เทือกเขาแอลป์ แถบที่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมโคจรรอบฤดูหนาวที่หิมะตกหนัก ปัจจุบันมีความพยายามอย่างเร่งด่วนที่จะรักษาหิมะและน้ำแข็งที่ถูกสภาพอากาศอบอุ่นขึ้นคุกคาม
ท่ามกลางวงล้อมของยอดเขาลดหลั่นสูงเสียดเมฆ เครื่องตัดแต่งน้ำแข็งขนาดเท่ารถแทรกเตอร์วิ่งถอยหลังอยู่บนกองหิมะอัดแน่นสูง 13 เมตร พร้อมกับปล่อยชายผ้าขาวม้วนหนึ่งไปด้วย บนกองหิมะนั้น คนงานหกคนกำลังเย็บแถบผ้าติดกันด้วยจักรเย็บผ้ามือถือที่ทนงานหนัก ตอนนั้นเป็นเดือนมิถุนายนที่คิตซ์ชไตน์ฮอร์น ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เล่นสกีที่อยู่สูงที่สุดและหนาวเย็นที่สุดแห่งหนึ่งใน เทือกเขาแอลป์ และน้ำจากน้ำแข็งละลายก็ไหลเชี่ยวลงสู่หุบเหวบนลาดเขาทั้งสองด้าน แต่บนธารน้ำแข็ง ทีมงานบำรุงรักษาลานสกีกำลังเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับฤดูสกีที่จะมาถึง
แม้ที่ระดับความสูง 3,000 เมตร การหวังพึ่งหิมะธรรมชาติกลายเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไปเสียแล้ว ดังนั้น ทีมงานที่นำโดยผู้จัดการด้านเทคนิค กึนเทอร์ เบรนน์ชไตเนอร์ จึงต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อสร้างหลักประกัน พวกเขาใช้เวลาหนึ่งเดือนไถหิมะชุดสุดท้ายของฤดูกาลมารวมเป็นกองสูงเท่าตึกหลายชั้นแปดกอง โดยกองใหญ่ที่สุดนั้นใหญ่กว่าสนามฟุตบอลเสียอีก ตอนนี้พวกเขาจะใช้เวลาอีกหนึ่งเดือนเอาผ้าคลุมกองหิมะเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนในฤดูร้อน เมื่อฤดูสกีใหม่เริ่มขึ้น หากอากาศอุ่นจนไม่มีหิมะใหม่ตกลงมา หรืออุ่นจนกระทั่งผลิตหิมะเทียมไม่ได้ พวกเขาจะใช้รถบรรทุกขนหิมะเก่าเหล่านี้มาถมลานสกีบนลาดเขาแล้วใช้เครื่องตัดแต่งน้ำแข็งปรับให้เรียบ
การหาวิธีรวบรวมหิมะมาสำรองไว้ในระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ฮันเนส พอช คนงานคนหนึ่งบอก ก่อนที่ทีมงานจะเริ่มเย็บแถบผ้าเข้าด้วยกัน บางครั้งลมกระโชกแรงก็พัดจนผ้าขาด เผยให้เห็นกองหิมะด้านล่าง บางครั้งผ้าก็จับตัวเป็นน้ำแข็งใต้หิมะ
“อะไรที่เป็นปัญหาได้ก็เป็นหมดละครับ” พอชบอกขณะมัดกระสอบทรายติดกับผ้า ครั้งหนึ่ง เกิดฟ้าผ่าที่รีสอร์ตคิตซ์บืลใกล้ๆ ทำให้ผ้าคลุมกองหิมะแบบเดียวกันลุกไหม้ และนักผจญเพลิง 30 คนใช้เวลาดับไฟอยู่หลายชั่วโมง ทุกวันนี้หิมะล้ำค่าขนาดนั้นเลยทีเดียว
ฤดูหนาวใน เทือกเขาแอลป์ กำลังจะตาย นับตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า อุณหภูมิเฉลี่ยที่นี่สูงขึ้นราวสององศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกราวสองเท่า หิมะเริ่มตกช้าลงในฤดูหนาวและละลายเร็วขึ้น เทือกเขาแอลป์ทั้งหมดสูญเสียช่วงเวลาที่มีหิมะปกคลุมไปราวหนึ่งเดือนแล้ว ตามข้อมูลของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีวัดสภาพอากาศกว่า 2,000 แห่ง
นัยดังกล่าวน่าพรั่นพรึงสำหรับผู้คนจำนวนมากใน 14 ล้านคนแถบเทือกเขาที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนี้ เศรษฐกิจที่นี่พึ่งหิมะเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละ 120 ล้านคน นอกจากทำงานที่คิตซ์ชไตน์ฮอร์นแล้ว เบรนน์ชไตเนอร์ยังเป็นนายกเทศมนตรีของนีเดิร์นซิลล์ หมู่บ้านที่มีประชากร 2,800 คนบริเวณเชิงเขาด้วย เขาบอกว่าแทบไม่มีครอบครัวใดเลยในหมู่บ้านที่ไม่พึ่งพาฤดูหนาว เมื่อไม่มีหิมะ หมู่บ้านอาจเหลือคนแค่หนึ่งพันคน
