ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

แปลและเรียบเรียง กองบรรณาธิการ

ภาพถ่าย คลังภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

“ผู้คนมักพูดกันว่าราชอาณาจักรเป็นเหมือนกับพีระมิดกล่าวคือพระราชานั้นประทับอยู่บนสุด ส่วนประชาชนอยู่ด้านล่างแต่ในประเทศนี้ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม [เป็นเหมือนพีระมิดกลับหัว] ด้วยเหตุนี้บางครั้งเราจึงรู้สึกปวดแถวนี้” เมื่อตรัสถึงตรงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปกติมีพระพักตร์เคร่งขรึมดูเป็นนักวิชาการ ทรงพระสรวลขณะทรงชี้ที่พระศอและพระอังสา[บ่าหรือไหล่]

ข้อความข้างต้นเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่นายเดนิส เกรย์ หัวหน้าสำนักข่าวเอพีประจำกรุงเทพฯและนายบาร์ต โดเวลล์ ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ในขณะนั้น และเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีเรื่อง “พระราชวงศ์ผู้ทรงงานของไทย” (Thailand’s Working Royalty) ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1982 หรือพุทธศักราช 2525 ซึ่งตรงกับวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จึงขอนำสารคดีเรื่องนี้มาตีพิมพ์อีกครั้ง ภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นผลงานของจอห์น เอเวอริงแฮม ช่างภาพผู้คุ้นเคยกับเมืองไทย เขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้ว่า “ผมโชคดีที่มีโอกาสตามเสด็จนานถึงสี่เดือน เดินทางไปทั่วประเทศจากนราธิวาสถึงเชียงราย ประเทศไทยโชคดีที่มีในหลวง พระองค์ทรงสนพระทัยในคนที่ยากจนที่สุดคนที่อยู่ไกลที่สุด ในหลวงไม่เหมือนใคร มีฝรั่งหลายคนเหมือนผมที่รักพระเจ้าอยู่หัว…”

พระคู่บุญบารมี: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทักทายและมีพระราชปฏิสันถารกับผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ในช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “พระราชวงศ์ในประเทศนี้ไม่เคยอยู่นิ่งเลย”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงศึกษาทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และกฎหมายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะเจริญพระชนมายุได้ 18 พรรษา ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมาก็ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการอย่างไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อยพระวรกาย เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์เสมอมา สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยแท้

การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยอย่างจริงจัง และบ่อยครั้งทรงฉายพระรูปของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชโอรสและพระราชธิดา

นอกเหนือจากการเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรตามหัวเมืองน้อยใหญ่และท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในโอกาสต่างๆ แล้ว ยามที่ประทับอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระองค์ก็ไม่ได้ทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจ กิจกรรมและความเป็นไปในเขตพระราชฐานแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนพระทัยในความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ได้เป็นอย่างดี เพราะมีตั้งแต่แปลงนาสาธิต ยุ้งฉาง บ่อเลี้ยงปลา ฟาร์มโคนม ไปจนถึงโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ

ระหว่างพระราชทานสัมภาษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตรัสถึงเรื่องต่างๆ อาทิ ระบบชลประทาน เศรษฐกิจภายในประเทศ การทำเหมืองแร่ เรื่อยไปจนถึงงานอดิเรกของพระองค์ เช่น การถ่ายภาพ และวาดภาพ ทรงอธิบายว่า “แต่ตอนนี้เลิกวาดรูปแล้ว เพราะต้องใช้เวลามาก” ทว่าพระองค์ยังทรงดนตรีและทรงพระราชนิพนธ์บทเพลง พสกนิกรชาวไทยและแม้กระทั่งชาวต่างชาติต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพเชิงดนตรีที่สะท้อนอยู่ในความไพเราะของบทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม พระราชกระแสรับสั่งมักวกกลับมาเข้าเรื่องที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเสมอ

 “คนไทยรักสงบแต่ก็ตระหนักดีว่าประเทศจะต้องมีความเข้มแข็งทางทหารเราเคยไปที่จังหวัดใกล้กรุงเทพฯแล้วมีคนเมาคนหนึ่งเข้ามาหา องครักษ์คงไม่สบายใจนักเราเข้าใจดีผู้ชายคนนั้นบอกว่าเคยเป็นทหารเคยรับใช้ชาติ ลูกชายเขาก็จะเป็นทหารด้วยและถ้าไม่มีทหารประเทศเราจะไม่เป็นเอกราชอย่างนี้เขาว่ากันว่าคนเมามักจะพูดความจริง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเพื่อทรงเยียมเยียนราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร แม้หลายพื้นที่ยังจัดว่าเสี่ยงภัยและเต็มไปด้วยภยันตรายในยุคที่ประเทศไทยเผชิญภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสถึงคนไทยอีกด้วยว่า “เราคิดว่าคนไทยรู้ซึ้งถึงคุณค่าของประเพณี ประเพณีไม่ได้แปลว่าเชย แม้แต่คนสมัยใหม่ก็มีประเพณี

“เดือนที่แล้วนี่เอง เราเดินทางไปภาคใต้ ตอนเข้าไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่ามีลูกสาวและลูกชายอย่างละคน แล้วถามเราว่า ชาวมุสลิมเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้หรือเปล่า เราตอบว่า ได้แน่นอน ถ้าเด็กคนนั้นเป็นคนดี แข็งแรง แล้วก็ฉลาด เขาก็สมัครเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ แล้วเราก็ถามเขาว่า ลูกชายเขาอายุเท่าไหร่ เขาบอกว่าหกเดือน” เมื่อตรัสถึงตรงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล “เขาอยากให้ลูกชายปกป้องประเทศชาติ เขาบอกว่า ‘ชาวมุสลิมอย่างเราเป็นคนไทยแท้ ๆ’ ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเล็งเห็นการรุกรานหลากหลายรูปแบบ [เมืองไทยในขณะนั้นยังประสบปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์และยาเสพติด โดยเฉพาะฝิ่นและเฮโรอีน — กองบรรณาธิการ] “วิธีล่าสุดคือค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาครอบงำจิตใจผู้คน เราเรียกวิธีนี้ว่าสงครามจิตวิทยารุกเข้ามาในความคิด” และเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานลักษณะนี้ รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นความเข้าอกเข้าใจและความอดทน เหมือนอย่างเรื่องฝิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “เราไม่ปฏิเสธว่ายังมีการปลูกฝิ่นในประเทศ แต่มีอยู่น้อยมาก ปัญหาของฝิ่นคือการใช้เมืองไทยเป็นทางผ่าน คนที่ปลูกฝิ่นได้ราคาไม่ถึงหนึ่งในพันของราคาที่เอาไปขายกันด้วยซํ้า เราพยายามให้ประชาชนหันมาปลูกพืชอื่นทดแทน กว่าจะเริ่มได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี ตอนแรกเรานั่งรถเข้าไป บางทีก็เดินเท้า แล้วก็นั่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไป บางครั้งลงจอดกลางไร่ฝิ่นเลย เราต้องระวังเพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่าการปลูกฝิ่นนั้นไม่ดีอย่างไร

“ครั้งหนึ่งเราเคยเดินอยู่เป็นชั่วโมงเพื่อเข้าไปดูไร่ฝิ่น ดินดูไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เท่าไหร่ ชาวไร่เองก็บอกว่า ‘ใช่ครับ ดินเสื่อมแล้ว ไม่มีปุ๋ยจะใส่ครับ’ เราก็บอกว่าจะให้ปุ๋ย ถ้าพวกเขาเลิกปลูกฝิ่น แล้วหันมาปลูกถั่วแทน ชาวไร่ขอเวลาปรึกษากันก่อน ผ่านไปสิบห้านาทีกลับมาบอกว่า ‘ตกลงครับ’ ทีนี้ พอปีถัดมา เราก็กลับไปอีก ปรากฏว่าชาวไร่ปลูกถั่วครึ่งหนึ่ง ปลูกฝิ่นครึ่งหนึ่ง แล้วถั่วก็ได้ผลดีกว่า ชาวไร่เลยขอถั่วเพิ่มอีก ปีต่อมาก็ปลูกฝิ่นแค่ร้อยละ 25 ค่อยๆ ลดลงอย่างนี้ เราต้องอดทนถ้าเราเอาแต่ทำลายไร่ฝิ่น ชาวไร่ก็ต้องอดอยาก แล้วคงไม่เข้าใจว่า ทำไมเราถึงต้องต่อต้านพวกเขา”

ในการเสด็จฯ เยือนหัวเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเผชิญกับอันตรายจากทั้งผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังคอมมิวนิสต์

“อันตรายน่ะหรือ” ทรงยํ้า “อันตรายซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปคือภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือความละโมบของคนในประเทศเอง ถ้าเราแตกแยกกันเอง เราก็จะกลายเป็นทาสของจักรวรรดินิยมยุคใหม่ จะเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเผด็จการ หรืออะไรก็ตามแต่”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อมั่นในประชาชนชาวไทย “ชาวไทยดูสบายๆ แต่ก็เข้มแข็ง คนไทยไม่เครียด มีนํ้าใจแม้แต่กับคนแปลกหน้า และเปิดกว้างกับความคิดใหม่ๆ คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่สุภาพกล้าหาญแต่ไม่ก้าวร้าว เข้มแข็งแต่อ่อนโยน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับเรือพระที่นั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคที่จัดขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ

ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงปฏิบัติพระราชกิจหลากหลายด้าน นอกจากจะทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังทรงส่งเสริมงานหัตถกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ชนบท เช่นที่จังหวัดเพชรบุรี ทรงริเริ่มโครงการผลิตกระเป๋าและรองเท้าสานจากกระจูดและหวาย ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านสตรีในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ ทรงฟื้นฟูศิลปะการทำตุ๊กตาดินเผาชาววัง และส่งผู้เชี่ยวชาญไปสอนสตรีชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทอผ้า เป็นต้น

ทรงใช้โอกาสที่ได้เสด็จฯ เยือนต่างประเทศในฐานะทูตสันถวไมตรี ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมด้วยฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมไทยซึ่งทั้งประณีตและงดงาม นอกจากนี้ ยังทรงใช้พระปรีชาสามารถด้านการจัดการส่งเสริมการทำงานของสภากาชาดไทย เพื่อให้ความอนุเคราะห์แก่เด็กกำพร้ายากไร้ ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบและผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น

“เจ้าฟ้าชายพระองค์น้อย” สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงสนพระทัยในว่าวจุฬาระหว่างเสด็จฯ ทรงร่วมงานกาชาด ณ ท้องสนามหลวง (บนสุด) “เจ้าฟ้านักบิน” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับในห้องนักบินของเครื่องบินขับไล่เอฟ-5 พระปรีชาสามารถด้านการบินของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง

หลายปีก่อน เมื่อนักข่าวกราบบังคมทูลสัมภาษณ์ถึงงานอดิเรกของพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตรัสว่า “ดูแลลูกๆ” บัดนี้ เจ้าฟ้าชายพระองค์หนึ่งและเจ้าฟ้าหญิงอีกสามพระองค์ต่างเจริญพระชันษาขึ้นแล้ว และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์เช่นเดียวกับพระชนกชนนี ไม่ว่าจะเป็นการตามเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ต้อนรับคณะทูตานุทูต หรือแม้แต่ทรงทักทายและมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนผู้มารอเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี

นายแพทย์จินดา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แพทย์ประจำพระองค์ในขณะนั้น กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชกิจหนักเกินไปครับ” แม้ว่าพระองค์จะทรงออกกำลังกายแทบทุกวัน แต่คุณหมอก็ยัง “อยากให้เสด็จแปรพระราชฐานเพื่อทรงพักผ่อนเป็นประจำทุกปี”

ทว่าประชาชนชาวไทยทุกคนย่อมตระหนักดีว่า พระองค์คงไม่อาจทรงปล่อยวางจากพระราชกิจต่างๆ ได้ เพราะความห่วงใยในราษฎรและความตั้งพระทัยอันแน่วแน่ที่จะอุทิศพระองค์เพื่อ “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ดังบทพระราชนิพนธ์ “เดินตามรอยเท้าพ่อ” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปยังพื้นที่ห่างไกลหลายต่อหลายแห่ง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

“ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุดผ่านเข้าไปในป่าใหญ่น่ากลัวทึบ แผ่ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดมืดและกว้างมีต้นไม้ใหญ่ใหญ่เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง พ่อจ๋า…ลูกหิวจะตายอยู่แล้วและเหนื่อยด้วย ดูซิจ๊ะ…เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูกลูกกลัวงูเสือและหมาป่า

พ่อจ๋า…เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหมลูกเอ๋ย…ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์และความสบายสำหรับเจ้าทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยสวย จงไปเถิดแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเจ้า พ่อเห็นแล้วว่าหนามตำเนื้ออ่อนอ่อนของเจ้า เลือดของเจ้าเปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้นํ้า นํ้าตาของเจ้าที่ไหลต้องพุ่มไม้สีเขียว เปรียบดั่งเพชรบนมรกตที่แสดงความงามเต็มที่เพื่อมนุษยชาติจงอย่าละความกล้าเมื่อเผชิญกับความทุกข์ให้อดทนและสุขุมและจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า ไปเถิด…ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ”

ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

กองเชียร์บนอัฒจันทร์แปรอักษรเป็นพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา - ธรรมศาสตร์ครั้งหนึ่ง

 

อ่านเพิ่มเติม : รูปที่มีทุกบ้าน, ๙ ช่างภาพสารคดีกับในหลวงรัชกาลที่ ๙

Recommend