วัยรุ่นอเมริกันได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เมื่อพวกเขาผลักดันการ ฉีดวัคซีน โปลิโอในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
มันเป็นคืนวันเสาร์ที่อัลเบียน เมืองเล็กๆ ทางตะวันออกของเมืองแบตเทิลครีก มิชิแกน เหล่าวัยรุ่นกำลังต่อแถวรอเต้นในโรงยิมของโรงเรียน
ส่วนค่าเข้างั้นหรือ? ใช้แค่ตัวเปล่าก็พอ
ปีนั้นคือปี 1958 และนี่ไม่ใช่การออกเที่ยวในคืนวันเสาร์แบบทั่วๆไป ที่นี่เรียกว่า “ซอล์ก ฮ๊อป” (Salk Hop) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้เฉพาะคนหนุ่มสาวที่ยินยอมรับการ ฉีดวัคซีน โปลิโอที่พัฒนาขึ้นโดยโจนัส ซอล์ก (Jonas Salk) หรือมีการแสดงหลักฐานที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเข้าไป
การเต้นรำเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับความลังเลใจของผู้คนเกี่ยวกับวัคซีนโปลิโอที่ได้ล่วงมาเป็นปีที่ห้าแล้ว การรณรงค์ครั้งนี้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และผู้คนที่เปี่ยมไปด้วยพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่พลังขับเคลื่อนทางเพศ พวกเขาคือสิ่งที่ทรงพลังสิ่งใหม่ในสังคมอเมริกัน พวกเขาเหล่านั้นคือวัยรุ่น
โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) สามารถติดต่อกันได้ การเจ็บป่วยจากโปลิโออาจนำไปสู่การเป็นอัมพาต พิการหรือถึงแก่ความตาย โรคนี้ไม่ได้แพร่หลายนักในสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านั้นพลเมืองสัมผัสกับไวรัสโปลิโอเป็นประจำผ่านน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขอนามัยซึ่งช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติให้กับพวกเขา อีกทั้งยังมีบรรดาคุณแม่ที่ส่งต่อภูมิคุ้มกันนี้ให้ลูกผ่านการให้น้ำนมจากเต้า
มีการทำระบบท่อระบายน้ำและระบบน้ำให้ทันสมัยขึ้น แต่มันกลับส่งผลให้คนได้รับภูมิคุ้มกันน้อยลง และยิ่งทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ช่วงยุคเบบี้บูมในสมัยปลายทศวรรษ 1940 และต้นทศวรรษ 1950 ได้สร้างเงื่อนไขที่สมบูรณ์แบบในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโปลิโอ ทันใดนั้น ไม่มีใครได้รับภูมิคุ้มกันอีกต่อไป ในทุกฤดูร้อน เริ่มปรากฏผู้ป่วยเด็กนับหมื่น ซึ่งอาจเป็นผลจากความผันผวนตามฤดูกาลในเด็กแรกเกิด
บรรดาผู้ปกครองต่างเสียขวัญจากเรื่องนี้ มีการปิดสระว่ายน้ำ และน้ำพุสำหรับดื่มทั้งหมดในช่วงฤดูร้อนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ผู้ใหญ่ที่กำลังหวาดกลัวได้แต่มองลูกของพวกเขาที่เคยร่าเริง แต่ตอนนี้กลับต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อรองรับแขนขาที่อ่อนแอ หรือแม้กระทั่งต้องถูกกักตัวในปอดเหล็กขนาดใหญ่เพื่อช่วยหายใจ การระบาดของโปลิโอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 1940 และต้นทศวรรษ 1950 มียอดตัวเลขสูงสุดผู้ติดเชื้ออยู่ที่เกือบ 58,000 รายในปี 1952
หลังจากนั้นในปี 1955 วัคซีนโปลิโอของซอล์กที่ได้การรับรองปรากฎขึ้นมา จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลงเมื่อมีเด็กได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น แม้จะมีเด็กมาเข้าแถวรับการฉีดวัคซีนของซอล์กอย่างล้นหลาม แต่เหล่าวัยรุ่นกลับตัดสินใจได้ช้ากว่าในการเข้าแถวเพื่อ ฉีดวัคซีน
‘เกือบทำลายไม่ได้’
ส่วนหนึ่งของปัญหาในการส่งสารเกี่ยวกับวัคซีนในวัยรุ่นนั้นมาจากคำศัพท์เฉพาะ เป็นเวลาหลายปีที่ผู้คนต่างเรียกโปลิโอว่า “อัมพาตในวัยแรกเกิด” ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าวัยรุ่นและผู้ใหญ่จะไม่ตกเป็นกลุ่มเสี่ยง จากนั้น จะมีการรับรู้ถึงความไม่สะดวกของระบบการฉีดวัคซีนแบบสามโดส และคนบางส่วนอาจกลัวเข็มของวัคซีนเสียเอง
“จู่ๆ วัคซีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรับผิดชอบของผู้ใหญ่หรือเด็กเล็กๆ อีกต่อไป มันกลายเป็นของวัยรุ่นเท่ๆ ไปด้วยครับ” สตีเฟน มอสลีย์ (Stephen Maudsley) นักประวัติศาสตร์สังคมและวิทยากร ด้านประวัติศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษ กล่าวและเสริมว่า “วัยรุ่นรู้สึกแข็งแรง เกือบจะทำลายไม่ได้” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย และพวกเขาต้องพึ่งวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส แต่แรงกดดันทางสังคมแบบเดียวกันที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกแบบผิดๆ ไปว่าตัวเองแข็งแกร่งมากกว่าเด็กๆ กลับกลายเป็นอาวุธลับต่อต้านโรคโปลิโอ
ก่อนถึงช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 วัยรุ่นยังไม่ได้รับการยอมรับในความเป็นกลุ่มสังคมของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาในสังคมอเมริกัน ซึ่งรวมถึงการเฟื่องฟูของรถยนต์และการศึกษาภาคบังคับที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าทำงานได้เร็วเกินไป สิ่งนี้จุดประกายให้เยาวชนได้รับการยอมรับในฐานะกลุ่มประชากรที่มีความโดดเด่นในสหรัฐอเมริกา “พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกอันแสนวิเศษของพวกเขาเอง” LIFE ฉบับปี 1944 กล่าวไว้ในบทความที่อุทิศให้แก่เด็กสาววัยรุ่นและแฟชั่นของพวกเธอ
สถาบันอัมพาตในวัยแรกเกิดแห่งชาติ (National Institute for Infantile Paralysis) องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านโปลิโอที่แจกจ่ายเงินทุนที่ระดมทุนโดยมูลนิธิมาร์ช ออฟ ไดม์ (March of Dimes) ได้ตอบโต้การขาดวัคซีนในวัยรุ่น ด้วยการเชิญกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับการคัดเลือกโดยตรงจากกลุ่มประชากรที่ลังเลเหล่านั้นให้มาที่สำนักงานในนิวยอร์ก เพื่อสัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับมุมมอง และสิ่งที่รั้งพวกเขาไว้ พร้อมทั้งเตรียมประเด็นพูดคุยเพื่อส่งเสริมวัคซีนของซอล์กที่บ้านของพวกเขา
มอสลีย์กล่าวว่า วัยรุ่นถูกกระตุ้นจากประสบการณ์ของผู้รอดชีวิตและเหยื่อของโปลิโอ อันเป็นความปรารถนาที่จะสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาห่วงใย และการค้นหาเพื่อส่งเสริมพลังทางสังคม
“พวกเขาอยู่ในช่วงชีวิตที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ให้ความเคารพพวกเขา” เขากล่าว
ถั่วลิสงเพื่อโปลิโอ
สงครามของวัยรุ่นต่อโปลิโอมาในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่คัดเลือกวัยรุ่นต้นแบบ อย่างเอลวิส เพรสลีย์ และเดบบี เรย์โนลส์ มาเผยแพร่ข้อความให้สาธารณะชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ยุวทูตวัคซีนได้กลายมาเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง พวกเขาได้เห็นชื่อหรือภาพของตนเองในหนังสือพิมพ์
ระหว่างที่พวกเขามีส่วนร่วมในความพยายามที่จะฉีดวัคซีนให้กับคนระดับรากหญ้า พวกเขาก็ได้จำหน่ายอมยิ้ม “เลียโปลิโอ” (Lick Polio) และถั่วลิสง “แกะเปลือกเพื่อโปลิโอ” (Shell Out for Polio) เพื่อระดุมทุนให้แก่มูลนิธิมาร์ช ออฟ ไดม์ และพวกเขาได้เขียนจดหมายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเร่าร้อนในหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นการฉีดวัคซีนในหมู่วัยรุ่น
แม้แต่ความต้องการทางเพศของวัยรุ่นก็ถูกคานเอาไว้สำหรับความพยายามเพื่อที่จะผลักดันวัคซีนโปลิโอ แพ็ตตี้ ฮิกส์ (Patty Hicks) ประธานเยาวชนต่อต้านโปลิโอ ได้กล่าวไว้ในปี 1958 ว่า “สาวๆ บางคนเคยคุยกันว่าจะไม่ออกเดทกับผู้ชายเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง ถ้าพวกเขายังไม่ได้ฉีดวัคซีนโปลิโอ” ฮิกส์มีลักษณะที่ “ร่าเริง มีตาสีเข้ม พร้อมผมสีน้ำตาล” ตามที่ถูกบรรยายไว้โดยสำนักพิมพ์สโปเคน โครนิเคิล (Spokane Chronicle) เธอได้ส่งเสริมให้เด็กสาวคนอื่นๆ ทำตาม
อย่างไรก็ตาม ยังด้านมืดในวาระการผลักดันวัคซีนระดับชาติของวัยรุ่นอเมริกัน ด้านมืดนั้นคือเอเบิลลิซึ่ม (ableism) หรือการกีดกัน ด้อยค่าสภาพร่างกายที่พิการ วัคซีนโปลิโอได้ทำการตลาดไว้ว่ามันทำให้ร่างกายคงสภาพสมบูรณ์ไว้ได้ และกระบวนการนี้ได้ซ้ำเติมผู้รอดชีวิตจากโรคโปลิโอ อย่างไรก็ตาม ในที่สุด การเคลื่อนไหวของผู้รอดชีวิตจากโปลิโอเหล่านั้นได้ช่วยจุดไฟให้กับขบวนการสิทธิของผู้ทุพพลภาพ ซึ่งนำไปสู่การลงนามกฎหมายว่าด้วยผู้พิการชาวอเมริกัน (Americans with Disabilities Act – ADA) ในปี ค.ศ. 1990
ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในการระบุว่ากิจกรรมของวัยรุ่นมีผลกระทบต่อการยอมรับวัคซีนโปลิโอมากน้อยเพียงใด มอสลีย์ กล่าวไว้ว่า “จู่ๆ วัคซีนไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรับผิดชอบของผู้ใหญ่หรือเด็กเล็กๆ อีกต่อไป มันกลายเป็นของวัยรุ่นเท่ๆ” การสนับสนุนของเหล่าเยาวชนช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนที่มีต่อไวรัส และผลที่ตามมาก็คือ มีวัยรุ่นเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 (ครั้งหนึ่ง บราซิลเคยฉีดวัคซีนโปลิโอให้กับคนสิบล้านคนในประเทศ ในระยะเวลาแค่เพียงวันเดียว)
ความก้าวหน้าของวัคซีนโปลิโอก็ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มเติม ในปี 1960 วัคซีนชนิดฉีดครั้งเดียวที่มีราคาไม่แพงเข้ามาแทนที่วัคซีนสามโดสของซอล์ก ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา กรณีผู้ป่วยโปลิโอจากสหรัฐอเมริกาได้หมดไป และในปี 2016 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคโปลิโอเพียงแค่ 42 คนเท่านั้น ในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และความขัดแย้งในสถานที่ต่างๆ อย่าง อัฟกานิสถาน และปากีสถาน อาจทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโปลิโอมีเพิ่มมากขึ้นในปี 2020 แต่ตอนนี้ การฉีดวัคซีนโปลิโอได้กลายเป็นเรื่องมาตรฐานไปแล้ว
เวลาผ่านล่วงเลยมากว่า 60 ปีแล้วตั้งแต่ “ซอล์กฮ๊อป” (Salk Hops) แพร่หลายไปในทุกหย่อมหญ้าของประเทศ และเป็นอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในวาระระดับชาติเพื่อผลักดันวัคซีน ในการแข่งขันและหยุดยั้งจำนวนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่ความระแวงในวัคซีนยังคงปรากฏอยู่ในประชากรบางส่วน และราวกับว่าเป็นเสียงสะท้อนของการผลักดันวัคซีนโปลิโอในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อไม่นานมานี้ โดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศว่าจะใช้คนดัง นักกีฬา และโซเชียลมีเดีย เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
การเมือง สังคม และสภาวการณ์ห้องเสียงสะท้อน (echo chambers) เป็นเชื้อเพลิงของความกังวลที่มีต่อวัคซีน แต่วัคซีนได้กลายเป็น ‘แฟชั่น’ ของวัยรุ่นในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ซึ่งได้มอบบทเรียนในการคานกับความเพิกเฉยในเรื่องสาธารณสุข
“เราต้องตามหากลุ่มคนที่ยังกังวล และเกณฑ์พวกเขาจากกลุ่มคนระดับเดียวกัน เพื่อให้ความรู้ และส่งพวกเขากลับไปพร้อมกับข้อความที่อยากแจ้งให้ทราบ” มอสลีย์ กล่าว “มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถเจาะเข้าไปในจุดนั้นได้”
แปลโดย ปรมินทร์ แสงไกรรุ่งโรจน์
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย