ไม่นานมานี้ แนวคิดเรื่องการซ่อมแซมจุดเชื่อมต่อในสมองเพื่อต้านทานการเสพติดอาจเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ความก้าวหน้าด้านประสาทวิทยาศาสตร์พลิกแนวคิดเดิมๆเกี่ยวกับการเสพติดไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หากเปิดตำราแพทย์เมื่อ 30 ปีก่อน เราคงจะอ่านพบว่า การเสพติดหมายถึงการต้องพึ่งพาสารอย่างหนึ่งโดยที่ความชินยามีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น จนต้องใช้ปริมาณมากขึ้นทุกทีจึงจะรู้สึกถึงผลของยา และหากเลิกใช้ก็จะทรมานจากอาการขาดยา (withdrawal) ข้อความนี้ใช้อธิบายเรื่องแอลกอฮอล์ นิโคติน และเฮโรอีนได้ดี แต่ไม่สามารถอธิบายเรื่องกัญชาและโคเคน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการสั่นเทิ้ม คลื่นไส้ และอาเจียน แบบเดียวกับอาการขาดเฮโรอีน
นอกจากนี้ แนวคิดแบบเดิมยังไม่ได้อธิบายลักษณะที่อาจเรียกได้ว่าตลบตะแลงที่สุดของการเสพติด นั่นคือการกลับ ไปเสพติดอีก (relapse)
รายงานของกรมแพทย์ทหารสหรัฐฯช่วยยืนยันเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์กล่าวมาโดยตลอดหลายปีว่า การเสพติดเป็นโรคอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความล้มเหลวทางศีลธรรม ลักษณะของการเสพติดนั้นหมายถึงการกระทำกิจกรรมอย่างหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่อาจหักห้ามใจได้ แม้จะส่งผลเสียต่อชีวิต ทรรศนะนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนยอมรับความคิดที่แต่ก่อนถือว่านอกรีต นั่นคือการเสพติดไม่จำเป็นต้องมียาเสพติดมาเกี่ยวข้องก็ได้
การปรับปรุง คู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ซึ่งเป็นคู่มือด้านจิตเวชศาสตร์ของสหรัฐฯครั้งหลังสุด ให้การยอมรับการเสพติดพฤติกรรม (behaviorial addiction) เป็นครั้งแรก นั่นคือเสพติดการพนัน นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า เราอาจเสพติดสิ่งเย้ายวนใจหลายอย่างในชีวิตสมัยใหม่ได้ เช่น อาหารขยะ การจับจ่ายซื้อของ และการใช้สมาร์ตโฟน เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลอันทรงพลังต่อระบบการให้รางวัลของสมอง ซึ่งเป็นวงจรที่ผลักดันให้เกิดความอยากเสพ
“เราทุกคนเป็นนักล่ารางวัลชั้นเยี่ยม” แอนนา โรส ไชล์เดรสส์ นักประสาทวิทยาศาสตร์คลินิกจากศูนย์ศึกษาการเสพติดของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าว
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ไชล์เดรสส์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆพยายามไขปริศนาเรื่องการเสพติดด้วยการศึกษาระบบการให้รางวัลของสมอง งานวิจัยส่วนใหญ่ของไชล์เดรสส์อาศัยการสแกนสมองของผู้ติดยาโดยใช้เครื่องสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก หรือเอ็มอาร์ไอ (magnetic resonance imaging: MRI) ซึ่งจะแสดงให้เห็นการไหลเวียนโลหิตในสมอง เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมของเซลล์ประสาท ขั้นตอนอันซับซ้อนและการใช้รหัสสีจะแปลงข้อมูลการสแกนสมองออกมาเป็นภาพที่สามารถระบุวงจรต่างๆซึ่งทำงานเมื่อมีความอยากเสพ
ระบบการให้รางวัลเป็นส่วนที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ของสมอง ซึ่งมีอยู่เพื่อรับประกันว่า เราจะเสาะหาสิ่งที่เราต้องการ และทำให้เราตื่นตัวกับภาพ เสียง และกลิ่นที่พาเราไปสู่สิ่งนั้น ระบบนี้ทำงานร่วมกับสัญชาตญาณและกิริยาสนองฉับพลัน (reflex) ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับช่วงเวลาที่การอยู่รอดพึ่งพาความสามารถในการหาอาหารและการสืบพันธุ์ให้ได้ก่อนคู่แข่ง แต่ระบบนี้ก็อาจสร้างความรำคาญให้เราในโลกปัจจุบันที่เราสามารถตอบสนองความปรารถนาต่างๆของตัวเองได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
ความปรารถนาขึ้นอยู่กับการทำงานอันซับซ้อนหลายอย่างของสมอง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สิ่งที่กระตุ้นการทำงานอันซับซ้อนนี้น่าจะได้แก่ปริมาณสารส่งผ่านประสาทโดปามีน (dopamine) ที่เพิ่มสูงขึ้น สารเคมีนี้ช่วยนำสัญญาณข้ามจุดประสานประสาท ทั้งยังมีบทบาทหลากหลายประการในสมอง และที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดมากที่สุดคือการไหลของโดปามีนช่วยเพิ่มสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า แรงจูงใจจากสิ่งเร้า (salience) ยาเสพติดแต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมองแตกต่างกัน แต่ทุกชนิดล้วนทำให้ระดับโดปามีนพุ่งพรวดเกินขีดปกติ
ลองพิจารณาผลข้างเคียงแปลกๆของยาที่เลียนแบบโดปามีนตามธรรมชาติและใช้รักษาโรคพาร์กินสัน โรคนี้ทำลายเซลล์ที่สร้างโดปามีนซึ่งส่งผลสำคัญต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ยาที่ใช้แทนโดปามีนช่วยบรรเทาอาการต่างๆจากโรคได้ แต่ผู้ป่วยพาร์กินสันราวร้อยละ 14 ที่ใช้ยาดังกล่าวจะเกิดการเสพติดการพนัน การจับจ่ายซื้อของ สื่อลามก การกินอาหาร หรือยาที่ใช้รักษาโรคเอง
ปัจจุบันเมื่อหน่วยงานด้านจิตเวชยอมรับแนวคิดว่าการเสพติดเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ยาเสพติด นักวิจัยจึงพยายามกำหนดว่า พฤติกรรมแบบใดจัดเป็นการเสพติด กิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินทุกกิจกรรมมีศักยภาพจะทำให้เราเสพติดได้หรือไม่ หรือเรากำลังมองนิสัยทุกอย่างว่าเป็นความเจ็บป่วยไปเสียหมด ตั้งแต่นิสัยชอบชำเลืองดูอีเมลทุกนาที ไปจนถึงนิสัยชอบกินของหวานตอนบ่ายแก่ๆ
ในสหรัฐฯ คู่มือวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับปัจจุบันระบุว่า ความผิดปกติในการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ตเป็นสภาพที่ควรได้รับศึกษามากขึ้น เช่นเดียวกับการโศกเศร้าอ่อนเพลียเรื้อรัง และการติดกาเฟอีน ส่วนการติดอินเทอร์เน็ตไม่ติดโผ
แต่อย่างหลังสุดนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อการเสพติดของจิตแพทย์ จอน แกรนต์ รวมถึงการย้ำทำในการจับจ่ายซื้อของและเพศสัมพันธ์ การเสพติดอาหาร และโรคชอบหยิบฉวย “อะไรก็ตามที่ให้รางวัลมากเกินไป อะไรที่ทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุขหรือสงบสบายใจ ย่อมเสพติดได้ทั้งนั้นครับ” แกรนต์บอก เขาเป็นผู้บริหารคลินิกความผิดปกติด้านการเสพติด ภาวะย้ำทำ และการถูกกระตุ้น ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก การที่อะไรจะทำให้เราเสพติดนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคน ซึ่งได้รับผลกระทบจากพันธุกรรม การบาดเจ็บ และภาวะซึมเศร้า ท่ามกลางปัจจัยอื่นๆ “เราไม่เสพติดกันทุกคนหรอกครับ” เขาว่า
เรื่อง ฟราน สมิท
ภาพถ่าย แมกซ์ อากีเลรา-เฮลล์เวก
อ่านเพิ่มเติม : ชายผู้ตามหาละอองดาวบนโลก, เช็คกันหน่อยดูรูปภาพนี้แล้วรู้สึกขยะแขยงหรือไม่? ถ้าใช่คุณอาจเป็น “โรคกลัวรู”