หลักคำสอนอายุกว่า 500 ปีของคริสต์คาทอลิกนั้นส่งเสริมการ ล่าอาณานิคม สมเด็จพระสันตะปาปาจะยกเลิกมันหรือไม่ ?
หลักคำสอนแห่งการค้นพบ (Doctrine of Discovery) ซึ่งกำหนดโดยพระสันตะปาปาคือสิ่งที่ทำให้การยึดครองดินแดนด้วยศาสนาคริสต์ ล่าอาณานิคม เป็นเรื่องชอบธรรม ในที่สุด แนวคิดนี้ได้ฝังรากลึกลงในกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงกฎหมายระหว่างประเทศ
หลุยส์ ลาร์จกรีดร้องและดิ้นรนเพื่อต่อสู้กับแม่ชีชุดดำที่จับตัวเธอไว้แน่น เธอได้ยินเสียงพูดในภาษาที่เธอไม่เข้าใจและได้แต่มองตามหลังคุณยายของเธอที่เดินไกลออกไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด เธอก็ได้เข้าใจว่าเธอถูกนำมาทิ้งไว้ที่บลูควิลล์ (The Blue Quill) โรงเรียนประจำสำหรับเด็กๆ ชาวพื้นเมืองในอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 2011 ลาร์จได้กล่าวคำให้การต่อคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งแคนาดา (Truth and Reconciliation Commission of Canada) ว่า “ฉันได้แต่กรีดร้องซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง”
ในไม่ช้า ลาร์จตระหนักได้ว่าเธอต้องปฏิบัติตามตารางเวลาอันเข้มงวดในโรงเรียนที่ผูกกับศาสนาคริสต์ เธอเล่าว่าเด็กๆ สวดมนต์และภาวนากันเป็นเวลานานอีกทั้งยังพูดอย่างเสียดสีว่ามันคือ “โรงเรียนคุกเข่า” ที่เปลี่ยนผิวตามข้อต่อให้กลายเป็นหนังแข็งเสียงดังเอี๊ยดจากการบังคับให้สวดมนต์
ลาร์จใช้ชีวิตอยู่กับมรดกจากการล่าอาณานิคมของแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่รัฐบาลบังคับให้เด็กพื้นเมืองกว่า 100,000 คนเข้าโรงเรียนประจำที่จะฉีกตัวตน อัตลักษณ์และวัฒนธรรมเดิมของพวกเขาก่อนเปลี่ยนให้เป็นชาวคริสเตียน
ในศตวรรษที่ 20 คณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งแคนาดาได้เปิดเผยประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเหล่านี้รวมถึงผลกระทบที่มีต่อชาวพื้นเมืองแคนาดา ในขณะเดียวกันก็มีเอกสารบันทึกถึงหลักคำสอนโบราณทางศาสนาดังกล่าวว่ามีส่วนและเป็นรากฐานของโรงเรียนที่สร้างความเจ็บปวดเหล่านี้อย่างไรบ้าง
ก่อนที่จะถึงการเดินทางหนึ่งสัปดาห์สู่แคนาดาของพระสันตะปาปาฟรานซิสซึ่งจะเริ่มในวันที่ 24 กรกฎาคม 2022 นักเคลื่อนไหวและองค์กรทางศาสนาหลายแห่งเรียกร้องให้ผู้นำคาทอลิกยกเลิก “หลักคำสอนแห่งการค้นพบ” นี้เสีย ซึ่งหลักการทางศาสนานี้เป็นข้อกำหนดอย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระสันตะปาปาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และเป็นแนวคิดที่สร้างความชอบธรรมให้กับการยึดครองดินแดน การล่าโลกใหม่ จนถึงการทำลายอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองโดยใช้อำนาจของศาสนาคริสต์
ต้นกำเนิดของหลักคำสอนแห่งการค้นพบ
หลักคำสอนนี้มีรากฐานมาจากช่วงแรกของยุคแห่งการสำรวจโดยคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกที่ได้สนับสนุนความทะเยอทะยานของประเทศยุโรปคาทอลิกในการสำรวจและตั้งอาณานิคมในภูมิภาคอื่นๆ ในช่วงศตวรรษที่ 15 มีข้อกำหนดที่บัญญัติโดยสมเด็จพระสันตะปาปาซึ่งเห็นชอบและให้สิทธิ์ประเทศเหล่านั้นในการล่าดินแดนโดยใช้วิธีควบคุมชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนโดยการเปลี่ยนพวกเขาให้นับถือศาสนาคริสต์
กฤษฎีกา (decree) ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือ “อินเตอร์ กาเอเตร่า (Inter Caetera)” ในปี ค.ศ. 1493 ซึ่งเป็นข้อกำหนดอย่างเป็นทางการที่ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ในช่วงหนึ่งปีก่อนหน้านั้น นักสำรวจ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้มาถึงแผ่นดินของทวีปอเมริกา การสำรวจของเขานั้นได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของสเปน แม้ว่าจุดประสงค์ของการเดินทางคือการหาเส้นทางการค้าจากตะวันตกสู่ศูนย์การค้าหลักที่เอเชีย แต่การสำรวจครั้งนี้ก็เป็นโอกาสของสเปนที่จะขยายอาณาจักรและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ด้วยเช่นกัน
สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 เป็นชาวสเปนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ การปกครองโดยพระสันตะปาปาของท่านเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวอันเนื่องมาจากความโลภ การทุจริต และการเลือกถือพรรคพวกหรือเครือญาตินิยม (nepotism) เมื่อโปรตุเกสเรียกร้องว่าโคลัมบัสและสเปนได้แทรกแซงประเทศของตนในการค้นพบโลกใหม่ (New World) สมเด็จพระสันตะปาปาก็ได้ออกเอกสารเพื่อยืนยันว่าสเปนนั้นคือผู้มีสิทธิในดินแดนทางตะวันตกของหมู่เกาะอะโซร์สและหมู่เกาะเคปเวิร์ดในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลางแต่เพียงผู้เดียว
สารจากสมเด็จพระสันตะปาปาไม่เพียงแต่เอื้อให้สเปนยึดครองโลกใหม่เท่านั้น แต่ยังผูกการสำรวจเข้ากับการตั้งอาณานิคมโดยการหลอมรวมทางวัฒนธรรมด้วยการใช้ศาสนาคริสต์ พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ได้สั่งเอาไว้ว่า “เราจะต้องทำให้ความเชื่อของคาทอลิกและคริสต์ศาสนาต้องได้รับการยกย่องจนเพิ่มขึ้นในทุกแห่งของมุมโลกเพื่อให้มั่นใจว่าจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคนจะได้รับการดูแล ส่วนชาติอันป่าเถื่อนอื่นนั้น จะต้องถูกลบล้างไปตามโชคชะตาที่มันควรจะเป็น”
หลักคำสอนแห่งการค้นพบนี้กลายเป็นกฎหมายได้อย่างไร
เมื่อนักสำรวจเข้าสู่โลกใหม่ ข้อกำหนดจากสมเด็จพระสันตะปาปาและแนวคิดเรื่องดินแดนไร้ผู้ครอบครอง (terra nullius) ได้หลอมรวมเป็นหลักการทางกฎหมายที่เรียกว่า “หลักคำสอนแห่งการค้นพบ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่เติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-19 ควบคู่ไปกับความปรารถนาและความทะเยอทะยานของสเปนและชาติยุโรปอื่นๆ จนในที่สุด นักประวัติศาสตร์ทางกฎหมายอย่าง โรเบิร์ธ เจ มิลเลอร์ (Robert J. Miller) ก็ได้จัดหลักคำสอนนี้ไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติในระดับสากล
หลักคำสอนแห่งการค้นพบถูกใช้เพื่ออ้างความเป็นธรรมให้กับทุกสิ่งตั้งแต่การยึดครองโลกตะวันตกของชาวยุโรปจนไปถึงกลวิธีที่บีบบังคับผู้คนโดยใช้มิชชันนารีหรือผู้เผยแพร่ศาสนา แม้ว่าในปี ค.ศ. 1537 สมเด็จพระสันตะปาปาพอลที่สามจะห้ามไม่ให้ยึดทรัพย์สินของชาวพื้นเมืองหรือทำให้พวกเขากลายเป็นทาสแต่กฤษฎีกาของพระองค์ก็มักถูกละเลย
นอกจากนั้น หลักคำสอนนี้ยังผสมผสานแนวคิดของการเห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นพลังแห่ง “อารยธรรม” ร่วมกับการมองว่าชนพื้นเมืองบนพื้นที่นั้นๆ แค่ “อยู่อาศัย แต่ไม่ได้ครอบครองที่ดิน” แม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่คาทอลิกอย่างประเทศอังกฤษก็เห็นถึงความชอบธรรมในหลักคำสอนนี้ดังที่คณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งแคนาดาได้เขียนไว้ในรายงานฉบับสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่าประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมถึงฮอลแลนด์ได้เข้าร่วมกับสเปนและโปรตุเกสเพื่อยึดครองโลกใหม่โดยใช้ศาสนาคริสต์อีกด้วย
เป็นเวลานับหลายปีที่หลักคำสอนแห่งการค้นพบนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายชาติอเมริกา ในคำตัดสิน Johnson v. M’Intosh ซึ่งเป็นคำตัดสินของศาลฎีกาในปีค.ศ. 1823 เกี่ยวกับข้อพิพาทในที่ดินของชนเผ่าเปียนเกะชอว์ (Piankeshaw) ซึ่งคือรัฐอิลลินอยส์ในปัจจุบัน ศาลได้พิพากษาว่าชนพื้นเมืองอเมริกันไม่มีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยใช้หลักคำสอนแห่งการค้นพบเป็นข้อสนับสนุนดังที่หัวหน้าผู้พิพากษาจอหน์ มาร์แชล (John Marshall) เขียนเอาไว้ว่า ศาสนาและตัวตนของชาวพื้นเมืองอเมริกานั้นล้าหลังและด้อยกว่า “อัจฉริยภาพที่สูงส่ง” ของชาวยุโรป
เมื่อได้รับการสนับสนุนจากทั้งหลักคำสอนและการรับรองทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของทางการจึงเดินหน้าเพื่อดูดกลืนวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองโดยการบังคับให้พวกเขากลายเป็นชาวคริสเตียน ในศตวรรษที่ 19-20 เด็กๆ จากชนพื้นเมืองกว่า 150,000 คนในประเทศแคนาดาถูกพรากจากครอบครัวและถูกบังคับให้เข้าในโรงเรียนประจำที่มีอยู่กว่า 130 แห่งทั่วประเทศ ประมาณช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหรัฐอเมริกาก็บังคับเด็กอเมริกันพื้นเมืองหลายแสนคนให้เข้าเรียนในโรงเรียนลักษณะเดียวกันซึ่งมีอยู่กว่า 367 แห่ง โรงเรียนเหล่านี้จะฉีกกระชากตัวตน ภาษา วัฒนธรรมของเด็กๆ ชาวพื้นเมืองด้วยความโหดเหี้ยมและมักอันตรายถึงชีวิต
มรดกจากหลักคำสอนแห่งการค้นพบในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบัน มีการเติบโตและพัฒนาแนวคิดทางกฎหมายที่ทำให้เกิดการต่อต้านหลักคำสอนแห่งการค้นพบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีนักเคลื่อนไหวชนพื้นเมืองที่เป็นหัวหอกในการเสนอการกำจัดหลักคำสอนนี้จนกระตุ้นให้เกิดการฟ้องร้องและการประท้วง แม้กระทั่งการประชุมสหประชาชาติในปี ค.ศ.2013 ก็ได้ประณามหลักคำสอนดังกล่าวว่าเป็นรากเหง้าที่ “น่าละอาย” ในการปลูกฝังความตกต่ำให้ชนพื้นเมืองทั่วโลก
ในกลุ่มขององค์กรศาสนาอย่างคริสตจักรก็ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวพื้นเมืองนี้เช่นกัน เช่นนิกายอย่าง The United Church of Christ, The Episcopal Church, The Mennonite Church, the United Methodist Church และ the Anglican Church of Canada ล้วนปฏิเสธหลักคำสอนแห่งการค้นพบ
ทว่าสารจากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ที่ได้กลายเป็นหลักคำสอนนับหลายศตวรรษนี้ไม่เคยถูกเพิกถอนอย่างเป็นทางการอีกทั้งยังต้องมีการดำเนินการทางสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนซึ่งมีเพียงพระสันตะปาปาคาทอลิกเท่านั้นที่ทำได้เพื่อยกเลิกกฤษฎีกานี้อย่างถูกต้อง
ยิ่งไปกว่านั้น การเพิกถอนอย่างเป็นทางการก็ไม่สามารถหักล้างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหลักคำสอนดังกล่าวลงได้ มีการวิเคราะห์ครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 2011 ว่าจำนวนของชนพื้นเมืองอเมริกันนั้นลดลงกว่าครึ่งภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากการมาถึงของโคลัมบัสและหลักคำสอนของสมเด็จพระ-สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่หก การเลือกปฏิบัติกับชาวพื้นเมืองเยี่ยงผู้ต่ำต้อยนับศตวรรษนั้นได้จุดชนวนแห่งความเหลื่อมล้ำอันนับไม่ถ้วนสำหรับชนพื้นเมืองทั่วโลก
“แนวคิดทางศาสนานี้ได้กลายเป็นรากฐานของการแบ่งแยกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นลัทธิคนขาวสูงส่ง (White Supremacy) หรือลัทธิโองการของพระเจ้า (Manifest Destiny)” กล่าวโดย ฟิลิป อาร์โนลด์ (Philip Arnold) ศาสตราจารย์ด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์แห่งสหรัฐอเมริกา
ยุคแห่งการสำรวจสิ้นสุดลงแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาเองก็หันหลังให้กับหลักคำสอนดังกล่าวที่ปลุกระดมการล่าอาณานิคมนับหลายศตวรรษ แต่มรดกจากความเกลียดชัง ความรุนแรง ความเสียหายและผลกระทบของหลักคำสอนนั้นก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
แปล พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย