นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค้นพบ แมลงปอเสือ ชนิดใหม่ของโลก
นักล่าแห่งเวหา
ภาพคุ้นตาของแมลงที่ชอบบินโฉบเฉี่ยวไปมา เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว หนึ่งในนั้นคือแมลงปอดวงตาปูดโปน บินว่อนอยู่บนบกและล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร ถือเป็นผู้ล่าที่สำคัญในระบบนิเวศ จนหลายคนขนานนามว่า “นักล่าแห่งเวหา”
แมลงปอมีความสง่างามในแบบของมันที่ชวนให้คนหลงใหลจนอดใจไม่ได้ที่จะหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพไว้ แมลงปอตัวเต็มวัยจึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย นักวิทยาศาสตร์แบ่งแมลงปอออกเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะการวางปีกขณะที่มันเกาะนิ่งอยู่กับที่ คือกลุ่มแมลงปอบ้าน (dragonflies) และกลุ่มแมลงปอเข็ม (damselflies) (ภาพ2)
ตัวอ่อนแมลงปอนั้นสำคัญไฉน
แมลงปอเพศเมียชอบบินแวะเวียนตามแหล่งน้ำเพื่อหาที่วางไข่ หลังจากนั้น ตัวอ่อนแมลงปอจะใช้ชีวิตอาศัยในแหล่งน้ำไประยะหนึ่ง พบได้ทั้งน้ำนิ่งและน้ำไหล ลักษณะเด่นของตัวอ่อนแมลงปอคือ ส่วนริมฝีปากล่างที่มีฟันแข็งแรง ช่วยในการจับเหยื่อ เป็นผู้ล่าตัวฉกาจ หรืออาจได้ชื่อว่า “นักล่าแห่งสายน้ำ”
ในขณะเดียวกัน ตัวอ่อนแมลงปอยังเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์น้ำชนิดอื่น ถ่ายทอดพลังงานไปในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศขั้นสูงกว่า ข้อแตกต่างของกลุ่มตัวอ่อนแมลงปอคือ ตัวอ่อนแมลงปอเข็มจะมีลำตัวยาวเรียวกว่าตัวอ่อนแมลงปอบ้าน และมีเหงือกอยู่ปลายสุดของส่วนท้อง 2 หรือ 3 เส้น ยามฤดูฝนในบริเวณแหล่งน้ำชั่วคราวตามท้องทุ่งนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ชาวบ้านมักนำสวิงไปช้อนสัตว์น้ำเพื่อนำมาประกอบอาหาร หนึ่งในวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยโปรตีนคือตัวอ่อนแมลงปอ ที่สามารถนำรังสรรค์ได้หลายเมนู เช่น หมก แกง และคั่ว เป็นต้น
ประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของตัวอ่อนของแมลงปอคือ เป็นดัชนีชีวภาพในการประเมินคุณภาพของแหล่งน้ำนักวิทยาศาสตร์พบว่าตัวอ่อนแมลงปอแต่ละกลุ่มมีความทนทานต่อการปนเปื้อน หรือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีถึงดีมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดถึงสภาพแหล่งที่อยู่ของตัวอ่อนแมลงปอชนิดต่างๆ โดยในประเทศไทยยังขาดข้อมูลส่วนนี้อยู่พอสมควร
สู่การวิจัยตัวอ่อนแมลงปอเสือ
เต-ดำรง เชียรทอง ผู้หลงใหลแมลงปอมาตั้งแต่วัยเยาว์ จนในที่สุดได้มาศึกษาวิจัยตัวอ่อนแมลงปอในระดับปริญญาตรี ที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการบรรยายลักษณะตัวอ่อนแมลงปอเสือหนามหัวคู่เซลิส (Heliogomphus selysi Fraser) และแมลงปอเสือน้อยถิ่นไทย (Microgomphus thailandica Asahina) เมื่อปี 2014
หลังจากนั้น เขารายงานตัวอ่อนแมลงปอเสือหลังคอกเพิ่มอีกสองชนิดในการวิจัยต่อระดับปริญญาโท โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.บุญเสฐียร บุญสูง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอนุกรมวิธานของแมลงน้ำโดยเฉพาะกลุ่มแมลงชีปะขาวซึ่งรวมถึงกลุ่มแมลงปอ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และในระดับปริญญาเอก ดำรงเลือกศึกษาวิจัยตัวอ่อนแมลงปอเสือ (จัดอยู่ในวงศ์ Gomphidae) ในภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศไทย
การศึกษาตัวอ่อนแมลงปอเสือเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับดำรง เพราะต้องนำตัวอ่อนระยะสุดท้ายมาเลี้ยงเชื่อมโยงตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เพื่อการระบุชนิดตัวอ่อน เขาต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงให้อาหาร เปลี่ยนน้ำทุก 1-3 เดือนขึ้นอยู่กับระยะของตัวอ่อนที่ได้มา
สู่การค้นพบแมลงปอเสือปลายงอนชนิดใหม่ของโลก
แมลงปอเสือปลายงอน จัดอยู่ในสกุล Stylogomphus ตัวเต็มวัยมีลักษณะสำคัญคือ ปลายรยางค์ปลายหางคู่บน (cerci) ชี้งอขึ้นด้านบน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก “แมลงปอเสือปลายงอน” มีรายงานพบทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือ ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม เมียนมา ลาว และมาเลเซีย ในประเทศไทย รายงานฉบับแรกของแมลงปอเสือสกุลมาจากตัวอ่อนที่ไม่สามารถระบุชนิดได้เมื่อปี 1988 หลังจากนั้นมีภาพถ่ายและรายงานการพบตัวอ่อน (ไม่สามารถระบุชนิด) ออกมาพอสมควร ตัวเต็มวัยของแมลงปอสกุลนี้มักสำรวจไม่พบ ส่วนใหญ่พบในระยะที่เพิ่งลอกคราบ หรือตัวอ่อนมากกว่า
การค้นพบแมลงปอเสือปลายงอนชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้พบโดยการเก็บตัวอย่างตัวอ่อนจากภาคสนาม แล้วนำกลับมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ดำรงทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และ Dr. Michel Sartori จาก Museum of Zoology เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งค้นพบที่ลำธารห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นครั้งแรก และยังพบตัวอ่อนชนิดนี้ที่จังหวัดเพชรบุรีและเชียงรายอีกด้วย
ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์การค้นพบแมลงปอชนิดใหม่ในวารสาร Zootaxa ด้วยชื่อ แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิ (Stylogomphus thongphaphumensis Chainthong, Sartori & Boonsoong) (ภาพ8) และแมลงปอเสือปลายงอนถิ่นใต้ (Stylogomphus malayanus Sasamoto) นับเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นของวงการแมลงปอเมืองไทย
ในประเทศไทยพบแมลงปอเสือปลายงอน 2 ชนิดคือ แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิซึ่งเป็นชนิดใหม่ และแมลงปอเสือปลายงอนถิ่นใต้ ซึ่งเป็นชนิดรายงานใหม่ของประเทศ (เดิมพบที่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น) โดยตัวเต็มวัยเพศผู้มีรยางค์ส่วนปลายท้องแตกต่างกันอย่างชัดเจน แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิมีลักษณะที่แตกต่างจากแมลงปอเสือปลายงอนชนิดอื่นคือ รยางค์ปลายหางคู่ล่าง (epiproct) จะสั้น มีความกว้างมากกว่าความยาว พู (lobe) ของ epiproct จะกางออกไปทางด้านข้าง โค้งงอคล้ายตัว U
การสะท้อนถึงความความหลากทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย
การค้นพบแมลงปอเสือแมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำในประเทศไทยนั้นยังคงมีความหลากทางชีวภาพอยู่มาก นักธรรมชาติวิทยายังคงค้นพบแมลงน้ำชนิดใหม่รวมถึงแมลงปอเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากร ดังนั้นหากเราอนุรักษ์พื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งอาศัย และแหล่งต้นน้ำ มีการจัดการที่ดี จะช่วยให้คงความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ รวมถึงแมลงปอเสือปลายงอนและสัตว์น้ำอื่นๆ และสืบทอดคงความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
เรื่องและภาพถ่าย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเสฐียร บุญสูง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: นักวิจัยไทยค้นพบ จิ้งจกนิ้วยาว ชนิดใหม่ของโลก