ปฐมบทเหมืองแร่ไทย
ประเทศไทยในอดีตพบแร่ธาตุที่มีความสำคัญทางการค้าอย่างดีบุก ทองคำ และพลวง โดยเฉพาะดีบุกเป็นแร่ที่สยามค้าขายกับยุโรปมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีเกาะภูเก็ตเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด
หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ปี พ.ศ. 2398 กลุ่มชาวตะวันตกที่พร้อมด้วยเงินทุนและความชำนาญเข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ในสยาม เปลี่ยนการผลิตแบบร่อนแร่ของคนพื้นถิ่น หรือเหมืองของชาวจีนแต่เดิม เป็นการทำเหมืองที่ทันสมัย แต่กิจการเหมืองแร่ซึ่งควรนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป้าหมายการผลิตเป็นไปเพื่อการส่งออกแร่ดิบ ปัจจัยการผลิตทั้งทุนและเทคโนโลยีถูกควบคุม รายได้กระจุกในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังล้าหลังและขาดความสมดุล จนนำมาซึ่งความขัดแย้งมากมายในภายหลัง
“เก็บหาดป่าตองเอาไว้ให้ฝรั่งมานอนแก้ผ้าเล่น จะมีประโยชน์สักแค่ไหนกัน” ข้อแย้งเถียงของฝ่ายธุรกิจเหมืองดีบุก เมื่อสมาคมการท่องเที่ยวและสภาจังหวัดภูเก็ต มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอให้รัฐบาลในยุคหนึ่งระงับการขุดแร่ในทะเลรอบเกาะภูเก็ตทุกแปลง ช่วงนั้นความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่ทวีขึ้น เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงคัดค้านเหมืองหลายครั้ง กระทั่งในที่สุดก็มีการชุมนุมของมวลชนนับแสนซึ่งนับเป็นการชุมนุมทางสิ่งแวดล้อมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลเผาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม หรือแร่ผลพลอยได้จากการถลุงดีบุก ด้วยเหตุผลว่าโรงถลุงแร่กลางเมืองจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู
เหตุการณ์นั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า ชาวภูเก็ตได้หันหลังให้กิจการเหมืองแร่โดยเด็ดขาด แม้ว่าที่ผ่านมาผู้คนต่างจดจำว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจอันรุ่งโรจน์ให้ภูเก็ต แต่พวกเขากลับเลือกจะเก็บภูเก็ตไว้เป็นไข่มุกแห่งอันดามัน
อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งผลิตแร่ดีบุกขนาดใหญ่ที่พัฒนาขึ้นมายุคเดียวกับภูเก็ต โดยมีบริษัททุ่งคาร์ ฮาร์เบอร์ ทิน เดรดยิง จำกัด ซึ่งเคยทำเหมืองที่ภูเก็ตขยายกิจการเหมืองเรือขุด (dredging) มาขุดแร่ที่ร่อนพิบูลย์ เรือขุดที่ว่านั้นล่องขุดแร่บนบกแทบทุกตารางนิ้วทั่วทั้งเมือง เวลาล่วงไป บริษัทเหมืองแร่แห่งนั้นกลายเป็นบริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ของโลก และมีบริษัทลูกที่ดำเนินกิจการเหมืองแร่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเหมืองทองคำในจังหวัดเลยของไทยในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2530 ที่อำเภอร่อนพิบูลย์พบผู้ป่วยมีอาการทางผิวหนังมากกว่า 1,500 ราย ซึ่งเป็นอาการของโรค “ไข้ดำ” หรือโรคพิษสารหนู เพราะมีสารหนูสะสมอยู่ในร่างกายเกินปกติ สาเหตุหลักมาจากการดื่มนํ้าจากบ่อนํ้าผิวดินปนเปื้อนสารหนูที่เกิดจากการทำเหมืองหลายรูปแบบมานานนับร้อยปี กรมควบคุมมลพิษเข้าไปศึกษาพบการปนเปื้อนของสารหนูเกินค่ามาตรฐานสูงมาก และกระจายอย่างรวดเร็วโดยทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์แสดงการปนเปื้อนแล้วระบุว่า หากไม่มีการแก้ไขการปนเปื้อนอีก 50 ปีข้างหน้า สารหนูจะกระจายทั่วทั้งอำเภอ กระทั่งบัดนี้ ดินและนํ้าที่ร่อนพิบูลย์ยังคงปนเปื้อนสารหนู เนื่องจากไม่มีมาตรการฟื้นฟูที่ดีพอ
เนื้อแท้แห่งทอง
ผู้คนนับหมื่นแห่มายัง “เขาพนมพา” ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ด้วยความหวังจะมาแสวงโชคขุดทอง แต่หลายคนกลับพบจุดจบก่อนจะมีโอกาสพบเห็นเนื้อทองด้วยซํ้า
ทุกต้นปีก่อนฤดูฝนจะมาถึง ที่เชิงเขาพนมพา นักขุดทองหลายร้อยชีวิตต่างก้มหน้าก้มตาขุดสินแร่กลางแดดแผดจ้าในหลุมดินด้วยค้อนและสองมือ บ้างมีเงินหน่อยก็ใช้แทรกเตอร์เกรดดินแล้วลำเลียงไปยังเครื่องโม่ที่ประยุกต์มาจากเครื่องยนต์รถไถนาเดินตาม
เสียงหนักวังเวงเมื่อค้อนปอนด์อันเขื่องหวดเข้ากับ “สกัด” หรือแท่งเหล็กแหลมส่งแทรกเข้าไปในเนื้อหินที่ มองคล้ายหินลูกรังทั่วไป แรงเบียดของแท่งเหล็กแยกหินแตกเป็นทาง แล้วใช้ “อีปิ๊ก” เครื่องมือขุดปลายแหลมทั้งสองด้านแงะหินให้หลุดออกมา แล้วทุบให้เล็กลง ก่อนจะโกยใส่กระสอบขนไปยังเครื่องโม่ซึ่งกำลังส่งเสียงดังสนั่น มีคนงานประจำโม่อยู่สองคน คนหนึ่งแบกกระสอบสินแร่หนักร่วม 50 กิโลกรัมไปเทลงปากโม่ อีกคนนั่งคอยโกยดินลงโม่ มีสายยางสูบนํ้ามาเติมเพื่อล้างเศษหินที่บัดนี้ถูกบดเป็นผงดินละเอียดไหลออกไปท้ายราง ที่วางผ้า กระสอบ หรือพรม คอยดักตะกอนสินแร่เพื่อนำไปร่อนด้วย “เลียงร่อนแร่” ภาชนะรูปทรงกรวยปากกว้างอีกครั้งหนึ่ง
ขุด ขน บด โม่ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินตลอดวันตั้งแต่เช้าจนเย็นยํ่าของคนขุดทองหลายกลุ่ม ซึ่งกระจายอยู่ตามขุมเหมือง ตะกอนสินแร่ราวกะละมังหนึ่งคือผลผลิตที่ได้ในวันนั้น ก่อนคํ่าพวกเขาจะนำมาร่อนโดยใช้เลียงกวนวนในนํ้าจนผลึกสีทองแยกจากฝุ่นผงดินจมอยู่ก้นเลียงแล้วนำผงสีทองระยิบแดดสักหยิบมือที่ได้เทลงในขันเล็กๆ หยดสารละลายปรอทใสๆ ลงไป ทำให้โลหะสีเทาวิ่งเข้ามารวมกับหยดปรอทกลายเป็นก้อนนิ่มๆ ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ เทใส่ผ้าขาวบาง บีบไล่นํ้าออกให้หมาด นำไปลนไฟระเหยปรอทออกจนโลหะนั้นกลายเป็นสีทอง เก็บใส่ถุงพลาสติกไว้อย่างดี เพราะนั่นคือโลหะลํ้าค่าที่จะนำไปขายให้พ่อค้าในตัวอำเภอด้วยสนนราคากรัมละ 1,200- 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับราคาทองในท้องตลาดเวลานั้น
“ขุดทองมา 15 ปีแล้ว ช่วงแรกๆ บางวันขุดทองขายได้เงินเป็นหมื่นบาทก็มี คนตื่นทองแห่มาขุด แม้ตำรวจ ทหาร ป่าไม้ จะห้าม จับกุม ก็ลักขุดกันตอนกลางคืน มีไฟส่องทางดวงเล็กคาดหัว ส่องแสงวิบวับ มองเหมือนหิ่งห้อย” ตายม (นามสมมุติ) วัย 55 ปี ชาวบ้านเขาพนมพา เล่าถึงเหตุการณ์หลังมีรายงานสำรวจพบทองคำของกรมทรัพยากรธรณีบริเวณ “เขาพนมพา”
หลังข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทําให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศแห่มาขุดค้นหาทองจนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บล้มตาย มีบันทึกว่าเพียงช่วงกลางปี พ.ศ. 2542 ถึงปลายปี พ.ศ. 2544 มีผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากดินถล่ม 32 ราย บาดเจ็บสาหัส 33 ราย และถูกจับกุมดําเนินคดี 233 คดี ทั้งนี้เหตุการณ์บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการขุดทองยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน แต่ไม่มีหน่วยงานใดเก็บสถิติไว้อย่างชัดเจน
“ทองนี่นา ใครๆ ก็อยากได้ ขุดโกยเป็นรูลึก ดินถล่มทับตายไม่รู้ตัวมัวนึกถึงแต่ทอง ในบ่อเหมืองก็เหมือนกับบนเขา มีแต่วิญญาณตายโหงเพราะหลงทอง บางทีดินทรุดลงมาทับคนตายต่อหน้าต่อตา แต่ไม่ใช่ญาติ เราก็บอกให้ญาติเขามาแบกเอาศพออกไป บางรายไส้แตกเหลือซากไว้บนเนื้อดินที่มีเกล็ดทอง ก็เขี่ยไส้กับเลือดออก ขุดหาทองกันต่อไป” ตายมเล่าเหตุการณ์ที่เคยเห็น
เหตุตื่นทองครั้งนั้นรัฐต้องใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยสนธิกาลังทั้งตำรวจและทหารอารักขา เขาพนมพาตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งตั้งด่านสกัด แต่ก็ควบคุมมวลชนเรือนหมื่นไม่ได้ ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำบนเขาโดยเปิดเหมืองขุดดินสินแร่มาบดโม่บรรจุกระสอบปุ๋ยขาย กระสอบละ 40 บาท เพื่อให้ประชาชนมาซื้อไปร่อนแยกหาทองคําเอง ปัจจุบัน ประทานบัตรเหมือง อบจ. หมดอายุ ประชาชนจึงเข้าขุดหาทองในที่ดินเอกชนบริเวณเชิงเขา ขณะที่จังหวัดพิจิตรยังต้องจัดเวรยามอารักขาเขาพนมพาตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดิม
โลหะพยาบาทที่ภูทับฟ้า
หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มนุษย์เมื่อ 6,000 ปีก่อนรู้จักใช้ทองคำกันแล้ว ปัจจุบันมนุษย์ขุดเนื้อโลกนำทองขึ้นมาใช้แล้วราว 165,000 ตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตทองคำ 18 เค ซึ่งมีเนื้อทองอยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ มีราคาหน้าเหมืองประมาณ 18,000 บาทต่อนํ้าหนักทองหนึ่งบาท หรือ 15.16 กรัม ส่วนทองแท่งหรือทองรูปพรรณที่มีเนื้อทองอยู่ 96.5 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่าจะมีราคาสูงกว่านั้น หากแต่ราคาที่ว่ายังไม่รวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของคนในระยะยาว ถ้าหากรวมราคาอันเป็นเนื้อแท้แห่งทองคำย่อมสูงขึ้นอีกมากโข ด้วยว่าทองคำหนึ่งบาทต้องป่นบดมูลดินสินแร่ราว 20 ตันหรือ 20,000 กิโลกรัม ขณะที่เหมืองทองคำในจังหวัดพิจิตร ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ปัจจุบันมีเปอร์เซ็นต์ทอง 0.5 กรัมต่อตันหิน ซึ่งหมายความว่าต้องบดป่นดินหินมากกว่า 30 ตัน เพื่อให้ได้ทองคำหนักหนึ่งบาท
บุญญวัฒน์ ขุนอินทร์ จากสำนักเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า แร่ทองคำมีมูลค่าผลผลิตสูงเป็นอันดับ ที่ 4 ของไทย รองจากถ่านหินลิกไนต์ หินปูน และยิปซัม ในปีพ.ศ. 2553 มีการผลิตทองคำจำนวน 3.4 ตัน มูลค่า 4,000 ล้านบาท และคาดจากปริมาณสำรองในพื้นที่ ศักยภาพแร่ต่อกำลังการผลิตทองคำในปัจจุบัน ประเทศไทยจะสามารถผลิตทองคำได้อีก 47 ปี โดยปัจจุบันมีเหมืองแร่ทองคำอยู่ 2 แห่ง คือ บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ที่จังหวัดพิจิตร และบริษัททุ่งคำ จำกัด จังหวัดเลย
ทั้งสองเหมืองเป็นการทำเหมืองหาบ (open pit) โดยใช้เครื่องจักรขุดเปิดหน้าดินและเจาะระเบิด ก่อนจะขุดขนหน้าดินที่ไม่ต้องการไปกองบนลานทิ้งดิน ส่วนดินที่อยู่ในสายแร่จะบรรทุกไปเทไว้ในยุ้ง ก่อนจะนำเข้าเครื่องบดหยาบ ส่งไปบดละเอียดให้ได้ขนาด 75 ไมครอน กลายเป็นผงดินละเอียดส่งผ่านไปยังถังชะหรือถังโซเดียมไซยาไนด์ หมักแช่อยู่ในถังราว 16 ชั่วโมง แร่ทองคำกับเงินที่ต้องการจะถูกชะออกมาในรูปสารละลายทองคำและเงิน แล้วส่งต่อไปยังถังดูดซับโลหะโดยเม็ดถ่านกัมมันต์ประมาณ 14 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปแยกเม็ดถ่านกัมมันต์ โดยใช้โซเดียมไซยาไนด์และโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) ได้เป็นสารละลายทองคำและเงินเข้มข้น นำไปแยกโลหะด้วยระบบเซลล์ไฟฟ้าเพื่อจับเอาทองคำ และเงินออกจากสารละลาย แล้วนำไปหลอมในเตา ก่อนเทลงเบ้าหลอมเป็นแท่งโลหะผสมทองคำ และเงิน หรือ “แร่ดิบ” ซึ่งจะส่งออกไปถลุงให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ที่ต่างประเทศ
หากใครจะหาสินสอดไปหมั้นสาวเป็นสร้อยคอทองคำหนักสักสองบาท ซึ่งผลิตโดยป่นดินหินบนภูเขา 60 ตัน อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะสำหรับคนรอบเหมืองทองคำ “ภูทับฟ้า” ในเวลานี้ ทองคำได้กลายเป็น “โลหะพยาบาท” หลังบริษัททุ่งคำ จำกัด บริษัทลูกของบริษัททุ่งคาร์ ฮาร์-เบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินกิจการเหมืองดีบุกทางภาคใต้ ได้ย้ายมาสัมปทานเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้ากับภูซำ – ป่าบอนบนพื้นที่ 1,308 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา
ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนตั้งอยู่บริเวณบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งถูกระเบิดขุดเจาะเป็นบ่อเหมืองมาแล้วร่วม 10 ปี ปรากฏว่านํ้าในห้วยต่างๆ ที่มีต้นนํ้าจากภูทั้งสองบัดนี้ปนเปื้อนมลพิษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยออกประกาศห้ามใช้นํ้าในบ่อธรรมชาติสำหรับดื่มหรือหุงข้าวต้มแกง ส่วนนํ้าอุปโภค หากฝืนใช้อาจทำให้เกิดอาการคันตามเนื้อตัวและเป็นผดผื่นเรื้อรังได้
ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยและโรงพยาบาล อำเภอวังสะพุงได้สุ่มตรวจเลือดชาวบ้านในหกหมู่บ้านรอบเหมือง พบปริมาณไซยาไนด์ สารหนู และปรอทในเลือดสูงกว่ามาตรฐานหลายราย นอกจากนี้ยังได้ตรวจพบโลหะหนัก คือ สารหนู ปรอท แมงกานีส และแคดเมียม ในระบบประปาบาดาล จึงออกประกาศเตือนห้ามใช้และดื่มนํ้าประปาบาดาล ห้ามเก็บผัก หาปลา หอย หรือสัตว์นํ้าในห้วยมาเป็นอาหาร ปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์คันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ในเหมืองซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงแตก ส่งผลให้นํ้าจากเหมืองไหลลงสู่เรือกสวนไร่นา เหตุเหล่านี้ได้จุดชนวนให้ประชาชนต่อต้านเหมืองทองคำในหกหมู่บ้านรอบเหมือง
การต่อสู้ของชาวบ้านในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ทวีความรุนแรงขึ้น หลังเกิดเหตุกองกำลังชายชุดดำสวมไอ้โม่งคลุมใบหน้าบุกเข้าจับตัวชาวบ้าน 30 คน เป็นตัวประกัน ยิงปืนข่มขู่ตั้งแต่เวลาสี่ทุ่มของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จนกระทั่งตีสี่ของวันถัดไป แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุ แม้จะแจ้งความไปหลายครั้ง คนที่เฝ้ายามในป้อมหน้าหมู่บ้านทั้งสามจุดทั้งชายและหญิงถูกจับไป ทั้งหมดเป็นแกนนำ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบผลกระทบและต่อต้านการขยายเหมืองอย่างเข้มข้นเสมอมา
เหล่าไอ้โม่งสวมชุดดำพร้อมอาวุธครบมือทั้งจับ ลาก เตะ ทุบ และนั่งคร่อมทับร่าง เพื่อบังคับตัวประกันทั้งชายและหญิงให้นอนหมอบก้มหน้า มัดมือไพล่หลังเรียงกันอยู่บนพื้นถนน โดยมีเท้าสวมบู๊ตหนาและปลายปืนกดอยู่บนร่าง ส่วนชาวบ้านที่เหลือถูกกันออกด้วยกองกำลังชายฉกรรจ์สวมไอ้โม่งเรียงหน้ากระดานขวางไม่ให้มวลชนรวมตัวกันได้ และข่มขู่ด้วยเสียงปืนเป็นระยะๆ
รถแบ็กโฮเข้ารื้อทำลายกำแพงที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง ขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน เมื่อกำแพงพังลง รถพ่วงจำนวนหลายสิบคันแล่นเข้าไปบรรทุกแร่จากในเหมืองแล้วทยอยออกมา โดยมีกองกำลังไอ้โม่งตั้งแถวขนาบเปิดทางกลุ่มชาวบ้านได้แต่ส่งเสียงไห้หวน ห่วงใยกังวลกับความปลอดภัยของตัวประกัน ขณะที่บางส่วนเข้าด่าทอต่อตีกับกองกำลังไอ้โม่งเพราะความโกรธ เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดจากฝ่ายผู้ประกอบการต้องการขนแร่ออกจากเหมืองให้ได้หลังจากชาวบ้านสร้างกำแพงขวางถนนไว้
ทองคำได้ก่อความขัดแย้งเกลียดชังในหลายระดับและเรื้อรังมาเรื่อยๆ ฝ่ายชุมชนอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันเป็นสิทธิส่วนรวม ขณะที่ฝ่ายเจ้าของเหมืองแร่อ้างสิทธิอันมั่นคงตามกฎหมายแร่ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวงและผลประโยชน์พิเศษหลายประการแก่รัฐและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้าน 33 ราย เรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 270 ล้านบาท และต้องจ่ายเพิ่มอีกวันละ 10 ล้านบาท จนกว่าจะยอมรื้อกำแพง นอกจากนี้ยังใช้สิทธิเอกชนฟ้องแกนนำบางคนข้อหาบุกรุก ขณะนี้หลายคดีอยู่ในชั้นศาล
หลังเหตุการณ์บุกโจมตีเพื่อขนแร่ มีข่าวต่อเนื่องว่าเสียงปืนดังแทบทุกคืนที่ชายป่ารอบหมู่บ้าน องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกมาแถลงข้อมูลว่า มีการจ้างมือปืนอาชีพเพื่อมาทำร้ายและอาจถึงขั้นสังหารแกนนำชาย 6 คนและหญิง 2 คน ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ขณะที่ฝ่ายเหมืองแร่ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เนื่องจากได้ขายแร่ไปแล้ว การขนแร่จึงเป็นเรื่องของผู้ซื้อ ซึ่งแย้งกับข้อมูลการตรวจสอบของอนุกรรมการสิทธิชุมชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยชี้เแจงว่ายังไม่มีการขออนุญาตซื้อขายแร่ แร่จึงเป็นของบริษัทซึ่งขออนุญาตขนแร่ไปเก็บไว้ที่โกดังในจังหวัดชลบุรี วิจิตร เจียมวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาร์ ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสื่อมวลชนว่า บริษัทพร้อมให้ตรวจสอบความถูกต้องของการทำเหมือง เพื่อนำไปสู่การเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยคำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้านเป็นหลัก แต่ต้องอยู่ในกรอบที่สามารถทำได้
จังหวัดเลยเป็นเมืองแห่งทะเลภูเขา ทัศนียภาพงดงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอีสาน แต่อีกด้านหนึ่งนอกจากเหมืองทองคำแล้ว จังหวัดเลยได้มีการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่แล้ว 48 แปลง รวมพื้นที่ 6,753 ไร่ และกำลังยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองอีก 276 แปลง รวมพื้นที่ 74,690 ไร่ มีทั้งทองคำ ทองแดง ถ่านหิน เหล็ก หินก่อสร้าง แบไรต์ และอื่นๆ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ยื่นขอสำรวจทำเหมืองแร่ทองแดง 15,000 ไร่ ที่ภูหินเหล็กไฟ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ในเขตอำเภอเมืองเลย
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจ แร่ทองคำ ในจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เพื่อพัฒนาเหมืองแร่ทองคำโครงการใหญ่ รวมพื้นที่ประมาณ 1.51 ล้านไร่ ซึ่งบริษัททุ่งคาร์ ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในผู้ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองทองคำ ในพื้นที่นํ้าคิว-ภูขุมทอง ในเขตอำเภอเมือง เลย อำเภอวังสะพุง อำเภอท่าลี่ อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เนื้อที่ 340,605 ไร่ โดยรัฐบาลได้ทำ “สัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ” ให้ “เขตสิทธิ” ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงแร่อื่นๆ แก่บริษัทโดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา ต่อมาไม่นาน กรมทรัพยากรธรณีก็ออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจทองคำให้บริษัท 34 แปลง เนื้อที่ 335,672 ไร่ ในจำนวนนี้ บริษัท ได้ยื่นขอประทานบัตรเพื่อเปิดเหมืองแล้ว บนพื้นที่หลายหมื่นไร่ใกล้เคียงกับภูทับฟ้า
