ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

(ซ้าย) ภาพจำลองโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ขอบคุณภาพจาก Facebook: Chao Phraya for All (ขวา) รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา


‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ หรือโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการที่กรุงเทพมหานครตั้งเป้าจะสร้างเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลและเสียงคัดค้านมากมายจากหลายฝ่าย

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีจุดประสงค์ของโครงการว่า เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้ชาวกรุงเทพมหานครได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเท่าเทียมกัน เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมของสาธารณะ เพิ่มทางสัญจรริมน้ำ เช่น ทางเดินเท้า ทางจักรยานที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงพัฒนาทัศนียภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

รายละเอียดการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำดังกล่าวมีระยะทางเส้นทางทั้งสองฝั่งอยู่ที่ 12.45 กิโลเมตร (จากแผนเดิม 14 กิโลเมตร เนื่องจากต้องการหลบหลีกพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์) โดยเส้นทางจะเริ่มจากช่วงที่ 1. ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานในฝั่งพระนคร 2. จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัดในฝั่งธนบุรี 3. ช่วงจากกรมชลประทานถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งพระนคร และ 4. จากคลองบางพลัดถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฝั่งธนบุรี

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ไปจรดกรมชลประทาน ริมถนนสามเสน เขตดุสิต ฝั่งพระนคร และเขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี ขอบคุณภาพจาก Facebook: Chao Phraya for All

โดยทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 12 แผนงานใหญ่ของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในชื่อ “Chaophraya for All” อันได้แก่

1. ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
2. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน
3. พัฒนาท่าเรือ
4. พัฒนาศาลาท่าน้ำ
5. พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ
6. พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
7. ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์
8. พัฒนาพื้นที่ชุมชน
9. อนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน
10. พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ
11. พัฒนาจุดหมายตา (แลนด์มาร์ก) ริมแม่น้ำ
12. พัฒนาสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม แม้กรุงเทพมหานครจะวาดฝันโครงการเอาไว้สวยงามและเริ่มต้นมาเป็นเวลานานนับปี แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากมายนัก เนื่องจากยังต้องผ่านขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้างมากมาย และที่สำคัญคือโครงการต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์การด้านสถาปนิก เครือข่ายวัฒนธรรม รวมไปถึงชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ในขณะที่โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 กลุ่มสมัชชาแม่น้ำที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 35 องค์กรได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม รวมถึงมีผลในด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ผังเมือง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ เนื่องจากการก่อสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ และมีการแจ้งวัตถุประสงค์ให้ยุติโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

หนึ่งในแกนนำผู้คัดค้านโครงการนี้คือ รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย ที่ได้ให้เหตุผลคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวใน 6 ประเด็นหลัก มีใจความสำคัญดังนี้

1. รูปแบบทางเดินและทางจักรยานที่อยู่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.25 เมตร และต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในปัจจุบันประมาณ 1.00 เมตร จะทำลายความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวของบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

2. ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวแม่น้ำ เเต่ควรเลือกเฉพาะพื้นที่บางส่วนที่มีศักยภาพในด้านความงามและการเข้าถึงได้อย่างสะดวก โดยไม่กระทบต่อชุมชนและบ้านเรือนริมน้ำ

3. ในช่วงเวลากลางคืนอาจกลายเป็นพื้นที่มั่วสุมหรือทำกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายได้

4. ลดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนริมน้ำ

5. กระทบต่อทัศนียภาพและเอกลักษณ์ของพื้นที่ริมฝั่งเเม่น้ำเจ้าพระยา

6. โครงการไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บท และขาดความเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆในเมืองและภาคมหานครโดยสิ้นเชิง

เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของการคัดค้านดังกล่าวให้มากขึ้น เราจึงสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา เพื่อขยายความเข้าใจว่าโครงการนี้จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไร และไขคำตอบว่า โดยสรุป โครงการนี้สมควรมีอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือไม่ หรือควรเป็นไปในรูปแบบใด

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย

พื้นที่ริมน้ำมีความสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างทางให้เป็นแนวยาวตลอดแม่น้ำ

ที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ มีทิวทัศน์ สภาพแวดล้อม เเละบรรยากาศที่ดี แต่คำถามสำคัญคือเราต้องการพื้นที่ริมน้ำตลอดแนวแม่น้ำหรือไม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องมีตลอดแนวแม่น้ำ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ประชาชนควรเข้าถึงได้ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีทางเลียบตลอดแนวสองฝั่งเเม่น้ำ

เรามีพื้นที่มากมายเวลาเวนคืนทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้งสองฝั่งของสะพานจำเป็นต้องถูกเวนคืนเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุง ทำให้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของรัฐริมฝั่งเเม่น้ำอีกมากมาย ทั้งอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ โรงภาษีร้อยชักสาม ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ของภาคเอกชนที่เขาเห็นประโยชน์เเล้วพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โครงการเอเชียทีคฯ ที่เปิดพื้นที่ริมน้ำบนฝั่งโดยไม่ต้องลงไปในแม่น้ำ

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
ภาพถ่ายจาก https://www.baanlaesuan.com/172419/news-update/chaopraya-for-all

การมีทางเลียบตลอดแนว แน่นอนว่าน้ำต้องไม่ท่วม ฉะนั้นทางเดินต้องอยู่สูงกว่าระดับน้ำที่อาจท่วมถึง หรือในระดับสองเมตรกว่า ขณะที่บ้านเรือนริมน้ำบางหลังเป็นบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือทางเดินริมแม่น้ำจะอยู่ที่ระดับความสูงเท่ากับชั้นสองของบ้านพอดี ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือทำไว้สำหรับออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ จึงต้องมีทั้งคนเดิน วิ่ง เเละปั่นจักรยานกันตั้งแต่เช้ามืด ส่งเสียงจอเเจ หรือบางวันอาจมีกิจกรรมกันถึงดึกดื่น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นข้างห้องนอนของพวกเขา

ในระดับความสูงเท่านี้คนปีนเข้าบ้านคนได้อย่างสบาย แล้วจะหาความปลอดภัยได้อย่างไร หรือหากจะมาอ้างว่ามีเขื่อน (ริมแม่น้ำ) อยู่แล้ว แต่เขื่อนก็ไม่มีคนใช้ มันทำให้วิถีของชุมชนหายไป ความเป็นส่วนตัวของคนริมน้ำก็หายไป ถ้าจะบอกว่าเพื่อเป็นการป้องกันคนบุกรุกริมน้ำ ก็ต้องเอากฎหมายไปจัดการ ไม่ใช่ทำทางเดินตลอดแนว แล้วมาเบียดเบียนบ้านเรือนริมน้ำที่เขาถูกกฎหมาย

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาต้นทุนการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ไม่จำเป็น – กระทบการป้องกันสาธารณภัย

ทางเลียบนี้จะเพิ่มปัญหาและต้นทุนด้านการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยทางเลียบริมแม่น้ำนี้อย่างไรก็เป็นเส้นทางสาธารณะ ต้องออกแบบเป็นถนนให้รถขึ้นไปวิ่งได้ เพราะต้องทำความสะอาด จะต้องเอาของไปใส่ ต้องติดไฟ หรือจะทำแบบไม่ให้รถขึ้นไป อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะอย่างไรก็ต้องมีรถให้บริการ ในกรณีเกิดมีคนเจ็บป่วยบนนั้น หรือเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องมีรถขึ้นไป และยังมีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัย เหมือนสะพานลอยตอนมืดที่ไม่ปลอดภัย โครงการยิ่งจำเป็นต้องมีกล้องวงจรปิด

แต่คำถามคือทำไมเราต้องเอาเงินภาษีไปติดกล้องในที่แบบนี้ แล้วถ้าบอกว่าเป็นทางจักรยาน แสดงว่ารถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องขึ้นได้ ต้องมียามมาเฝ้า ต้องสร้างระบบรักษาความปลอดภัยอีกมากมาย ทั้งที่แต่เดิมมันปลอดภัย เเต่พอมีโครงการกลับกลายเป็นไม่ปลอดภัย แล้วไหนจะมีต้นทุนทั้งค่าทำความสะอาด ค่าไฟฟ้า ตามมาอีก ทั้งที่เรามีพ็อกเก็ตพาร์ก (Pocket Park – พื้นที่สวนใช้งานเล็กๆภายในเมือง) ของภาครัฐหลายแห่งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางที่ใช้เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งอพยพผู้คนในยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ ในตอนนี้เรือดับเพลิงเข้าไปถึงริมเขื่อนได้ ฉีดน้ำได้ไกล สามารถดับเพลิงได้ เวลามีคนเจ็บป่วยในบ้านหรือตึกริมน้ำ เจ้าหน้าที่สามารถนำส่งผู้ป่วยลงเรือได้โดยตรง เเต่ถ้ามีทางเลียบก็จะทำได้ยากขึ้น เรือเข้าริมตลิ่งไม่ได้ ฉีดน้ำก็ไม่ได้ ความสามารถในการป้องกันภัยในด้านการเข้าถึงจากริมน้ำก็หายไป

แสงระยิบระยับจากบรรดาตึกระฟ้า รวมทั้งชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์ของคอมมูนิตีมอลล์ชื่อดังริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นทัศนียภาพอันงดงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือน ทุกวันนี้ ที่ดินริมแม่น้ำในเขตใจกลางเมืองถูกยึดครองโดยธุรกิจท่องเที่ยวและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ทางเลียบริมแม่น้ำ ไม่อาจช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว – ขัดวิถีชีวิตคนไทย

โครงการนี้เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ภาพจำของการท่องเที่ยวในประเทศไทยคือพื้นที่ริมน้ำอย่างพระปรางค์วัดอรุณฯ เเละพระบรมมหาราชวังที่โดดเด่นเป็นสง่า เเซมด้วยหมู่อาคารบ้านเรือนขนาดเล็กริมน้ำ ทัศนียภาพไทยๆเเบบนี้ไม่มีให้เห็นในเมืองนอก ผมเดาว่าโครงการนี้เกิดจากการไปเห็นทางเลียบแม่น้ำของเมืองนอก เเต่เราต้องตีความกันใหม่ว่าทางเลียบแม่น้ำของเมืองนอกนั้นแตกต่างจากวิถีของคนไทย คนอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร น้ำในแม่น้ำไม่ว่าจะฤดูไหน น้ำก็ยังคงเต็มอยู่ตลอดเวลา เเละน้ำไม่เป็นน้ำแข็ง ขณะที่ประเทศอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเส้นศูนย์สูตร น้ำในแม่น้ำแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกันมาก หน้าหนาวเป็นน้ำแข็ง หน้าแล้งไม่มีน้ำ หน้าฝนระดับน้ำขึ้นสูง น้ำในแม่น้ำของเขาไม่ได้ปลอดภัย และเป็นคุณเท่าบ้านเรา

“เขาไม่ได้ต้องการอยู่ใกล้น้ำ เขาต้องการหนีออกไปจากน้ำ เพราะสำหรับพวกเขา น้ำคือความเสี่ยงภัย แต่ประเทศไทย ด้วยความที่ระดับน้ำต่างกันไม่มากในเเต่ละฤดู น้ำของไทยจึงเป็นคุณ ชุมชนของไทยจึงอยู่ริมน้ำ และปรับตัวเองให้สร้างบ้านยกพื้นสูง นั่นคือวิถีชีวิตเเบบไทยที่มีบ้านอยู่ริมน้ำ แล้วก็มีวัด วัง ตามมากับตัวชุมชน นั่นคือภาพจำของประเทศไทย”

นุ นัด และเดฟ หรือที่พวกเขาเรียกแทนตัวเองว่า “แฝดนรก” เติบโตมากับชีวิตริมฝั่งเจ้าพระยา สามพี่น้องเกิดในครอบครัวคนเรือรับจ้างขนถ่ายสินค้า แม้ทุกวันนี้ครอบครัวของพวกเขาจะขายเรือที่ใช้ทำมาหากินไปแล้ว ทว่าสามพี่น้องยังคงหาเวลาว่างมาดำผุดดำว่ายในแม่น้ำที่พวกเขาเติบโตขึ้น ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

“นักท่องเที่ยวมานั่งเรือ เขาอยากถ่ายรูปกับภาพเหล่านี้ ไม่ได้อยากถ่ายภาพทางเลียบแม่น้ำแบบที่บ้านเขามี เท่ากับเราทำลายอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของประเทศไทย ด้วยองค์ประกอบหรือทางเลียบแม่น้ำที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย แล้วที่บอกว่าสวยงาม เห็นรูปต่างๆที่เอามาลงแล้วมันสวยงาม คุณจะเห็นว่าระดับน้ำกับระดับของทางเดินใกล้กันมันดูสวย แต่ปรากฏการณ์นั้นมีแค่ 1 ชั่วโมงต่อวันในช่วงเวลาน้ำขึ้นสูงสุด ช่วงเวลาที่เหลือคุณจะได้เห็นเสาลอยๆ มีตะไคร่เกาะเต็มไปหมด”

ย้ำอีกทีว่าเราไม่ได้คัดค้านการมีพื้นที่สาธารณะ แต่ที่คัดค้านคือรูปแบบของโครงการที่มันล้ำลงไปในแม่น้ำ

โครงการที่แม้แต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด

โครงการขนาดใหญ่นี้มีผลต่อประชาชนเเละประเทศ เเต่กลับไม่ได้อยู่ในแผนของใครคนใดคนหนึ่งเลย ไม่เหมือนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา สื่อสาร เขามีส่วนร่วมในการทำงานตลอดแนวรถไฟความเร็วสูง สิ่งต่างๆถูกวางระบบไว้เพื่อตอบสนองต่อการใช้งาน ในขณะที่ทางเลียบเเม่น้ำควรมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ชัดเจนจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือระบุผู้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดำเนินแผนงานที่ชัดเจน เพราะตอนนี้เรารู้เเต่หน่วยงานที่จะสร้าง

เเต่หน่วยงานที่จะคอยควบคุมกำกับดูเเล อย่างหน่วยงานที่ดูแลเกาะรัตนโกสินทร์ หน่วยงานสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีปรากฏ แปลว่าหน่วยงานอื่นก็ไม่ได้เอาด้วย แล้วสิ่งที่จะจัดการให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ไม่มี แสดงว่าโครงการนี้เป็นโครงการโดดเดี่ยว ไม่มีใครสนับสนุน ไม่มีหน่วยงานอื่นๆที่จะร่วมวางแผนการทำงาน หรือเพื่อยอมรับโครงการนี้ให้อยู่ในแผนงานของตัวเอง

ทางเลียบไม่น้ำเจ้าพระยา
แผนผังคร่าวๆ ที่ รศ.ดร. พนิต วาดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงเครื่องมือในการป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนริมแม่น้ำ คันป้องกันน้ำพระราชดำริ เส้นทางแม่น้ำอื่นๆ โดยรอบ หรือแม้กระทั่งอุโมงค์ยักษ์รอบกรุงเทพมหานคร ไม่จำเป็นต้องสร้างทางเลียบแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติม

ทางออกคือการไม่สร้างพื้นที่เข้าไปรุกล้ำในแม่น้ำ

สิ่งที่จะต้องคิดคือเราจะทำอย่างไรต่อ ถ้าเรายอมรับว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพดี อย่างแรกที่ต้องปรับคือนำพื้นที่ของรัฐมาใช้ แต่ทำทางเลียบที่ล้ำไปในแม่น้ำ แม้แต่รัฐเองยังไม่ให้เลย แต่คุณจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ในเมื่อพื้นที่สาธารณะของรัฐมีมากมาย พื้นที่ของรัฐก็เป็นพื้นที่สาธารณะ แล้วทำไมจึงไม่ใช้พื้นที่ของรัฐบนตลิ่งก่อน พื้นที่ภาคเอกชนที่เขาได้ประโยชน์จากพื้นที่ริมน้ำ ศูนย์การค้าทั้งหลายเขาก็ยินดีจะให้ใช้ คือผมไม่คัดค้านการมีพื้นที่สาธารณะริมน้ำ แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ตามตลิ่ง อยู่บนบกบริหารจัดการก็ง่าย ความปลอดภัยก็ดีกว่า ปัญหาเรื่องการไหลของน้ำ ขยะมาติดก็ไม่มี ต้นทุนก็ไม่สูง แล้วทำไมต้องไปลงทุนขนาดนั้น

เราปูพื้นแล้วยอมรับว่า พื้นที่ริมน้ำมีคุณภาพ แต่เราไม่ยอมรับการล้ำลงในแม่น้ำ เราไม่ยอมรับการมีทางตลอดริมแม่น้ำที่ล้ำลงไปในแม่น้ำ ซึ่งถ้าเราคิดตรงกันว่าอยากได้พื้นที่ริมน้ำที่มีคุณภาพดี เรามาหาทางออกที่สวยงาม ที่ไม่ก่อปัญหามากมายอย่างที่เป็นอยู่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ผมว่ามันมีทางออก (ในข้อขัดแย้ง) นะ เว้นเสียแต่มีใครตั้งธง ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนทางเลียบแม่น้ำอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้ หรือฝ่ายที่คัดค้านว่าต้องไม่ยุ่งกับพื้นที่ริมน้ำเลย ถ้าตั้งธงกันแบบนี้ก็ไม่มีทางจบ แต่ถ้าเห็นภาพตรงกันว่าอยากได้พื้นที่ริมน้ำคุณภาพดีเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และอื่นๆ ก็สามารถย้อนกลับมาคุยกันว่าจะเอารูปแบบไหน ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่คุณภาพดี และควรใช้งาน ซึ่งผมมองว่าปัญหาอยู่ที่รูปแบบต่างหาก

ย้ำอีกทีว่าเราไม่ได้คัดค้านการมีพื้นที่สาธารณะ แต่ที่คัดค้านคือรูปแบบของโครงการที่มันล้ำลงไปในแม่น้ำ

เรื่อง/สัมภาษณ์ เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ และ นวภัทร ดัสดุล (Room Magazine)
ภาพถ่ายบุคคล: นวภัทร ดัสดุลย์


อ่านเพิ่มเติม น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485น้ำท่วมกรุงเทพ

Recommend