สหรัฐฯ ทดสอบ อาวุธนิวเคลียร์ ไปกว่า 1,054 ครั้ง และใช้เงินไปกว่า 3.75 ล้านล้านบาท (หนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนผลกระทบที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนั้นประเมินค่ามิได้
มักมีการแจกจ่ายยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ในยามเกิดวิกฤตการณ์ อาวุธนิวเคลียร์ ทั้งที่กำลังเกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น เช่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อสหภาพยุโรปปฏิญาณว่าจะบริจาคยาต่อต้านกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากกว่าห้าล้านเม็ดให้ยูเครนล่วงหน้า ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อหายนะในระดับเดียวกับเชอร์โนบิลซึ่งอาจเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเชียที่อยู่ภายใต้การยิดครองของรัสเซียและถูกโจมตีบ่อยครั้ง
แต่สำหรับคลอเดีย เพเทอร์สัน อายุ 67 ปี และเพื่อนๆ ของเธอที่เติบโตใกล้เมืองซีดาร์ซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ยาเม็ดไอโอดีนเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันทั่วไปเฉกเช่นเดียวกับการพักผ่อน การทำงานบ้าน หรือการปฏิญาณสวามิภักดิ์ต่อประเทศ ยาที่แจกจ่ายให้เด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลของเธอเมีเม็ดใหญ่และมีสีส้ม เธอย้อนความ
และอีกหนึ่งสิ่งในวิถีชีวิตปกติของเด็กๆ เหล่านี้ คือชายสวมชุดสูทผู้ปรากฏตัวพร้อมหัววัดไกเกอร์ [สำหรับการวัดค่ากัมมันตภาพรังสี] “พวกเขาจะเดินมาตรงหน้าเราและใช้เครื่องมือเหล่านี้ตรวจร่างกายเราค่ะ” เธอกล่าว เมื่อเพเทอร์สันถามคุณครูว่าเสียงปี๊ปที่ดังมาจากหัววัดนั้นแปลว่าอะไร เธอได้รับคำตอบว่ามันมาจากการที่เครื่องวัดตรวจจับกัมมันตภาพรังสีตกค้าง จากการถ่ายภาพด้วยรังสีเอ็กซ์ในการทำทันตกรรมเมื่อก่อนหน้านี้ไม่นาน
“แต่” เธอกล่าว “ฉันไม่เคยถูกถ่ายภาพด้วยรังสีนี้เลยค่ะ”
เซดาร์ซิตี ซึ่งเคยเป็นชุมชนเหมืองเหล็กและเกษตรกรรม อยู่ห่างจากพื้นที่ทดสอบเนวาดา (Nevada Test Site) ไปทางตะวันออกราว 282 กิโลเมตร (175 ไมล์) เป็นสถานทีซึ่งสหรัฐฯ ใช้สำหรับการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์กว่า 900 ครั้งระหว่างปี 1951 ถึง 1992 ในขณะที่มีการทดสอบครั้งอื่นๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงในมลรัฐโคโลราโด อะแลสกา และมิสซิสซิปปี ส่วนการทดสอบมหาอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ทดสอบในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงระเบิดลูกหนึ่งซึ่งมีการทดสอบในหมู่เกาะมาร์แชล และมีพลังทำลายล้างสูงกว่าระเบิดที่ถูกใช้ที่ฮิโรชิมะกว่าหนึ่งพันเท่า
สหรัฐฯ ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 1992 ด้วยการจุดระเบิดซึ่งมีพลังราว 20 กิโลตัน และมีนามเรียกขานว่าดิไวเดอร์ (Divider) ในเนวาดา (ระเบิดหนึ่งกิโลตันมีพลังระเบิดเทียบเท่ากับทีเอ็นทีจำนวนหนึ่งพันตัน ระเบิดที่ใช้ทำลายฮิโรชิมะมีพลังราว 15 กิโลตัน) เพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ประธานาธิปดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู บุชลงนามคำสั่งหยุดการทดสอบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขาถูกยกย่องมาถึงปัจจุบัน กระนั้น หลังเวลาผ่านมาสามสิบปี มรดกจากช่วงเวลาแห่งการแข่งขันพัฒนาและสะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ก็ยังคงตกทอดมาจนทุกวันนี้
ก่อนบรรดาการทดลองฯ ทั้งหลายในเนวาดาเริ่มต้นขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวกับผู้คนในซีดาร์ซิตีและชุมชนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบว่าคนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกังวล มันไม่มีอันตรายต่อผู้ใดก็ตามที่อยู่นอกเขตของพื้นที่ทดลอง คนเหล่านั้นกล่าว
ในตอนแรก เพเทอร์สันและครอบครัวของเธอเชื่อเรื่องนี้นี้ แต่ในยามที่ลูกเพลิงและควันรูปดอกเห็ดปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้าทางตะวันตกครั้งแล้วครั้งเล่า มันก็ชัดเจนว่าบางสิ่งกำลังผิดพลาดอย่างน่าผวา ที่ฟาร์มแกะซึ่งอยู่ติดกันแห่งหนึ่ง “มีแกะตายกันเป็นกองพะเนินเลยค่ะ” เธอกล่าว “และบางตัวก็มีรูปลักษณ์ผิดปกติ มีสองหัว หรือมีขาไม่ครบ”
จากนั้น เพื่อนนักเรียนของเธอเริ่มป่วย เธอกล่าวว่าเมื่อเธออยู่ชั้นประถมหก เด็กชายคนหนึ่งซึ่งอายุน้อยกว่าเธอหนึ่งปีเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในเวลาเดียวกัน เด็กชายอีกคนที่เธอรู้จักเป็นมะเร็งกระดูกและต้องตัดขาข้างหนึ่ง ก่อนจะเสียชีวิตในปีต่อมา ส่วนเพื่อนของเธออีกคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับหลังเพเทอร์สันจบชั้นมัธยมเพียงไม่นาน
สำหรับเธอและอีกหลายคน ยุคแห่งการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ไม่เคยจบลงอย่างแท้จริง “ผู้ต้องฝุ่น (downwinder)” หรือผู้ได้รับหรือมีแนวโน้มว่าได้รับฝุ่นกัมมันตรังสีระหว่างการทดสอบหลายคนกล่าวว่า ผีร้ายจากการทดลองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นหลอกหลอนพวกเขาและเธอ
ในปี 2020 เมื่อสำนักข่าว Washington Post รายงานว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาถึงการกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อพิสูจน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่าทั้งรัสเซียและจีนกำลังทดสอบหัวรบนิวเคลียร์แรงต่ำ (low-yield nuclear) ทำให้ผู้คนจำนวนมากในเนวาดาและยูทาห์ต่างประนามการตัดสินใจดังกล่าว
โจ ไบเดน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี กล่าวว่าความคิดดังกล่าวเป็นเรื่อง “ประมาท” และ “อันตราย” โฆษกผู้หนึ่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ กล่าวว่ากับ เนชันเนล จีโอกราฟฟิก ว่า “สหรัฐ… ไม่เห็นความจำเป็นสำหรับการกลับมาทดสอบ [อาวุธนิวเคลียร์] ” และเรียกร้องให้ “ทุกรัฐ (ชาติ) ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ ประกาศหรือรักษาการห้ามทดสอบการจุดระเบิดนิวเคลียร์” ในอดีต ไบเดนกล่าวเตือนว่าการกลับมาทดสอบอาวุธของสหรัฐฯ อาจ “ผลักดันให้ประเทศอื่นๆ กลับมาทดสอบนิวเคลียร์ซึ่งมีความสำคัญทางการทหารอีกครั้ง
บรรดาผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่าหากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มกลับมาทดสอบอาวุธอีกครั้ง มันอาจเสี่ยงต่อการจุดประกายการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับการทดสอบครั้งแรกสุดที่มลรัฐนิวเม็กซิโกเมื่อ 77 ปีก่อน ระหว่างการแข่งขันพัฒนาและสะสมอาวุธเหล่านี้กับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้ทำการจุดระเบิดนิวเคลียร์ทั้งหมด 1,149 ลูกในการทดสอบทั้งหมด 1,054 ครั้ง มากกว่าอีกเจ็ดชาติอื่นซึ่งมีอาวุธชนิดนี้รวมกัน รวมถึงสหภาพโซเวียต ซึ่งทำการทดสอบทั้งหมด 700 ครั้ง
ในความพยายามของสหรัฐฯ ต่อการคงความเหนือชั้นขั้นสุดในด้านอาวุธนิวเคลียร์ ประชากรซึ่งอยู่ใกล้กับเหล่าพื้นที่ทดสอบได้กลายเป็นความเสียหายส่วนเกินจากฝุ่นกัมมันตภาพรังสี และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้นำการทดสอบยังทำให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมและธรณีวิทยา ทั้งแผ่นดินไหว คลึ่นยักษ์ การแตกของเขื่อน และเภทภัยอื่นๆ
เหล่าผู้มีส่วนในการตัดสินใจนั้น “คือนักรบผู้กล้าหากนับจากมาตรฐานของทุกวันนี้ครับ” อเล็กซ์ เวลเลอร์สไตน์ นักประวัติศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ กล่าว “ในทุกวันนี้ เรากล่าวกันว่า ‘ถ้าคุณไม่รู้ว่ามันปลอดภัยหรือไม่ก็อย่าทำมัน แต่เมื่อครั้งนั้น ไม่ว่าอย่างไรเสีย พวกเขามีก็แนวโน้มว่าจะลงมือทำ” เขากล่าวเสริมว่า มันคือคำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญทางการเมือง ในยุคสงครามเย็นเชื่อว่าการทดสอบอาวุธเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอด ดังนั้น ภยันตรายที่ใหญ่หลวงกว่าจึงไม่ได้มาจากการทดสอบฯ เนื่องเพราะโซเวียตนั้นก็ยังคงสะสมคลังขีปนาวุธนิวเคลียร์ของตนเองอยู่เช่นกัน
“เรื่องที่มีปัญหา” เขากล่าวเสริม “คือพวกเขาไม่สนใจเสียงของคนที่ต้องเผชิญความเสี่ยงครับ”
จากข้อมูลของสตีเฟน ชวาร์ตซ์ นักวิจัยอาวุโสแห่งสมาคมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of the Atomic Scientists) โครงการทดสอบนี้ใช้เงินของผู้จ่ายภาษีไปถึง 3.75 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2023 ส่วนราคาทั้งหมดสำหรับโครงการอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น”สูงถึง 3.758 ล้านล้านล้านบาท (10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปัจจุบัน และยิ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นครับ” เขากล่าว
ส่วนราคาชีวิตที่มนุษย์ต้องจ่ายนั้นประเมินค่าไม่ได้
‘ข้าได้กลายเป็นความตาย’
กลางดึกของวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ขบวนรถบัส รถยนต์ และรถบรรทุกขนนักวิทยาศาสตร์ราว 90 คนไปยังพื้นสนามซ้อมระเบิดอลาโมกอร์โด (Alamogordo Bombing Range) พื้นที่ทดสอบกลางทะเลทรายที่อยู่ห่างจากอัลเบอร์คุค มลรัฐนิวเม็กซิโกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 201 กิโลเมตร (125 ไมล์) หนึ่งในบรรดาผู้คนเหล่านี้คือวิลเลียม ลอว์เรนซ์ หรือ “อะตอมมิกบิล” นักข่าวประจำ New York Times ซึ่งถูกเกณฑ์เข้าโครงการที่มีนามว่าแมนฮัตตันนี้เมื่อช่วงก่อนหน้าในปีเดียวกัน สำหรับหน้าที่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ประจำโครงการและนักโฆษณาชวนเชื่อ เพียงก่อนรุ่งสางไม่นาน พวกเขาจะได้ทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก
ขณะที่พวกเขาบางคนกำลังนั่งพักผ่อนและส่งต่อครีมกันแดดให้กันและกัน นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็เริ่มเคร่งครวญพิจารณาว่าเวลาหลายปีและเม็ดเงินนับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกใช้ไปกับโครงการลับสุดยอดครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่ (ก่อนหน้าการทดสอบครั้งนี้ เหล่านักฟิสิกส์ในโครงการดังกล่าวเคยคาดเดาและลงขันพนันกันว่าระเบิดนิวเคลียร์จะจุดชั้นบรรยากาศของโลกให้ลุกท่วมด้วยไฟหรือไม่ ก่อนตัดสินใจว่าเรื่องดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ)
เมื่อเวลาตีห้าครึ่ง ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการระเบิดหัวรบแบบจุดระเบิดภายในพลูโตเนียม (plutonium implosion) ขนาด 21 กิโลตันซึ่งมีชื่อเล่นว่าแกดเจ๊ต (Gadget) บนยอดหอสูง 30 เมตร แรงระเบิดขุดและส่งผิวดินกว่าหลายร้อยตันให้พวยพุ่งกระจายออกเป็นวงกว้าง พร้อมทั้งปล่อยเมฆควันรูปดอกเห็ดที่สูงกว่า 21.3 กิโลเมตร
สำหรับลอว์เรนซ์ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกับทุกสิ่งที่เขาเคยเห็นมาบนโลกใบนี้ มันมี “แสงเจิดจ้าเหมือนดวงอาทิตย์ขนาดมหึมาหลายดวง” และ “มีพลังทำลายล้างรุนแรง เต็มไปด้วยทั้งอนาคตที่เปี่ยมไปด้วยคำมั่นสัญญาแห่งความน่าสะพรึงกลัว” เขาเขียน
สำหรับ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์และ “บิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์” มันทำให้เขานึกถึงคัมภีร์ของศาสนาฮินดู “บัดนี้ ข้ากลายเป็นความตาย ผู้ทำลายล้างเหล่าโลกา” ทุกคนอยู่ที่นั่นทราบดี โดยเขากล่าวภายหลัง ว่า “โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”
ผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบบางคนคิดว่าพวกเขาและเธอกำลังเป็นพยานถึงวันสิ้นโลก จากข้อมูลของข่าวในท้องที่แห่งหนึ่ง แสงจากการระเบิดนั้นจ้าจนทำให้เด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งมองเห็นมันจากห่างออกไปกว่า 162 กิโลเมตรตาบอดภายในไม่กี่ชั่วโมง ขี้เถ้าแปลกประหาดที่เหมือนหิมะปกคลุมชนบทโดยรอบ ฝุ่นกัมมันตรังสีถูกตรวจพบห่างออกไปถึงนิวยอร์ก
ไม่มีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทดสอบนามทรินิที (Trinity) ดังกล่าวได้รับคำเตือนหรือถูกอพยพทั้งก่อนและหลังการระเบิด เหตุผลหนึ่งที่สถานที่แห่งนี้ถูกเลือกคือความคิดว่ามันอยู่ห่างจากชุมชนมนุษย์ แต่ข้อมูลหัวประชากรจากปี 1940 ระบุว่ามีผู้คนเกือบครึ่งล้านอาศัยอยู่ในมลรัฐนิวเม็กซิโก เท็กซัส และประเทศเม็กซิโก ซึ่งอยู่ห่างจากรัศมีศูนย์กลางของการระเบิดไม่ถึง 241 กิโลเมตร (หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของโครงการแมนฮัตตันยอมรับโดยส่วนตัวถึง “ภนัยตรายฉกรรจ์จากการระเบิด และแนะนำว่าการทดลองครั้งต่อๆ ไปควรถูกทำห่างจากรัศมีชุมชนมากกว่า 241 กิโลเมตร)
เพื่อให้ผู้คนไม่ตื่นตระหนก ทางการบอกพวกเขาและเธอเหล่านั้นว่าสาเหตุของการระเบิดเกิดจากคลังแสง หลายคนเพิ่งทราบความจริงในหลายปีต่อมา และผู้ยังมีชีวิตรอดจากการทดสอบครั้งนี้ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับการชดเชยจากรัฐบาลเช่นเดียวกับที่ผู้ต้องฝุ่นคนอื่นๆ ได้รับ
เมื่อสหภาพโซเวียตทราบถึงการทดลองที่สำเร็จเป็นครั้งแรก จึงเร่งรีบความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง และทำสำเร็จในปี 1949 นำมาซึ่งจุดจบของการผูกขาดของอาวุธเหล่านี้โดยสหรัฐฯ และเริ่มต้นการแข่งขันอาวุธในนานาประเทศ
‘รัฐบาลแบบไหนกันที่กล้าทำเรื่องแบบนี้กับประชาชน’
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 1951 คณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. Atomic Energy Commission) ได้แจกจ่ายใบปลิวให้ผู้คนในเมืองเล็กๆ และชุมชนปศุสัตว์ในภาคใต้ของรัฐเนวาดาและยูทาห์ เป็นประกาศว่าจะเริ่มทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในพื้นที่ใกล้เคียงในเร็ววัน การทดสอบจะมีต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันครบกำหนดในพื้นที่แห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากลาสเวกัสไปทางเหนือ 164 กิโลเมตร ต่อมามีชื่อเรียกว่าพื้นที่ทดสอบเนวาดา แต่พวกเขากล่าวว่าผู้คนที่อยู่นอกอาณาเขตของพื้นที่ฯ จะไม่ได้รับอันตราย
สิบหกวันต่อมา เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-50 ทิ้งระเบิดเอเบิล (Abel) ขนาดหนึ่งกิโลตัน ซึ่งเป็นลูกแรกจากกว่าหนึ่งร้อยลูดซึ่งถูกจุดเหนือพื้นดินบนสถานที่แห่งนี้ในช่วงทศวรรษต่อมา
สำหรับผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียง การระเบิดเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติหรือเป็นแม้กระทั่งความบันเทิงในช่วงแรกๆ และในไม่ช้า ชาวอเมริกันทั่วประเทศจะได้สัมผัสกับระเบิดเหล่านี้เป็นครั้งคราวจากระยะไกลโดยภาพโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดไปทั่วประเทศ รวมถึงแอนนี (Annie) ระเบิดที่มีแรงระเบิดขนาด 16 กิโลตันได้เผาผลาญเมืองสมมติชื่อเล่นว่าเมืองวิบัติหรือ Doom Town ซึ่งมีทั้งรถและบ้านชานเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องเฟอร์นิเจอร์และหุ่นลองเสื้อเพื่อเป็นตัวแทนของมนุษย์มีชีวิต ในปี 1953
เจ้าหน้าที่ภาครัฐให้คำมั่นต่อผู้อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่ทดสอบว่า การระเบิดครั้งต่างๆ นั้น “มีแรงระเบิดค่อนข้างต่ำ” แต่บางครั้งพวกมันก็ใหญ่โตมโหฬาร เช่น ฮู้ด (Hood) ขนาด 74 กิโลตัน ซึ่งถูกจุดในปี 1957 และเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมรบที่สนามใกล้ๆ ซึ่งมีนาวิกโยธินเข้าร่วม 2,200 นาย
หรือในปี 1962 ที่ซีดาน (Sedan) ขนาด 104 กิโลตัน มากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมะกว่าเจ็ดเท่าตัว ทำให้พื้นดินกว่า 12 ล้านตันกระจัดกระจายและสร้างหลุมยักษ์ขนาดกว้างกว่า 390 เมตรและลึกกว่า 97.5 เมตร หลุมดังกล่าวมีชื่อเสียงในฐานะหลุมที่สร้างด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และจากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐ ภูมิภาคที่ราบลุ่มยุคคาแฟลต (Yucca Flat) ในบริเวณแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีหลุมจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วย
เมื่อถึงปลายยุคทศวรรษที่ 1950 ความกระตือร้นและความสนุกสนานไปกับการระเบิดของนิวเคลียร์เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะขนาดและผลกระทบจากสารปนเปื้อนจากการทดลองเกิดขึ้นอย่างแน่ชัดและน่าเจ็บปวด แม้ในยามที่รัฐบาลพยายามสร้างข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวให้กลายเป็นเรื่องดีก็ตาม
ในปี 1955 ผู้จัดการคณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์ออกประกาศขอบคุณผู้อยู่อาศัยในชุมชนรอบพื้นที่ทดสอบในเนวาดาสำหรับการเป็น “ผู้ร่วมมืออย่างแข็งขัน” ในโครงการ สำหรับความรักชาติ และความทรหดอดทน ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากแสงจ้า การระเบิด และฝุ่นรังสีจากการจุดระเบิดในแต่ละครั้ง แต่กลับกำลังถูกยกย่องสำหรับ “การยอมรับความไม่สะดวกสบาย… โดยไม่โวยวาย ไม่ตกใจกลัว และไม่ตื่นตระหนก” พวกเขาและเธอถูกบอกว่าโลกเสรีปลอดภัยขึ้นเพราะตนเอง
“เราคือพวกที่ไว้ใจคนง่าย รักชาติ และเน้นย้ำความสำคัญของครอบครัวมากค่ะ” คลอเดีย เพเตอร์สัน กล่าว “ในตอนนั้น สิ่งที่ฉันกลัวที่สุดคือรัสเซีย แต่สิ่งที่พวกเขาจะทำกับพวกเรา แต่มันกลับกลายเป็นรัฐบาลของเราเองที่ฆ่าครอบครัวและเพื่อนบ้านและเพื่อนๆ ของฉัน รัฐบาลแบบใดกันที่ทำกับประชาชนของตัวเองแบบนี้?”
ราล์ฟ โบเชลล์ ผู้เป็นพ่อของเธอ ผ่าตัดเนื้องอกก้อนโตเท่าลูกมะนาวออกจากสมองและเสียชีวิตหลังจากนั้นหกเดือน เธอกล่าว เคธี ออร์ตัน ผู้เป็นพี่สาว เสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังเมื่ออายุได้ 36 และทิ้งลูกหกคนไว้ข้างหลัง (ลูกคนสุดท้ายคลอดเมื่อมะเร็งลุกลามไปทั่วร่างกายของเธอ เพเทอร์สันกล่าว” ส่วนเบธานี ลูกสาวของเธอ ตรวจพบมะเร็งนิวโรบลาสโตมาขั้นที่สี่เมื่อเธอมีอายุเพียงสามขวบ และเสียชีวิตด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนบลาสติกในอีกสามปีต่อมา
“การทดลองได้สร้างสภาพแวดล้อมที่อันตรายมากไปทั่วประเทศเลยค่ะ” ลิลลี อดัมส์ ผู้ก่อตั้งองค์กรเสียงเรียกจากนิวเคลียร์ (Nuclear Voices) และผู้ประสานกิจกรรมอาวุโสประจำสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย (Union of Concerned Scientists) กล่าว การทดสอบในเนวาดาก่อให้เกิดพื้นที่เสี่ยงอันตรายตั้งแต่อินเดียนาจนถึงนิวยอร์กเลยค่ะ” ฝุ่นรังสีบนสนามและผืนหญ้าที่ปลูกให้สัตว์รับประทานนำไปสู่อุปทานนมที่มีการปนเปื้อน “ผู้ได้รับความเสี่ยงมากที่สุดคือบรรดาครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ดื่มนมจากฟาร์มและผลิตผลในท้องที่ค่ะ”
ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งตีถูกตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งสหรัฐฯ (Journal of the American Medical Association) ในปี 1990 พบว่ามีการพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นเกือบแปดเท่าตัวในเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของรัฐยูทาห์ในช่วงเวลาที่มีการทดสอบการระเบิดเหนือพื้นดิน ต่อมาในทศวรรษเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute) สรุปว่าการจุดระเบิดบนพื้นผิวดินในเนวาดาอาจก่อให้เกิด”ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ตลอดชีวิตซึ่งไม่ถูกนับรวม (excess lifetime case)” มากถึง 212,000 ราย แม้อดัมส์จะกล่าวว่าเหล่าผู้เชี่ยวชาญบ่งชี้ว่าจำนวนดังกล่าวอาจน้อยกว่าความเป็นจริงก็ตาม และ ในรายงานอีกชิ้นโดยกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติจากปี 2005 พบว่าบุคคลใดก็ตามที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตต่อเนื่องของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1951 ได้รับฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจากการทดสอบเหล่านี้
ในปี 1963 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ร่วมกับสหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียด ได้ลงนามคำสั่งห้ามการทดสอบระเบิดใต้ชั้นบรรยากาศ อน่างไรก็ตาม การทดสอบใต้ชั้นผิวดินยังคงได้รับอนุญาต และท้ายที่สุด สหรัฐจะทำการทดลองแบบดังกล่าวร่วม 828 ครั้ง ณ พื้นที่ทดสอบเนวาดา แม้กัมมันตรังสีปนเปื้อนส่วนใหญ่จะถูกกักอยู่ใต้พื้นผิวดิน บางครั้งสารตกค้างเหล่านี้ก็ถูกระบายขึ้นจากอุโมงค์ทดสอบเช่นกัน
ในการยอมรับถึงผลกระทบที่การทดสอบระเบิดเหนือพื้นผิวดินมีต่อมนุษย์เกิดขึ้นในท้ายที่สุด ในปี 1990 สภาคองเกรสได้ผ่านร่างรัฐบัญญัติชดเชยต่อผู้ได้รับกัมมันตภาพรังสี (Radiation Exposure Compensation Act) สำหรับ “ผู้ต้องฝุ่น” จากพื้นที่ที่ถูกกำหนดและต้องทุกข์ทนจากโรคร้ายซึ่งอาจเป็นผลจากการสัมผัสฝุ่นกัมมันตภาพรังสี เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งอื่นๆ อีก 16 ประเภท
รัฐบัญญัติซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2000 และเพิ่งถูกต่ออายุในปีนี้ได้แจกจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนกว่า 74.9 หมื่นล้านบาท (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้แก่ผู้ต้องฝุ่นและคนงานในพื้นที่ทดสอบ ส่วนผู้ที่ก่อนหน้านี้ไม่เข้าเกณฑ์สำหรับการชดเชย รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากทรินิตีนั้น กำลังรณรงค์สำหรับสิทธิของตนเองอย่างเร่งด่วน คลอเดีย เพเตอร์สัน คือหนึ่งในผู้ที่กล่าวว่าการยอมรับและค่าชดเชยไม่เพียงพอต่อค่ารักษา และเป็นเงินจำนวนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับงบประมาณสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ “มันไม่มีเงินมากเพียงพอต่อการชดใช้การได้เห็นเด็กสักคนตายหรอกค่ะ” เธอกล่าว
เวลเลอร์สไตน์และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ กล่าวว่าหากสหรัฐฯ หันกลับมาทดลองอาวุธนิวเคลียร์อีก มีแนวโน้มว่าการทดสอบครั้งต่อๆ ไปจะเกิดขึ้นในอดีตพื้นที่ทดลองเนวาดา ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพื้นที่ความมั่นคงแห่งชาติเนวาดา (Nevada National Security Site)
เกาะที่ระเหิดหายและ “ทารกแมงกระพรุน”
การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ความร้อนขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ หรืออาวุธที่ทรงพลานุภาพร้ายกาจที่รู้จักในอีกชื่อว่าระเบิดไฮโดรเจนหรือเอช-บอมบ์ นั้นถูกจัดขึ้น ณ พื้นที่ทดสอบแปซิฟิก (Pacific Proving Grounds) ซึ่งอยู่ห่างจากฮาวายไปทางตะวันตก 3,862 กิโลเมตร (2,400 ไมล์) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ระเบิดชนิดนี้ลูกแรก – ซึ่งมีนามเรียกขานว่าไอวีไมก์ (Ivy Mike) และมีขนาดถึง 10.4 เมกะตัน มากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมะเกือบ 700 เท่าตัว- ถูกจุดในปี 1952 การระเบิดทำให้เกาะขนาดเล็กนาม Elugelab ถึงกับระเหิดหายไป และทิ้งหลุมขนาดยักษ์ความยาว 1.61 กิโลเมตรและลึก 50 เมตร
จากนั้น ในปี 1954 แคสเทิลบราโว (Castle Bravo) ขนาด 15 เมกะตันก็ระเบิดขึ้นที่หมู่เกาะประการังบิกินี ข้อมูลของ Nukemap ระบุว่า หากหัวรบพลังทำลายล้างสูงเช่นนี้ระเบิดเหนือนิวยอร์กซิตี มันอาจคร่าผู้คนได้กว่าห้าล้านชีวิต และปล่อยลูกเพลิงความกว้างเกือบ 3.22 กิโลเมตร (2 ไมล์) (ส่วนระเบิดขนาดใหญ่ที่สุดที่โซเวียดเคยจุดคือ ซาร์บอมบา (Tsar Bomba) ขนาด 50 เมกะตัน ซึ่ง Sara Kutchesfahani ผู้เขี่ยวชาญด้านอาวุธนิวเคลียร์ ระบุว่าเป็นอำนาจทำลายล้างที่ “มากกว่าการระเบิดทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงลิทเทิลบอยและแฟตแมนที่สร้างวิบัติภัยในฮิโรชิมะและนากาซากิ ราวสิบเท่าตัว)
“ในเชิงปริมาณฝุ่นรังสี ขีปนาวุธขนาดหลายเมกะตันพวกนี้มันสกปรกมากครับ” เวลเลอร์สไตน์กล่าว เมฆควันจากไอวีไมก์และแคสเทิลบราโวถูกจับตามองอย่างไกล้ชิด เขากล่าวเสริม “และพวกมันแพร่กระจายไปทั่วโลกเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือราวนั้น” สารปนเปื้อนจากการทดสอบทั้งสองครั้งแพร่กระจายเหนือบริเวณกว่า 18,130 ตารางกิโลเมตร (7,000 ตารางไมล์) หรือ ตามข้อมูลจากมูลนิธิมรดกจากนิวเคลียร์ (Atomic Heritage Foundation) “เป็นหายนะทางกัมมันตภาพรังสีครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ”
หมู่เกาะประการรังทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะบิกินีคือบริเวณที่ฝุ่นกัมมันตภาพรังสีตกลงใส่อย่างหนักที่สุด มีการอพยพชาวเกาะมาร์แชลบนบิกินีและเอเนเวทอก (Enewetak) ก่อนการทดสอบจะเริ่มขึ้น ในบรรดาพวกเขาเหล่านั้น บางคนถูกเคลื่อนย้ายไปที่รองจ์แลป (Rongelap) ห่างออกไป 257 กิโลเมตร
Lijon Eknilang ซึ่งขนะนั้นมีอายุ 8 ขวบและอาศัยอยู่บนเกาะประการังดังกล่าว และเป็นสักขีพยานของแคสเทิลบราโว ย้อนความถึงแสงจ้ารุนแรงและพื้นดินที่สั่นไหวในการให้การครั้งหนึ่งในปี 2003 “พวกเราหวาดกลัวมากค่ะ เพราะเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร” เธอกล่าว “ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบอกว่าสงครามโลกครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว”
ไม่นานต่อมา เมฆซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชัดเริ่มก่อตัว ตามด้วยพายุของเศษซากปนเปื้อนรังสีก็ปกคลุมเกาะแห่งนี้ น้ำในโอ่งเริ่มเปลี่ยนสี “แต่เราก็ดื่มมันอยู่ดีค่ะ” Eknilang กล่าว จากนั้น ผู้คนเริ่มอาเจียน มีตุ่มพุพอง และผมร่วง ซึ่งทั้งหมดคืออาการป่วยจากการรับกัมมันตภาพรังสี สองวันถัดมา กองทัพสหรัฐอพยพชาวบ้านเหล่านี้ 64 คนไปยังฐานทัพบนควาจาเลน (Kwajelein) เพื่อรับการรักษา
พวกเขาได้รับอนุญาตให้กลับไปที่รองจ์แลป ในปี 1957 และจากรายงานชิ้นหนึ่งในปี 1994 โดยคณะกรรมาธิการสภาวิจัยความปลอดภัยทางรังสีวิทยาในหมู่เกาะมาร์แชลล์ (Research Council Committee on Radiological Safety in the Marshall Islands) “อยู่ภายใต้การสอดแนมตรวจสอบด้านรังสีอย่างต่อเนื่อง” ต่อมา [ชาวเกาะเหล่านี้]” รายงานชิ้นเดียวกันกล่าว “ได้เริ่มแสดงปัญหาทางสุขภาพที่ไม่ถูกคาดถึง”
Eknilang อธิบายถึงหลากหลายอาการป่วย ทั้งมะเร็ง ทารกตายคลอด เนื้องอกต่อมไทรอยด์ และ “ทารกแมงกระพรุน” หรือเด็กที่คลอดโดยไม่มีกระดูกและมีผิวใส ซึ่งมักเสียชีวิตภายในหนึ่งหรือสองวันหลังคลอด เธอกล่าวว่าตนเองแท้งลูกเจ็ดครั้งและเป็นมะเร็งหลายประเภท (เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2012) ในปี 1985 ชาวเกาะรอนจ์แลปย้ายออกจากเกาะแห่งนี้อีกครั้ง และตั้งถิ่นฐานบนเกาะ Mejatto บนหมู่เกาะประการังควาจาเลน
ระหว่างปลายทศวรรษที่ 1970 รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างบริเวณกักเก็บขยะนิวเคลียร์ซึ่งถูกโบกทับด้วยคอนกรีตนามโดมรูนิต (Runit Dome) บนเกาะรูนิตซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 563 กิโลเมตร (350 ไมล์) บนหมู่เกาะเอนีวีทอก ชาวมาร์แชลล์เรียกมันว่า “สุสาน” กระทรวงพลังงานของสหรัฐหรือเดิมคือคณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์คือผู้ดูแลการทำความสะอาดซากกัมมันตภาพรังสีบนเอนีวีทอก โดยมีทหารสหรัฐมากกว่า 4,000 นายเป็นแรงงาน พวกเขาเหล่านี้นำซากอันตรายของการทดสอบนิวเคลียร์ขนาดสามล้านคิวบิกฟุต (หรือเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก 35 สระ) ไปใส่ในพื้นที่กักเก็บ จากรายงานข่าวชิ้นหนึ่งโดย Los Angelis Time ในปี 2019 โดมแห่งนี้ยังใช้กักเก็บดินปนเปื้อนจำนวน 130 ตันจากพื้นที่ทดสอบเนวาดา ทหารผ่านศึกบางนายที่ทำงานเก็บกวาดครั้งนี้ไม่ทราบว่าตนเองทำงานกับขยะกัมมันตภาพและไม่ได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ
เหล่าผู้นำท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าบริเวณเก็บขยะฯ แห่งนี้กำลังเผชิญภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ในปี 2015 Tony du Brum ผู้รอดชีวิตจากแคสเทิลบราโว และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเรียกโดมรูนิตว่า “หลุมคอนกรีตแตกร้าวของขยะนิวเคลียร์ที่กำลังรั่วไหลลงบนแนวประการังอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติที่กำลังดิ้นรนของผมไม่มีศักยภาพ [ครอบครองหรือทดสอบ] แต่กลับเห็นชัดว่ากลับได้รับสิ่งเหลือค้างตกทอด [จากระเบิดนิวเคลียร์]”
อย่างไรก็ตาม ในการรายงานต่อสภาคองเกรสครั้งหนึ่งในปี 2020 กระทรวงพลังงานกล่าวว่า “โครงสร้างสำหรับกักเก็บขยะยังคงใช้งานตามวัตถุประสงค์ได้อยู่ และ “ตัวโดมยังไม่เผชิญความเสี่ยงที่จะถล่มลงหรือใช้งานไม่ได้” ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้แจกจ่ายเงินกว่า 22.33 หมื่นล้านบาท (600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แก่ชุมชนชาวเกาะมาร์แชลล์ที่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ระเบิดเหนือวงแหวนแห่งไฟ
เกาะอัมชิตกา ใกล้กับปลายด้านตะวันตกของกลุ่มหมู่เกาะอะลูเทียน ห่างจากแองเคอเรจไปทางทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงใต้ราว 2,092 กิโลเมตร (1,300 ไมล์) ตั้งอยู่ที่ใจกลางวงแหวนแห่งไฟ อาณาเขตขนาด 40,235 กิโลเมตร (25,000 ไมล์) ซึ่งมีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ตลอดเวลาและทอดไปตามขอบรอบนอกของมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้คือพื้นที่ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวและเหตุการณ์สะเทือนครั้งรุนแรงที่สุดในโลกกว่าร้อยละ 90 ระหว่างทศวรรษที่ 1960 และต้นทศวรรษที่ 1970 สหรัฐฯ ทำการทดสอบการจุดระเบิดใต้ดินขนาดมหึมาสามครั้ง ลองชอต (Long Shot) ซึ่งระเบิดเป็นลูกแรกในปี 1965 ทรงพลังกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมะกว่าห้าเท่า มิลโรว์ (Milrow) ซึ่งทดสอบในปี 1969 ทรงพลังมากกว่าลองชอตถึงสิบเท่า
ตามมาด้วยคานนิกิน (Cannikin) หัวรบนิวเคลียร์ความร้อนขนาดห้าเมกะตัน ซึ่งมีแรงระเบิดมากกว่าระเบิดที่ทิ้งใส่ฮิโรชิมะถึง 333 เท่าตัว และสร้างความโกรธเคืองและข้อถกเถียงก่อนกำหนดการทดสอบในปี 1971 จะมาถึง ผู้ต่อต้านกลัวว่าการจุดระเบิดใต้ดินของมันอาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิระดับวิบัติภัย ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบขาว สมาชิกวุฒิสภากว่า 30 คนเรียกร้องให้ประธาธิบดีริชาร์ด นิกสันหยุดการทดสอบ และรัฐบาลญี่ปุ่นคัดค้านเนื่องจากความกลัวว่าจะเกิดคลื่นสึนามิ
“ความเสี่ยงนั้นมีมหันต์ ผลลัพธ์ช่างน่าคลางแคลงใจ และราคาค่างวดก็ชัดเจนมากมายแล้ว จนการทดลองครั้งนี้มันดูเป็นความผิดพลาดที่น่าสยดสยองและไร้ความจำเป็น” บทบรรณาธิการของ New York Times ประกาศ
คณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์กลบเกลื่อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ แต่รับทราบกันโดยส่วนตัวว่า “ผลกระทบร้ายแรงที่สุดที่จะคำนึงถึงได้ของคานนิกิน…. ยังเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา” กลุ่มพันธมิตรทางสิ่งแวดล้อมต่อสู้กับคณะกรรมาธิการฯ บนชั้นศาลอย่างหวังพึ่งปาฏิหาริย์เพื่อขอให้หยุดการทดสอบ แต่พวกเขาแพ้คดี
การทดสอบคานนิกิน ซึ่งเป็นการจุดระเบิดใต้ดินครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดำเนินไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1971 มันส่งพื้นดินให้พวยพุ่งขึ้นกว่า 6 เมตร (20 ฟุต) และก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ แม้หายนะอย่างการไหวสะเทือนของแผ่นเปลือกโลกจะไม่เกิดขึ้น แต่การทดสอบครั้งนี้ เช่นที่นิตยสาร Time เขียนไว้เมื่อครั้งกระนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่จุดประกายความโกรธเคืองที่พลเมืองมีต่อ “อิสรภาพไร้ขอบเขตสำหรับการสร้าง ทดสอบ และนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการ”
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ซึ่งกรมบริหารมรดกนิวเคลียร์ (Office of Legacy Management) ของมันยังคงสอดส่องเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทดสอบแห่งนี้ กล่าวว่าวัตถุกัมมันตภาพรังสียังคงถูกปิดผนึกไว้ในอุโมงค์ทดสอบ “เนื่องเพราะยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่ใช้ได้ในทางปฏิบัติสำหรับการเคลื่อนย้ายมัน
ขุดเจาะน้ำมันด้วยระเบิดนิวเคลียร์
บางครั้งคราว การจุดระเบิดนิวเคลียร์มิได้ทำเพื่อการทดสอบอาวุธ แต่ทำเพื่อหาคำตอบว่าพลังงานนิวเคลียร์และแรงระเบิดสามารถถูกใช้ในงานอุตสาหกรรมได้หรือไม่ โนม (Gnome) การจุดระเบิดใต้ดินใกล้กับคาร์ลสบัด มลรัฐนิวเม็กซิโก ทำเพื่อค้นหาว่าพลังงานจากแรงระเบิดของนิวเคลียร์สามารถถูกแปรสภาพเป็นไฟฟ้าได้หรือไม่ หกปีต่อมา ก๊าซบักกี (Gasbuggy) ถูกจุดใกล้กับฟาร์มิงตันในมลรัฐเดียวกันเพื่อสำรวจว่าการจุดระเบิดใต้ดินสามารถกระตุ้นการปล่อยก๊าซธรรมชาติใต้พื้นดินได้หรือไม่ การปล่อยก๊าซทำได้สำเร็จ แต่มันถูกปนเปื้อนด้วยกัมมันตภาพรังสีจนนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ไม่ได้
แม้ผลลัพธ์ครั้งนี้จะไม่น่าพึงพอใจ สหรัฐฯ กลับเดินหน้าทดลองขุดน้ำมันด้วยวิธีแฟรกกิงโดยระเบิดนิวเคลียร์ต่อไป ในปี 1969 การทดสอบวิธีดังกล่าวถูกจัดขึ้นที่พาราชู้ต มลรัฐโคโลราโด เช่นเดียวกับก๊าซบักกีก่อนหน้ามัน กัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดขนาด 40 กิโลตันของรูลิสัน (Rulison) ปนเปื้อนก๊าซที่ถูกขุดจนทำให้มันไม่สามารถใช้งานได้ การทดสอบการจุดระเบิดใต้ดินครั้งต่อไปที่ถูกกำหนดให้จัดที่มลรัฐแห่งนี้ก่อให้เกิดการประท้วงและการฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคลโดยพันธมิตรกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรเสีย การทดสอบริโอบลันโค (Rio Blanco) ก็ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1973 ใกล้มีเกอร์ การระเบิดพร้อมกันสามครั้งเพื่อทดสอบ “การกระตุ้นการปล่อยก๊าซธรรมชาติสำรอง” ครั้งนี้มีขนาดรวมกัน 99 กิโลตัน หรือมากกว่าระเบิดที่ฮิโรชิมะเกือบเจ็ดเท่าตัว
ในปีต่อมา ชาวโคโลราโดมีมติยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมรับธรรมนูญระดับมลรัฐ ซึ่งบังคับให้การทดสอบระเบิดแต่ละครั้งต้องได้รับการโหวตยินยอมจากประชาชน กรมบริหารมรดกนิวเคลียร์กล่าวว่าพื้นที่ทดสอบรูลิสันและริโอบลันโคนั้นได้รับการสอดส่องกัมมันตภาพรังสีและสารอันตรายอื่นๆ ที่รั่วไหลเป็นประจำทุกปี และการขุดเจาะน้ำมันในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ทั้งสองยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม
บ่อน้ำของทุกคนถูกปนเปื้อน
หลังคำสั่งห้ามทดสอบนิวเคลียร์เหนือพื้นดินในปี 1963 เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มคาดถึงความเป็นไปได้ที่ในสักวันหนึ่ง การทดลองใต้ดินอาจถูกสั่งห้ามด้วยเช่นกัน เพื่อค้นหาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐนิวเคลียร์อื่นๆ สามารถแอบทดสอบการจุดระเบิดใต้ดินอย่างลับๆ ได้ สหรัฐฯ จึงเริ่มทดลองการจุดระเบิดใต้ดินเพื่อหาคำตอบว่าอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหวจะสามารถตรวจจับการจุดระเบิดใต้พื้นดินจากระยะห่างไกลได้หรือไม่
โดมเกลือใต้ดินแห่งหนึ่งใกล้กับเพอร์วิส มลรัฐมิสซิสซิปปี ห่างจากแฮตตีส์เบิร์กไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 32 กิโลเมตร (20 ไมล์) คือสถานที่สมบูรณ์แบบสำหรับการทดสอบ เพราะมันอาจช่วยกลบเสียงระเบิดของนิวเคลียร์ได้อย่างมิดชิด
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1964 คณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์และกระทรวงกลาโหมจุดซาลมอน (Salmon) ขนาด 5.3 กิโลตันลึกใต้พื้นดินไป 8.26 กิโลเมตรในโดมเกลือดังกล่าว ผู้อาศัยอยู่ไกล้เคียงถูกอพยพ และให้เงินชดเชยสำหรับความไม่สะดวก 374 บาท (10 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับผู้ใหญ่ และ 187 บาท (5 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับเด็ก การระเบิดครั้งนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนขนาด 6.0 ริกเตอร์และถูกตรวจพบไปไกลถึงสวีเดน แรงกระแทกของมันยกพื้นดินขึ้นสี่นิ้วและสร้างโพรงลึกในโดม สองปีต่อมา สเตอร์ลิง (Sterling) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าถูกจุดในบริเวณเดียวกัน และครั้งนี้ โพรงซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการระเบิดครั้งก่อนหน้าเก็บร่องรอยของการระเบิดได้สำเร็จ และเป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐซึ่งครอบครองนิวเคลียร์สามารถทำการทดสอบอย่างลับๆ ได้ด้วยการจุดระเบิดในโพรงใต้พื้นดินแบบเดียวกัน
ชาวเมืองมิสซิสซิปปีหลายร้อยคนในบริเวนนั้รรายงานถึงความเสียหายที่แรงระเบิดมีต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนเอง “บ่อน้ำของทุกคนเกิดการปนเปื้อนครับ” ทอม เบเชียร์ ผู้อาศัยอยู่ในเพอร์วิส ย้อนความในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2014 สาธารณะชนเริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหาสุขภาพซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับการทดลองทั้งสองครั้ง ในปี 2000 รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างท่อน้ำท่อใหม่เพื่อส่งน้ำสะอาดห่างไกลจากแหล่งทดลอง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณไม่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำจากบ่อในพื้นที่ และในปี 2015 รัฐบาลกลางได้จ่ายเงินไกล่เกลี่ยจำนวน 68.2 ล้านบาท (16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้ผู้ถูกจ้างทำงานในพื้นที่ทดสอบหรืออาศัยอยู่ในบริเวณไกล้เคียง
อนาคตจะเป็นอย่างไร
ตั้งแต่ปี 1992 รัฐที่ครอบครองนิวเคลียร์ทั้งเก้าแห่งปฏิบัติตามสัญญาห้ามการทดสอบอาวุธ (เว้นแต่เกาหลีเหนือซึ่งทำการทดสอบหกครั้งตั้งแต่ปี 2006 และอินเดียและปากีสถาน ซึ่งทำการทดสอบในปี 1998) จนถึงปัจจุบัน 186 ชาติได้ลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) ซึ่งห้ามทำการจุดระเบิดนิวเคลียร์ใดๆ ก็ตาม ณ ตอนนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ลงนามสัตยาบัน ส่วนรัสเซียได้ลงนามสัตยาบันไปเมื่อปี 2000
สหรัฐฯ ตรวจสอบคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองทุกปี ซึ่งส่วนมากทำโดยการทดสอบ “ระดับไม่รุนแรง (subcritical)” — หรือการจุดระเบิดซึ่งไม่ก่อให้เกิดปฏิกริยาลูกโซ่นิวเคลียร์แต่ยังสามารถทดสอบส่วนประกอบของอาวุธได้ — และการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ โครงการดูแลคลังแสง (Stockpile Stewardship Program) “มันได้ผลอย่าน่ามหัศจรรย์เลยครับ: โรเบิร์ต โรสเนอร์ อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการห้องทดลองแห่งชาติอาร์กอนน์ (Argonne National Laboratory) ของกระทรวงพลังงาน กล่าว
แต่ความเป็นไปได้ที่บางส่วนของโครงการทดลองในปัจจุบันอาจล้มเหลว หรือการรัฐบาลต่อไปในอนาคตอาจกลับมาทดลองการจุดระเบิดอย่างเต็มรูปแบบด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือการทหาร คือสาเหตุที่ทำให้ชุมชนผู้ต้องฝุ่นในยุคการทดสอบระเบิดหวาดระแวง
“เมื่อพวกเขาพูดถึงการทำให้โครงการทดสอบกลับมาเต็มที่อีกครั้ง ฉันอยากรู้ว่าใครกันที่จะยอมรับมีการทดลองระเบิดใกล้ๆ กับตัวเองกันคะ?” ทินา คอร์โดวา นักเคลื่อนไหวผู้ต้องฝุ่นกัมมันตภาพรังสี ผู้รอดชีวิตจากมะเร็ง และผู้อยู่อาศัยรุ่นที่ห้าของลูลาโรซา นิวเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ทดลองทรินิทีไปราว 64 กิโลเมตร (40 ไมล์) กล่าว ครอบครัวของเธอหลายรุ่นต้องทนทุกข์จากมะเร็งหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการทดสอบระเบิด เธอกล่าว
“ไม่มีการทดสอบใดที่ปราศจากความเสี่ยงหรืออันตรายหรอกค่ะ และใครบางคนจะต้องทนทุกข์กับผลกระทบของมัน” เธอกล่าวเสริม “ฉันเพียงแค่ถามว่า คุณอยากเอาอนาคตของตัวคุณเองและอนาคตของครอบครัวไปเสี่ยงหรือ?”
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน