จับตาสถานการณ์หญ้าทะเลหาย หลังพะยูนไทยตายพุ่ง

จับตาสถานการณ์หญ้าทะเลหาย หลังพะยูนไทยตายพุ่ง

อัพเดทสถานการณ์หญ้าทะเลไทย แหล่งอาหารสำคัญ ภายหลังการเสียชีวิตของพะยูนที่สูงขึ้นจนต้องจับตา

การเสียชีวิตของพะยูนในท้องทะเลไทยกับการสูญหายไปของหญ้าทะเลคือเรื่องที่มาคู่กัน นั่นเพราะ “หญ้าทะเล” คือหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน เหตุนี้เมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของ“พะยูนไทย” ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับหญ้าทะเลจึงกลับมาพูดถึงอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “พะยูนตายอีกตัวแล้วครับ ปีที่แล้วทั้งปี 40 ตัว ปีนี้ 32 ตัว ไม่รู้ถึงสิ้นปีจะตายอีกกี่ตัว ปัญหาคือหญ้าทะเลหายเยอะ ต้องหาวิธีมาแก้ไขครับ”

เกี่ยวกับสถานการณ์หญ้าทะเลในประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือสถาบันหนึ่งที่ได้ทำการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ National Geographic ฉบับภาษาไทยว่า ขณะนี้เราจะได้ข่าวการตายตายของพะยูนอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลายอย่าง มีการตายกระจายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ เนื่องจากการลดลงของพื้นที่หญ้าทะเล จนทำให้ไม่เพียงพอต่อการรองรับพะยูนจำนวนมาก ทำให้พะยูนต้องอพยพไปยังพื้นที่ต่างๆ

ภาพประกอบพะยูน ถ่ายโดยศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ภาพประกอบหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล ถ่ายโดยศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

“หญ้าทะเลที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ นอกจากจะลดลงด้วยสาเหตุจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงจากการกินของพะยูนที่มีการอพยพด้วย  โดยปกติ พะยูน 1 ตัว จะกินหญ้าทะเล 20-50 กิโลกรัม ซึ่งแต่เดิมเราจะพบเห็นร่องรอยพะยูนบนหญ้าใบมะขาม แต่พะยูนสามารถกินหญ้าทะเลได้ทุกชนิด การอพยพของพะยูนเข้าสู่พื้นที่ใหม่ ทำให้เราเห็นร่องรอยการกินได้จากปลายใบของหญ้าชะเงาใบยาว การกินของพะยูนไม่ได้เลือกกินเฉพาะส่วนใบ แต่ยังกินส่วนดอกและผลไปพร้อมกัน ดังนั้นในอนาคต การเพิ่มจำนวนกอของหญ้าชะเงาใบยาวตามธรรมชาติในพื้นที่หากินของพะยูนอาจจะมีโอกาสน้อยลงไปด้วย”

ภาพถ่ายหญ้าทะเล บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ในช่วงสิงหาคม 2564 ถ่ายโดยทีมวิจัย คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์
ภาพถ่ายหญ้าทะเลมุมเดียวกับภาพแรก บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ในช่วงธันวาคม 2565
ภาพถ่ายหญ้าทะเลมุมเดียวกับสองภาพแรก ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อมีนาคม 2567 แสดงถึงความแตกต่างของหญ้าทะเลอย่างชัดเจน

จากการติดตามพื้นที่หญ้าทะเลของทีมวิจัย คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ รศ.ชัชรี ให้ข้อมูลว่า พบแหล่งหญ้าทะเลที่เคยสมบูรณ์มีการเปลี่ยนแปลงจนหญ้าทะเลลดจำนวนน้อยและหายไปในที่สุด ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี โดยสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิอากาศและน้ำสูงขึ้น น้ำทะเลลดต่ำลงเป็นเวลานาน มีผลทำให้ช่วงเวลาน้ำลง หญ้าทะเลต้องผึ่งแห้งและได้รับแสงแดดในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ จนกว่าน้ำทะเลจะขึ้นและท่วมหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลไหม้และแห้งจนไม่สามารถฟื้นคืนได้

“นอกจากนี้ พื้นที่หญ้าทะเลที่มีการผึ่งแห้งเป็นเวลานานในช่วงกลางวัน ทำให้แสงมีความเข้มสูงจนทำให้เกิดสาหร่ายทะเลกลุ่มสีเขียวแกมน้ำเงินจำนวนมากเกาะและปกคลุมใบหญ้าทะเล ส่งผลต่อสมดุลการหมุนเวียนธาตุอาหารและการปกคลุมแนวหญ้าทะเลในพื้นที่ และเป็นเหตุทางอ้อมที่ทำให้แนวหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง กรณีนี้ อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลที่มีการน้ำลงในช่วงกลางวัน หรือในพื้นที่ที่มีแหล่งธาตุอาหารไหลลงสู่พื้นที่ โดยสาหร่ายทะเลจะตายและหายไปเมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต”

รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการอนุบาลต้นอ่อนหญ้าทะเล

เร่งเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นอ่อน

สำหรับความคืบหน้าในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการอนุบาลต้นอ่อนหญ้าทะเล หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน สามารถกระตุ้นให้หญ้าชะเงาใบยาวและชะเงาใบสั้นเกิดยอดได้ปริมาณมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการกระตุ้นให้เกิดเป็นต้นอ่อนโดยมีอัตรารอดที่สูงขึ้น มีการทดสอบการอนุบาลหญ้าทะเลในโรงเรือนที่สถานีวิจัยประมงศรีราชา และบ่อเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลที่สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ของคณะประมง ม. เกษตรศาสตร์ ในการทำการศึกษาวิจัยจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หากเราไม่มีต้นพันธุ์ที่จะใช้ในการขยายพันธุ์ จึงได้มีการสร้างแปลงฟื้นฟูหญ้าทะเลขึ้นในพื้นที่ดูแลของศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน คณะประมง เพื่อเป็นแหล่งต้นพันธุ์สำหรับการศึกษาและการขยายพันธุ์เพื่อการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในอนาคต

ร่วมมือเพื่อหญ้าทะเลไทย

ถึงตรงนี้การเร่งฟื้นฟูหญ้าทะเลภายหลังการเสียชีวิตของพะยูนไทยคือเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสร้างแหล่งอาหารเพิ่มเติม รวมทั้งสำรวจประชากรของพะยูนที่ชัดเจน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการเก็บเมล็ดหญ้าทะเลนำมาเพาะพันธุ์เพื่อนำไปปลูกเพิ่มเติมในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน

ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยการให้อาหารเสริมกับพะยูน โดยการให้ผักกาดขาวเป็นอาหารในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดราไวย์ การร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครดำเนินการสำรวจประชากรพะยูน รวมถึงสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนี่ยังมีไอเดียการที่ให้ประชาชนที่มีข้อมูลหญ้าทะเลถ่ายรูปเพื่อส่งให้ทีมวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแผนที่หญ้าทะเล และประมวลศักยภาพหญ้าทะเลในการเป็นแหล่งอาหารของพะยูน

ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เชิญชวนประชาชนถ่ายภาพเพื่อร่วมสำรวจหญ้าทะเล

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทช.โพสต์เฟสบุ๊คในประเด็นนี้ว่า  “แค่ท่านมีกล้องในโทรศัพท์หรือมีโดรน ท่านสามารถช่วยเจ้าหน้าที่ในการสำรวจแปลงหญ้าทะเลในช่วงน้ำทะเลลงต่ำสุดได้แล้ว โดยการส่งภาพต้นฉบับมายัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทีมเจ้าหน้าที่จะดำเนินการวิเคราะห์ชนิดและปริมาณการปกคลุมหญ้าทะเล จัดทำแผนที่สถานภาพและขอบเขตหญ้าทะเล ตลอดจนประเมินมวลชีวภาพหญ้าทะเลและศักยภาพการรองรับจำนวนพะยูนที่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป

สถานการณ์หญ้าทะเลและพะยูนในท้องทะเลไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตากันต่อไป

ภาพประกอบ 

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย


อ่านเพิ่มเติม : รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

Recommend