โซกุชินบุตสึ ทำไมพระเหล่านี้ในญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะทำตัวเองเป็นมัมมี่?
บนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ของยามากาตะ เป็นที่ตั้งของ โซกุชินบุตสึ (Sokushinbutsu- 即身仏 หรือ มัมมี่นักบวชในศาสนาพุทธ) จำนวน 13 องค์ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในสภาวะการทำสมาธิขั้นลึกระหว่างความเป็นและความตาย
ภายในศาลเจ้า โครงกระดูกของพระรูปหนึ่งหนึ่งนั่งสมาธิ ขาขัดสมาธิใต้ผ้าคลุมจีวรสีสดใส ขณะที่มือที่เป็นกระดูกวางอยู่ด้านบน ผิวหนังที่บางและเหนียวลาดยืดไปทั่วร่างกายที่มองเห็นได้
ในแวบแรก คำที่ผุดขึ้นมาในใจคงเป็นคำว่า “มัมมี่”
แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติพุทธศาสนาแบบสันโดษในญี่ปุ่น นี่ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่กลายเป็นมัมมี่ แต่พวกเขาคือโซกุชินบุตสึ หรือ พระพุทธรูปที่ “มีชีวิต” ซึ่งบรรลุสภาวะการทำสมาธิขั้นลึกที่ทำให้พวกเขาอยู่เหนือขอบเขตของชีวิตและความตาย
เพื่อที่จะทำเช่นนั้น พระเหล่านี้ได้ฝึกฝนการปฏิบัติตนแบบสันโดษอย่างเข้มงวด ซึ่งสุดท้ายแล้วคือการมัมมี่ตัวเอง ศาลเจ้าที่มีโซกุชินบุตสึ อื่นๆ สามารถพบได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยโซกุชินบุตสึที่รู้จักกันมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่รอบๆ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดยามากาตะ
การปฏิบัติแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมหลายคนจึงเลือกที่จะกลายเป็นโซกุชินบุตสึ นี่คือเรื่องราวที่แท้จริงของพระญี่ปุ่นที่มัมมี่ตัวเอง
การกลายเป็น โซกุชินบุตสึ
วิถีปฏิบัติแบบนี้เกี่ยวโยงกับนิกายของศาสนาพุทธอันลึกลับของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ชูเกนโด Shugendo, ซึ่งมีรากฐานมาจากลัทธิไสยศาสตร์ การทรงเจ้า และการบูชาภูเขา
“ชูเกนโด แปลคร่าวๆ ได้ว่า ‘หนทางแห่งการปลูกฝังพลังพิเศษ'” คาเล็บ คาร์เตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศาสนาญี่ปุ่นและการศึกษาพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยคิวชูกล่าว “พลังเหล่านี้ถูกกล่าวขานว่าพระภิกษุชาวพุทธได้มาจากการบำเพ็ญตบะบนภูเขา เช่น การอาบน้ำใต้น้ำตกที่เย็นยะเยือก การนั่งสมาธิในถ้ำ และการจำกัดอาหารอย่างรุนแรงในช่วงเวลานานของการบำเพ็ญเพียรอย่างโดดเดี่ยว”
การกำเนิดของโซกุชินบุตสึ ยังคงเป็นปมที่ยุ่งเหยิงอยู่ระหว่างความรู้ ข้อเท็จจริง และตำนาน
มีตำนานเล่าขานว่า พระคุไค หรือ พระโคโบ ไดชิ Kōbō Daishi เกจิอาจารย์ในตำนานของญี่ปุ่น ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายลึกลับในประเทศจีน และนำสิ่งที่เขาเรียนรู้กลับมายังภูเขา ยูดาโน ในยามากาตะ และภูเขาโคยะ ในจังหวัดวากายามะ อันมีอิทธิพลลัทธิต่อชูเกนโดและลัทธิรูปแบบอื่นๆ ของศาสนาพุทธนิกายลึกลับในญี่ปุ่น
ตามตำนาน พระคูไค เป็นโซกุชินบุตสึรูปแรก และยังคงมีชีวิตอยู่ “ในการทำสมาธิขั้นลึก” ที่เขาโคยะ ความเชื่อมโยงระหว่างโซกุชินบุตสึ กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นบางๆ ในการกลายเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต
“มีความเชื่อกันมานานแล้วว่าภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยของเทพเจ้า พลังปีศาจ มังกรที่เป็นลางดี หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์” คาร์เตอร์อธิบาย เช่นเดียวกับผู้ฝึกตนและผู้ศรัทธาคนอื่นๆ ผู้ที่ต้องการเป็นโซกุชินบุตสึก็เดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ “เพื่อพิชิตภูมิประเทศ รับความรู้ด้านพิธีกรรมที่ถูกต้อง และผสมผสานกับเทพเจ้าของพวกเขาได้อย่างสำเร็จ – แม้กระทั่งกลายเป็นเทพเจ้าในกระบวนการนี้”
พระแต่ละรูปที่เข้าสู่เส้นทางการเป็น “โซกุชินบุตสึ” ล้วนมีวิธีแตกต่างกัน โดยทั่วไป หลังจากบวชที่วัดหรือสำนักใดสำนักหนึ่งแล้ว พวกเขาจะทุ่มเทชีวิตไปกับการปฏิบัติธรรม โดยพระรูปใดที่ตั้งใจบรรลุหนทางแห่งการตรัสรู้ในรูปแบบนี้ จะเริ่มต้นด้วยการเข้าสู่ความสันโดษ งดเว้นการบริโภคธัญพืช โดยพระบางรูปกินเพียงเปลือกไม้ ใบสน โคนสน เมล็ดพืช เกาลัด หรือแม้กระทั่งหินและผลึกใส เป็นระยะเวลานับพันวันหรือหลายพันวัน
อนึ่ง ไม่มีการพบบันทึกเกี่ยวกับ “โซกุชินบุตสึ” เพศหญิง เนื่องจากตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง รวมถึงยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน กฎระเบียบเปลี่ยนแปลงไปและมีนักบวชหญิงจำนวนมากในนิกายต่างๆ ของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น
หลังจากการถือศีลอด พระจะขังตัวเองในห้องหินใต้ดินหรือโลงศพ และสวดมนต์จนกระทั่งเสียชีวิต บางรูปจะถูกฝังไว้ใต้ดินเป็นเวลาสามปี จากนั้นจึงขุดขึ้นมาในสภาพที่กลายเป็นมัมมี่ หรือซากศพแห้งๆ ก่อนนำไปประดิษฐานที่วัด และยังมีพระรูปอื่นๆ เช่นนี้ที่จะถูกขุดขึ้นมาทันทีหลังจากเสียชีวิต แล้วทำให้ร่างแห้งด้วยถ่านและควันธูป จากนั้นฝังกลับลงไปใต้ดินเป็นเวลาสามปี ก่อนนำไปประดิษฐานในศาลเจ้า
ยังไม่ชัดเจนว่าตลอดประวัติศาสตร์มีโซกุชินบุตสึ” มากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนร่างเป็นมัมมี่เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถระบุได้ว่า มีพระรูปใดบ้างที่พยายามแล้วล้มเหลว ที่ร่างกายของพวกเขาที่ไม่ได้รับการเก็บรักษา ถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยและหายไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1960 นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนให้ค้นพบและศึกษา “โซกุชินบุตสึ” ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง โดยมีการค้นพบยอดรวมที่ 21 รูป พร้อมีมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับอีกโซกุชินบุตสึอีกหลายรูปที่ร่างกายไม่หลงเหลืออีกแล้ว
โดยมีการพบโซกุชินบุสซึ มากที่สุด (13 จาก 21 องค์) ที่จังหวัดยามากาตะ กระจายอยู่ในวัดต่างๆ รอบเขา Yudano ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เขาเดวะซันซาน (Dewa Sanzan) อันศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกับเขาฮากุโระ (Mount Haguro) และเขากัสซาน (Mount Gassan)
แม้แนวทางปฏิบัติของพวกเขาอาจดูสุดโต่งจนนึกไม่ถึง แต่ “โซกุชินบุตสึ” ยังคงดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบศาสนาที่กว้างขวางซึ่งรวมถึงการบำเพ็ญทุกรกิริยาอื่นๆ ที่ทดสอบกำลังกายและความอดทน ปัจจุบัน คนทั่วไปยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญทุกรกิริยาเหล่านี้ ได้แก่ เดินบนไฟ ปีนบันไดดาบด้วยเท้าเปล่า และอดทนต่อความหนาว ไปเป็นฆราวาสในงานเทศกาล วัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมที่คล้ายคลึงกันยังมีอยู่ในศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธที่ปฏิบัติในอินเดีย ซึ่งทั้งสองศาสนานี้ ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาประวัติศาสตร์ของชูเกนโดด้วย
สำหรับคนส่วนใหญ่ การเข้าร่วมกิจกรรมที่ท้าทายร่างกายเหล่านี้ ซึ่งมักจะเจ็บปวด จะช่วยให้จิตใจและวิญญาณจดจ่อและมุ่งสู่เป้าหมาย
การเป็นโซกุชินบุตสึ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พระฮอนเมียวไค (Honmyokai) ซึ่งเข้าสู่ “สมาธิขั้นลึก” ในปี 1683 นั้น ถือเป็นโซกุชินบุตสึที่เก่าแก่ที่สุดในภูเขาเดวะซันซาน เดิมทีเขาเป็นข้ารับใช้ของขุนศึก กล่าวกันว่าเขาเข้าร่วมสำนักลัทธิยูดาโนะเพื่อสวดมนต์ขอพรให้เจ้านายของเขาหายจากโรคร้ายแรง
เพื่อที่จะเป็นโซกุชินบุตสึ ฮอนเมียวไคเริ่มต้นใช้ชีวิตอย่างสันโดษ โดยกินอาหารปริมาณเท่าปลายเข็มเป็นเวลาเกือบสิบปี เมื่อใกล้ตาย เขาเข้าไปในห้องหินและสวดมนต์จนกระทั่งเสียชีวิต อิจิโร่ โฮริ นักโบราณคดีและนักวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยชุดแรกที่ศึกษาโซกุชินบุตสึ ระบุว่า ความปรารถนาของพระฮอนเมียวไคคือการปลดปล่อยผู้คนจากความทุกข์และโรคภัย
โซกุชินบุตสึที่เลื่องชื่อที่สุดในเขาเดวะซันซานคือ เท็ตสึมงไค ซึ่งกลายเป็นโซกุชินบุตสึในปี 1829 แม้ว่าเรื่องราวต้นกำเนิดของเขาจะแตกต่างกันไปเล็กน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของตำนาน โดยทั่วไปแล้ว เชื่อกันว่าเขาฆ่าซามูไรสองคนและหนีไปที่วัด เริ่มต้นชีวิตฝึกฝนอย่างเคร่งครัด เขายังเดินทางไปทั่วภาคเหนือของญี่ปุ่น ให้คำแนะนำทางจิตวิญญาณและแม้แต่การสนับสนุนทางการแพทย์ผ่านความรู้ด้านสมุนไพรของเขา เช่นเดียวกับฮอนเทียวไค การเสียสละเพื่อผู้อื่นเป็นของเรื่องราวของเท็ตสึมงไค
ในช่วงยุคเอโดะ โรคที่โจมตีดวงตาแพร่ระบาด โดยโฮริกล่าวว่า เท็ตสึมงไค เอาลูกตาข้างหนึ่งของตนมาเป็นเครื่องสังเวยแด่เทพเจ้าบนภูเขายูดาโนะเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคนี้ ตามแบบอย่างของผู้ที่มาก่อน เท็ตสึมงไค อดอาหาร เข้าสู่สมาธิขั้นลึก กลายเป็นพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่ในวัดชูเรนจิ (Churen-ji Temple)
มีโซกุชินบุตสึอีกมากมายที่เคยมีอยู่และหลายคนเรื่องราวของพวกเขาสูญหายไปตามกาลเวลา บุคคลแต่ละคนที่เรามีบันทึก ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้มักจะทำด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อประโยชน์ของบุคคล หมู่บ้าน หรือสังคมโดยรวม
ดังนั้น เหตุผลในการเป็นโซกุชินบุตสึ ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่การกระทำเพื่อตัวตนเองเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้ ทั้งในชีวิตจริงและหลังความตาย ในฐานะพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต