ภาพถ่ายกับความจริง : มุมมองในประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของโลก

ภาพถ่ายกับความจริง : มุมมองในประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของโลก

ภาพถ่ายกับความจริง : หลังจากที่โลกได้รู้จักกล้องถ่ายรูปเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1839 (182 ปีก่อน) สังคมในเวลานั้นเชื่อว่า นี่คือเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถบันทึกภาพสิ่งต่าง ๆ ในโลกได้อย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง

ไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างจิตรกรหรือนักวาดภาพที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านฝีแปรงและลายเส้น ซึ่งอาจเจือปนด้วยความคิด ความรู้สึก และจินตนาการของศิลปินแต่ละคน

จนกระทั่งปีถัดมา (ค.ศ. 1840) มีการเผยแพร่ภาพถ่ายศพผู้ชายจมน้ำในประเทศฝรั่งเศส ข้างหลังภาพมีคำบรรยายว่า นี่คือศพของอิปโปลีท ไบยาร์ (Hippolyte Bayard) ผู้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดแม่น้ำ เพราะผลงานของเขาไม่ได้รับการยอมรับ เขาตายมาหลายวันแล้ว แต่ไม่มีใครมารับศพ จนศพเริ่มเน่าอืด ท้ายข้อความลงชื่อด้วยตัวผู้ตายเอง สร้างความฉงนให้กับสังคมในเวลานั้น

ภาพภ่ายกับความจริง, Hippolyte Bayard

อันที่จริง ภาพถ่ายนี้เป็นภาพที่ไบยาร์จัดฉากถ่ายตัวเองเป็นศพ เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลฝรั่งเศสมองข้ามผลงานของเขาที่ได้คิดค้นกระบวนการถ่ายภาพแบบ direct positive ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกระบวนการแบบดาแกโรไทพ์ (daguerreotype) เพียงแต่ใช้กระดาษอาบน้ำยาเป็นตัวรับแสงแทนแผ่นโลหะเคลือบเงิน

ภาพนี้ถือเป็น “ภาพถ่ายปลอม” (fake photo) ใบแรกของโลก และที่สำคัญ เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งคำถามว่า ภาพถ่ายสามารถสะท้อนความเป็นจริงได้จริงหรือ?

คำถามเชิงปรัชญานี้สวนกระแสความเชื่อในยุคนั้นว่า ภาพถ่ายสามารถบันทึกข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นกลางแบบวิทยาศาสตร์และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง เพราะเป็นการบันทึกภาพของแสงที่สะท้อนจากวัตถุที่มีอยู่จริงในโลก คนสมัยนั้นเชื่อว่า ภาพที่ปรากฏในกล้องถ่ายรูปมีลักษณะเหมือนกับภาพที่ปรากฏบนจอประสาทตาของมนุษย์

———–

แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการถกเถียงประเด็น ภาพถ่ายกับความจริง นี้มากนัก ทั้งในโลกตะวันตกและในประเทศไทย อาจเป็นเพราะว่าการถ่ายภาพเพิ่งเกิด ผู้คนในสังคมยังตื่นตาตื่นใจกับการได้เห็นภาพถ่ายของสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งสถานที่แปลกตา วัฒนธรรมต่างถิ่น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ในอดีตมนุษย์ได้แต่อ่านหรือฟังต่อกันมาหรือเห็นจากภาพวาด

การถ่ายภาพได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผ่านภาพถ่าย นอกเหนือจากการได้รับประสบการณ์ตรง แม้ว่าจะเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง (ช่างภาพ) แต่ก็ให้ความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เคยได้เห็น และคนส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า สิ่งที่เห็นน่าจะเป็นเรื่องจริง

———–

เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1861 มีการส่งช่างภาพมือไปบันทึกภาพอย่างละเอียด นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้ไปร่วมรบจะมีโอกาสได้เห็นภาพสงครามที่แท้จริง ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสได้เห็นด้วยตาตัวเอง

ภาพศพทหารและสภาพความเสียหายของบ้านเรือนทำให้ประชาชนสัมผัสถึงความโหดร้ายของสงคราม หนึ่งในภาพที่เป็นที่จดจำคือภาพศพทหารนอนตายอย่างโดดเดี่ยว ชื่อภาพ “Home of a Rebel Sharpshooter” (บ้านของพลแม่นปืนกบฏ) ผลงานของอเล็กซานเดอร์ การ์ดเนอร์ (Alexander Gardner) เขาบรรยายว่า นายทหารผู้นี้ถูกยิงจมกองเลือดและนอนรอความตายอย่างทนทุกข์ทรมานหลังก้อนหินที่เป็นจุดซุ่มยิง

Home of a Rebel Sharpshooter, ภาพภ่ายกับความจริง

แต่ในความเป็นจริง นายทหารผู้นี้ไม่ได้ตายอย่างโดดเดี่ยวและไม่ได้เป็นพลแม่นปืนด้วยซ้ำ การ์ดเนอร์พบศพทหารผู้นี้นอนตายอยู่กลางสนามรบ แต่คิดว่าภาพยังไม่ดูดีพอ จึงได้จัดการเคลื่อนย้ายศพมายังจุดซุ่มยิงหลังก้อนหินและจัดท่าทางเพื่อให้ได้องค์ประกอบภาพที่ลงตัว

การ “จำลอง” เหตุการณ์เช่นนี้ ปัจจุบันถือว่าผิดจรรยาบรรณของช่างภาพข่าวขั้นร้ายแรง แต่สังคมยุคนั้นรับได้ ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีการกำหนดหลักจรรยาบรรณ และที่สำคัญ เพราะการถ่ายภาพในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย กล้องถ่ายรูปยังมีขนาดใหญ่และทำงานช้า ไม่สามารถบันทึกภาพการเคลื่อนไหวระหว่างการรบได้ ภาพถ่ายสงครามส่วนใหญ่จึงเป็นภาพป้อมปราการ ภูมิประเทศ กองทหารก่อนและหลังการรบ หรือภาพความเสียหาย

ประกอบกับช่างภาพต้องประสบกับอุปสรรคด้านสภาพแวดล้อม เช่น แสงน้อย ลมแรง และต้องนำแผ่นฟิล์มกระจกไปล้างทันทีในห้องมืดที่ต้องประกอบขึ้นในสถานที่ถ่ายภาพ ทำให้การบันทึกภาพในสนามรบเป็นไปอย่างยากลำบาก  ช่างภาพในยุคแรกจึงมักถ่ายภาพหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยจัดฉากให้ได้ภาพที่ทรงพลัง สื่อความหมายชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และมีความงามในเชิงศิลปะโดยอ้างอิงกับรูปแบบของภาพจิตรกรรม

———–

นอกจากนั้น ยังมีภาพถ่ายที่เป็นภาพเหตุการณ์จริง ไม่มีการจัดฉากและตัดต่อ แต่เรื่องราวที่แท้จริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในภาพเสียทีเดียว เช่นภาพถ่าย “การประหารที่ไซง่อน” (Saigon Execution) ผลงานของเอ็ดดี อดัมส์ (Eddie Adams) ที่บันทึกเสี้ยววินาทีที่ชายในชุดเครื่องแบบจ่อปืนยิงหัวผู้ชายในชุดพลเรือนที่ถูกจับมัดมือไพล่หลัง ภาพนี้สะท้อนความรุนแรงของสงครามและกลายเป็นหนึ่งในภาพสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามเวียดนาม

ภาพถ่ายกับความจริง, การประหารที่ไซง่อน, สงครามเวียดนาม

ทุกคนที่เห็นภาพนี้เป็นครั้งแรกย่อมรู้สึกสงสาร “เหยื่อ” ที่ถูกยิงและโกรธเกลียดผู้ชายที่ลั่นไกซึ่งได้กลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาชาวโลก แต่ถ้าหากเราได้ทราบเรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้ เราอาจไม่แน่ใจว่าใครคือผู้ร้ายกันแน่ ?

