที่ สมาชิกส่วนใหญ่ได้รับการอบรมในหลักสูตร Mountaineering Rescue Level 2 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะ
“ในแต่ละปีเราจัดทริปเดินทางไปต่างประเทศ 4 ครั้งในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ส่วนในประเทศไทยเราเน้นการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ๆ” ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเราไปเยือนวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี เห็นภูเขามีรูปร่างสวยมาก จึงอยากขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสไปสำรวจดูสักครั้งว่า มีทางขึ้นลงอย่างไร และระดับยากง่ายอยู่ในระดับไหน
ทันทีที่ท่านเจ้าอาวาสทราบว่าพวกเราอยากขอปีนสำรวจด้านบนภูเขา ท่านจึงฝากให้ผมและคณะนำธงธรรมจักรไปเปลี่ยนบนยอดเขา แทนผืนเก่าที่ชำรุดไป จุดนั้นให้ความคิดของพวกเราเปลี่ยนไป “คือนอกจากการไปท่องเที่ยวและสำรวจแล้ว หากมีสิ่งใดที่เราสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้พวกเราก็จะทำ”
หลังจากเสร็จภารกิจเปลี่ยนธงที่สระบุรีแล้ว ภารกิจต่อมาคือการสำรวจเขาทะลุที่จังหวัดชุมพร เนื่องจากคนในพื้นที่บอกว่า สามารถขึ้นไปถึงบนยอดเขาได้ และคนรุ่นปู่ยาตายายก็ปีนขึ้นไปเที่ยวกัน เราเลยอยากลองสำรวจไว้ เผื่อในอนาคตอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านละแวกนั้น ทีมเราไปสำรวจเขาทะลุมาแล้วสองครั้ง ถือเป็นเส้นทางปีนเขาที่โหดมากแห่งหนึ่ง แต่ภารกิจที่เขาทะลุถือว่ายังไม่จบ ต้องมีการไปสำรวจซ้ำอีกรอบ
“ผมคิดว่ากิจกรรมที่ Outdoors DNA จัดขึ้นยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ไม่แพร่หลายมากนักในบ้านเรา ทุกการท่องเที่ยวของเราไม่สามารถคาดเดาเส้นทางทางหรือเหตุการณ์ข้างหน้าได้ แต่ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถและข้อจำกัดของร่างกาย ทำให้เราหลงเสน่ห์การปีนเขา เพราะต้องนำความรู้ทุกอย่างที่มีไปฟันฝ่าอุปสรรคตรงหน้าให้ผ่านไปได้ ” คนที่จะเที่ยวแบบนี้ได้ต้องดูแลตัวเองให้เป็น ต้องสู้กับจิตใจของตัวเอง ต้องรู้จักรอในขณะที่เพื่อน ๆ กำลังเซ็ตเชือกให้ เพราะการปีนเขาต้องเช็กให้แน่ใจว่าเมื่อปีนแล้วต้องปลอดภัย ป่าเลือกคน ไม่ใช่คนเลือกป่า เราพาคนเข้าป่าปีนเขาสิบคน สุดท้ายอาจเหลือเพียงคนเดียวก็ได้ที่จะกลับมาทำกิจกรรมกับเราอีกครั้ง
เมื่อผมถามว่ากลุ่มOutdoors DNA ได้อะไรจากการท่องเที่ยวแนวนี้ คุณวินให้คำตอบว่า
ความสนุกครับ คุณจำได้ไหมเมื่อครั้งวัยเด็ก คุณเล่นเกมแล้วต้องผ่านแต่ละด่าน ในชีวิตจริงเราไม่สามารถหาด่านแบบในเกมได้ ผมเลยเลือกการท่องเที่ยวแบบผจญภัยมาเป็นหนึ่งในภารกิจที่ต้องฝ่าฟัน ผมสมมุติให้สถานที่จริงคือด่านในเกม เมื่อเราผ่านไปได้ด่านหนึ่ง เราก็จะเริ่มแสวงหาด่านต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ เฉพาะในประเทศไทยเอง ผมก็ยังไม่ผ่านอยู่หลายด่าน ฉะนั้นก็ต้องกลับไปทำภารกิจนั้นอีกครั้ง ที่สำคัญนอกจากเป็นการผจญภัยในแบบของเราแล้ว ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างจิตสำนึกให้คนได้อนุรักษ์ป่าสวย ๆ ของบ้านเรา ธรรมชาติเป็นสิ่งงดงามที่ควรรักษา เพราะไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงิน
ผมนั่งคุยกับคุณวินต่อเนื่องอย่างออกรส และทำให้ผมดำดิ่งในห้วงอารมณ์การผจญภัย เย็นวันนั้น เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผมเปิดดูภาพยนตร์เรื่อง The Dawn Wall และ Seven Years in Tibet เพื่อสนองอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายใน เพราะตกปากรับคำเชิญจากทีมให้ไปร่วมสำรวจเขาทะลุ ที่จังหวัดชุมพร ซึ่งคุณวินการันตีว่า ภูมิทัศน์ข้างบนยอดเขาสวยงามมาก ๆ ผมเฝ้านับวันรอจะไปสัมผัสบรรยากาศน่าตื่นเต้นกับทีมOutdoors DNA และแน่นอนว่า ผมไม่ลืมที่จะนำเรื่องราวการผจญภัยครั้งใหม่มาฝากผู้อ่านทุกท่าน
โปรดติดตามต่อไปนะครับ…
เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ: Outdoors DNA
ติดตามกิจกรรมของพวกเข้าได้ที่ Facebook fan page: Outdoor DNA
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใน : เดินป่าดอยหนอก – ดอยหลวง จังหวัดพะเยา