เพื่อปกป้องตนเอง ผู้คนในแถบเทือกเขาแอลป์กำลังพยายามอย่างหนัก ทุกวันนี้ เครื่องทำหิมะราว 100,000 เครื่องช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสกีในเทือกเขาแอลป์ มากพอจะพ่นหิมะปกคลุมพื้นที่ขนาดเท่านิวยอร์กซิตีได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง นอกจากกองหิมะเช่นที่คิตซ์ชไตน์ฮอร์น บรรดาชาวบ้านที่สิ้นหวังยังนำผ้าไปห่มคลุมธารน้ำแข็งบางส่วนจากทั้งหมดราว 4,000 แห่งในเทือกเขาแอลป์เพื่อชะลอการละลายอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อน
วิธีต่างๆเหล่านี้บางวิธีนับว่าชาญฉลาดและน่าสนใจ ขณะที่บางวิธีถูกตั้งคำถามทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดล้วนขับเคลื่อนด้วยความประหวั่นล้ำลึกว่า หากปราศจากฤดูหนาว ชีวิตที่นี่จะเป็นเช่นไร
ในเทือกเขาแอลป์ส่วนใหญ่ หิมะและน้ำแข็งดูเหมือนหมดอนาคตแล้ว นั่นอาจก่อปัญหาที่ปลายน้ำได้ แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในยุโรป เช่น โรน ไรน์ ดานูบ และโป ล้วนได้น้ำจากธารน้ำแข็งละลายปริมาณมหาศาลในฤดูร้อนที่แห้งแล้ง การเดินเรือและการชลประทานตามฤดูกาลอาจเกิดปัญหาได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เทือกเขาแอลป์จะยังทำหน้าที่เป็น “หอคอยเก็บน้ำ” ของยุโรปต่อไป เมฆจะยังคงกลั่นตัวลงสู่ลาดเขาต่างๆ และชาติร่ำรวยมีแนวโน้มจะหาทางปกปักรักษาแหล่งน้ำของตนได้
การสูญเสียการท่องเที่ยวฤดูหนาวอาจเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่า ชุมชนหลายแห่งหันไปลงทุนมากขึ้นในกิจกรรมฤดูร้อน การขี่จักรยานเสือภูเขาหรือการทำเส้นทางเดินป่า การเล่นเลื่อนฤดูร้อนหรือการปีนผา แต่การท่องเที่ยวฤดูร้อนมีอยู่มาโดยตลอดในเทือกเขาแอลป์ และการทำให้มันขยายตัวถึงจุดที่ชดเชยการสูญเสียธุรกิจสกีได้จะเป็นเรื่องยาก
หมู่บ้านอะบงด็องซ์ในฝรั่งเศสที่ระดับความสูง 900 เมตร อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอันยากลำบากนี้ การปิดลิฟต์สกีเมื่อปี 2007 เป็นที่มาของรายงานข่าวซ้ำๆ ว่า ที่นี่คือหมู่บ้านสกีแห่งแรกที่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่พลเมือง 1,400 คนของที่นี่ไม่พร้อมบอกลาธุรกิจสกี ในปี 2008 พวกเขาเลือกนายกเทศมนตรีคนใหม่ ปอล จีราด์-เดโปรแล็กซ์ ผู้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง นั่นคือเปิดให้บริการลิฟต์สกีอีกครั้ง
จีราด์-เดโปรแล็กซ์เกิดในครอบครัวเกษตรกรในปีที่สร้างรถเคเบิล และเห็นหมู่บ้านของตนเจริญรุ่งเรืองจากธุรกิจสกี แต่พอนักลงทุนรายหนึ่งเข้าพบพร้อมแผนการพัฒนาอะบงด็องซ์เป็นรีสอร์ตสกีขนาดใหญ่ด้วยการเชื่อมกับหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน นายกเทศมนตรีผู้นี้กลับตาค้าง แผนการดังกล่าวรวมถึงการระเบิดส่วนหนึ่งของภูเขาและทำลายป่าสนเฟอร์เก่าแก่ “นั่นคือสิ่งที่เราไม่อยากทำครับ” เขาบอก
ที่อื่นๆในเทือกเขาแอลป์ แผนการขยายการท่องเที่ยวฤดูหนาวเผชิญการต่อต้านเช่นกัน ในออสเตรีย คนจำนวน 160,000 ลงนามในข้อเรียกร้องให้ยุติแผนการเชื่อมพื้นที่สกีเอิทซ์ตาลและพิทซ์ตาล ซึ่งใช้การระเบิดภูเขาอีกเช่นกัน โครงการก่อสร้างรถเคเบิลใหม่ในมอร์ซีน ฝรั่งเศส ใกล้หมู่บ้านอะบงด็องซ์ ต้องหยุดชะงักหลังการประท้วงของคนในพื้นที่ ผลการวิเคราะห์อิสระชี้ว่าโครงการเหล่านี้อาจไม่คุ้มค่าในสภาพภูมิอากาศที่ไร้หิมะมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอะบงด็องซ์ จีราด์-เดโปรแล็กซ์กำลังผลักดันกิจกรรมที่หลากหลาย นอกจากลานสกีที่สวยชวนตะลึง ตอนนี้มีการเล่นสเก็ตน้ำแข็งบนทะเลสาบธรรมชาติและการเล่นเลื่อนในฤดูหนาว เช่นเดียวกับการขี่จักรยานเสือภูเขาและการเดินป่าในฤดูร้อน มีพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้กับเนยแข็งของอะบงด็องซ์
“เรายังไม่เจอวิธีที่ใช่ ความคิดที่ใช่จริงๆครับ แต่เรากำลังคิด กำลังทดสอบ และกำลังทดลอง” นายกเทศมนตรีผู้นี้บอก
เรื่อง เดอนีส รูบี
ภาพถ่าย ซีริล ยัซเบ็ก