สร้าง บ้านวิชาเยนทร์ ของฟอลคอนขึ้นใหม่ จากหลักโบราณคดี-สถาปัตยกรรม

สร้าง บ้านวิชาเยนทร์ ของฟอลคอนขึ้นใหม่ จากหลักโบราณคดี-สถาปัตยกรรม

จากเคหสถานพ่อค้าเปอร์เซียสู่ บ้านวิชาเยนทร์

ณ บริเวณสามแยกระหว่างถนนวิชาเยนทร์และถนนฝรั่งเศสที่ตัดตรงมาจากพระราชวังนารายณ์ภายในชั่วระยะเวลาเดินเท้าไม่ถึงห้านาที คือที่ตั้งของบ้านหลังนี้ ที่ผ่านมามักเข้าใจกันว่าอาคารทั้งหมดในพื้นที่ บ้านวิชาเยนทร์ เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกที่สร้างขึ้นโดยฟอลคอนแต่เพียงผู้เดียว มีเพียงจอห์น แอนดรูว์ ลิสโตแพด ผู้ทำปริญญาเอกเรื่อง The Art and Architecture of the Reign of Somdet Phra Narai เสนอต่อมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อปี1995 ที่เสนอว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นเคหสถานของพ่อค้าชาวเปอร์เซียมาก่อน และถูกยึดเป็นของพระนารายณ์ในภายหลัง

แม้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า บ้านหลังนี้เคยเป็นของผู้ใด แต่ข้อเสนอของลิสโตแพดนี้ทำให้ผมอดนึกย้อนไปถึง ชะตากรรมของออกพระศรีนวรัตน์ ผู้เป็นขุนนางชาวอิหร่านคนสำคัญที่ถูกสมเด็จพระนารายณ์ปลดจากตำแหน่งไม่ได้ และเมื่อลองคิดจินตนาการว่า บ้านหลังนี้อาจเคยเป็นของออกพระศรีนวรัตน์ ก่อนการขึ้นมามีอำนาจของฟอลคอน ก็น่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย

สำหรับผมในฐานะสถาปนิก โจทย์ที่น่าขบคิดคือบ้านหลังนี้ รวมทั้งอาคารหลังอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน มีความหมายอย่างไรกับคนที่กำลังก้าวขึ้นมาดูแลกิจการด้านการค้าและการต่างประเทศของราชสำนักแทนพวกอิหร่าน

ในด้านการค้า แน่นอนว่าบ้านหลังนี้คือสถานที่ที่ฟอลคอนใช้พบปะพูดคุยกับบรรดาผู้ค้าจากนานาชาติ เพราะปรากฏหลักฐานว่า เขาใช้บ้านหลังนี้ต้อนรับแขกเหรื่อที่เข้ามาติดต่อกับราชสำนักอยุธยาเสมอ ด้านการต่างประเทศ บ้านวิชาเยนทร์คือบ้านใกล้เรือนเคียงกับ “บ้านหลวงรับราชทูต” ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ฟอลคอนเป็นผู้รับผิดชอบสร้างขึ้นบนแปลงที่ดินที่อยู่ถัดไปทางตะวันออก

ส่วนด้านศาสนา การสร้างโบสถ์คริสต์ชื่อนอตเทรอดามเดอลอแรต (Notre Dame de Laurette) ขึ้นในบริเวณบ้าน อาจไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงโรงสวดส่วนตัว แต่มีนัยทางการเมืองมากไปกว่านั้น ทั้งหมดนี้ เราอาจทำความเข้าใจจากการปะติดปะต่อหลักฐานทางสถาปัตยกรรม โดยเริ่มจากโบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์และบ้านหลวงรับราชทูตที่ผุพังลงมากแล้วนั่นเอง

ช่วง พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรขุดสำรวจพื้นที่เอกชนตรงข้ามวัดสันเปาโล พบฐานอิฐและโครงกระดูกมนุษย์ จนทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่าอาจเป็นของพระปีย์ โอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์และของฟอลคอน แต่พิสูจน์ทราบภายหลังว่าน่าจะเป็นโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์

เมื่อราวห้าหกปีก่อน ในช่วงที่ศึกษารูปแบบสันนิษฐานของบ้านวิชาเยนทร์ ผมกับทีมงานต้องไปที่โบราณสถานแห่งนี้หลายครั้ง สิ่งที่สะดุดตาพวกเราเป็นอย่างแรก ไม่ใช่มุมสวยๆไว้ถ่ายรูป แต่เป็นซากอาคารเจียนพัง หลังคาที่หายเกลี้ยง ผนังอิฐก็เปื่อยยุ่ย กรอบประตูหน้าต่างที่บางแห่งเหลือแต่เศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย และที่สำคัญคือคือร่องรอยโครงสร้างที่เดิมทำจากไม้ ซึ่งพอนานไปก็ผุพังย่อยสลายไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงรอยประทับฝากน้ำหนักไว้กับพื้นและผนัง

อาจจะฟังดูหดหู่ แต่ทุกครั้งที่ไป พวกเราต้องไปดูสิ่งที่ “น่าเวทนา” เหล่านี้เสมอเพื่อนึกปะติดปะต่อรูปแบบ ที่ครั้งหนึ่งมันเคยมี ครั้งหนึ่งมันเคยเป็น หากใช้คำของศาสตราจารย์พิเศษ เสนอ นิลเดช ปรมาจารย์ด้านการสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมมาอธิบายการกวาดสายตาหาลักษณะของอาคารจากร่องรอยที่ยังเหลืออยู่นี้ ก็ต้องเรียกว่ามองหา “รูเต้า” เพราะ “เต้า” คือชื่อขององค์ประกอบหนึ่งของโครงสร้างหลังคาที่มักวางพาดหรือเสียบฝากไว้กับผนัง การรู้ตำแหน่งของเต้าจะช่วยให้การสันนิษฐานรูปทรงหลังคาเป็นไปอย่างมีทิศทาง ไม่มั่ว และจะทำให้เห็นภาพส่วนอื่นๆของอาคารต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารในอดีตที่หลงเหลือแต่ซาก ประเด็นสำคัญคือต้องเริ่มจากการทำแบบสำรวจรังวัดซากโบราณสถานนั้นอย่างละเอียด เพราะเป็นกุญแจที่จะนำเราไปสู่การทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของอาคาร ตลอดจนมองเห็นรายละเอียดยิบย่อยที่ช่วยชี้ทางถึงรูปแบบที่แท้จริงในอดีตง การสันนิษฐานที่ดีย่อมไม่เกิดขึ้น หากปราศจากการเก็บข้อมูลซากอาคารและการเคารพต่อหลักฐานอย่างเคร่งครัด

ใช่เพียงเท่านั้น ผู้สันนิษฐานยังต้องนำข้อมูลที่ได้จากซากปรักเหล่านี้ไปวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานประเภทอื่น เช่น การขุดค้นทางโบราณคดี บันทึกร่วมสมัยของชาวต่างชาติที่บรรยายสภาพสิ่งที่ตนพบเห็น ประกอบกับการใช้จินตนาการถึงความเป็นไปได้ต่างๆ สุดท้ายจึงสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรม (visual reconstruction) อันรวมถึงการสันนิษฐานการใช้งานในอดีตของอาคาร จากข้อมูลที่ต้องรวบรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

รูปแบบสันนิษฐานทางสถาปัตยกรรม (visual reconstruction) ของบ้านวิชาเยนทร์

สถาปัตย์สันนิษฐานบ้านวิชาเยนทร์

ภายในรั้วรอบขอบชิดของโบราณสถานแห่งนี้แบ่งเป็นสามส่วน มีกำแพงกั้นแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ได้แก่ บ้านวิชาเยนทร์ทางฝั่งตะวันตก บ้านหลวงรับราชทูตฝั่งตะวันออก โดยมีเขตพัทธสีมาและโบสถ์คริสต์อยู่ตรงกลาง การเรียงลำดับจากฝั่งตะวันตกมาตะวันออกเช่นนี้สัมพันธ์กับพัฒนาการก่อสร้างที่ขยายตัวตามกาลเวลา บ้านฟอลคอน (ที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นของพ่อค้าเปอร์เซียมาก่อน) อยู่ในกลุ่มอาคารเก่าแก่ที่สุดทางฝั่งตะวันตก ถัดไปทางหลังบ้านยังมีอาคารบริวารอีกสองหลัง คือโรงอาบน้ำและซากอาคารที่เชื่อกันว่าเป็นเรือนพักอาศัยของคนเฝ้าประตู

บ้านหลังใหญ่ของฟอลคอน เป็นอาคารที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มโบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์ สันนิษฐานว่าฟอลคอนน่าจะย้ายเข้ามาพำนักอาศัยที่บ้านหลังนี้ใน พ.ศ. 2226 (ค.ศ. 1683) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โกษาเหล็กถึงแก่กรรม และฟอลคอนเพิ่งได้รับการอวยยศขึ้นเป็นออกพระฤทธิ์กำแหงหรือผู้ช่วยพระคลัง

มีเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อันที่จริงสมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานตำแหน่งพระคลังให้แก่ฟอลคอน แต่เขาปฏิเสธ เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าตนไม่มักใหญ่ใฝ่สูงแล้ว การอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงจนเกินไปยังทำให้แสวงหาผลประโยชน์ได้สะดวกกว่า และสุดท้ายก็เป็นจริงดังนั้น เพราะเพียงไม่นาน ออกญาวังที่ขึ้นมาดูแลพระคลังแทนโกษาเหล็กก็ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยข้อหาใส่ร้ายฟอลคอน พระคลังคนต่อมาคือออกญาพระเสด็จก็ไม่สันทัดในตำแหน่งที่ได้รับ สุดท้ายฟอลคอนที่เป็นผู้ช่วยจึงเข้ากุมอำนาจด้านการค้าและการต่างประเทศไว้จนเกือบเบ็ดเสร็จ ไม่ต่างจากเป็นพระคลังเสียเอง บ้านที่เขาได้รับพระราชทานให้ย้ายเข้ามาจึงอยู่ถัดไปจากบ้านพระคลัง ตามที่ปรากฏในแผนที่เก่าที่เขียนขึ้นโดยบาทหลวงฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบเจ็ด โดยต่อมาบ้านหลังนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา ในฐานะเป็นสถานที่ต้อนรับคณะราชทูตจากฝรั่งเศสที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีในนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

ใน ค.ศ. 1685 คณะราชทูตฝรั่งเศสที่นำโดยเชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) เดินทางมา เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แด่สมเด็จพระนารายณ์ที่กรุงศรีอยุธยา และได้เดินทางขึ้นมาเข้าเฝ้าพระองค์ที่ลพบุรีด้วย

“ลับลมคมใน” ในบ้านวิชาเยนทร์ (ขวา) และบ้านหลวงรับราชทูต (ซ้าย) การที่อาคารทั้งสองตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันย่อมมีนัยสำคัญแสดงถึงอำนาจของฟอลคอน ผู้เป็นขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ แต่อำนาจและบทบาทดังกล่าวเป็นสาเหตุของความหวาดระแวงและความขัดแย้งที่ตามมา

อย่างไรก็ตาม ที่พักรับรองคณะราชทูตที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันนั้นยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีการใช้บ้านฟอลคอนเป็นที่ต้อนรับราชทูตแทน บาทหลวงตาชาร์ หนึ่งในคณะเยซูอิตที่ร่วมลงเรือเดินทางมาในครั้งนั้น ได้บันทึกไว้ว่า “ทางการได้จัดรับรองท่านราชทูตที่ทำเนียบของ ม.ก็องสตังซ์… เสนาบดีผู้นี้ได้ออกมารับท่านราชทูต และกล่าวขึ้นแก่ท่านพร้อมกับมองมาทางเราอย่างนอบน้อมว่า เมื่อได้ตระหนักในความกรุณาที่ท่านได้ให้แก่ภราดาของเขาแล้ว เขาก็หวังว่าท่านราชทูตคงจะไม่รังเกียจที่จะพำนักอยู่ในบ้านช่องห้องหออันเป็นเคหสถานของพวกเขา”

จากการสำรวจ เราพบหลักฐานการปรับปรุงบ้านหลังใหญ่หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อผนังเพื่อกั้นห้องเพิ่มเติม การต่อเติมพื้นชั้นสองบางส่วน ทำบันไดให้ขึ้นได้จากทางหลังบ้าน รวมทั้งการอุดหน้าต่างบางบาน เจาะหน้าต่างบางตำแหน่งเพิ่ม ร่องรอยการต่อเติมดัดแปลงที่พบในแทบจะทุกด้านของผนังบ้านมีลักษณะพิเศษชนิดที่ไม่มีในอาคารหลังอื่น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า หากไม่ได้มีสาเหตุมาจากการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้รับรองคณะราชทูต เดอ โชมอง ก็คงเป็นการดัดแปลงในคราวที่ฟอลคอนย้ายเข้ามาอยู่ใน พ.ศ. 2226 (ค.ศ. 1683) โดยเขาต้องการดัดแปลง “บ้านพ่อค้าแขก” ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง หรือไม่ก็อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

แม้จะผ่านการดัดแปลงมาแล้ว แต่บ้านหลังนี้ก็ยังคงลักษณะรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ที่แม้แต่เดอ โชมอง ยังสังเกตได้ถึงความพิเศษนี้ “ข้าพเจ้าพบว่าบ้าน…หลังนี้สร้างขึ้นในแบบมัวริส สร้างขึ้นดีพอควรตามแบบพื้นเมือง บริเวณทางเข้าบ้านจะผ่านสวนที่มีน้ำพุอยู่หลายแห่ง ในสวนแห่งนี้เมื่อเราเดินขึ้นบันไดไป 5-6 ขั้นจะพบบ้านฤดูร้อนสูงโล่ง ปลอดโปร่ง ข้าพเจ้าได้เห็นโรงสวดที่สวยงาม และห้องพักสำหรับคณะผู้ติดตามข้าพเจ้า” การก่อสร้างและตกแต่ง เช่นสถาปัตยกรรมมัวริส ทางเข้าที่ผ่านสวน น้ำพุ และขั้นบันไดห้าถึงหกขั้น ยังเหลือร่องรอยให้เห็นถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าฟอลคอนสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งานส่วนตัวในบ้านของเขา เช่น ครัว บ่อน้ำ และเรือนคนใช้ แต่อาคารที่ดูจะสร้างไว้สำหรับการเจรจาทางการค้า อันเป็นภารกิจสำคัญของฟอลคอน น่าจะได้แก่อาคาร ทรงจั่วมีชั้นใต้ดินที่อยู่ถัดออกไปทางตะวันออกของบ้านหลังใหญ่ อาคารหลังนี้สร้างล้ำมาทางด้านหน้าบ้านหลังใหญ่กว่าครึ่งอาคาร ซ้ำประตูด้านหน้ายังมีขนาดความกว้างกว่าประตูบานอื่นในบ้านวิชาเยนทร์ คือกว้างถึง 1.90 เมตร ลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้บ่งบอกว่าอาคารมีหน้าที่ในการต้อนรับ โดยอาจเป็นอาคารรับรองแขกเหรื่อที่มีการจัดเตรียมและเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ ซึ่งอาจเก็บไว้ในบริเวณชั้นใต้ดิน อันเป็นกิจกรรมที่ชาวต่างชาติซึ่งฟอลคอนเคยให้การต้อนรับได้บันทึกไว้

ในการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อพ.ศ. 2563 พบอ่างอาบน้ำจำนวน 3 อ่าง ภายในอาคารโครงสร้างหลังคาโค้ง จึงเป็นที่แน่ชัดว่า อาคารนี้คือโรงอาบน้ำ ไม่ใช่โรงอบขนมปังอย่างที่เคยเข้าใจ

โรงอาบน้ำ การขุดแต่งทางโบราณคดีใน พ.ศ. 2563 เผยหลักฐานอันน่าตื่นตาซึ่งช่วยยืนยันหน้าที่ใช้สอยของอาคารขนาดย่อมหลังนี้อย่างชัดเจน นั่นคือการพบอ่างแช่น้ำฝังดินจำนวนสามอ่าง และระบบการวางท่อน้ำดินเผา เพื่อนำน้ำที่กักเก็บในบ่อภายนอกเข้าสู่อ่าง การค้นพบครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะตรงกับที่ อี.ดับเบิลยู. ฮัตชินสัน เคยบันทึกไว้เมื่อครั้งเข้ามาสำรวจบ้านวิชาเยนทร์ในพ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) แต่ต่อมาอ่างเหล่านัั้นถูกดินกลบหมดสิ้น จึงทำให้เข้าใจว่าอาคารหลังนี้คือโรงอบ ขนมปัง ความที่มีคราบราสีดำขนาดใหญ่บนฝ้าเพดาน จนมองดูคล้ายคราบเขม่าอันเกิดจากควันไฟ

นอกจากห้องที่พบอ่างอาบน้ำแล้ว ในอาคารหลังเดียวกันยังมีอีกห้องหนึ่งที่ขนาดใกล้เคียงกับห้องแรก

แต่ชัดเจนว่ามีบานประตูหน้าต่างมากกว่า และหากดูจากร่องรอยโครงสร้างอาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ห้องนี้มีโครงสร้างหลังคาเป็นทรงจั่วทำด้วยไม้ ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างโค้งก่ออิฐแบบห้องแรกอย่างเห็นได้ชัด จึงสันนิษฐานได้ว่าอาคารหลังนี้เป็นโรงอาบน้ำที่มีทั้งห้องร้อน (hot room) และห้องเย็น (cold room) วางตัวอยู่คู่กันตามแบบฉบับที่ปรากฏในวัฒนธรรมชำระล้างของเปอร์เซีย และแน่นอนว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง อาคารหลังนี้ก็ย่อมต้องเคยเป็นของพ่อค้าเปอร์เซีย มาก่อนนั่นเอง

โบสถ์น้อยนอตเทรอดามเดอลอแรต อาคารหลังถัดไปที่ฟอลคอนดำริให้สร้างขึ้นคือโบสถ์นอตเทรอดามเดอลอแรต ตั้งอยู่ในเขตพัทธสีมาซึ่งคั่นกลางระหว่างบ้านฟอลคอนและบ้านหลวงรับราชทูต โบสถ์หลังนี้คงจะเริ่มสร้างทันทีหลังฟอลคอนย้ายเข้ามาอยู่บ้าน (ซึ่งตอนนั้นเขาได้หันมานับถือนิกายคาทอลิกแล้วหนึ่งปี) และเสร็จพอใช้งานได้ในอีกสามปีถัดมา ในคราวที่เดอ โชมองมาเข้าพักที่บ้านฟอลคอน และตกแต่งเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2230 (ปี1687) ปีเดียวกับที่คณะผู้แทนพระองค์ชุดที่สอง นำโดยซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่ลพบุรี โดยในวันที่ 21 พฤศจิกายนปีเดียวกัน มีการจัดพิธีฉลองโบสถ์ขึ้นอย่างเอิกเกริก “ไม่ผิดกันกับที่เคยทำพิธีชนิดนี้ในประเทศฝรั่งเศสเลย”

โครงสร้างอาคารหอดูดาว ณ โบราณสถานวัดสันเปาโล สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยความสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมและวิทยาการจากดินแดนต่างๆ ของพระองค์ ทำให้อยุธยารับวิทยาการหลากหลาย เช่น การดูดาวและดาราศาสตร์

แม้จะเป็นโบสถ์คริสต์ แต่ซากของโรงสวดหลังนี้บ่งบอกชัดเจนว่ามีรูปแบบละม้ายคล้ายอาคารในพุทธศาสนา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตาชาร์ได้บรรยายลักษณะหลังคาไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลังคาโรงสวดหลังนี้ทำซ้อนเป็นสามชั้นเหมือนหลังคาพระอุโบสถ” ส่วนการตกแต่งภายในของโบสถ์หลังนั้นเพียบพร้อมไปด้วยศิลปะ “นานาชาติ”

น่าสงสัยว่าโบสถ์ที่แม้จะไม่ใหญ่มาก แต่กลับงดงามอลังการเกินจะเรียกเป็น “วัดน้อย” หลังนี้ ฟอลคอนสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อใช้เป็น “โรงสวดส่วนตัว” ของตนเองเท่านั้นหรือ

ประเมินจากสถานการณ์ที่สมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอน และฝรั่งเศส ต่างกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น เราอาจลองตั้งสมมติฐานได้ว่า การสร้างโบสถ์นอตเทรอดามเดอลอแรต อาจเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของเขา เพราะยิ่งประชาคมชาวคริสต์และฝรั่งเศสเป็นเส้นทางสู่อำนาจและลาภยศมากเท่าใด การสร้างโบสถ์ขึ้นในบริเวณบ้านพักของตนเอง ย่อมเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่พันธมิตรใหม่ทางการเมืองกลุ่มนี้มากขึ้นเท่านั้น การจัดงานฉลองโบสถ์แห่งนี้ ขึ้นอย่าง “เอิกเกริก” แทนที่จะจัดอย่างเงียบๆในฐานะโบสถ์ส่วนตัว ก็ไม่ต่างอะไรจากการป่าวประกาศให้สาธารณชนรับรู้ ถึงความสำคัญที่ฟอลคอนให้กับประชาคมชาวคริสต์ นอกจากนี้ การสร้างโบสถ์คริสต์ให้มีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนโบสถ์พุทธในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังอาจเป็นการสร้าง “กลอุบาย” ชักจูงให้บรรดาชาวพุทธเข้ารีตโดยไม่รู้สึกแปลกแยก

หากพิจารณาจากพัฒนาการของหมู่อาคารในบริเวณบ้านวิชาเยนทร์ ตั้งแต่การปรับปรุงบ้านเปอร์เซียจนถึงพิธีเฉลิมฉลองโบสถ์อย่างยิ่งใหญ่นี้ ก็คือช่วงเวลาที่ชีวิตทางการเมืองของฟอลคอนพุ่งทะยานถึงจุดสูงสุด

แต่พียงไม่กี่เดือนหลังจากคณะผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลยุส์ที่ 14 ชุดที่สองเดินทางกลับฝรั่งเศสแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เคยเป็นใจก็กลับพลิกผันภายในเวลาสั้นๆ เพียงหกเดือน ชีวิตที่เคยสว่างโชติช่วงก็ดับวูบลง

เรื่อง พินัย สิริเกียรติกุล

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ภาพประกอบ พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน

ติดตามสารคดี บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟอลคอน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/557158

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ่านเพิ่มเติม ฟอลคอน คือใคร? รู้จักประวัติขุนนางต่างชาติผู้สร้างตัวได้อย่างโลดโผนยุคอยุธยา

Recommend