แม้ เบนิโต มุสโสลินี จะต้องพบจุดจบที่ไร้เกียรติในตอนท้ายของชีวิต แต่มรดกของเผด็จการผู้โหดเหี้ยมผู้นี้ยังคงหลอกหลอนอิตาลีมากว่าหนึ่งศตวรรษ หลังเขาตั้งตนเองเป็นผู้นำ และเริ่มต้นยุคสมัยแห่งความโหดร้าย
เมื่อเดือนตุลาคม 1922 พายุลูกหนึ่งก่อตัวขึ้นที่อิตาลี ในไม่ช้า ลัทธิฟาสซิสต์ ขบวนการทางการเมืองที่ใช้ความโกรธเคืองเป็นพลัง ผสมรวมแนวคิดคลั่งชาติ ประชานิยม และความรุนแรงเข้าด้วยกันอย่างอันตรายจะกลืนกินประเทศที่บอบช้ำแห่งนี้ และโลกเกือบทั้งใบ
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำแห่งขบวนการดังกล่าวในอิตาลีรวบรวมสร้างฐานผู้ติดตามที่เข้มแข็ง และเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาล “มอบอำนาจ” ให้กับตนเอง
“ณ บัดนี้ หนทางข้างหน้ามีเพียงธนูที่พุ่งออกไป หรือไม่ก็สายธนูซึ่งถูกรั้งจนจะขาดลง!” เขากล่าวในการชุมนุมปราศัยครั้งหนึ่งที่เมืองเนเปิลส์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมในปีเดียวกัน “เป้าหมายของพวกเราไม่ซับซ้อน เราต้องการปกครองอิตาลี” เขากล่าวกับบรรดาผู้สนับสนุนว่า หากรัฐบาลไม่สละอำนาจ พวกเขาจำต้องยาตราเท้าสู่กรุงโรม สี่วันต่อมา พวกเขาก็ทำตามที่ลั่นวาจา และทิ้งร่องรอยความปั่นป่วนวุ่นวายไว้เบื้องหลัง ในขณะที่มุสโสลินียึดอำนาจ
ชื่อของมุสโสลินียังคงถูกกล่าวถึงในอิตาลีในฐานะเผด็จการผู้โหดเหี้ยม แม้จะยังมีบางคนที่บูชาเขาในฐานะวีรบุรุษก็ตาม แล้วเขาผงาดขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร และมีสิ่งใดเกิดขึ้นระหว่างการยาตราแห่งชะตากรรมที่โค่นรัฐบาลของอิตาลีลงจากอำนาจได้ในครั้งนั้น? นี่คือเรื่องราวที่คุณควรรู้
มุสโสลินี ก่อตั้งลัทธิฟาสซิสในอิตาลีได้อย่างไร
ลัทธิฟาสต์ซิสปลุกเร้าขบวนการชาตินิยมซึ่งกำลังเติบโตในยุโรปซึ่งเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการปฏิวัติบอลเชวิก หรือการโค่นล้มอาณาจักรรัสเซียโดยนักสังคมนิยมในประเทศ เมื่อปี 1917
ในอิตาลี มุสโสลินีคือผู้นำทางลัทธินี้ เขาเกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1883 ในเมืองเล็กๆ ทางภาคใต้ของอิตาลี มารดาของเขาเป็นครูในโรงเรียน ส่วนบิดาเป็นช่างตีเหล็กผู้เป็นนักสังคมนิยม และเป็นผู้เล่าเรื่องราวของแนวคิดชาตินิยมและความกล้าหาญทางการเมืองให้ลูกชายฟังในยามที่กำลังเติบโต มุสโสลินีซึ่งเป็นเด็กขี้อายและเข้าสังคมไม่เก่งต้องพบเจอปัญหาตั้งแต่วัยเยาว์เนื่องจากความเฉยชาและการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมห้องเรียนของตน ในวัยหนุ่ม เขาย้ายไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์และกลายเป็นนักสังคมนิยมผู้แข็งขัน ท้ายที่สุด เขากลับมาที่อิตาลีและตั้งตนเองเป็นนักหนังสือพิมพ์สังคมนิยม
เมื่อสงครามปะทุขึ้นทั่วยุโรปในปี 1914 อิตาลียังคงวางตัวเป็นกลางในตอนแรกสุด แต่มุสโสลินีต้องการให้อิตาลีเข้าร่วมสงคราม ซึ่งสร้างความบาดหมางระหว่างเขาและพรรคสังคมนิยมอิตาลีที่ขับไล่เขาออกจากพรรคเนื่องจากการสนับสนุนการเข้าร่วมสงคราม เขาจึงตอบโต้ด้วยการก่อตั้งขบวนทางการเมืองของตนเองนามกลุ่ม ฟาสเซสแห่งการเคลื่อนไหวปฏิวัติ (Fasces of Revolutionary Action) ซึ่งมีจุดหมายสนับสนุนการเข้าร่วมสงคราม (ท้ายที่สุด อิตาลีก็เข้าร่วมสงครามในปี 1915)
