เมื่อ โลกร้อน เกินกว่าจะทน เราจะอยู่อย่างไร

เมื่อ โลกร้อน เกินกว่าจะทน เราจะอยู่อย่างไร

ความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะ โลกร้อน ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด มีแนวโน้มที่จะผลักดันผู้คนนับล้านและภูมิภาคทั้งภูมิภาคให้ออกจากพื้นที่อันปลอดภัย

ฤดูร้อนปี 2003 คลื่นความร้อนปกคลุมเหนือยุโรปตอนกลางและตะวันตก ความร้อนแผ่ทั่วแถบทะเล เมดิเตอร์เรเนียน มวลอากาศขนาดใหญ่ยักษ์หมุนวนต้านทานมวลอากาศที่เย็นกว่าจากมหาสมุทรแอตแลนติกอยู่ หลายสัปดาห์ ในฝรั่งเศส ภาวะ โลกร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนกระทั่งถึง 40 องศาเซลเซียสอยู่แปดวัน ระหว่างที่ความร้อนก่อตัวสะสม ผู้คนก็เริ่มล้มตาย

ในไม่ช้า โรงพยาบาลต่างๆก็รับไม่ไหว ห้องเก็บศพเต็มจนต้องใช้รถบรรทุกห้องเย็นและตู้อาหารแช่แข็งแทน ตำรวจได้รับแจ้งให้พังประตู “เพียงเพื่อจะพบศพอยู่ข้างใน” ปาตริก เปลลู ประธานสมาคมแพทย์ห้องฉุกเฉิน แห่งฝรั่งเศส บอก “น่าสะพรึงอย่างที่สุดครับ”
ฝรั่งเศสมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนครั้งนั้นกว่า 15,000 ราย น้อยกว่าอิตาลีซึ่งมีผู้เสียชีวิตเกือบ 20,000 ราย ทั่วทวีปยุโรปมีผู้เสียชีวิตกว่า 70,000 ราย นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในรอบ 500 ปีของยุโรปนี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน

โลกร้อน, ทะเลทรายลูต, อิหร่าน, ทะเลทราย
ดัชตีลูต, อิหร่าน: นักเดินทางยามเช้าสำรวจทะเลทรายลูต ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดในโลก เมื่อปี 2014 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสวัดอุณหภูมิในร่มที่นี่อย่างไม่เป็นทางการได้ 61 องศาเซลเซียส เมื่อโลกร้อนขึ้น หลายพื้นที่อาจไม่เอื้อให้มนุษย์อยู่อาศัยเหมือนทะเลทรายแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ (ภาพถ่าย: มาตีเยอ ปาเลย์)

ในบรรดาภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศต่างๆที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน ทั้งเฮอร์ริเคน อานุภาพรุนแรงและทำลายล้างหนักขึ้น ภัยแล้ง ระดับทะเลสูงขึ้น และฤดูไฟป่าที่ยาวนานขึ้น คลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นปัญหาฉับพลันและรับรู้ได้มากที่สุด ในระดับโลก หกปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาร้อนที่สุดเท่าที่มีบันทึกไว้ ในยุโรป ฤดูร้อนอันน่าสะพรึงเมื่อปี 2003 พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นเพียงการเบี่ยงเบนทางสถิติ มีคลื่นความร้อนรุนแรง เกิดตามมาอีกห้าระลอกนับตั้งแต่นั้น และในปี 2019 หกประเทศในยุโรปตะวันตกก็มีอุณหภูมิสูงทำลายสถิติ ซึ่งรวมถึง 46 องศาเซลเซียสในฝรั่งเศส

แน่นอนว่าวิธีแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ดีที่สุด คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างฮวบฮาบ ถ้าเราทำไม่สำเร็จ ภายในปี 2100 ยอดผู้เสียชีวิตจากสาเหตุเกี่ยวกับความร้อนในสหรัฐฯ อาจเกินปีละ 100,000 ราย ภัยคุกคามใหญ่หลวงกว่ามากในที่อื่นๆ เช่น อินเดียอาจมียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 1.5 ล้านราย ตามงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ และต่อให้เราควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โลกจะยังคงร้อนต่อไปอีกหลายสิบปี พลังอันแกร่งกล้ากำลัง ขยับและจะพลิกวิธีการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลกไปอย่างถึงแก่น

ดัชตีลูต, อิหร่าน: ชนร่อนเร่ตั้งกระโจมพักในทะเลทรายลูตซึ่งไม่ได้ไร้ชีวิตอย่างที่เห็น นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ซากนกอพยพซึ่งบินออกนอกเส้นทางและตายที่นี่เป็นประจำ คือแหล่งอาหารที่เพียงพอสำหรับหมาจิ้งจอก ตุ๊กแก และตั๊กแตน (ภาพถ่าย: มาตีเยอ ปาเลย์)

ความร้อนสุดขั้วส่งผลกระทบร้ายแรง แม้ในระดับที่ไม่ถึงตาย นักวิจัยเชื่อมโยงอุณหภูมิที่สูงขึ้นกับอุบัติการณ์ ที่พบมากขึ้นของทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และเสียชีวิตตั้งแต่เกิด อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ คนอารมณ์รุนแรงขึ้นในทุกระดับรายได้ ทำให้เด็กๆมีคะแนนสอบแย่ลงและผลิตภาพลดลงด้วย

องค์การแรงงาน ระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าระดับความร้อนสูงจะทำให้ชั่วโมงทำงานลดลงร้อยละ 2.2 ภายในปี 2030 นั่นเท่ากับ การสูญเสียงานเต็มเวลา 80 ล้านตำแหน่งในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งในประเทศร่ำรวย แรงงานกลางแจ้งที่มีค่าแรงต่ำ เช่น คนงานก่อสร้างและภาคเกษตรกรรม จะได้รับผลกระทบรุนแรง พอถึงปี 2050 ความร้อนสูงและความชื้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯมีแนวโน้มจะทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกทั้งหมด “ไม่ปลอดภัยสำหรับงานการเกษตรตามแนวปฏิบัติในปัจจุบัน” ดังที่ระบุไว้ในรายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

มนุษย์รวมทั้งพืชผลและปศุสัตว์ วิวัฒน์มาตลอด 10,000 ปีที่ผ่านมาในช่วงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแคบ ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีเกือบ 12.8 องศาเซลเซียส ร่างกายของเราปรับตัวรับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ดี แต่ระดับความร้อนและความชื้นที่เราทนได้มีขีดจำกัด

นิวยอร์กซิตี, นิวยอร์ก, โคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
นิวยอร์กซิตี, สหรัฐฯ: ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แผงที่ฉาบฟิล์มพอลิเมอร์แบบใหม่แผ่ความร้อนผ่านบรรยากาศออกไปสู่อวกาศนอกโลกจึงทำให้อากาศเย็นกว่าพื้นที่โดยรอบมาก อย่างที่เห็นในภาพอินฟราเรดนี้ การติดตั้งแผงนี้บนหลังคาช่วยลดความจำเป็นในการติดเครื่องปรับอากาศได้ (ภาพถ่าย: ชโยติรโมยะ มณฑล)

กระทั่งคนแข็งแรงที่สุดและปรับตัวให้ชินกับอากาศร้อนได้ก็จะตายภายในไม่กี่ชั่วโมง หากอยู่ในที่ที่มี “อุณหภูมิกระเปาะเปียก” (wet bulb temperature) 35 องศาเซลเซียส นั่นคือค่าที่อ่านได้จากการวัดอุณหภูมิและความชื้นในอากาศโดยคำนึงถึงผลจากการระเหยที่ทำให้เย็นลง ถึงจุดนี้ อากาศจะร้อนและชื้นจนไม่สมารถดูดซับเหงื่อของเราได้ อีกต่อไป การเดินไกลๆในสภาพอากาศแบบนี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการทำงานกลางแจ้ง แบบจำลองสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า อุณหภูมิกระเปาะเปียกในเอเชียใต้และบางส่วนของตะวันออกกลางจะทะลุขีดอันตรายนั้นเป็นประจำในอีกราว 50 ปีข้างหน้า

ถึงตอนนั้น จากผลการศึกษาอันน่าตื่นตระหนกในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปี 2020 ประชากรโลกหนึ่งในสามอาจอาศัยอยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั้งแอฟริกา เอเชีย อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย ที่ให้ความรู้สึกเหมือนทะเลทรายสะฮาราปัจจุบัน ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนตอนนี้สูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส

คนหลายพันล้านจะเผชิญทางเลือกที่น่ากลัว นั่นคือการอพยพไปยังที่ที่ภูมิอากาศเย็นกว่า หรือปรับตัวอยู่ที่เดิม การหลบเข้าพื้นที่ร่มที่ติดเครื่องปรับอากาศคือวิธีรับมือปัญหาที่ชัดเจนวิธีหนึ่ง แต่เครื่องปรับอากาศในรูปแบบปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และมีราคาเกินซื้อหาได้สำหรับคนจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด ปัญหาเรื่องความร้อนสุดขั้วนี้พัวพันอย่างหนักกับปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่าอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม และการดูแลสุขภาพ

ปารีส, โลกร้อนล ฝรั่งเศส, น้ำพุโทรกาเดโร, คลื่นความร้อน
ปารีส, ฝรั่งเศส: น้ำพุโทรกาเดโรช่วยผ่อนคลายในช่วงเกิดคลื่นความร้อนทำลายสถิติเมื่อปี 2019 คลื่นความร้อนรุนแรงเมื่อปี 2003 นำไปสู่การปฏิรูปต่างๆ เช่น การกำหนดให้มีระบบทำความเย็นในบ้านพักคนชรา ซึ่งได้ผลเพราะในปี 2019 ยอดผู้เสียชีวิตในฝรั่งเศสต่ำกว่าครั้งนั้นร้อยละ 90 (ภาพถ่าย: ซามูแอล บัวแวง, NURPHOTO VIA GETTY IMAGES)

คลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี 2003 คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการทบทวนในระดับชาติ การชี้นิ้วกล่าวโทษไม่สิ้นสุด และการปฏิรูปสำคัญๆ ภายในหนึ่งปี ฝรั่งเศสบังคับให้บ้านพักคนชราที่ไม่เคยติดเครื่องปรับอากาศมี “ห้องเย็น” เปิดตัวระบบโทรศัพท์ติดตามประชากรกลุ่มเสี่ยง ติดตั้งระบบเตือนภัยความร้อน และเริ่มการรณรงค์การศึกษาสาธารณะ ขนาดใหญ่เพื่อป้องกันโรคลมเหตุร้อน เมื่ออุณหภูมิสูงกลับมาอีกครั้ง มาตรการเหล่านี้ช่วยลดอัตราการตายลงได้ ถึงสิบเท่า

เรารู้ว่าอุณหภูมิสูงจะกลับมาอยู่เรื่อยๆ และลำพังเครื่องปรับอากาศไม่อาจขจัดการเสียชีวิตจากความร้อนให้ หมดไปได้ ผู้คนยังคงจำเป็นและต้องการออกนอกบ้าน

ดังนั้นในเมืองร้อนทั่วโลก ผู้คนจึงปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาและไม้เลื้อยเพื่อบังแสงอาทิตย์ พวกเขาทาสีหลังคา ทำสวนบนดาดฟ้า ก่อโครงสร้างบังแดดบนทางเท้าและในสวนสาธารณะ ติดระบบหัวฉีดพ่นละอองน้ำในสนามเด็กเล่น ในนิวยอร์กซิตี ทีมนักวิจัยจากสถาบันโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย คำนวณว่า การปลูกต้นไม้บนพื้นผิวดินกว่า ร้อยละ 17 ของเมืองและทำให้หลังคาทั้งหมดสะท้อนรังสีอาทิตย์ แทนที่จะดูดซับไว้ อาจลดอุณหภูมิโดยรวมของเมืองลงได้เกือบหนึ่งองศาเซลเซียส

แคลิฟอร์เนีย, โลกร้อน
แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐฯ: ในลอสบานอสซึ่งอยู่ในหุบเขาแซนวาคิน คนงานเก็บมะเขือเทศเริ่มงานตอนตีห้าเพื่อเลี่ยงความร้อนตอนกลางวัน กฎหมายของรัฐกำหนดให้เจ้าของไร่จัดหาน้ำดื่ม ร่มเงา และช่วงหยุดพักให้ แต่คนงานที่ได้ค่าจ้างตามจำนวนถังอาจไม่สนใจมาตรการเหล่านั้น งานกลางแจ้งจะยิ่งอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่บางส่วนของสหรัฐฯ (ภาพถ่าย: คาร์ลา กาเช็ต)

การทบทวนวิธีการก่อสร้างจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดในอนาคตที่ร้อนขึ้น ก่อนจะถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ อาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ พัดลมเพดานที่ใช้พลังงานน้อยกว่าเครื่องปรับอากาศถึง หนึ่งพันเท่าพบได้ทั่วไป แต่เมื่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งโดดเด่นและทรงอิทธิพลด้วยหน้าต่างหลอก แพร่จากสหรัฐฯและยุโรปไปทั่วโลก การพึ่งระบบปรับอากาศก็เช่นกัน

สถาปัตยกรรมที่ใส่ใจสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นกระแสอีกครั้ง แต่เรายังต้องอยู่ในเมืองที่สร้างเสร็จแล้ว เราคงไม่สามารถรื้อทุบหรือติดตั้งอะไรเพิ่มเติมในตึกสูงที่กินไฟและไม่กันความร้อนหลายหมื่นตึกได้แน่ๆ สถาปนิก แดเนียล บาร์เบอร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ “เราจะตั้งเงื่อนไขให้ตัวเองยอมรับ และกระทั่งเห็นคุณค่าของความลำบากกาย” การทนอากาศที่ร้อนไปสักนิดในฤดูร้อนเคยเป็นสิ่งที่กระทั่งคนมีเงินก็ยอมรับ บาร์เบอร์ คิดว่าเราควรหัดยอมรับชีวิตแบบนั้นอีกครั้ง

การทำให้ตัวเองลำบากเป็นจริยธรรมที่โน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่ในประเทศร่ำรวยยอมรับได้ยาก กระทั่งบาร์เบอร์ ผู้กระตุ้นประเด็นนี้อย่างจริงจังก็ยอมรับขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ “พอถึง 60 องศาเซสเซียส ผมก็ภาวนาขอให้ตัวเองมีเครื่องปรับอากาศและขอให้คุณมีด้วย” เขาบอก “แต่ตอนที่อุณหภูมิข้างนอก 29.5 องศา ขอให้เราเปิดหน้าต่างก็พอเถอะครับ”

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

สามารถติดตามสารคดี ร้อนเกินกว่าจะทานทน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม คนในเมืองสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ – แค่ซื้อของให้น้อยลง

ลดโลกร้อน

Recommend