สงครามพิทักษ์ วีรุงกา
ไม่มีเขตสงวนระดับชาติแห่งใดในโลกเหมือน วีรุงกา ทั้งแง่ดีและแง่ร้าย พื้นที่ราว 8,000 ตารางกิโลเมตรนี้มีทั้งเครือข่ายแม่น้ำที่ได้น้ำจากธารน้ำแข็ง ทะเลสาบแห่งหนึ่งในกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ของแอฟริกา ทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าดิบชื้นในที่ลุ่มรกชัฏ ยอดเขาสูงสุดแห่งหนึ่งในทวีป และภูเขาไฟมีพลังสองแห่ง วีรุงกามีนกอาศัยอยู่กว่า 700 ชนิด พร้อมด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 200 ชนิด เช่น กอริลลาภูเขาราว 480 ตัวจากที่ยังเหลืออยู่ 880 ตัวทั่วโลก
วีรุงกาเป็นเขตสงครามมาเกือบยี่สิบปี เมื่อปี 1994 ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดาส่งผลให้ชาวฮูตูฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวตุตซี และลุกลามมาถึงคองโก นักรบฮูตูและผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนหนีตายจากรวันดาหลังพ่ายแพ้มาอาศัยอยู่อย่างแอดอัดในค่ายผู้ลี้ภัยรอบอุทยาน ต่อมาชาวฮูตูบางส่วนรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังประชาธิปไตยเพื่อเสรีภาพแห่งรวันดา หรือเอฟดีแอลอาร์ (FDLR) ในที่สุดชาวตุตซีในคองโกก็ตอบโต้ด้วยการก่อตั้งสภาป้องกันประชาชนแห่งชาติ หรือซีเอ็นดีพี (CNDP) ซึ่งพัฒนามาเป็นกลุ่ม 23 มีนาคม หรือเอ็ม23 เหตุนองเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก่อขึ้นค่อยๆกัดกินและบ่อนทำลายอุทยาน
นักรบบางส่วน รวมไปถึงทหารคองโกที่เข้ามาปกป้องประเทศ ไม่ยอมกลับถิ่นฐานหลังประกาศหยุดยิง แต่ล่าสัตว์ในอุทยานทั้งเพื่อยังชีพและเพื่อการค้า ทุกวันนี้ นักรบหลายพันคนยังปักหลักอยู่ในป่า ทั้งยังมีกองกำลังท้องถิ่นอีกหลายพันคนที่เรียกกันว่ากองกำลังมาอี-มาอีเข้ามาสมทบอีกด้วย ความพยายามขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากพื้นที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานนำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงถึงชีวิต เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานสองคนถูกฆ่าในเขตส่วนกลางของอุทยาน ส่งผลให้จำนวนเจ้าหน้าที่อุทยานที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 152 คนนับตั้งแต่ปี 1996
นอกจากนั้นแล้วยังมีสงครามอีกรูปแบบหนึ่งตั้งเค้าเหนือวีรุงกา สงครามดังกล่าวทำให้อุทยานแห่งนี้และความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาของอุทยานต้องเผชิญกับการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน เมื่อปี 2010 บริษัทโซโกอินเตอร์เนชั่นแนลในกรุงลอนดอนได้รับสัมปทานการสำรวจพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของอุทยาน ซึ่งรวมถึงบริเวณใกล้ทะเลสาบ เอดเวิร์ด หลังจากการประท้วงยาวนานของกลุ่มอนุรักษ์ สี่ปีต่อมา โซโกก็ยอมถอยและบอกว่าไม่ได้ถือครองสัมปทานอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยูกันดาแสดงท่าทีสนใจที่จะสำรวจน้ำมันรอบทะเลสาบฝั่งของตน นับเป็นสิ่งเตือนใจที่น่าเศร้าว่า ไม่มีใครเคารพในคุณค่าที่แท้จริงของอุทยานเลย
อุทยานแห่งนี้ยังเป็นเวทีของโศกนาฏกรรมภายในประเทศคองโกด้วย ความจริงแล้ว วีรุงกาถือเป็นหนึ่งในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในแอฟริกา การประกาศให้ที่นี่เป็นเขตอนุรักษ์นับตั้งแต่ก่อตั้งอุทยานเมื่อปี 1925 ส่งผลให้ประชากรผู้ยากแค้นที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกไม่อาจเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง จึงเป็นการเติมเชื้อไฟให้ความขุ่นเคืองของผู้คนราวสี่ล้านชีวิตในภูมิภาคยิ่งคุโชน หลายคนเพิกเฉยต่อกฎหมายหรือท้าทายด้วยการตัดไม้ในเขตอุทยานมาเผาถ่าน เพาะปลูกพืชผลในอุทยาน และล่าสัตว์ป่า บ้างก็ตั้งกองกำลังมาอี-มาอีและก่อเหตุรุนแรงเป็นครั้งคราว
บรรยากาศแห่งความขุ่นเคืองที่แพร่ลามไปทั่วนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นสิ่งท้าทายการดำรงอยู่ของวีรุงกา “ความจริงก็คือ เราไม่มีวันแก้ปัญหาได้สำเร็จ ถ้าเราไม่ระดมทุนก้อนใหญ่ครับ” เอมมานูเอล เดอ เมอโรด ผู้อำนวยการอุทยาน บอก
เอมมานูเอล เดอ เมอโรด ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติวีรุงกาและหัวหน้าผู้พิทักษ์ เป็นเจ้าชายเบลเยียม ซึ่งเป็นฐานันดรที่ได้มาเพราะบรรพบุรุษของเขาช่วยเรียกร้องเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ และจากภูมิหลังนี้ ใครๆอาจคิดว่าเขาเหมาะกับชีวิตที่สวมเสื้อสเวตเตอร์นั่งจิบไวน์อยู่ข้างเตาผิง มากกว่าจะอยู่ในเขตที่มีความขัดแย้งรุนแรงอื้อฉาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นนี้ แต่เดอ เมอโรด เกิดในแอฟริกา ใช้ชีวิตวัยเด็กในเคนยา ศึกษาด้านมานุษยวิทยา และทำงานสายอนุรักษ์มาตลอด โดยส่วนใหญ่อยู่ในคองโก
เดอ เมอโรด รับตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติวีรุงกาเมื่อปี 2008 ในช่วงที่อุทยานตกต่ำที่สุด ผู้อำนวยการคนก่อนถูกจับกุมในปีเดียวกันด้วยข้อหามีส่วนร่วมในการลักลอบตัดไม้ทำถ่านและวางแผนสังหารหมู่กอริลลา (แต่ไม่มี การดำเนินคดีเพราะหลักฐานอ่อน) ราวหกเดือนก่อนหน้านั้น สมาชิกใหม่ของอุทยานคือซีเอ็นดีพี หรือกองกำลังที่รวันดาหนุนหลังให้จัดการกองกำลังเอฟดีแอลอาร์ ภารกิจแรกสุดของเดอ เมอโรด นั้นห้าวหาญยิ่ง นั่นคือการไปที่สำนักงานใหญ่ของซีเอ็นดีพีโดยไม่พกอาวุธเพื่อขอร้องให้คนของเขาผ่านเข้าออกอุทยานได้ ปรากฏว่าโลรอง อึนคุนดา ผู้นำกองกำลังยอมตกลง จากนั้นเดอ เมอโรด ก็สะสางบุคลากรโดยลดจำนวนเจ้าหน้าที่จาก 1,000 คนเหลือ 230 คน (ต่อมาจึงขยับขึ้นเป็น 480 คน โดยมีผู้หญิง 14 คน) และขึ้นเงินเดือนจากห้าดอลลาร์สหรัฐอันน้อยนิดเป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเขาบอกว่า“มากพอจะระงับยับยั้งการทุจริตได้”
จากนั้นเดอ เมอโรด ก็เริ่มสานสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น เขาฟังเสียงอุทธรณ์ของชาวบ้าน หลายสิบปีมาแล้วที่อุทยานสัญญาว่าจะจัดสรรรายได้จากนักท่องเที่ยวคืนให้ชุมชนครึ่งหนึ่ง เงินพวกนั้นถูกใช้จ่ายไปกับอะไรหรือ ในเมื่อถนน โรงเรียน และโรงพยาบาลล้วนมีสภาพทรุดโทรมลงทุกที ขณะที่ช้างก็เข้าไปทำลายพืชผล
“ก่อนเดอ เมอโรด จะเข้ามา เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอุทยานมีผู้อำนวยการ” ชาวประมงที่วิตชุมบีบอกผม “ตอนนี้เราเห็นเจ้าหน้าที่อุทยานใส่เครื่องแบบสะอาดและมีอาวุธดีๆใช้ เราเห็นความแตกต่างที่เขาทำครับ” ผู้อำนวยการถึงกับยอมเจรจากับกลุ่มกองกำลังต่างๆ แม้จะได้ผลบ้างไม่ได้บ้างก็ตาม
กระนั้น เดอ เมอโรด ก็รู้ว่า ลำพังความน่าเกรงขามที่เพิ่มขึ้นของเขาเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้อุทยานอยู่รอดได้ แต่จำเป็นต้องใช้เงินในการบังคับใช้กฎหมายและดึงผู้คนรอบอุทยานเข้ามาเป็นพันธมิตรถาวร สำหรับเดอ เมอโรดทางเดียวที่จะบรรลุข้อหลังได้คือ “ใช้อุทยานเป็นฐานในการสร้างงานจำนวนมาก โดยไม่สร้างความเสียหายแก่อุทยาน” เป้าหมายนั้นทำให้เขาใช้พื้นที่ตอนเหนือของอุทยาน โดยเฉพาะแม่น้ำบูตาฮูซึ่งหลั่งไหลมาจากยอดธารน้ำแข็งในเทือกเขารเวนโซรีไปยังชายขอบหมู่บ้านมุตวังกา ชุมชนยากจนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อปี 2010 อุทยานเริ่มจ้างชาวบ้านขุดคลองและวางฐานรากของสิ่งที่จะกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของวีรุงกา อุทยานจะเดินสายไฟไปยังบ้านเรือนแต่ละหลังในมุตวังกาโดยมีค่าใช้จ่าย 110 ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นบ้านแต่ละหลังก็สามารถซื้อไฟฟ้าในระบบจ่ายตามจริงที่แสนถูกได้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้เริ่มจ่ายไฟเมื่อปี 2013
เดอ เมอโรด คาดหวังว่าไฟฟ้าจะช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจ “สาเหตุที่ไม่มีอุตสาหกรรมใดๆก็เพราะไม่มีแหล่งพลังงานราคาถูก และนั่นคือสิ่งที่อุทยานให้ได้ครับ” เขาบอก
แนวคิดที่จะให้วีรุงกาเป็น “เครื่องจักรเศรษฐกิจ” ของภูมิภาคแสดงให้เห็นว่า ผู้นำคองโกยอมฝากชะตากรรมของภูมิภาคหนึ่งในประเทศไว้ในมืออุทยานแห่งหนึ่งกับผู้อำนวยการอุทยานชาวเบลเยียม ผู้สืบเชื้อสายจากอดีตเจ้าอาณานิคมของตน ไม่นับความเสี่ยงที่ว่า แนวคิดนี้อาจเปลี่ยนความชิงชังอันยาวนานที่ประชาชนมีต่ออุทยานให้กลายเป็นการพึ่งพาอย่างเข้มข้น นี่คือเดิมพันซึ่งมีความเสี่ยงสูงยิ่งสำหรับเดอ เมอโรด และกุญแจสำคัญคือคนหนุ่มสาวที่ยอมวางอาวุธแล้วหันมาทำงานสุจริตเล็กๆน้อยๆแทน
เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์
ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน
อ่านเพิ่มเติม
Recommend
วิวัฒน์แห่งดวงตา
เรื่อง เอด ยอง ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์ หากลองถามใครต่อใครว่า…
สงครามที่ไม่อาจพ่ายแพ้ของชาวเคิร์ด
เรื่อง นีล ชี ภาพถ่าย ยูริ โคซืยเรฟ ในวันที่เมืองโมซุลตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มไอซิส…
งานศิลป์จากสวนหลังบ้าน
เรื่อง เจมส์ เอสทริน ภาพถ่าย โจชัว ไวต์ ตอนที่โจชัว…
ภาพนี้ต้องขยาย : รวมพล คนรักชาติ
ภาพโดย BROWN BROTHERS/NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE ฝูงชนมารวมตัวกันเพื่อชม “ธงชาติผืนใหญ่ที่สุด” โบกสะบัดเหนือไทมส์สแควร์ในมหานครนิวยอร์ก…