ชายที่ถูกยิงในภาพไม่ใช่พลเรือน แต่เป็นหัวหน้าหน่วยสังหารของทหารเวียดกงชื่อ เหงวียน วัน แล้ม (Nguyễn Văn Lém) ซึ่งได้ก่อเหตุฆ่านายพลชาวเวียดนามใต้พร้อมสมาชิกครอบครัวของเขา 8 คน และสังหารหมู่ชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธอีก 34 คน เมื่อถูกจับได้ เขายอมรับสารภาพและถูกนำตัวไปพบนายพลเหงวียน หงอก ลวาน (Nguyễn Ngọc Loan) ซึ่งเป็นหัวหน้าตำรวจเวียดนามใต้และเป็นเพื่อนกับนายพลที่ถูกฆ่า เมื่อเดินมาถึง นายตำรวจควักปืนพกประจำตัวออกมาและจ่อยิงหัวนายแล้มตายข้างถนนกลางเมืองไซง่อน โดยไม่มีการพูดเตือนใด ๆ

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า ภาพถ่ายใบเดียวไม่อาจบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้ และบริบท (context) เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจภาพถ่าย  ถ้าไม่มีบริบท เราอาจเข้าใจผิดเป็นคนละเรื่อง อย่างเช่นชาวอเมริกันจำนวนมากที่ยังคงตราหน้านายตำรวจผู้นี้ว่าเป็นอาชญากรสงครามที่ฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพราะความเข้าใจผิดจากภาพถ่ายนี้เพียงภาพเดียว

ภายหลัง อดัมส์ได้แสดงความเสียใจเกี่ยวกับภาพถ่ายนี้ โดยกล่าวว่า ในภาพนี้มีคนตายสองคน คนหนึ่งคือทหาร
เวียดกงที่ถูกยิง และอีกคนคือนายตำรวจที่ถูกเขาฆ่าด้วยกล้องถ่ายรูปของเขา  อดัมส์กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ภาพนิ่งเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดในโลก ผู้คนเชื่อสิ่งที่เห็นในภาพ แต่ภาพถ่ายโกหกเราได้ แม้ว่าจะไม่มีการปรับแต่งภาพเลยก็ตาม ภาพถ่ายสะท้อนความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น”

———–

หลายคนมองว่า การถ่ายภาพคือการ “บันทึก” (document) มากกว่า “ตีความ” (interpret) เหตุการณ์ แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาในแง่กระบวนการ ทุกครั้งที่เรากดชัตเตอร์ เราได้คิดและเลือกแล้วว่าจะถ่ายและไม่ถ่ายสิ่งไหน จะให้อะไรอยู่ตรงส่วนไหนของภาพ ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน การถ่ายภาพจึงเป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับบุคคล (subjective) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่หลากหลายและกลายเป็นศิลปะ

นอกจากนั้น การ “อ่านภาพ” หรือการทำความเข้าใจภาพถ่ายยังขึ้นอยู่กับบริบทของเหตุการณ์ในภาพ บริบทที่ผู้ชมเห็นภาพนั้น ทัศนคติและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชม ทำให้แต่ละคนเข้าใจภาพได้ไม่เหมือนกัน อีกทั้งความหมายของภาพก็อาจถูกกำหนดหรือชี้นำโดยชื่อภาพและคำบรรยายภาพ ซึ่งหลายครั้งก็อาจไม่ตรงกับความจริง ดังเช่นภาพถ่ายศพทหารแม่นปืนดังกล่าวข้างต้น

———–

เพราะฉะนั้น ภาพถ่ายจึงไม่ใช่ความจริงเสมอไป หรืออาจเป็นความจริงเพียงส่วนเดียวที่ถูกนำเสนอให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  ยิ่งในยุคปัจจุบัน ภาพถ่ายไม่ใช่ภาพที่เกิดจากแสงสะท้อนจากวัตถุผ่านเลนส์กล้องเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จนบางครั้งเราไม่สามารถแยกได้ว่าภาพไหนคือภาพจริงหรือภาพปลอม อีกทั้งในแต่ละวันมีการผลิตภาพถ่ายและอัพโหลดขึ้นอินเตอร์เน็ตจำนวนมากกว่า 1.8 พันล้านรูปต่อวัน เราในฐานะผู้ชมจึงจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณให้ดี

———–

เรื่อง      อธิคม แสงไชย

https://www.instagram.com/s.athikhom/

คำอธิบายภาพเพิ่มเติม

ภาพถ่ายกับความจริง

ภาพถ่ายของอิปโปลีท ไบยาร์ (Hippolyte Bayard) ผู้จัดฉากถ่ายภาพตัวเองเป็นศพจมน้ำตายเมื่อ ค.ศ. 1840 ถือเป็นภาพถ่ายปลอมภาพแรกของโลก และตั้งคำถามว่า ภาพถ่ายสะท้อนความจริงเสมอไปหรือไม่

ชื่อของไบยาร์อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ช่างภาพชาวฝรั่งเศสผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการถ่ายภาพยุคแรกของโลก โดยเขาอ้างว่าสามารถคิดค้นกระบวนการถ่ายภาพได้ก่อนดาแกร์ (Daguèrre) และแทลบอต (Talbot) ที่ได้รับการยกย่องโดยทั่วไปว่าเป็นผู้คิดค้นการถ่ายภาพ แต่ฟรองซัว อาราโก (François Arago) ผู้มีอิทธิพลในวงการศิลปะและวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสในยุคนั้นและเป็นเพื่อนของดาแกร์ ได้โน้มน้าวให้ไบยาร์เลื่อนการประกาศผลการคิดค้นของเขาออกไป

แม้ว่าท้ายที่สุด เขาจะประกาศการคิดค้นกระบวนการถ่ายภาพแบบ direct positive ของเขาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1840 แต่การตัดสินใจครั้งนั้นก็ทำให้ไบยาร์พลาดโอกาสที่จะได้รับการจารึกชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการถ่ายภาพไปอย่างน่าเสียดาย  ด้วยความผิดหวังและแค้นเคือง เขาจึงจัดฉากถ่ายภาพนี้ และเขียนคำบรรยายภาพเสียดสีและตัดพ้อต่อว่ารัฐบาลฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ไบยาร์ได้สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมากให้กับวงการภาพถ่ายโลก เขาเป็นหนึ่งในคณะช่างภาพที่เดินทางทั่วประเทศฝรั่งเศสบันทึกภาพสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1851  นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์ภาพโดยนำภาพเนกาตีฟสองภาพหรือมากกว่ามาซ้อนกันเพื่อให้ได้แสงที่เหมาะสมในทุกส่วนของภาพ หรือที่เรียกว่า combination printing ซึ่งเริ่มทำกันมาตั้งแต่เมื่อ 170 ปีก่อนแล้ว

ปัจจุบันภาพนี้เก็บรักษาอยู่ที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศฝรั่งเศส (Société française de photographie) ซึ่งไบยาร์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1854

ภาพถ่ายกับความจริง

ภาพถ่ายศพทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ชื่อภาพ “Home of a Rebel Sharpshooter” (บ้านของพลแม่นปืนกบฏ) ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1863 โดยอเล็กซานเดอร์ การ์ดเนอร์ (Alexander Gardner) ช่างภาพชาวสก็อตผู้บันทึกภาพสงครามกลางเมือง ตีพิมพ์เป็นหนังสือ Gardner’s Photographic Sketchbook of the Civil War  ภาพนี้ถ่ายด้วยกระบวนการกระจกเปียก (wet collodion) เป็นภาพถ่ายสำคัญภาพหนึ่งของสงครามกลางเมืองอเมริกา สะท้อนความโหดร้ายของสงครามและทหารที่ต้องตายอย่างทรมาน โดดเดี่ยว และกลายเป็นศพนิรนาม

ในความเป็นจริง กว่าการ์ดเนอร์และผู้ช่วยของเขาจะเดินทางไปถึงสนามรบที่เมืองเกตตีสเบิร์ก (Gettysburg) การสู้รบก็จบลงแล้ว ศพส่วนใหญ่ถูกฝังหรือเคลื่อนย้ายไปหมด พวกเขาพบศพทหารผู้นี้นอนตายอยู่กลางสนามรบ แต่คิดว่าภาพยังดูไม่ดี จึงได้จัดการเคลื่อนย้ายศพมาอีกจุดหนึ่ง จัดท่าทางและสถานที่เพื่อให้ได้องค์ประกอบภาพที่ลงตัวและสื่อความหมายได้ทรงพลังอย่างที่พวกเขาต้องการ มีการหนุนศีรษะศพให้สูงขึ้นและเอียงใบหน้าเข้ากล้อง ปืนยาวที่วางพาดอยู่บนก้อนหินด้านหลังก็ไม่ใช่ปืนรุ่นที่พลแม่นปืนใช้ แต่เป็นปืนที่ช่างภาพพกติดตัวเพื่อใช้ประกอบฉาก

ปัจจุบันภาพนี้เก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุดรัฐสภา (Library of Congress) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ภาพถ่ายกับความจริง

ภาพ “การประหารที่ไซง่อน” (Saigon Execution) ที่สะท้อนความโหดร้ายของสงครามและภาวะที่บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามเวียดนาม หลังจากภาพนี้เผยแพร่ออกไปใน ค.ศ. 1968 ชาวอเมริกันได้ออกมาประท้วงและกดดันรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ยุติสงคราม

ที่น่าสนใจคือ ในเหตุการณ์ประหารแบบรวบรัดนี้ มีนักข่าวบันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้ได้ ซึ่งแม้จะดูน่ากลัวเพราะเห็นภาพการประหารตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ไม่อาจสร้างความสะเทือนใจและติดตาผู้ชมได้ยาวนานเท่ากับภาพนิ่งที่บันทึกวินาทีแห่งความตายนี้ไว้ได้

ภาพนี้ทำให้เอ็ดดี อดัมส์ (Eddie Adams) ช่างภาพชาวอเมริกันสังกัดสำนักข่าว Associated Press ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) และรางวัลการประกวดภาพถ่ายสื่อมวลชนโลก (World Press Photo Award) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ในวงการถ่ายภาพข่าว

แต่ในขณะเดียวกัน ภาพนี้ก็ทำให้นายพลเหงวียน หงอก ลวาน (Nguyễn Ngọc Loan) ชายผู้ลั่นไกในภาพ ต้องตกเป็นจำเลยสังคม กลายเป็นฆาตกรผู้เข่นฆ่าประชาชนในสายตาของชาวโลก

หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ลวานได้อพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในตอนแรกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอเมริกันจะเนรเทศเขาออกนอกประเทศด้วยเหตุว่าเขาเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากภาพถ่ายนี้ อดัมส์ต้องแก้ต่างให้เขา รวมทั้งออกโทรทัศน์เพื่ออธิบายเรื่องราวที่แท้จริงทั้งหมด ทำให้ลวานได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อได้ และเปิดร้านอาหารที่ชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่ท้ายที่สุด เขาก็ต้องปิดกิจการ เพราะยังมีคนตามมาด่าทอและประณามเขาด้วยเหตุจากภาพถ่ายในอดีต ซึ่งแม้จะผ่านมานานแล้วแต่ก็ยังคงมีคนเข้าใจผิดอยู่

เอกสารอ้างอิงและเอกสารอ่านประกอบ
Mary Warner Marien, Photography: A Cultural History. (2nd edition. London: Laurence King Publishing, 2006)
A History of Photography: From 1839 to the Present. (Taschen, 2016)
https://imma.ie/magazine/image-of-reality-image-not-reality-what-is-photography/
https://www.artstor.org/2018/09/12/fake-news-the-drowning-of-hippolyte-bayard/
https://www.getty.edu/art/collection/artists/1840/hippolyte-bayard-french-1801-1887/
https://www.loc.gov/static/collections/civil-war-glass-negatives/articles-and-essays/does-the-camera-ever-lie/the-case-of-the-moved-body.html
https://knowledgenuts.com/staging-civil-war-photographs/
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-42864421
https://www.nytimes.com/2018/02/01/world/asia/vietnam-execution-photo.html
https://rarehistoricalphotos.com/saigon-execution-1968/
http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,139659,00.html

อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายยุคแรกของไทย : มุมมองในประวัติศาสตร์ภาพถ่ายของโลก

ภาพถ่ายกับความจริง

Recommend