ใช้ชีวิต แบบทวนกระแส

ใช้ชีวิต แบบทวนกระแส

 

เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย คาดีร์ ฟาน โลเฮอเซน

เวลาเช่นนี้เรียกว่า อีติงกาโร (itingaaro) หรือฟ้าสางยามอรุณ เกาะเพิ่งจะตื่นจากหลับใหล ผู้คนลอยคออาบน้ำในลากูนอย่างง่วงงุน บ้างวักน้ำล้างหน้า บ้างดำผุดดำว่าย

ระดับน้ำขึ้นเต็มที่ เลยลากูนออกไป มหาสมุทรทอดไกลจนจรดขอบฟ้ามาราวา คาราวา ตาราวา “ทะเล ท้องฟ้า แผ่นดิน” คือเทพเจ้าโบราณสามองค์ของผู้คนในประเทศคิริบาตีหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชาวอี-คิริบาตี แต่เทพทั้งสามกำลังเสียสมดุล พระแม่มหาสมุทรหาได้เป็นศูนย์กลางแห่งการโอบอุ้มและดลบันดาลทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาเคยรู้จักมาตลอด พระนางกำลังเผยพระพักตร์ที่แตกต่างออกไป เป็นโฉมหน้าอันน่าพรั่นพรึงของระดับน้ำที่รุกล้ำกลืนกินและคลื่นที่โหมซัดกระหน่ำ

ทุกวันนี้ ชาวอี-คิริบาตีอยู่กับความเป็นจริงของมาราวาที่เพิ่มระดับขึ้น นี่คือช่วงเวลาของ บิบิตากิน คานวน โบง หรือ “ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศที่ยาวนานหลายวัน” วลีในภาษาคิริบาตีที่หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ชาวเกาะอยู่กันอย่างหวาดหวั่นและไม่มั่นใจกับวลีนี้

จะไม่ให้หวาดหวั่นได้อย่างไรเล่า ในเมื่อโลกพร่ำบอกพวกเขาว่า ประเทศเกาะซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างบ้านของพวกเขาจะจมน้ำในไม่ช้า บรรดาผู้นำของพวกเขายังบอกเองว่า คิริบาตีซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 33 เกาะ ท่ามกลางความกว้างใหญ่ไพศาลของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางนี้เป็น “หนึ่งในประเทศซึ่งเปราะบางที่สุดในบรรดาพื้นที่เปราะบางทั้งหลาย” พวกเขาทำนายด้วยว่า เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ (atoll) ตาระวาซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปภายในหนึ่งชั่วอายุคน

เด็กชายยืนอยู่บนกำแพงกันคลื่นบนเกาะปะการังวงแหวนตาระวา เฝ้าดูพายุฝนที่กำลังเคลื่อนเข้ามา นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า สภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นจะทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นในคิริบาตีและประเทศเกาะอื่นๆในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง

แต่ชาวอี-คิริบาตีจำนวนมากไม่ยอมรับว่า บ้านเกิดของตนกำลังกลายเป็น “ประเทศเกาะที่รอวันอันตรธาน” และพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากยอมรับชะตากรรม   พวกเขาไม่คิดว่าตนเองเป็น “ชาวเกาะที่กำลังจมน้ำ” แต่เป็นลูกหลานของนักเดินทางผู้สืบทอดประเพณีแห่งความทรหดอดทนและการเอาตัวรอดอันน่าภาคภูมิ พวกเขาเชื่อว่าสวรรค์ของตนไม่มีทางเลือนหายในเร็ววัน

