อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก อาจทำนายได้ว่าคุณมีแนวโน้มจะเป็นอาชญากรหรือไม่? งานวิจัยใหม่จากประเทศสวีเดนได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า ผู้หญิงที่หัวใจเต้นช้ามีความสัมพันธ์กับการก่ออาชญากรรม และทำให้เกิดการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ชัดเจนคือ รายงานนี้ไม่ได้กล่าวว่า ‘ผู้หญิงทุกคนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักต่ำ จะเป็นอาชญากร’
ย้อนกลับไปในปี 2015 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ในประเทศฟินแลนด์ ได้ระบุในรายงานของพวกเขาว่า “วัยรุ่น ‘เพศชาย’ ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะก่ออาชญากรรมเมื่อเป็นโตเป็นผู้ใหญ่” การศึกษาครั้งนั้นได้สร้างความฮือฮาในหมู่นักวิชาการมากพอสมควร
โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างชายหนุ่มอายุ 18 ปีกว่า 710,000 คนตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2015 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบเพื่อเข้ารับราชการทหาร ไว้ว่า ผู้ชายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำที่สุดมีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น ยาเสพติด มากขึ้นร้อยละ 25
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาท ถูกทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุสูงขึ้น 39 เปอร์เซ็น เมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่สูงกว่า อีกทั้งยังระบุอีกว่า การค้นพบนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้า ที่อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักในเด็กเชื่อมโยงกับพฤติกรรมต่อต้านสังคม
“ผลลัพธ์ของเรายืนยันว่า นอกจากจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์เชิงบวกและต่อต้านสังคมในวัยเด็กกับวัยรุ่นแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำขณะพักยังเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคมที่รุนแรงและไม่รุนแรงในวัยผู้ใหญ่” นักวิจัยจากมหาวิทยาเฮลซิงกิ กล่าว
แม้ในครั้งนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก โดยหลายคนกล่าวว่าเราไม่สามารถตัดสินว่าใครเป็นอาชญากรได้จากการแค่เพียงดูอัตราการเต้นของหัวใจ และที่สำคัญ มันมีความแตกต่างน้อยมากจนไม่มีความหมาย ทว่าในปี 2024 ล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาแบบเดิมอีกครั้งโดยมุ่งเป้าไปที่เพศหญิง
“การค้นพบที่ได้รับรายงานอาจมีนัยสำคัญต่อการทำนายอาชญากรรมที่เป็นสตรีได้ในอนาคต” โซฟี อสคารซ์ซัน (Sofi Oskarsson) จากมหาวิทยาัลโอเรโบร ในสวีเดน กล่าว “ความตื่นตัวจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ลดลง เป็นความสัมพันธ์ที่รู้จักกันดีของการก่ออาชญากรรมและพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ในผู้ชาย แต่มีงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่ตรวจสอบความสัมพันธ์นี้ในผู้หญิง”
ทีมงานได้ติดตามประวัติอาชญากรรมของผู้หญิงจำนวน 12,499 คน ที่เข้าร่วมกองทัพตั้งแต่เมื่อายุประมาณ 18 ปี และติดตามนานกว่า 40 ปี พวกเขาพบว่าผู้หญิงที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำที่สุด (ต่ำกว่า 69 ครั้งต่อนาที) มีแนวโน้มว่าจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญามากกว่าผู้หญิงที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่สูงกว่าถึงร้อยละ 35 (สูงกว่า 83 ครั้งต่อนาที)
ในทางเดียวกับผู้หญิงที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำ ยังเชื่อมโยงกับการถูกตัดสินโทษในอาชญากรรมที่ ‘ไม่รุงแรง’ สูงกว่าผู้หญิงที่มีอัตรการเต้นของหัวใจขณะพักสูง แต่ยังไงก็ตามผลลัพธ์นี้ใช้ไม่ได้กับอาชญากรรมที่รุนแรง
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้วิเคราะห์ความดันโลหิตซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure, SBP คือ แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว) โดยผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่างที่มี SBP ต่ำสุด (น้อยกว่า 113 mmHg) มีความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็น เมื่อเทียบกับผู้ที่มี SBP สูงกว่า (สูงเกิน 134 mmHg)
“เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ก่อนหน้านี้ที่ว่าอัตราการเต้นขจองหัวใจขณะพักที่ต่ำกว่านั้นสัมพันธ์กับแนวโน้มที่จะเล่นกีฬาผาดโผนเช่น การดิ่งพสุธา และงานที่เสี่ยงเช่น งานกำจัดระเบิด แล้ว” รายงานระบุ “การค้นพบของเราที่ว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจในหมู่ทหารเกณฑ์หญิงนั้นเป็นสิ่งที่น่าสังเกต”
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำ (เฉพาะในกลุ่มตัวอย่าง) มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมสูงกว่า แต่ในงานวิจัยเมื่อปี 2015 ได้ระบุไว้ 2 ทฤษฏีด้วยกัน
หนึ่งคือ ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะที่ต่ำจะมีระดับสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกกันว่า ‘ความตื่นตัว’ หรือความรู้สึกตื่นตัวในระดับที่ต่ำผิดปกติมาก ดังนั้นผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่ำนี้จึงพยายามมองหาประสบการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้น ‘ความตื่นเต้น’ ให้พวกเขาได้ และหลายครั้งก็มีเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม
สำหรับประการที่สอง อาจเป็นไปได้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำนั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์ที่ตึงเครียดน้อยกว่าคนทั่วไป นั่นทำให้พวกเขาไม่รู้สึกกลัว(หรือรู้สึกน้อยลง)ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา กล่าวอีกนัย พวกเขาไม่ได้รู้สึกกลัวที่จะถูกลงโทษ หรือเครียดที่จะถูกจับ
ยังไงก็ตามทั้งสองงานวิจัยไม่ได้ให้หลักฐานสำหรับทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่ง และสิ่งที่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งคือ การค้นพบทั้งสองเป็นเพียงการเชื่อมโยงเข้าหากัน แต่ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าคนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำ ไม่ได้เป็นอาชญากรทุกคน ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานเหล่านี้
ทั้งนี้อาจมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการก่ออาชญากรรมเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ เพื่อน หรือแม้เศรษฐกิจ แต่การศึกษาทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราเข้าใจแรงผลักดันต่าง ๆ ทั้งในด้านชีววิทยาและด้านรอบตัว เพื่อที่จะสามารถพัฒนาการแนวทางการช่วยเหลือและการป้องกันให้ได้ดีที่สุด
“การวิจัยของเราเผยให้เห็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ต่ำ กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการก่ออาชญากรรมและการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจในหมู่ทหารหญิง” รายงานกล่าว “ซึ่งก่อนหน้านี้เน้นย้ำในกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก เป็นการปูทางสำหรับกลยุทธ์เชิงนวัตกรรม ในการทำนายความเสี่ยงด้านอาชญากรรมในหมู่ผู้หญิง”
ที่มา