ในโรมยุคโบราณ คำว่าฟาสเซส หมายถึงอาวุธชนิดหนึ่งซึ่งทำจากแท่งไม้ที่นำมามัดรวมกัน บางครั้งจะมีขวานล้อมอยู่ อาวุธที่ผู้มีอำนาจในโรมใช้เป็นเครื่องมือลงโทษผู้กระทำความผิดนี้กลายเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ ในศตวรรษที่ 19 ชาวอิตาลีเริ่มใช้คำนี้สำหรับบรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
มุสโสลินีเชื่อมั่นขึ้นเรื่อยๆ ว่าสังคมไม่ควรถูกแบ่งตามชนชั้นทางสังคมหรือฝักฝ่ายทางการเมือง แต่ควรถูกจัดตั้งตาม “อัตลักษณ์แห่งชาติ” อันแน่นแฟ้น เขาเชื่อว่ามีเพียงเผด็จการผู้ “โหดเหี้ยมและกระตือรือร้น” เท่านั้นที่จะสามารถ “จัดระเบียบ” อิตาลี “ได้โดยสมบูรณ์” และกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาติได้
การสนับสนุนเริ่มแพร่หลาย
มุสโสลินีไม่ได้โดดเดี่ยว หลังสงคราม ชาวอิตาลีมากมายต้องผิดหวังกับสนธิสัญญาแวร์ซาย คนเหล่านี้รู้สึกว่าสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งแบ่งแยกอาณาเขตของประเทศผู้ก่อสงคราม ลบหลู่ศักดิ์ศรีของอิตาลีด้วยการแบ่งดินแดนให้ประเทศแห่งนี้น้อยเกินไป และเป็น “ชัยชนะที่พิกลพิการ” ครั้งนี้เองที่นำไปสู่อนาคตของอิตาลี
ในปี 1919 มุสโสลินีจัดตั้งขบวนการกึ่งทหารที่เขาเรียกว่ากลุ่มนักรบฟาสเซสแห่งอิตาลี (Italian Fasces of Combat) ซึ่งสืบตำแหน่งต่อมาจากกลุ่มฟาสเซสแห่งการเคลื่อนไหวปฏิวัติ กองกำลังที่มุ่งเน้นเรื่องการต่อสู้นี้มีเป้าหมายในการเกณฑ์หทารผ่านศึกผู้เจนสงครามที่สามารถกอบกู้เกียรติ์ศักดิ์ศรีของอิตาลีให้กลับมาได้มาเข้าร่วม
มุสโสลินีหวังใช้ความโกรธแค้นของผู้คนในชาติมาสร้างความสำเร็จให้ตนเอง แต่พรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนี้ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อันน่าอับอายในการเลือกตั้งรัฐสภาในปีเดียวกัน เขาได้รับการโหวตเพียง 2,420 เสียง เทียบกับ 1.8 ล้านเสียงของพรรคสังคมนิยม ทำให้บรรดาศัตรูของเขาในมิลานรู้สึกยินดีและจัดงานศพปลอมเพื่อเป็นเกียรติ์แก่เขา
มุสโสลินีผู้ไม่ย่อท้อเริ่มเข้าหาคนกลุ่มอื่นๆ ที่บาดหมางกับเหล่านักสังคมนิยม ทั้งนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจที่กลัวการชุมนุมหยุดงานและการถ่วงงาน เจ้าของที่ดินในชนบทที่เกรงว่าตนเองจะเสียที่ดิน และสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เกรงกลัวความนิยมที่มากขึ้นของแนวคิดสังคมนิยม
เหล่าพันธมิตรใหม่ผู้ทรงอำนาจของเขาได้ช่วยเหลือด้านเงินทุนให้แก่ปีกกองกำลังกึ่งทหาร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “เหล่าชายชุดดำ (the Blackshirts)” ของขบวนการเคลื่อนไหวของเขา แม้มุสโสลินีจะประกาศว่าตนเองยืนหยัดต่อต้านการกดขี่และการเซนเซอร์ทุกรูปแบบ แต่ขบวนการของเขากลับกลายเป็นที่รู้จักจากการไม่ลังเลที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างรวดเร็ว
เหล่าชายชุดดำสร้างความหวาดกลัวต่อบรรดานักสังคมนิยมและศัตรูส่วนบุคคลของมุสโสลินีไปทั่วทั้งอิตาลี ปี 1920 คือปีแห่งการนองเลือด เหล่าฟาสซิสต์ได้ยาตราผ่านเมืองต่างๆ ทุบตีทำร้าย หรือแม้แต่สังหารบรรดาหัวหน้าแรงงาน และยึดอำนาจในท้องถิ่นโดยทางปฏิบัติ แต่รัฐบาลอิตาลี ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายสังคมนิยมเช่นเดียวกับเหล่าฟาสซิสต์ กลับแทบไม่ทำสิ่งใดเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงนี้
มุสโสลินี ขึ้นสู่อำนาจ
แม้ในความเป็นจริง มุสโสลินีจะควบคุมสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธเพียงไม่กี่คน แต่ภาพลักษณ์ที่ดูเข้มแข็งดุดันของคนเหล่านี้ก็สร้างชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะผู้นำผู้แข็งแกร่งและทรงอำนาจที่สามารถทำตามคำพูดของตนได้ด้วยการลงมือที่รุนแรงและเด็ดขาดให้กับเขา เผด็จการที่รู้จักกันในนามอิลดูซ (Il Duce หรือท่านดยุก) ผู้นี้มีอิทธิพลอย่างทรงอำนาจเหนือชาวอิตาลี โดยเขาสามารถชักจูงผู้คนเหล่านี้ด้วยเสน่ห์ของตนเองและวาทศิลป์อันดึงดูด
ในปี 1921 มุสโสลินีชนะตำแหน่งในสภา และแม้จะได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมกับรัฐบาลผสมโดยจิโอวานนี จิโอลิตตี (Giovanni Giolitti) นายกรัฐมนตรีผู้คาดว่ามุสโสลินีจะสลายพลพรรคชายชุดดำเมื่อเขาได้มีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมือง
แต่จิโอลิตติตัดสินใจผิด แทนที่จะทำตามที่เขาคาดไว้ มุสโสลินีกลับตั้งใจใช้ชายชุดดำยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ในปลายปี 1921 เขาเปลี่ยนพลพรรคดังกล่าวเป็นพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ (National Fascist Party) ทำให้ขบวนการที่มีสมาชิกราว 30,000 คนในปี 1920 กลายเป็นพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกกว่า 320,000 คน แม้สิ่งนี้จะหมายถึงการประกาศสงครามต่อรัฐ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับไร้อำนาจในการยุบพรรคขวาจัดนี้และได้แต่เพียงมองดูเหล่าฟาสซิสต์ยึดอำนาจในเกือบทั่วทั้งภาคเหนือของอิตาลี
มุสโสลินีสามารถหาช่องทางยึดอำนาจได้ในฤดูร้อนของปี 1922 เมื่อเหล่าคอมมิวนิสต์ประกาศชุมนุมหยุดงานที่นักประวัติศาสตร์ Ararat Gocmen เขียนว่า “[เป็นการกระทำ]ไม่ใช่ในนามของการปรดปล่อยแรงงาน แต่เป็นการเรียกร้องอย่างสิ้นหวังให้รัฐบาลหยุดความรุนแรงของพวกฟาสซิสต์” เขาอ้างว่าการชุมนุมหยุดงานครั้งนี้คือข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลนั้นอ่อนแอและไร้ความสามารถในการปกครอง ด้วยผู้สนับสนุนใหม่ๆ ที่ต้องการกฎและระเบียบ มุสโสลินีตัดสินใจว่านี่คือเวลาของการยึดอำนาจ
มุ่งหน้าสู่กรุงโรม
ในวันที่ 25 ตุลาคม 1922 หนึ่งวันหลังจากการชุมนุมที่เนเปิลส์ มุสโสลินีคัดเลือกแกนนำพรรคสี่คนเพื่อนำทางสมาชิกไปสู่กรุงโรม ด้วยการฝึกและอุปกรณ์ที่ย่ำแย่ คนเหล่านี้ควรต้องพ่ายแพ้ในการสู้รบกับกองทัพ แต่มุสโสลินีมีความประสงค์ว่าจะข่มขู่รัฐบาลให้ยอมจำนน
กองพันฟาสซิสต์เหล่านี้จะรวมพลนอกกรุงโรม หากนายกรัฐมนตรีไม่ยอมมอบอำนาจให้แก่พวกเขา และหากกษัตริย์วิกเตอร์เอมมานูเอลที่สาม (King Victor Emmanuel III) ไม่ยอมรับรองอำนาจของเขากำลังพลที่กำลังรอคอยอยู่นี้ พวกเขาจะมุ่งหน้าเข้าในเมืองหลวงและยึดอำนาจ
เหล่าผู้สนับสนุนของเขารวมตัวกันขณะที่มุสโสลินีรออยู่ในมิลาน พวกเขาทิ้งร่องรอยแห่งความวุ่นวายตามทาง โดยการยึดที่ทำการของรัฐบาลในเมืองต่างๆ ที่พวกเขาเดินทางผ่านขณะกำลังมุ่งหน้าไปสู่โรม แม้ผู้ร่วมเดินขบวนเหล่านี้จะอ้างจำนวนสมาชิกมากกว่าความเป็นจริงอยู่เป็นนิจ เคธี ฮูลล์ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า มีผู้ร่วมการเดินเท้าครั้งนี้น้อยกว่า 30,000 คน
ลุยจิ แฟกตา (Luigi Facta) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพยายามประกาศกฎอัยการศึก แต่พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลทรงดำริว่ามุสโสลินีสามารถนำมาซึ่งความมั่นคงได้ และปฏิเสธการลงนามพระปรมาภิไทยที่บัญชาให้กองทัพระดมกำลังเพื่อต่อกรกับเหล่าฟาสซิสต์
แฟกตาและคณะรัฐมนตรีของเขาประท้วงด้วยการสละตำแหน่งในรุ่งเช้าของวันที่ 28 ตุลาคม มุสโสลินีซึ่งมีอาวุธเป็นโทรเลขจากพระเจ้าวิกเตอร์ฯ ที่เชิญให้เขาจัดตั้งคณะรัฐบาล นั่งรถชนิดมีที่นอนและเดินทางเป็นเวลา 14 ชั่วโมงจากมิลานสู่โรมด้วยความผ่อนคลาย ในวันที่ 30 ของเดือนเดียวกัน เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรี และสั่งให้คนของตนเดินขบวนต่อหน้าพระราชวังขณะพวกเขาออกจากเมือง
การร่วงหล่นจากอำนาจ และมรดกของลัทธิฟาสซิส
กษัตริย์ผู้เหนื่อยล้าจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากและสภาวการณ์ที่ใกล้เคียงกับสงครามกลางเมืองในอิตาลี พระองค์ทรงคาดว่ามุสโสลินีจะเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบ แต่ภายในสามปี บุรุษทรงอำนาจผู้นีได้กลายเป็นจอมเผด็จการอย่างเต็มตัว และพระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลกก็กลับปล่อยให้เขาทำสิ่งใดๆ ตามอำเภอใจ
ในปีต่อๆ มา มุสโสลินีสั่งสมเพิ่มพูนอำนาจของตนเองพร้อมกับค่อยๆ ลิดรอนสิทธิพลเมืองของประชาชน และก่อตั้งรัฐตำรวจอันเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ เป้าหมายของเขาแพร่ขยายออกจากขอบเขตของการเมืองภายในประเทศ ความทะยานอยากต่อการมีอาณานิคมทำให้อิตาลียึดครองเกาะ Corfu ของกรีซ รุกรานเอธิโอเปีย และจับมือเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนี ซึ่งที่สุดแล้วส่งผลให้มีการฆาตกรรมชาวอิตาลีกว่า 8,500 คนในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
ความทะเยอทะยานของมุสโสลินีคือจุดจบของเขา แม้เขาจะนำอิตาลีเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะอำนาจอักษะเคียงคู่กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ที่ดูเหมือนว่าไม่มีผู้ใดหยุดยั้งเขาได้ และผู้รับผิดชอบการทำลายล้างอย่างกว้างขวางในประเทศของตัวเอง กษัตริย์วิกเตอร์เอมมานูเอลที่สามชักจูงพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของมุสโสลินีให้หักหลังเขา และ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 1943 พวกเขาก็สามารถขับไล่เขาออกจากอำนาจได้สำเร็จและจับกุมตัวเขา
หลังการแหกคุกที่น่าตื่นตา มุสโสลินีหนีไปยังพื้นที่ของอิตาลีที่ยังคงถูกยึดครองโดยเยอรมนี ที่ซึ่งเขาถูกกดดันโดยฮิตเลอร์ให้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่อ่อนแอและมีอายุเพียงไม่นาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 1945 ในยามที่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้มาถึง เขาพยายามหนีออกจากประเทศแต่ถูกจับตัวได้โดยกองโจรคอมมิวนิสต์ ก่อนจะถูกยิงทิ้งและ นำศพไปทิ้งที่จตุรัสสาธารณะในมิลาน
ในไม่ช้า กลุ่มฝูงชนก็มารวมตัวกันและย่ำยีศพของเผด็จการผู้นี้เพื่อปลดปล่อยความเจ็บแค้นจากความเกลียดชังและการสูญเสียที่สั่งสมมานานหลายปี ศพที่จำแทบไม่ได้ของเขาถูกฝังในหลุมศพนิรนามในท้ายที่สุด และแต่แม้ชีวิตของ “อิลดูซ” จะดับสิ้นไปแล้ว มรดกของเขายังคงหลอกหลอนอิตาลีจนถึงทุกวันนี้ และขบวนการฟาสซิสต์ที่เขาเป็นผู้เริ่มต้น ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ทั้งในการเมืองของอิตาลีและความคิดของผู้คนทั่วโลก
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน