บ้านดิน ภูมิปัญญาสู้โลกร้อน

บ้านดิน ภูมิปัญญาสู้โลกร้อน

เหล่าสถาปนิกในแอฟริกาตะวันตกหวังพึ่งพิงอดีตแห่ง บ้านดิน เพื่อเอาชนะความร้อนในอนาคต

บ้านดิน – เช้ากลางเดือนพฤษภาคม ที่หมู่บ้านคูมิ ประเทศบูร์กินาฟาโซ ซานง มูซา เกือบเสร็จงานซ่อมบำรุงประจำปีบ้านขนาดสามห้องนอนของเขา

มูซาเปลี่ยนโครงหลังคาที่ถูกปลวกกินด้วยคานไม้ที่ตัดมาใหม่ และเสริมผนังดินกันความร้อนซึ่งบางส่วนหนาเป็นเมตรและเก่าแก่กว่าร้อยปี พอมุงหลังคาใหม่เสร็จและบูชาแพะหนึ่งตัวในพิธีรำลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว งานทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็ แค่ฉาบผนังด้านนอกด้วยส่วนผสมที่กันน้ำฝนได้

“ดินทำให้เราเย็น ส่วนน้ำมันเครื่อง โคลน กับขี้วัว ช่วยทำให้เราแห้ง” มูซาบอกขณะที่เราเดินชมบ้านของเขาซึ่งเย็นกว่าภายนอกถึง 13 องศา “เราทำให้มันสมบูรณ์แบบเลยครับ”

มูซา บรรณารักษ์ประจำโรงเรียนเกษียณแล้วในวัย 50 เศษ ภูมิใจกับบ้านหลังนี้ก็จริง แต่ใช่ว่าบ้านดินจะเป็นตัวเลือกแรกของเขา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาเฝ้ามองเพื่อนบ้านฐานะดีกว่าในพื้นที่เขียวชอุ่มแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สร้างบ้านใหม่ด้วยคอนกรีต ส่วนเขาได้แต่คับข้องกับสิ่งที่มองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความยากไร้เสมอมา

บ้านดิน
ผนังอิฐดินของมัสยิดใหญ่แห่งบอโบ-ดีอูลาสโซใน บูร์กินาฟาโซ ฉาบด้วยไขจากเมล็ดเชียเพื่อกันนํ้าทุกปี แต่บ่อยครั้งที่โครงสร้างดินไม่อาจทนฝนรุนแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
บ้านดิน
ที่สถาบันเทคโนโลยีบูร์กินาในคูดูกู ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวบูร์กินาฟาโซ ฟรันซิส เกเร่ และสร้างเสร็จเมื่อปี 2020 ผนังขนาดใหญ่ทำจากดินอัด ไม้ยูคาลิปตัสที่ตกแต่งภายนอกช่วยให้ร่มเงา เหนือห้องเรียนแต่ละห้องมีช่องระบายอากาศร้อนสู่ภายนอก

ทั่วภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกามีหมู่บ้านอย่างคูมิหลายพันหมู่บ้าน และหลายสิบแห่งที่ผมเคยไปเยือน ในหลายประเทศ การใช้คอนกรีตเพิ่มมากขึ้นทุกที ขณะที่มาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นและคนเข้าถึงคอนกรีตมากขึ้น

แต่การละทิ้งวัสดุพื้นบ้านและเทคนิคการก่อสร้างที่ทำให้วัสดุเหล่านั้นก่อรูปก่อร่างขึ้นได้นั้น ช่างห่างไกลจากคำว่าเครื่องหมายแห่งความเจริญ ตามความเห็นของเหล่าสถาปนิก ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ภูมิภาคที่ร้อนอยู่แล้วร้อนยิ่งขึ้น การผลิตซีเมนต์ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของคอนกรีต คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละแปดของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก

ผนังดินที่หนาพอจะสามารถดูดซับและเก็บความร้อนได้มาก และจะคายความร้อนออกตอนค่ำเมื่ออุณหภูมิภายนอกเย็นลง ตรงกันข้าม อิฐบล็อกบางๆ ที่มีช่องกลวงนั้น ยอมให้ความร้อนผ่านเข้าไปได้อย่างสบาย ทำให้ภายในตัวอาคารร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทะเลทราย, บ้านดิน
เมืองชีแบมในเยเมนได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความร้อนจากทะเลทราย เมืองที่ได้สมญาว่าแมนแฮตตันแห่งทะเลทรายนี้มีอาคารดินตระหง่านสูงหลายระดับทำให้เกิดร่มเงา ผนังสีขาวสะท้อนแสงอาทิตย์ที่ส่องตรงลงมา และป้องกันการสะสมตัวของความร้อน
เหมืองหิน, เหมือง
ที่เหมืองหินแห่งหนึ่งในปิสซี ชานเมืองด้านตะวันตกของวากาดูกูในบูร์กินาฟาโซ ชาย หญิง และเด็กๆ ทำงานในเหมืองหินแกรนิตที่ใช้ทำคอนกรีตและกรวดปูถนน เนื่องจากความต้องการคอนกรีตมีสูง เหมืองหินนี้จึงยังเปิดทำการ แม้เผชิญการแข่งขันจากเหมืองที่ใช้เครื่องจักรอยู่ใกล้ๆ

หลายประเทศที่มีขนบการสร้างอาคารดินอันน่าทึ่ง แต่สูญหายไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างพยายามเลียนแบบสุนทรียะและคุณสมบัติทำความเย็นของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ด้วยการนำอุโมงค์ลม ทิศทางการวางตัวของอาคาร และร่มเงา มาใช้ แต่ผู้ปลุกกระแสอิฐดินมีความทะเยอทะยานใหญ่กว่านั้นด้วย โดยเฉพาะในแอฟริกา ทวีปที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละสี่ของโลก แต่กลับเผชิญปัญหาจากสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุดเป็นส่วนใหญ่

อุณหภูมิในร่มน่าจะขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อยตอนผมไปถึงเมืองทางเหนือชื่อ คายา แต่พอเข้าไป ข้างในผลงานออกแบบล่าสุดของสถาปนิก คลารา ซาวาโดโก อุณหภูมิกลับต่ำกว่า 30 องศา เพดานดินที่โค้งสูงและ ผนังหินผสมดินของคลินิกที่ยังสร้างไม่เสร็จช่วยห่อหุ้มความเย็นเอาไว้ อาคารที่ทำมุมรับลมประจำจากทิศเหนือ และล้อมรอบด้วยต้นไม้ให้ร่มเงาเขียวชอุ่ม เชื้อเชิญให้สุนัขจรจัดเข้ามางีบหลายตัวแล้ว

ซาวาโดโกอายุยังน้อย รอบรู้งานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลุกกระแสนิยมอาคารดินทั่วโลก ดินเป็นวัสดุที่แทบจะพูดได้ว่าเป็นของฟรี หรืออย่างน้อยก็หาได้ในท้องถิ่นด้วยต้นทุนเพียง เศษเสี้ยวของคอนกรีตที่ต้องใช้ส่วนผสมหลายอย่าง ซึ่งบูร์กินาฟาโซต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ อาคารดินส่งผลต่อภาวะ โลกร้อนเพียงน้อยนิด และคอนกรีตมักนำไปสู่ประดิษฐกรรมอีกอย่างที่สวาปามเชื้อเพลิงฟอสซิลขอเพียงมีกำลังซื้อ นั่นคือเครื่องปรับอากาศ ทั่วโลก ทั้งไฟฟ้าและสารหล่อเย็นที่เครื่องปรับอากาศต้องใช้เป็นบ่อเกิดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกที

บ้านดิน, ศิลาแลง, อิฐดิน
คนงานที่เหมืองหินในเมืองอุนเด บูร์กินาฟาโซ กะเทาะศิลาแลงจากพื้นแข็งๆ อิฐดินต้องปั้นเป็นรูปก่อนตากให้แห้ง แต่ศิลาแลงสามารถสกัดออกมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้เลย วัสดุก่อสร้างดั้งเดิมทั้งสองชนิดนี้ใช้สร้างอาคารที่เย็นกว่าคอนกรีตทั้งยังถูกกว่าและใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่าด้วย
ซาลีมา นาจี สถาปนิกและนักมานุษยวิทยาชาวโมร็อกโก ทำงานกับวัสดุและเทคนิคก่อสร้างพื้นบ้านเพื่ออนุรักษ์หมู่บ้าน และศูนย์ชุมชนในประเทศ เธอช่วยฟื้นฟูอาคารยุ้งฉางอีดอิสซาในอัมตูดี (ในภาพ) ซึ่งเก็บข้าวสาลีและความมั่งคั่งรูปแบบอื่นๆ

จุดขายที่แข็งที่สุดของอาคารดินในบูร์กินาฟาโซ ซึ่งอุณหภูมิแทบไม่เคยลดต่ำกว่า 32 องศา คือทำให้ความร้อน เป็นสิ่งที่พอทนได้ แม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ พอถึงปลายศตวรรษนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกาจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าสององศา ตัวเลขซึ่งอาจบดบังบางพื้นที่ในทวีปที่อุณหภูมิพุ่งสูงกว่านั้นอีก

แพทย์ในโรงพยาบาลสี่แห่งที่ผมไปเยือนบอกว่า ผู้เข้ารักษาตัวและผู้เสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับความร้อนเพิ่มขึ้นราวห้าเท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แพทย์บางคนสันนิษฐานว่า จำนวนผู้ป่วยที่สูงผิดปกตินี้สร้างบ้าน ด้วยคอนกรีต แต่ไม่มีเงินติดเครื่องปรับอากาศในบ้านใหม่ของตน

ในวันร้อนฉ่ากลางฤดูร้อน บรรยากาศในเมืองเลโอดูสงบนิ่ง ยกเว้นก็แต่ที่คลินิกในท้องถิ่น เด็กๆ วิ่งไล่กันเสียงดังในลานร่มรื่น ขณะที่พ่อแม่นั่งพักใต้ต้นไม้รอบๆ กระทั่งคนไข้ที่เพิ่งมาถึงล้วนอัศจรรย์ใจกับวอร์ดผู้ป่วยที่เย็นเป็นธรรมชาติ ของที่นี่ ฟรันซิส เกเร่ ผู้ออกแบบอาคารเหล่านี้ดูพึงพอใจ แต่ไม่ประหลาดใจกับผลลัพธ์ดังกล่าว

การอยู่อย่างเย็นสบายนับว่าสำคัญอย่างยิ่งในเทือกเขาแอนติแอตลาส ทางใต้ของโมร็อกโก ซึ่งร้อนจนกระทั่งแม้แต่พืชผลยังต้องการร่มเงา
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีธรรมเนียมสร้างอาคารดินที่น่าทึ่ง แต่สูญหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ อาบูดาบี (Louvre Abu Dhabi) สถาปนิก ฌอง นูเวล ได้แรงบันดาลใจจากฉากไม้ฉลุลายมูชาราบี ซึ่งปกป้องภายในอาคารจากแสงอาทิตย์โดยตรง และช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติ มูชาราบีขนาดใหญ่นี้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสายฝนแห่งแสงพร่างพรมลงสู่พิพิธภัณฑ์

“เราเรียนรู้ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของวัสดุเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคอนกรีตต้องแย่เสมอไป” เขาบอก “แต่อยู่ที่ว่าเราใช้มันทำอะไร นี่คือโฉมหน้าของสิ่งที่อาจเป็นไปได้ เมื่อเราทุ่มเทเวลาให้กับการทำโครงสร้างดินให้ออกมาดีอย่างที่ควรจะเป็นครับ”

องค์กรชั้นนำและรัฐบาลประเทศต่างๆ ดูจะคล้อยตามเหตุผลของเขา ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกเร่ออกแบบอาคารรัฐสภาหลังใหม่ให้ประเทศเบนินซึ่งใกล้เสร็จแล้ว เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 เกเร่เป็นสถาปนิกชาวแอฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัล พริตซ์เคอร์ (Pritzker Prize) ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติที่สุดในแวดวงสถาปัตยกรรม

เรื่อง ปีเตอร์ ชวอร์ตซ์สตีน 

ภาพถ่าย โมอิเสส ซามาน

ติดตามสารคดี สร้างจากดิน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/570167


อ่านเพิ่มเติม สร้าง บ้านวิชาเยนทร์ ของฟอลคอนขึ้นใหม่ จากหลักโบราณคดี-สถาปัตยกรรม

Recommend