สัญญาดังกล่าวกำหนดให้ “ผลประโยชน์พิเศษ” เช่น มอบผลประโยชน์พิเศษเป็นเงิน และเงินโบนัส เมื่อคู่สัญญาลงนามในสัญญา เป็นเงินร่วม 12 ล้านบาทที่บริษัทจะจ่ายทันทีที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแปลงแรก และจะจ่ายผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐบาลร้อยละ 1.5 ของผลผลิต หลังชำระค่าภาคหลวงเป็นงวดๆ ปีละ 4 งวด
นอกจากเหมืองทองคำที่เลยแล้ว ยังมีเหมืองทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเริ่มทำ เหมืองบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร มาตั้งแต่ปี 2543 รวมพื้นที่ 5,463 ไร่ ตอนนี้มีสถานการณ์ไม่ต่างจากที่จังหวัดเลย ในแง่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ “เขาหม้อ” ภูเขาที่ชื่อเหมือนชุมชนสิ้นซากไปหลายปีแล้ว เหลือเพียงเศษมูนดินกองพะเนินแทนภูเขาเดิม ขณะที่บริษัทระบุว่ายังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพทำเหมืองแร่ทองคำได้อีก 12,500 ไร่ และได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและเงินบนพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก อีกกว่า 507,996 ไร่
พิษแคดเมียม
“ดอยผาแดง” ต้นนํ้าห้วยแม่ตาว ห้วยแม่กุ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นแหล่งแร่สังกะสีคุณภาพดีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลให้สัมปทานทำเหมืองแก่บริษัทไทยซิงค์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2512-2518 แล้วบริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ก็มารับสัมปทานช่วง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาโดยมีบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด ได้รับสัมปทานอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
ปัญหามลพิษแคดเมียมจากดอยผาแดงปนเปื้อนสู่ลุ่มนํ้าแม่ตาว-แม่กุ เผยต่อสาธารณชนหลังจากสถาบันการจัดการนํ้านานาชาติ ได้แถลงผลสารวจแคดเมียมในพืชและนาข้าว ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2543 พบความเข้มข้นของแคดเมียมปนเปื้อนในดิน และข้าวเกินมาตรฐานในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตั้งแต่ 1–94 เท่าของค่ามาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และพบว่าร้อยละ 90 ของข้าวที่สุ่มตรวจมีแคดเมียมปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐานถึง 38 เท่า
ข้อมูลการปนเปื้อนนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวไทย ทำให้คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติให้ราษฎรเกี่ยวข้าวที่กำลังตั้งท้องไปเผา และรับซื้อข้าวค้างยุ้งจากพื้นที่ปนเปื้อน ไปฝังกลบในหลุมเหมืองสังกะสี โดยรัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้ชาวนาที่ปลูกข้าวและพืชอาหารเป็นเวลา 3 ปี ต่อมามีการขยายการศึกษาพื้นที่ปนเปื้อนออกไปก็พบปริมาณแคดเมียมสูงกว่าค่ามาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปถึง 72 เท่า และสรุปว่าแคดเมียมมาจากนํ้าฝนชะแคดเมียมจากบนดอยลงสู่ลำห้วย ที่มีระบบเหมืองฝาย กระจายนํ้าทำให้การปนเปื้อนแพร่ออกไปเป็นบริเวณกว้าง
ค่าการปนเปื้อนแคดเมียมที่ลุ่มนํ้าแม่ตาว-แม่กุเป็น ค่าช่วงเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคอิไต-อิไต ในประเทศญี่ปุ่น เกิดจากพิษแคดเมียมที่กระจายมาจากเหมืองแร่ซึ่งตั้งอยู่ต้นนํ้าแม่นํ้าจินสุ ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มนํ้ามีอาการป่วยด้วยอาการท่อไตไม่ทำ งาน กระดูกพรุนและแตกหัก เจ็บปวดทรมาน
แพทย์หญิงฉันทนา ผดุงทศ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2547 ได้ตรวจสุขภาพประชากร 13 หมู่บ้านในลุ่มนํ้าแม่ตาว จำนวน 7,730 ราย พบว่า 844 รายหรือร้อยละ 10.9 มีปริมาณแคดเมียมสะสมสูงกว่า 5 ไมโครกรัมต่อกรัมครีเอตินีน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง โดยคาดการณ์ว่าถ้าหากไม่ได้รับแคดเมียมเข้าไปอีก ปริมาณแคดเมียมจะหายไปจากร่างกายได้ใน 10 ปี ดังนั้นอีก 5 ปีต่อมา (พ.ศ. 2552) ได้ติดตามสำรวจประชากรกลุ่มเดิมและพบว่า ร้อยละ 12 ของประชากรที่ตรวจมีปริมาณแคดเมียมสูงขึ้น จากปี พ.ศ. 2547 จึงสรุปได้ว่า มีกลุ่มเสี่ยงเพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแคดเมียมสูงกว่า 10 ไมโครกรัม จึงได้ตรวจการทำงานของไตของกลุ่มเสี่ยงสูง 858 คน พบว่าจำนวน 196 คน หรือร้อยละ 24.8 มีภาวะการทำงานของไตเสื่อม
ทุกวันพุธ โรงพยาบาลแม่สอดมีคนไข้หนาตากว่าปกติ เพราะเป็นวันนัดหมายตรวจคนไข้ที่ถือบัตรคนไข้แคดเมียม ซึ่งหลายคนมีภาวะไตเสื่อม และจำนวนไม่น้อยมีภาวะกระดูกพรุน เจ็บปวดกระดูกคล้ายโรคอิไต-อิไต จากการที่ไตทำงานผิดปกติทำ ให้ขาดแคลเซียม บางคนถึงขั้นเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาล ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่แพทย์ได้ใส่ท่อล้างไตถาวรเข้าช่องท้อง เพื่อต่อนํ้ายาล้างช่องท้องเพื่อพาของเสียและนํ้าที่เกินออกมาตามท่อ ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้านแทนการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาล ซึ่งมีไม่พอกับจำนวนผู้ป่วย ทั้งนี้คนไข้คนหนึ่ง ต้องล้างช่องท้องวันละหลายครั้ง
ความเจ็บไข้ของคนรอบพื้นที่ทำเหมืองสังกะสีนี้ ทำให้กลุ่มผู้ป่วยราว 1,200 ราย ยื่นฟ้องบริษัทเหมืองแร่สังกะสี 2 บริษัทที่ตั้งอยู่บนดอยผาแดง ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำเหมืองแร่แล้วส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนแคดเมียมเบื้องต้นศาลได้พิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่ทั้งสองบริษัทร่วมกันจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้อง ขณะนี้บางคดีอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ ขณะที่ผู้ยื่นฟ้องภายหลังคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
ทั้งนี้ชาวบ้านอีก 32 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อดำเนินคดีกับหกหน่วยงานรัฐที่ปล่อยปละละเลย และอนุญาตให้มีเหมืองแร่สังกะสีบริเวณต้นนํ้า จนทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารแคดเมียม โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการประกาศให้พื้นที่ลุ่มนํ้าแม่ตาวเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการถกเถียงหาข้อมูลเพื่อจะกำหนดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองดังกล่าว
“การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนอย่างไรก็ไม่รู้ชัด แต่ที่ชัดเจนคือผู้ป่วยไตวายเริ่มทยอยจบชีวิตลงทีละคนๆ จึงไม่แน่ใจว่าประกาศนี้จะออกมาอย่างไร จะคุ้มครองดูแลผู้ป่วยอย่างไร และต้องถกเถียงหาข้อมูลอีกเท่าไรจึงประกาศได้ผมก็ไม่รู้” ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ชายปกาเกอะญอ วัย 38 ปี ชาวบ้านพะเด๊ะแห่งลุ่มนํ้าแม่ตาว ให้ความเห็น
คลิตี้ล่าง…หลังจากนี้
บ้านคลิตี้ล่าง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลางป่าใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี สังคมไทยรู้จักหมู่บ้านนี้เพราะปัญหาพิษสารตะกั่วจากเหมืองตะกั่วและโรงแต่งแร่ตะกั่วที่ตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2510 ปล่อยนํ้าปนเปื้อนตะกั่วลงห้วยคลิตี้ จนในปีพ.ศ. 2518 นํ้าในห้วยเน่าเหม็น ขุ่นข้น สัตว์นํ้าวัวควายล้มตาย คนป่วยเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ กระทั่งปี พ.ศ. 2541 ชาวบ้านได้ร้องถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แจ้งสื่อมวลชนมาสืบความจริง เรื่องของพวกเขาจึงเป็นที่รับรู้ของสาธารณชน
ปี พ.ศ. 2542 กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบ คุณภาพนํ้า และประกาศให้งดใช้นํ้าหรือกินสัตว์นํ้าในลำห้วยคลิตี้เพราะมีปริมาณตะกั่วสูง โดยเฉพาะตะกอนท้องนํ้ามีค่าตะกั่วสูงถึง 165,720 -552,380 พีพีเอ็ม ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานมากถึง 28,000 เท่า ต่อมาได้มีการตรวจเลือดประชาชนจำนวน 177 คน ระหว่างปี2542 – 2544 พบว่า 142 คน มีค่าตะกั่วสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั่วไป ทั้งนี้ระหว่าง พ.ศ. 2533 –2537 มีเด็กในหมู่บ้านคลิตี้ล่างเสียชีวิต 17 คน
เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี หลังมลพิษเริ่มปรากฏ และกว่า 15 ปีที่มีการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการเยียวยาชดเชยความเสียหาย หลายคนอาจหลงคิดไปว่าได้มีการเยียวยาฟื้นฟูชีวิตพวกเขาแล้ว แต่ล่าสุด การตรวจวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วที่ปนเปื้อนในอาหารจากลำห้วยคลิตี้โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บตัวอย่างพืชผักและสัตว์นํ้า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 พบปริมาณการปนเปื้อนตะกั่วในสัตว์นํ้า ได้แก่ ปลา 46.16 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ในกุ้ง 3.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และในหอย 29.23 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากค่ามาตรฐานตะกั่วในอาหารกำหนดไว้เพียง 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของนํ้าหนักเปียก
“การต่อสู้กับนายทุน ยิ่งสู้ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งเจ็บ เหมือน ต่อยเตะภูเขา มันไม่สะเทือนเลย”
กำธร ศรีสุวรรณมาลา อายุ 46 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งใน ชาวบ้านคลิตี้ชุดแรกจำนวน 8 คน ที่ยื่นฟ้องร้องบริษัทตะกั่วเพื่อเรียกค่าเสียหายและการฟื้นฟูลำห้วย กล่าวถึงการต่อสู้แสวงหาความยุติธรรมกรณีคลิตี้เปื้อนพิษ ซึ่งต่อมาชาวบ้านอีก 151 รายฟ้องบริษัทในข้อหาเดียวกัน
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาทั้งสองคดีที่ชุมชนยื่นฟ้องบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ เป็นจำเลยข้อหาละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม โดยแนวคำพิพากษาเป็น ไปในทางเดียวกัน คือให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายเพราะปล่อยสารตะกั่วลงสู่ห้วยคลิตี้เป็นเหตุให้ชาวคลิตี้ล่างเจ็บป่วย สัตว์เลี้ยงล้มตาย ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ก่อนฟ้องไปจนกว่าสารตะกั่วในร่างกายจะลดลงในระดับที่จะไม่เกิดพิษ ค่ากระบือที่ตาย รวมทั้งค่าสูญเสียความสามารถและโอกาสทำงานอย่างสิ้นเชิงหรือบางส่วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย ได้รับทุกขเวทนาด้านจิตใจ สูญเสียอวัยวะ คุณภาพชีวิต สูญโอกาสที่จะพัฒนาตนอย่างมีศักดิ์ศรี และสูญเสียความสามารถที่จะสืบต่อชาติพันธุ์ ขาดประโยชน์ในการใช้นํ้าอุปโภคบริโภค ขาดแหล่งอาหาร และใช้ทรัพยากรธรรมชาติจากห้วยคลิตี้ แต่ส่วนที่ฝ่ายชาวบ้านได้อุทธรณ์ขอให้บริษัทแก้ไขฟื้นฟูห้วยคลิตี้ นำตะกั่วที่ตกค้างอยู่ออกจนลำห้วยสะอาด ศาลระบุว่าไม่มีกฎหมายรับรองว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ฟ้องในข้อนี้
ต่อมาตัวแทนชาวบ้าน 22 คนจึงยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วย ต่อศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดีนี้เมื่อต้นปี พ.ศ. 2556 โดยพิพากษาว่า คพ.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ชาวคลิตี้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมปนเปื้อน ไม่สามารถใช้นํ้า สารตะกั่วแพร่กระจาย กระทั่งปัจจุบันปริมาณสารตะกั่วยังคงปนเปื้อนสูง จนกระทรวงสาธารณสุขต้องปิดป้ายงดบริโภคนํ้าและสัตว์นํ้า ส่งผลให้ประชาชนต้องซื้อนํ้าดื่ม แบกรับภาระในการซื้ออาหารจากที่เคยเก็บหาได้ตามธรรมชาติ ศาลจึงสั่งให้คพ.จ่ายค่าเสียหายในการทำให้ชุมชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมเป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้ คพ.ต้องดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยทุกฤดูกาล โดยจัดทำแผนฟื้นฟูและเปิดเผยผลการดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
ห้วยคลิตี้ยังเปื้อนพิษ ชุมชนกำลังจัดกิจกรรมระดมทุนสร้างระบบประปาภูเขาเพื่อหานํ้าสะอาดมาใช้เอง แผนการฟื้นฟูลำห้วยตามคำสั่งศาลยังไม่ชัดเจน ขณะที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยังยึดการอธิบายด้วยหลักการว่า อาณาบริเวณรอบๆ บ้านคลิตี้เป็นแหล่งแร่ตะกั่วแหล่งใหญ่ที่สุดของชาติ มีปริมาณแร่สำรอง 7.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท บนพื้นที่ ประมาณ 77 ตารางกิโลเมตรในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู หลังประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วมีข้อเสนอให้กันเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วเป็น “เขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว” เพื่อให้เกิดการทำเหมืองและนำแร่ตะกั่วมาใช้ประโยชน์
“คนคลิตี้เป็นชาวกะเหรี่ยงโชคร้ายแค่ 400 คนเอง ย้ายเขาออกไปสิ” ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมฟื้นฟู คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงมุมมองของนักธุรกิจเหมืองแร่ต่อปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่คลิตี้
แต่ในทรรศนะของนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเขาเห็นว่า การจะฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนไม่ใช่เพียงการย้ายคนออกจากแหล่งมลพิษ หรือย้ายมลพิษไปที่อื่น แต่เป็นการจัดการสารอันตราย ทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนให้ปลอดภัย และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคน เพราะปกติแล้วแร่ตะกั่วหรือแร่อื่นๆ ถ้าอยู่ตามธรรมชาติร่วมกับแร่อื่นๆ จะไม่เป็นอันตรายมาก แต่การทำเหมืองที่ต้องระเบิด เปิดหน้าดิน บด แยก ใช้สารเคมีสกัด จะทำให้สารซึ่งอยู่รวมกันแตกกระจายหรือเปลี่ยนรูปเป็นอันตรายที่ สามารถปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้
ความพยายามฟื้นฟูชุมชนคลิตี้ของหลายฝ่ายทำให้เรียนรู้ว่า สังคมไทยต้องปรับปรุงกฎหมายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เป็นอัตโนมัติ เมื่อเกิดปัญหาก็เข้าจัดการได้ทันที ไม่ใช่คอยให้คนฟ้อง หรือกดดัน ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี กฎหมายต้องเป็นกฎหมายเชิงป้องกันเพื่อรับมือ สามารถปฏิบัติการแก้ปัญหามลพิษและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที
วิศวกรหนุ่มที่ทำงานกับปัญหามลพิษกล่าวอีกว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขายอมรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอยู่กับมันได้มากกว่าประเทศไทย นั่นเพราะประเทศไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่มี “เหมืองแร่ปลอดภัย” น้อยมาก มลพิษเหมืองแร่จึงเกิดขึ้นเนืองๆ และที่ผ่านมาประเทศไทยเลือกแก้ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษโดยการ “ห้ามใช้ประโยชน์ทรัพยากร” เช่น ประกาศห้ามใช้นํ้า ห้ามใช้ที่ดินปลูกข้าวและพืชอาหาร ห้ามบริโภคสัตว์นํ้า ส่วนกรณีที่ยังไม่ชัดเจนนัก เช่น มลพิษจากเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยและพิจิตร ซึ่งเริ่มพบการปนเปื้อนระยะต้นแล้ว เช่น พบไซยาไนด์ ปรอท แคดเมียม สารหนู นํ้าเป็นกรด กลับไม่รีบพิสูจน์แล้วป้องกัน ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะเหมือนกับคลิตี้หรือแม่ตาว ปัญหาจะใหญ่ขึ้น
ดร.ธนพลเชื่อว่า ปัจจุบันเทคนิควิศวกรรมสามารถทำเหมืองปลอดภัยได้ แต่ต้องยอมลงทุน เช่น การทำเหมืองทองแบบไม่เก็บไซยาไนด์ไว้ในเหมือง ทำหลุมฝังกลบกากแร่นิรภัยซึ่งเหมืองในไทยไม่ทำ เพราะเหมืองแร่ในไทยมักเป็นของชาวต่างชาติหรือนายทุนที่อยู่นอกท้องถิ่นทำเหมืองเพื่อกำไรสูงสุด คนไทยหรือรัฐบาลไทยเป็นเพียงลูกจ้างเหมือง แต่โดยหลักการแล้ว ทรัพยากรแร่เป็น สมบัติของชาติ เมื่อบริษัทเข้ามาขอทำเหมือง ควรต้องยื่นต่อชุมชน ให้ชุมชนถือหุ้นเป็นเจ้าของเหมือง ให้บริษัทเหมืองเป็นลูกจ้างชุมชน แล้วเลือกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าพอจัดการกับมลพิษได้ ไม่ใช่ขุดแร่ไปให้เร็วที่สุด ทิ้งกากแร่พิษไว้ แล้วจากไปอย่างที่เป็นอยู่
กว่าร้อยปีหลังการจัดตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2434 และตราพระราชบัญญัติแร่ฉบับแรกขึ้นในปีพ.ศ. 2444 ไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างจริงจัง จนปัจจุบันประเทศไทยผลิตแร่ได้กว่า 40 ชนิด มีมูลค่ากว่า 56,600 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต
บัดนี้ สังคมไทยมีบทเรียนมลพิษเหมืองแร่ที่เห็นชัดเจนมากแล้ว หากแต่ยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีองค์กรไม่มีกฎหมาย กลไก หรือความร่วมมือทางสังคมที่จะเข้าจัดการมลพิษได้อย่างทันท่วงที ทำให้ชุมชนในแหล่งแร่ทั้งหลายถูกกดดันด้วยปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม สุขภาพอิทธิพลและความขัดแย้ง ภาพลักษณ์ของเหมืองแร่ในสังคมไทยจึงยังเป็นภาพ “อุตสาหกรรมอันตราย” มากกว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เรื่อง บำเพ็ญ ไชยรักษ์
ภาพถ่าย เริงฤทธิ์ คงเมือง
เผยแพร่ครั้งในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2557