โอริกามิ เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินมานานแล้ว
ปัจจุบันกำลังบุกเบิกเส้นทางใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โอริกามิ – เสียงเห่าขรมเรียกให้ฉันรีบออกไปรับกล่องกระดาษที่นำส่งมาถึงประตูหน้าบ้าน ของที่บรรจุอยู่ข้างในเป็นแผ่นพลาสติกลูกฟูกสีขาวแผ่นเดียวที่พับทบเป็นรูปทรงเหมือนกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ บรรดาสุนัขเพื่อนร่วมบ้านของฉัน เข้าไปทำจมูกฟุดฟิดดมอย่างอยากรู้อยากเห็น ระหว่างที่ฉันคลี่โครงสร้างแข็งออกมาแผ่เกือบเต็มพื้นที่ห้องนั่งเล่น เมื่อดันรอยพับฝั่งหนึ่งออกไปด้านนอก ฉันได้ยินเสียงดีดดัง ผึบ อย่างน่าตกใจ
พวกหมาๆ พากันกระโจนหาที่หลบ ส่วนฉันมองหาร่องรอยความเสียหายอย่างตื่นตระหนก หัวใจเต้นรัว แต่ไม่มีอะไรแตกหัก เห็นเพียงกระเป๋าเดินทางพลาสติกที่ตอนนี้กลายร่างไปแล้ว และในพริบตาก็มีเรือคายัคทั้งลำตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่นของฉัน
เรือที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัทโอรุคายัค (Oru Kayak) ลำนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้แรงบันดาลใจจาก โอริกามิ หรือศิลปะการพับกระดาษอายุเก่าแก่หลายศตวรรษของญี่ปุ่น สิ่งที่เริ่มจากความพยายามทำความเข้าใจคณิตศาสตร์เบื้องหลังรูปแบบการพับต่างๆ นำไปสู่การเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ น่าพิศวงในการปรับแปลงรูปทรง การเคลื่อนไหว และคุณสมบัติของวัสดุสารพัดประเภท ตั้งแต่แผ่นกรองหน้ากาก พลาสติกในเรือคายัค จนกระทั่งเซลล์มีชีวิต
“ถึงขั้นที่ผมตามไม่ทันแล้วครับ” โรเบิร์ต เจ. แลงก์ ศิลปินโอริกามิระดับแถวหน้า ซึ่งทำงานเป็นนักฟิสิกส์เลเซอร์มาก่อน กล่าวและเสริมว่า “วิเศษมากครับที่เรามาถึงจุดนี้ได้”
ศิลปะ โอริกามิ อยู่คู่ประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นอย่างน้อย แต่มีร่องรอยบ่งบอกว่ามีการพับกระดาษกันมานานก่อนหน้านั้นแล้ว แรกเริ่มเดิมที แบบพับมีรูปทรงเรียบง่าย และเพราะกระดาษมีราคาแพง จึงใช้เพื่อจุดประสงค์ทางพิธีกรรมเป็นส่วนใหญ่ ต่อเมื่อกระดาษมีราคาถูกลง การใช้โอริกามิจึงแพร่หลายกลายเป็นกระดาษ ห่อของขวัญ ของเล่น และกระทั่งเป็นแบบสอนเรขาคณิตให้เด็ก ๆ
ต่อมา ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ปรมาจารย์โอริกามิ อากิระ โยชิซาวะ ช่วยยกระดับการพับกระดาษขึ้นสู่ งานวิจิตรศิลป์ เขาเสกชีวิตและบุคลิกให้กับสิงสาราสัตว์ทุกตัวที่เขาออกแบบขึ้น และด้วยการตีพิมพ์หนังสือโอริกามิ เล่มแรกของเขาเมื่อปี 1954 โยชิซาวะยังทำให้ศิลปะแขนงนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการสร้างภาษาที่เข้าใจได้ง่ายในรูปของเส้นประ เส้นขีด และลูกศร ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ยังใช้กันอยู่ทุกวันนี้
อันที่จริง โอริกามิเชื่อมโยงกับรูปแบบหรือลวดลายที่สะท้อนอยู่ทั่วจักรวาล พบเห็นได้ในรูปทรงตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ขณะผลิจากตุ่มตา หรือแมลงขณะหรุบเก็บปีก อย่างไรก็ตาม การจะทำให้งานพับกระดาษอันสวยงามเหล่านี้กลายเป็นของใช้ประโยชน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เหล่านักวิจัยไม่เพียงต้องค้นพบรูปแบบ แต่ต้องเข้าใจกลไกการทำงานของรูปแบบเหล่านั้นด้วย และกระบวนการนี้ต้องอาศัยคณิตศาสตร์
การหาตัวเลขมาอธิบายรูปแบบการพับอันน่าทึ่งของโอริกามิขับเคลื่อนงานของทอมัส ฮัลล์มานานแล้ว เขาเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นนิวอิงแลนด์ในสปริงฟีลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ตอนฉันเดินเข้าไปในภาควิชาคณิตศาสตร์ที่นั่น ฉันรู้ได้ทันทีว่าห้องไหนเป็นห้องทำงานของเขา ประตูตรงปลายโถงเปิดแง้มอยู่ เผยให้เห็นกระดาษสีฉูดฉาดพับเป็นรูปทรงเรขาคณิตสารพัดรูปแบบ แบบจำลองเหล่านี้กระจายอยู่ทุกซอกมุมของห้องเล็ก ๆ มีทั้งแขวนห้อยจากเพดาน ประดับบนชั้นหนังสือ และตั้งรอบคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป เขาหลงใหลรูปแบบการพับต่างๆ มานานแล้ว และยังจำได้ถึงตอนคลี่กางนกกระสากระดาษตัวหนึ่งเมื่ออายุ 10 ขวบ แล้วรู้สึกพิศวงกับรอยพับเป็นระเบียบบนกระดาษราบเรียบแผ่นนั้น
จะต้องมีกฎเกณฑ์อะไรสักอย่างที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เขาจำได้ว่าคิดอย่างนั้น ฮัลล์และคนอื่นๆ ขบคิดกันมานานหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจคณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังโลกของโอริกามิ
ระหว่างที่พูดคุยกัน ฮัลล์หยิบแบบจำลองหลากหลายที่พับเป็นรูปทรงน่าพิศวง หรือเคลื่อนไหวได้ในแบบที่คาดไม่ถึง ชิ้นหนึ่งเป็นกระดาษพับรูปทรงแนวเทือกเขาและหุบเขาต่อเนื่องที่เรียกว่า ลายมิอุระ-โอริซึ่งหุบเข้าและ กางออกได้ด้วยการดึงเพียงครั้งเดียว รูปแบบที่คิดค้นโดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ โคเรียว มิอุระเมื่อทศวรรษ 1970 นี้ นำไปประยุกต์ใช้เพื่อหุบเก็บแผงโซลาร์เซลล์บนยานสเปซฟลายเออร์ยูนิตของญี่ปุ่นที่ปล่อยขึ้นเมื่อปี 1995
ในช่วงหลายปีนับจากนั้น มีการนำโอริกามิไปประยุกต์ใช้กับวัสดุหลายประเภทแตกต่างกัน ซึ่งรวมถึง แผ่นเซลล์ขนาดเล็กจิ๋ว วัสดุแปลกประหลาดนี้จะฉาบอยู่บนโครงสร้างพับได้ด้วยตัวเองที่ประดิษฐ์โดยคาโอริ คูริบายะชิ-ชิเกโตมิ ที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโด เมื่อถูกกระตุ้น เซลล์เหล่านี้จะหดตัว แปลงโครงสร้างราบแบนให้เป็น “ชิ้นส่วนเลโก” ที่ประกอบด้วยเซลล์ ซึ่งตามที่เธอบอก วันหนึ่งอาจช่วยในการเพาะเลี้ยงอวัยวะได้
แม้ปัจจุบันโอริกามิจะเป็นที่ชื่นชอบในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความพยายามช่วงแรกๆ ของนักวิจัยในการประยุกต์ใช้ศิลปะการพับกระดาษกลับเผชิญการต่อต้าน ฮัลล์ยังจำได้ถึงการหารือครั้งหนึ่งเมื่อปี 1997 ระหว่างเขากับเจ้าหน้าที่โครงการคนหนึ่งจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือเอ็นเอสเอฟ (National Science Foundation: NSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนงานวิจัยและการศึกษา ฮัลล์กำลังกล่าวสรุปโครงการที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ เมื่อเจ้าหน้าที่โครงการคนดังกล่าวตัดบทเพื่อบอกว่า เอ็นเอฟเอสจะไม่มีวันให้ทุนกับ “ข้อเสนองานวิจัยที่มีคำว่าโอริกามิอยู่ในชื่อโครงการ”
ความเคลือบแคลงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐฯ โทโมะฮิโระ ทาชิ วิศวกรโอริกามิคนสำคัญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ก้มหน้าลงพร้อมรอยยิ้ม เมื่อฉันถามว่า เคยเผชิญการต่อต้านในเรื่องงานของเขาหรือไม่ เขาบอกว่า ผู้คนในญี่ปุ่นมักมองโอริกามิเป็นการละเล่นของเด็ก แต่มุมมองนี้เปลี่ยนไปในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีเอ็นเอฟเอสเป็นหัวหอกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่
ระหว่างดำรงตำแหน่งชั่วคราวที่องค์กรดังกล่าวนับจากปี 2009 เกลาโช เปาลีโน ผลักดันการมอบทุนให้แก่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโอริกามิ “ขั้นตอนขออนุมัติตอนนั้นโหดหินมากครับ” เปาลีโนซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวและเสริมว่า “เราตกที่นั่งลำบากกันทุกครั้งที่พยายามปกป้องแนวความคิดนี้”
แต่ความพยายามดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล เมื่อปี 2011 เอ็นเอสเอฟประกาศเชิญชวนให้ยื่นเสนอโครงการวิจัย ที่นำโอริกามิมาผสมกับวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในสองครั้ง และทีมวิจัยก็แห่ยื่นแนวคิดเข้ามาเป็นจำนวนมาก การขับเคลื่อนครั้งนั้นช่วยสร้างความชอบธรรมให้แขนงวิชาที่กำลังผลิบาน แล้วการใช้ประโยชน์โอริกามิในวิทยาศาสตร์ก็เฟื่องฟู
“สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งวงการวิทยาศาสตร์เลยครับ” แลงก์บอก “เหมือนถึงเวลาของมันพอดี”
เรื่อง มายา เว-ฮาส
ภาพถ่าย เครก คัตเลอร์
ติดตามสารคดี ในอนาคตมีรอยพับ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/570167