เมื่อ หุ่นยนต์ แทนที่มนุษย์

เมื่อ หุ่นยนต์ แทนที่มนุษย์

ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ คุณอาจไม่มีวันได้เจอ หุ่นยนต์ แต่คุณจะได้เจอ

ผมเจอ หุ่นยนต์ ตัวหนึ่งในวันฟ้าใสและลมแรงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บนทุ่งหญ้าแพรรีต้นสั้นๆ ใกล้พรมแดนรัฐโคโลราโดกับรัฐแคนซัส ที่บริษัทของโนอาห์ เรดดี-แคมป์เบลล์ ชายร่างผอมเพรียว วัย 31 ปีจากแซนแฟรนซิสโก เมื่อมองไปทางใต้ เราเห็นกังหันลมทอประกายวาววับเป็นทิวแถว ทอดไกลสุดสายตา เบื้องหน้าผมคือหลุมที่กำลังจะเป็นฐานของกังหันลมอีกตัว

เรื่อง เดวิด แบร์เรบี
ภาพถ่าย สเปนเซอร์ โลวล์

รถแบ็กโฮกำลังขุดหลุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 19 เมตร ซึ่งมีผนังลาดขึ้นทำมุม 34 องศา และมีก้นลึกสามเมตรที่เกือบเรียบสนิท มันตักดินขึ้นมากองไว้ตรงจุดที่ไม่เกะกะ และจะเริ่มกองใหม่  เมื่อจำเป็น ทุกครั้งที่กดหัวตักลง ขุด ยก หมุน และเท เครื่องจักรหนัก 37 ตันต้องใช้การควบคุมที่มั่นคงและการตัดสินใจที่ดี ในอเมริกาเหนือ คนบังคับรถขุดเก่งๆมีรายได้สูงถึงปีละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แต่ที่นั่งในรถขุดคันนี้กลับว่างเปล่า “คนสั่งการ” อยู่บนหลังคาห้องควบคุม มันไม่มีแขน แต่มีสายเคเบิลสีดำคดเคี้ยวสามสายเชื่อมต่อกับระบบควบคุมรถโดยตรง หูหรือตาก็ไม่มีเช่นกัน เพราะใช้ระบบเลเซอร์ จีพีเอส กล้องวีดิทัศน์ และเซนเซอร์คล้ายไจโรสโคปที่กะระยะทิศทางของวัตถุในอากาศ เพื่อควบคุมการทำงาน เรดดี-แคมป์เบลล์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบิลต์โรโบติกส์ในแซนแฟรนซิสโก เดินย่ำข้ามดินหยาบๆ ปีนขึ้นรถขุด และเปิดฝาที่เก็บสัมภาระบนหลังคารถ ข้างในคือผลิตภัณฑ์ของบริษัทเขา นั่นคืออุปกรณ์หนัก 90 กิโลกรัมที่เข้ามาทำงานแทนมนุษย์

“ปัญญาประดิษฐ์ทำงานตรงนี้ครับ” เขาบอกพลางชี้ไปยังกลุ่มแผงวงจร สายไฟ และกล่องโลหะที่ประกอบกันเป็นจักรกล กล่าวคือ เซนเซอร์หลายตัวบอกตำแหน่งที่ตั้ง กล้องช่วยให้มองเห็น ตัวควบคุมส่งคำสั่งไปยังรถขุด อุปกรณ์สื่อสารเอื้อให้มนุษย์ติดตามการทำงานได้ และตัวประมวลผลที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence: AI) ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนคนบังคับรถ “สัญญาณควบคุมเหล่านี้ถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ซึ่งตามปกติจะตอบสนองต่อก้านควบคุมและคันเหยียบในรถครับ”

หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์, AI, นวัตกรรม, สิ่งประดิษฐ์, เทคโนโลยีสมัยใหม่
แอนีมอล (ANYmal) หุ่นยนต์ที่ขึ้นบันได ลุยซากปรัก หรือคลานในที่แคบๆได้ เดินเล่นบนถนนใกล้สำนักงานของผู้ผลิต แอนีโบติกส์ ในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หุ่นยนต์มีขาอย่างแอนีมอลไม่เหมือนหุ่นยนต์ใช้ล้อตรงที่มันไปได้เกือบทุกแห่งที่มนุษย์ไป และอยู่ในสถานที่ซึ่งมนุษย์อยู่ไม่ได้ เช่น พื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีหรือของเสียเคมี

ทุกวันนี้ จักรกลอุตสาหกรรมหลายล้านยูนิตเหล่านี้ทำงานสารพัด ทั้งขันนอต บัดกรี ทาสี และทำงานซ้ำซากจำเจอื่นๆ ในสายพานการผลิต

อุปกรณ์ของเรดดี-แคมป์เบลล์ไม่ใช่แบบนั้น นี่คือหุ่นยนต์แบบใหม่ที่ไม่เหมือนมนุษย์ แต่ยังคงฉลาด แคล่วคล่อง และเคลื่อนที่ได้ อุปกรณ์ที่เคยหายากเหล่านี้ออกแบบมาให้ “มีชีวิต” และทำงานกับคนที่ไม่เคยเจอหุ่นยนต์มาก่อน มันตบเท้าเข้าสู่ชีวิตประจำวันของเราอย่างมั่นคง

ในปี 2020 นี้ เรามีหุ่นยนต์จัดการคลังสินค้าและทำความสะอาดพื้นในห้างวอลมาร์ตแล้ว พวกมันจัดสินค้าขึ้นชั้นและหยิบของในโกดังเพื่อจัดส่ง บ้างตัดผักสลัด บ้างช่วยเด็กออทิสติกเข้าสังคมและช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดกลับมาเดินได้อีกครั้ง บ้างลาดตระเวนชายแดนและโจมตีเป้าหมายที่คิดว่าเป็นศัตรู บ้างจัดดอกไม้ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แสดงตลกเดี่ยว และเป็นคู่นอน

และนั่นคือก่อนที่โควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก ทันใดนั้น การใช้หุ่นยนต์แทนที่มนุษย์ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผลสำรวจชี้ว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ชอบ กลับดูเป็นวิธีที่เข้าท่าในทางการแพทย์ ถ้าไม่ถึงขนาดจำเป็น

ตอนนี้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ส่งอาหารในมิลตันเคย์นส์ ประเทศอังกฤษ ขนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลที่แดลลัส รัฐเทกซัส พ่นยาฆ่าเชื้อในห้องพักผู้ป่วยที่จีนและยุโรป และเดินตรวจสวนสาธารณะในสิงคโปร์เพื่อคอยเตือนให้คนเว้นระยะห่างทางสังคม

โรคระบาดทำให้ผู้คนตระหนักว่า “ระบบอัตโนมัติจะเป็นส่วนหนึ่งของงาน” มากขึ้น เรดดี-แคมป์เบลล์บอกผมเมื่อเดือนพฤษภาคม “คนขับรถขุดต้องมีทั้งประสิทธิภาพและผลิตภาพ แต่ตอนนี้มีปัจจัยใหม่เพิ่มเข้ามา นั่นก็คือสุขภาพและความปลอดภัยครับ”

กระทั่งก่อนจะได้แรงส่งจากวิกฤติโควิด แนวโน้มทางเทคโนโลยีก็เร่งการสร้างหุ่นยนต์ที่รุกคืบ เข้าสู่ชีวิตเราแล้ว ชิ้นส่วนต่างๆมีน้ำหนักเบาลง ราคาถูกลง และทนทานมากขึ้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีกำลังการประมวลผลสูงขึ้นในขนาดที่เล็กลง การค้นพบใหม่ๆที่ปฏิวัติวงการทำให้วิศวกรใส่อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลกำลังสูงไว้ในตัวหุ่นยนต์ การสื่อสารทางดิจิทัลที่ดีขึ้นทำให้พวกเขาเก็บ “สมอง” หุ่นยนต์บางประเภทไว้ในคอมพิวเตอร์ที่อื่นได้ หรือเชื่อมต่อหุ่นยนต์ง่ายๆหลายร้อยตัวเข้าด้วยกันเพื่อให้ฟังคำสั่งร่วมกันเหมือนรวงผึ้ง

หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์, AI, นวัตกรรม, สิ่งประดิษฐ์, เทคโนโลยีสมัยใหม่
ที่ฟาร์มเฮนรีวิลลิกในเมืองคัตเวาเด ประเทศเนเธอร์แลนด์ แม่วัวตัวหนึ่งเดินเข้าไปในหุ่นยนต์เลลีแอสโทรนอต เอ4 (Lely Astronaut A4) เมื่อเข้าไปแล้ว หุ่นยนต์จะสแกนปลอกคอและรีดนมให้ถ้าแม่วัวพร้อม

สถานที่ทำงานแห่งอนาคตอันใกล้ “จะเป็นระบบนิเวศที่มนุษย์ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดครับ” อาห์ที เฮนลา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีทีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer: CTO) ของสตาร์ชิปเทคโนโลยีส์ บอก หุ่นยนต์ส่งของหกล้อที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของเขาวิ่งไปทั่วมิลตันเคย์นส์และเมืองอื่นๆในยุโรปและสหรัฐฯ

“เราเคยชินกับการมีจักรกลอัจฉริยะที่พกติดตัวได้กันแล้วค่ะ” แมนูเอลา เวโลโซ นักวิทยาการหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน บอกพลางชูสมาร์ตโฟนของตัวเองขึ้น “ตอนนี้เราจะต้องปรับตัวให้ชินกับจักรกลอัจฉริยะที่มีตัวตนและเคลื่อนที่ได้เองโดยไม่มีเราค่ะ”

นอกห้องทำงานของเธอ ทีม “โคบอต” (cobot ย่อมาจาก collaborative robot) หรือหุ่นยนต์ประสานงาน เดินไปทั่วโถงทางเดิน คอยรับรองแขกไปใครมาและส่งเอกสาร หน้าตาของมันคล้ายไอแพดที่วางอยู่บนแท่นทรงกลมมีล้อ มันเคลื่อนไปมาได้เองและกระทั่งขึ้นลงลิฟต์ได้เมื่อจำเป็น (โดยส่งเสียงเตือนและกะพริบไฟเพื่อขอร้องอย่างสุภาพให้มนุษย์ที่อยู่ใกล้ๆกดปุ่มให้)

“เป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ค่ะว่า อีกหน่อยเราจะมีจักรกลและสิ่งประดิษฐ์สารพัดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน” เวโลโซบอก “พอเราเริ่มยอมให้หุ่นยนต์เข้ามาอยู่รอบตัว เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดที่สามถัดจากมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง เราจะอยากผูกสัมพันธ์กับพวกมัน”

เรากำลังต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไร “ผู้คนต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นในอีกยี่สิบปีนับจากนี้” เวโลโซบอก “มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วค่ะ”

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

 

Recommend