การปฏิวัติเขียวด้านการสัญจรเริ่มขึ้นแล้ว
รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆขายดิบขายดี
และเครื่องบินที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก็กำลังมา
ที่โรงงานประกอบรถยนต์โฟล์คสวาเกนในเมืองแชตทานูกา รัฐเทนเนสซี ตัวถังรถที่ยึดติดกับสายพานลอยสูงเหนือพื้นคอนกรีตจะถูกหย่อนลงมาทุก 73 วินาที เพื่อนำมาวางบนชุดส่งกำลังรถยนต์ และไม่ช้าทั้งตัวถังกับแชสซี จะประกอบเข้าด้วยกัน ขณะที่ผมยืนดู คนงานบนเก้าอี้ล้อเลื่อนซึ่งถือสว่านไฟฟ้ารูปร่างคล้ายปืนพก ก็ไถเก้าอี้เข้าไปใต้รถยนต์รุ่นพาสสาตที่ยกสูงระดับอก ไขน็อตตรึงซุ้มล้อบังโคลนและแผ่นกันกระแทกให้แน่น ก่อนเก็บอุปกรณ์ใส่ซอง รอรถคันต่อไปเคลื่อนเข้ามา
บนพื้นที่ 320,000 ตารางเมตร คนงานประมาณ 3,800 คนและหุ่นยนต์ 1,500 ตัวขยับตัวเป็นจังหวะตลอดวันเพื่อผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันบางรุ่นที่คนรู้จักดีที่สุดบนท้องถนน ในอัตรา 45 คันต่อชั่วโมง 337 คันต่อกะ และกว่า 1.1 ล้านคัน นับตั้งแต่โฟล์คสวาเกนสร้างโรงงานแห่งนี้เสร็จเมื่อปี 2011 ทุกวันนี้ บริษัทรถยนต์ที่มีประวัติอื้อฉาว เรื่องเลี่ยงกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษมายาวนานถึงเจ็ดปี กำลังพยายามทำให้ระบบคมนาคมขนส่งของสหรัฐฯ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในไม่ช้า โรงงานแห่งนี้จะประกอบยานยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโฟล์คสวาเกนที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยในปี 2022 จะเริ่มสายการผลิตรถเอสยูวีไฟฟ้าขนาดกะทัดรัดรุ่นไอดี.4 จากสายพานการผลิตที่มีอยู่ ควบคู่กับรถใช้น้ำมัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบมีโครงสร้างเรียบง่ายกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ในทางกลับกัน รถยนต์ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ขนาดมหึมา ที่โฟล์คสวาเกน ชุดแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเกือบ 500 กิโลกรัม
การที่โฟลก์สวาเกนและบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งกำลังพยายามปรับเปลี่ยนมาสู่กระบวนการอันซับซ้อนเหล่านี้บ่งชี้ว่า เรามาถึงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแล้ว บริษัทรถยนต์รายนี้และอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังหันเหจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่พ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา
บรรดาสตาร์ตอัปและผู้เล่นหลักๆ ในธุรกิจล้วนกำลังดิ้นรนต่อสู้ เพื่อหาจุดยึดเกาะในสิ่งที่ผู้นำในอุตสาหกรรมพลันเห็นว่าเป็นเส้นทางสู่อนาคตที่ดีที่สุด นั่นคือรถยนต์ที่ปลอดจากการพ่นไอเสีย และจากตัววัดเกือบทั้งหมด ความนิยมในยานยนต์สะอาดเหล่านี้ก็พุ่งสูงขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้น ตามกรอบเวลาเวลาที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายด้านภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์แบบใช้น้ำมันยังนับว่าช้าเกินไปอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดกับผู้คนหลายล้าน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า โลกต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือศูนย์ภายในปี 2050 หรือถ้าจะให้ดีควรจะเร็วกว่านั้นมาก
ยากจะโต้แย้งได้ว่า เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติ
จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle: EV) ทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเต็มรูปแบบและระบบไฮบริดแบบปลั๊กอิน [ระบบส่งกำลังร่วมระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าโดยสามารถชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกได้] เพิ่มขึ้นเกือบครึ่ง เมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่ยอดขายรถโดยรวมลดลงร้อยละ 16 ประเภทของอีวีรุ่นต่างๆ ที่มีจำหน่ายทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จนมีประมาณ 370 รุ่น มินิคูเปอร์ พอร์เชอ และฮาร์ลีย์-เดวิสัน ล้วนมีรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลต่างๆ ตั้งแต่รัฐแคลิฟอร์เนียไปจนถึงจีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ประกาศแผนการ ห้ามขายรถยนต์ส่วนบุคคลรุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมันหรือดีเซลอย่างเดียวภายในปี 2035 หรือเร็วกว่านั้น ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากวอลโว่ถึงจากัวร์ระบุว่ามีแผนลดเครื่องยนต์ที่ใช้ลูกสูบให้หมดไปภายในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่ฟอร์ด บอกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลของตนในยุโรปจะมีแต่รถอีวีหรือรถไฮบริดภายในห้าปี และจะเป็นอีวีทั้งหมดภายใน ปี 2030 จีเอ็มมีแผนจะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral หรือปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) ภายในปี 2040
วอลล์สตรีทและนักลงทุนกำลังเดิมพันครั้งใหญ่ ช่วงหนึ่งของปีที่แล้ว หุ้นของเทสลาซึ่งมียอดขายรถอีวี ในสหรัฐฯ เกือบร้อยละ 80 ในปี 2020 มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเอ็กซอนโมบิล เชฟรอน เชลล์ และบีพีรวมกัน บริษัทผลิตรถยนต์และรถบรรทุกไฟฟ้าหน้าใหม่ๆ ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในประเทศจีนซึ่งมีรถยนต์ปลั๊กอิน [ทั้งรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบและไฮบริด] คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของโลก รถยนต์ไฟฟ้าจิ๋วสองประตูที่ทำความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีราคาขายเริ่มต้นไม่ถึง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำยอดขายดีกว่าเทสลา
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
กระทั่งก่อนที่โตโยต้าจะผลิตรถพรีอุสไฮบริดออกมาตีตลาดเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน หลายชาติที่ตระหนักถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศก็เริ่มเข้มงวดกับกฎหมายควบคุมการปล่อยคาร์บอนแล้ว ประเทศอย่างนอร์เวย์ซึ่งมีรถออกใหม่บน ท้องถนนในปี 2020 ครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มเสนอการลดหย่อนภาษีให้รถยนต์ไฟฟ้า ในจีน เมืองใหญ่ๆ ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ เร่งรัดให้การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทำได้เร็วกว่าและถูกกว่ารถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน จากนั้น ในปี 2009 เทสลาก็กู้เงิน 465 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงพลังงานเพื่อเริ่มการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ราคาแบตเตอรี่ลดลงร้อยละ 89 ในช่วงสิบปี และเทสลาก็ขายรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วราว 1.5 ล้านคัน
ถึงอย่างนั้น เส้นทางข้างหน้ายังยาวไกล ที่ผ่านมามีการขายรถยนต์และรถบรรทุกปลั๊กอินไปแล้วประมาณ 12 ล้านคันทั่วโลก แต่เกือบร้อยละ 90 อยู่ในสามภูมิภาคเท่านั้น ได้แก่ จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะที่รถใช้น้ำมัน ราว 1,500 ล้านคันยังคงครองถนน และรถยนต์ส่วนบุคคลทุกประเภทก็อาจเพิ่มอีกพันล้านคันในช่วง 30 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศด้อยพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้น
คนขับรถทั่วโลกจะหันมาใช้รถอีวีกันได้เร็วเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อุตสาหกรรมกำลังขจัดสิ่งที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดบางประการ เช่น ระยะทางที่แล่นได้จากการชาร์จไฟแต่ละครั้ง ระยะเวลาชาร์จไฟ สถานที่ชาร์จไฟ ราคา ต้นแบบแบตเตอรี่ชนิดแข็ง (solid-state battery) ที่มีความเสถียรสูงในห้องปฏิบัติการอาจเป็นก้าวแรกไปสู่การชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าได้ใน 10 นาที สำหรับตอนนี้ รถอีวีรุ่นใหม่ๆส่วนใหญ่เป็นรถหรู แต่ธนาคารเพื่อ การลงทุนยูบีเอสและบริษัทวิจัยบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟคาดการณ์ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าอาจมีราคาสูสีกับรถยนต์ทั่วไปภายในเวลาห้าปีหรือราวๆนั้น
กระนั้น นักวิเคราะห์ก็ยืนยันว่า การเปลี่ยนผ่านจะเร็วขึ้นได้ต้องมีตัวช่วยอีกหลายปัจจัย ไม่มีใครคาดว่า ผู้บริโภคจะมีทางเลือกหลากหลายมากเท่ากับที่รถยนต์ใช้น้ำมันมีอยู่ในเร็ววันนี้ แรงจูงใจต่างๆ จากภาครัฐ [เช่น มาตรการทางภาษี] อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยดึงดูดผู้ซื้อได้
เรื่อง เครก เวลช์
ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์
สามารถติดตามสารคดี อนาคตคือยนตกรรมไฟฟ้า ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2564
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/533276