แต่หมู่เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแน่นอน ทะเลทั้งกัดเซาะชายฝั่งและแทรกซึมลงสู่ดิน ทำให้น้ำในบ่อน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย  ทำลายต้นไม้และพืชผล  ความอุดมสมบูรณ์ของเกาะปะการังวงแหวนอย่างตาระวา ขึ้นอยู่กับชั้นน้ำจืดบางๆที่ลอยอยู่เหนือชั้นหินอุ้มน้ำเค็มโดยมีน้ำฝนคอยเติมเต็มให้ เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น แม้ปัจจุบันจะอยู่ที่เพียงปีละไม่กี่มิลลิเมตร แต่มีแนวโน้มว่าอัตราจะเร่งเร็วขึ้น เช่นเดียวกับระดับน้ำเค็มใต้ดิน ส่งผลให้ปริมาณน้ำจืดลดลงอย่างน่าวิตก

นับเป็นโชคดีของชาวเกาะที่มีการพยากรณ์ว่า ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า แม้จะมีแนวโน้มว่าฝนอาจตกหนักมากจนทำให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากแหล่งน้ำจืดใต้ดินแปรผันไปตามระดับทะเลที่สูงขึ้น และในกรณีของเกาะตาระวายังมีแรงกดดันจากจำนวนประชากร การกักเก็บน้ำฝนจากหลังคาจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง บนเกาะอาไบอางหน่วยงานบรรเทาทุกข์จากต่างชาติได้สร้างระบบรองน้ำ กรองน้ำ ทำให้น้ำสะอาด และจัดเก็บน้ำฝนอย่างง่ายๆ ให้ชุมชนหลายแห่ง ตราบใดที่มีน้ำจืด คุณย่อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆได้ อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง แต่จะนานแค่ไหน ไม่มีใครตอบได้

เตย์ตี คีโรน เจ้าสาว และยานนัง โคมี เจ้าบ่าว กำลังสร้างครอบครัวบนเกาะตาระวา แม้จะกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อคิริบาตี ชาวเกาะจำนวนไม่น้อยคิดย้ายไปอยู่ประเทศที่ปลอดภัยกว่า แต่ก็ยังรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนและวิถีชีวิตของตน

ชาวประมงเคยรู้ว่า ปลาแต่ละชนิดชอบเหยื่อประเภทใด ควรจับในเวลากลางวันหรือกลางคืน และจับด้วยวิธีใดจะได้ผลมากที่สุด จะใช้เบ็ด บ่วง หรือตาข่ายดี ทว่าความแน่นอนของโลกสมัยนั้นกำลังกลายเป็นอดีต ท้องน้ำที่เคยมีปลาให้จับอยู่เสมอ มาบัดนี้เหลือแต่เบ็ดและตาข่ายที่ว่างเปล่า ว่ากันว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้ปลาบางชนิดหนีไปอยู่ในน่านน้ำที่เย็นกว่า

แนวปะการังกำลังถูกคุกคามเช่นกัน และสถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะที่น้ำทะเลอุ่นขึ้นและเป็นกรดมากขึ้นตลอดช่วงศตวรรษนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตของแนวปะการังจะช้าลงหรือกระทั่งหยุดนิ่ง ปรากฏการณ์ปะการัง ฟอกขาว (coral bleaching) เกิดขึ้นเมื่อปะการังที่อยู่ภายใต้แรงกดดันขับสาหร่ายซึ่งเคยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยและทำให้ปะการังมีสีสันและได้รับสารอาหารออกไป  ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นราวทุกๆสิบปี แต่ตอนนี้กลับพบเห็นได้บ่อยขึ้นและในที่สุดอาจเกิดขึ้นทุกปี นี่คือภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของปะการัง และทำให้สีรุ้งสดใสของปะการังหม่นมัวลง

เมื่อแนวปะการังจากไปแล้ว หมู่เกาะก็จะตามไปด้วย หมู่เกาะปะการังวงแหวนอาศัยตะกอนที่ทับถมจากปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆในทะเลซึ่งมักถูกพายุกวาดขึ้นมากองไว้บนฝั่ง ทำให้เกาะโผล่พ้นน้ำได้ แนวปะการังที่ตายแล้วย่อมไม่สามารถหล่อเลี้ยงเกาะที่มันสร้างขึ้นมากับมือได้

โลกแบบไหนกันที่ทะเลกำลังทำลายสิ่งที่มันสร้างขึ้นมาเอง

กระสอบทรายช่วยป้องกันน้ำทะเลได้น้อยมากที่เตไมกู หมู่บ้านสุ่มเสี่ยงแห่งหนึ่งทางใต้ของตาระวา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คลื่นซัดกำแพงนี้ทลายลงและไหลบ่าเข้าไปในแผ่นดิน ทิ้งบ้านช่องที่ถูกน้ำท่วม ดินเค็ม และบ่อน้ำปนเปื้อนไว้เบื้องหลัง

เรื่องราวความยากลำบากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ความเห็นใจเงินช่วยเหลือหลั่งไหลมายังคิริบาตีและบรรดาเกาะใกล้เคียง แต่หากคุณได้ยินได้ฟังเรื่องมหันตภัยทางสิ่งแวดล้อมบ่อยมากพอ คุณอาจคิดว่าไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นอีก นอกจากต้องอพยพออกไป ขณะนี้มีการพูดถึงการย้ายถิ่นกันมาก เราควรจะอยู่หรือไม่ หรือควรจะไปเสีย เราจะถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นหรือไม่ ถ้าต้องย้าย จะไปที่ใด ไม่มีประเทศไหนเปิดประตูต้อนรับผู้ลี้ภัยทางสภาพภูมิอากาศหรอก

คำถามเหล่านี้ล้วนสร้างความเจ็บปวดให้พวกเขา เพราะเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในภาษาคิริบาตี คำว่า “แผ่นดิน” กับ “ผู้คน” เป็นคำเดียวกัน หากแผ่นดินของคุณหายไป แล้วคุณคือใครกันเล่า

แต่หากคิดในทางกลับกัน ชาวหมู่เกาะแปซิฟิกขึ้นชื่อลือชาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นอยู่แล้ว บรรพบุรุษของพวกเขาเคยทำให้มหาสมุทรทั้งหมดเป็นบ้านด้วยซ้ำ ตำนานว่าด้วยต้นกำเนิดของชาวคิริบาตีเล่าว่า นาเรเอา ผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็น แมงมุม และนับแต่นั้นมา ชาวอี-คิริบาตีก็ชักใยมาตลอด ทุกครอบครัวจะมีญาติพี่น้องอยู่ในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิจิ และต่างประเทศที่ไกลออกไป

เรือประมงอับปางลำหนึ่งกลายเป็นที่กระโดดน้ำของเด็กๆบนเกาะตาระวา ผู้เติบโตขึ้นท่ามกลางภาพและสรรพเสียงแห่งมหาสมุทร เด็กรุ่นนี้รวมทั้งรุ่นต่อๆไปจะเผชิญความท้าทายอันยากยิ่งที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากระดับทะเลสูงขึ้น มีภาวะเป็นเป็นกรดมากขึ้นและอุ่นขึ้น

บางครั้งเราอาจได้ยินคำพูดทำนองคาดหมายว่า คนหนุ่มสาวจะออกจากคิริบาตี ส่วนคนเฒ่าคนแก่เลือกจะอยู่ต่อ แต่หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยกลับเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ มากกว่าที่จะไปแสวงหาความร่ำรวยในต่างบ้านต่างเมือง มันนีเอ ริเคียอัว คุณแม่ยังสาวซึ่งทำงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมของคิริบาตี บอกผมว่า เธออยากทำงานให้ผู้คนของเธอมากกว่าจะไปทำงานให้ประเทศอื่น แม้พ่อของเธอจะหว่านล้อมให้เธอย้ายไปอยู่ใน “ที่ที่สูงกว่านี้”

“ใจหนึ่งฉันก็อยากไปนะคะ” เธอยอมรับ แต่ “คิริบาตีเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆของฉัน แม้จะมีภัยคุกคามน่ากลัวพวกนั้นก็ตาม”

Recommend