โซกุชินบุตสึ เมื่อ “พระ” ทำตัวเองเป็น “มัมมี่” สะท้อนศรัทธาหลอนในญี่ปุ่น

โซกุชินบุตสึ เมื่อ “พระ” ทำตัวเองเป็น “มัมมี่” สะท้อนศรัทธาหลอนในญี่ปุ่น

โซกุชินบุตสึ ทำไมพระเหล่านี้ในญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะทำตัวเองเป็นมัมมี่?

บนเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ของยามากาตะ เป็นที่ตั้งของ โซกุชินบุตสึ (Sokushinbutsu- 即身仏 หรือ มัมมี่นักบวชในศาสนาพุทธ) จำนวน 13 องค์ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในสภาวะการทำสมาธิขั้นลึกระหว่างความเป็นและความตาย

ภายในศาลเจ้า โครงกระดูกของพระรูปหนึ่งหนึ่งนั่งสมาธิ ขาขัดสมาธิใต้ผ้าคลุมจีวรสีสดใส ขณะที่มือที่เป็นกระดูกวางอยู่ด้านบน ผิวหนังที่บางและเหนียวลาดยืดไปทั่วร่างกายที่มองเห็นได้

ในแวบแรก คำที่ผุดขึ้นมาในใจคงเป็นคำว่า “มัมมี่”

แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติพุทธศาสนาแบบสันโดษในญี่ปุ่น นี่ไม่ใช่แค่มนุษย์ที่กลายเป็นมัมมี่ แต่พวกเขาคือโซกุชินบุตสึ หรือ พระพุทธรูปที่ “มีชีวิต” ซึ่งบรรลุสภาวะการทำสมาธิขั้นลึกที่ทำให้พวกเขาอยู่เหนือขอบเขตของชีวิตและความตาย

เพื่อที่จะทำเช่นนั้น พระเหล่านี้ได้ฝึกฝนการปฏิบัติตนแบบสันโดษอย่างเข้มงวด ซึ่งสุดท้ายแล้วคือการมัมมี่ตัวเอง ศาลเจ้าที่มีโซกุชินบุตสึ อื่นๆ สามารถพบได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยโซกุชินบุตสึที่รู้จักกันมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่รอบๆ เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดยามากาตะ

การปฏิบัติแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมหลายคนจึงเลือกที่จะกลายเป็นโซกุชินบุตสึ นี่คือเรื่องราวที่แท้จริงของพระญี่ปุ่นที่มัมมี่ตัวเอง

การกลายเป็น โซกุชินบุตสึ

วิถีปฏิบัติแบบนี้เกี่ยวโยงกับนิกายของศาสนาพุทธอันลึกลับของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ชูเกนโด Shugendo, ซึ่งมีรากฐานมาจากลัทธิไสยศาสตร์ การทรงเจ้า และการบูชาภูเขา

“ชูเกนโด แปลคร่าวๆ ได้ว่า ‘หนทางแห่งการปลูกฝังพลังพิเศษ'” คาเล็บ คาร์เตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศาสนาญี่ปุ่นและการศึกษาพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยคิวชูกล่าว “พลังเหล่านี้ถูกกล่าวขานว่าพระภิกษุชาวพุทธได้มาจากการบำเพ็ญตบะบนภูเขา เช่น การอาบน้ำใต้น้ำตกที่เย็นยะเยือก การนั่งสมาธิในถ้ำ และการจำกัดอาหารอย่างรุนแรงในช่วงเวลานานของการบำเพ็ญเพียรอย่างโดดเดี่ยว”

การกำเนิดของโซกุชินบุตสึ ยังคงเป็นปมที่ยุ่งเหยิงอยู่ระหว่างความรู้ ข้อเท็จจริง และตำนาน

พระคุไค หรือ พระโคโบ ไดชิ (Kōbō Daishi) เกจิอาจารย์ในตำนานของญี่ปุ่น ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายลึกลับในประเทศจีน และนำสิ่งที่เขาเรียนรู้กลับมายังภูเขา ยูดาโน ในยามากาตะ และภูเขาโคยะ ในจังหวัดวากายามะ

มีตำนานเล่าขานว่า พระคุไค หรือ พระโคโบ ไดชิ Kōbō Daishi เกจิอาจารย์ในตำนานของญี่ปุ่น ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายลึกลับในประเทศจีน และนำสิ่งที่เขาเรียนรู้กลับมายังภูเขา ยูดาโน ในยามากาตะ และภูเขาโคยะ ในจังหวัดวากายามะ อันมีอิทธิพลลัทธิต่อชูเกนโดและลัทธิรูปแบบอื่นๆ ของศาสนาพุทธนิกายลึกลับในญี่ปุ่น

ตามตำนาน พระคูไค เป็นโซกุชินบุตสึรูปแรก และยังคงมีชีวิตอยู่ “ในการทำสมาธิขั้นลึก” ที่เขาโคยะ ความเชื่อมโยงระหว่างโซกุชินบุตสึ กับภูเขาศักดิ์สิทธิ์ยังคงเป็นบางๆ ในการกลายเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต

“มีความเชื่อกันมานานแล้วว่าภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยของเทพเจ้า พลังปีศาจ มังกรที่เป็นลางดี หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์” คาร์เตอร์อธิบาย เช่นเดียวกับผู้ฝึกตนและผู้ศรัทธาคนอื่นๆ ผู้ที่ต้องการเป็นโซกุชินบุตสึก็เดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ “เพื่อพิชิตภูมิประเทศ รับความรู้ด้านพิธีกรรมที่ถูกต้อง และผสมผสานกับเทพเจ้าของพวกเขาได้อย่างสำเร็จ – แม้กระทั่งกลายเป็นเทพเจ้าในกระบวนการนี้”

พระแต่ละรูปที่เข้าสู่เส้นทางการเป็น “โซกุชินบุตสึ” ล้วนมีวิธีแตกต่างกัน โดยทั่วไป หลังจากบวชที่วัดหรือสำนักใดสำนักหนึ่งแล้ว พวกเขาจะทุ่มเทชีวิตไปกับการปฏิบัติธรรม โดยพระรูปใดที่ตั้งใจบรรลุหนทางแห่งการตรัสรู้ในรูปแบบนี้ จะเริ่มต้นด้วยการเข้าสู่ความสันโดษ งดเว้นการบริโภคธัญพืช โดยพระบางรูปกินเพียงเปลือกไม้ ใบสน โคนสน เมล็ดพืช เกาลัด หรือแม้กระทั่งหินและผลึกใส เป็นระยะเวลานับพันวันหรือหลายพันวัน

อนึ่ง ไม่มีการพบบันทึกเกี่ยวกับ “โซกุชินบุตสึ” เพศหญิง เนื่องจากตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง รวมถึงยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบัน กฎระเบียบเปลี่ยนแปลงไปและมีนักบวชหญิงจำนวนมากในนิกายต่างๆ ของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น

หลังจากการถือศีลอด พระจะขังตัวเองในห้องหินใต้ดินหรือโลงศพ และสวดมนต์จนกระทั่งเสียชีวิต บางรูปจะถูกฝังไว้ใต้ดินเป็นเวลาสามปี จากนั้นจึงขุดขึ้นมาในสภาพที่กลายเป็นมัมมี่ หรือซากศพแห้งๆ ก่อนนำไปประดิษฐานที่วัด และยังมีพระรูปอื่นๆ เช่นนี้ที่จะถูกขุดขึ้นมาทันทีหลังจากเสียชีวิต แล้วทำให้ร่างแห้งด้วยถ่านและควันธูป จากนั้นฝังกลับลงไปใต้ดินเป็นเวลาสามปี ก่อนนำไปประดิษฐานในศาลเจ้า

ยังไม่ชัดเจนว่าตลอดประวัติศาสตร์มีโซกุชินบุตสึ” มากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนร่างเป็นมัมมี่เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถระบุได้ว่า มีพระรูปใดบ้างที่พยายามแล้วล้มเหลว ที่ร่างกายของพวกเขาที่ไม่ได้รับการเก็บรักษา ถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยและหายไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1960 นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ได้รับการสนับสนุนให้ค้นพบและศึกษา “โซกุชินบุตสึ” ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง โดยมีการค้นพบยอดรวมที่ 21 รูป พร้อมีมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับอีกโซกุชินบุตสึอีกหลายรูปที่ร่างกายไม่หลงเหลืออีกแล้ว

โดยมีการพบโซกุชินบุสซึ มากที่สุด (13 จาก 21 องค์) ที่จังหวัดยามากาตะ กระจายอยู่ในวัดต่างๆ รอบเขา Yudano ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เขาเดวะซันซาน (Dewa Sanzan) อันศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกับเขาฮากุโระ (Mount Haguro) และเขากัสซาน (Mount Gassan)

แม้แนวทางปฏิบัติของพวกเขาอาจดูสุดโต่งจนนึกไม่ถึง แต่ “โซกุชินบุตสึ” ยังคงดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบศาสนาที่กว้างขวางซึ่งรวมถึงการบำเพ็ญทุกรกิริยาอื่นๆ ที่ทดสอบกำลังกายและความอดทน ปัจจุบัน คนทั่วไปยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญทุกรกิริยาเหล่านี้ ได้แก่ เดินบนไฟ ปีนบันไดดาบด้วยเท้าเปล่า และอดทนต่อความหนาว ไปเป็นฆราวาสในงานเทศกาล วัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมที่คล้ายคลึงกันยังมีอยู่ในศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธที่ปฏิบัติในอินเดีย ซึ่งทั้งสองศาสนานี้ ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาประวัติศาสตร์ของชูเกนโดด้วย

สำหรับคนส่วนใหญ่ การเข้าร่วมกิจกรรมที่ท้าทายร่างกายเหล่านี้ ซึ่งมักจะเจ็บปวด จะช่วยให้จิตใจและวิญญาณจดจ่อและมุ่งสู่เป้าหมาย

โซกุชินบุตสึ, Sokushinbutsu
พระชินโนไคโชนิน (Shinnyokai-shōnin) ประดิษฐานอยู่ที่วัดไดนิชิโบ ริมตีนเขายูดาโนะ ในช่วงชีวิตของท่าน มีเหตุการณ์ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้เกิดภาวะทุพภิกขภัยและผู้คนอดอยาก ทางวัดเล่าว่า ท่านชินโนไคโชนินตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการ โซกุชินบุตสึ เพื่อช่วยเหลือ ปกป้องผู้คน และยุติความทุกข์เข็ญ

การเป็นโซกุชินบุตสึ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

พระฮอนเมียวไค (Honmyokai) ซึ่งเข้าสู่ “สมาธิขั้นลึก” ในปี 1683 นั้น ถือเป็นโซกุชินบุตสึที่เก่าแก่ที่สุดในภูเขาเดวะซันซาน เดิมทีเขาเป็นข้ารับใช้ของขุนศึก กล่าวกันว่าเขาเข้าร่วมสำนักลัทธิยูดาโนะเพื่อสวดมนต์ขอพรให้เจ้านายของเขาหายจากโรคร้ายแรง

เพื่อที่จะเป็นโซกุชินบุตสึ ฮอนเมียวไคเริ่มต้นใช้ชีวิตอย่างสันโดษ โดยกินอาหารปริมาณเท่าปลายเข็มเป็นเวลาเกือบสิบปี เมื่อใกล้ตาย เขาเข้าไปในห้องหินและสวดมนต์จนกระทั่งเสียชีวิต อิจิโร่ โฮริ นักโบราณคดีและนักวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยชุดแรกที่ศึกษาโซกุชินบุตสึ ระบุว่า ความปรารถนาของพระฮอนเมียวไคคือการปลดปล่อยผู้คนจากความทุกข์และโรคภัย

โซกุชินบุตสึที่เลื่องชื่อที่สุดในเขาเดวะซันซานคือ เท็ตสึมงไค ซึ่งกลายเป็นโซกุชินบุตสึในปี 1829 แม้ว่าเรื่องราวต้นกำเนิดของเขาจะแตกต่างกันไปเล็กน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของตำนาน โดยทั่วไปแล้ว เชื่อกันว่าเขาฆ่าซามูไรสองคนและหนีไปที่วัด เริ่มต้นชีวิตฝึกฝนอย่างเคร่งครัด เขายังเดินทางไปทั่วภาคเหนือของญี่ปุ่น ให้คำแนะนำทางจิตวิญญาณและแม้แต่การสนับสนุนทางการแพทย์ผ่านความรู้ด้านสมุนไพรของเขา เช่นเดียวกับฮอนเทียวไค การเสียสละเพื่อผู้อื่นเป็นของเรื่องราวของเท็ตสึมงไค

ในช่วงยุคเอโดะ โรคที่โจมตีดวงตาแพร่ระบาด โดยโฮริกล่าวว่า เท็ตสึมงไค เอาลูกตาข้างหนึ่งของตนมาเป็นเครื่องสังเวยแด่เทพเจ้าบนภูเขายูดาโนะเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ทรมานจากโรคนี้ ตามแบบอย่างของผู้ที่มาก่อน เท็ตสึมงไค อดอาหาร เข้าสู่สมาธิขั้นลึก กลายเป็นพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่ในวัดชูเรนจิ (Churen-ji Temple)

มีโซกุชินบุตสึอีกมากมายที่เคยมีอยู่และหลายคนเรื่องราวของพวกเขาสูญหายไปตามกาลเวลา บุคคลแต่ละคนที่เรามีบันทึก ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้มักจะทำด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อประโยชน์ของบุคคล หมู่บ้าน หรือสังคมโดยรวม

ดังนั้น เหตุผลในการเป็นโซกุชินบุตสึ ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่การกระทำเพื่อตัวตนเองเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้ ทั้งในชีวิตจริงและหลังความตาย ในฐานะพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต

เรื่อง JULIA SHIOTA


อ่านเพิ่มเติม ไขปริศนา-ตามรอยชีวิต ” สิทธัตถะ โคตมะ” สู่ “พระพุทธเจ้า”

สิทธัตถะ

Recommend