ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามรอยมรดกเมืองน้ำแห่งแผ่นดินไทย

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามรอยมรดกเมืองน้ำแห่งแผ่นดินไทย


ย้อนรอย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางวัฒนธรรมแห่งสังคมเมืองน้ำ จากสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน

“เป็นขบวนเสด็จพระราชดำเนินยิ่งใหญ่และแปลกตา และเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าฟาโรห์เสด็จเลียบแม่น้ำไนล์ก็น่าจะเป็นขบวนมโหฬารดังที่เห็น…ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์สยามประกอบด้วยระเบียบแบบแผนสง่างาม แฝงสัญลักษณ์และคติต่างๆ เป็นความตั้งใจให้ผู้ที่เห็นได้ประจักษ์ในพระบรมเดชานุภาพและพระบุญญาธิการของพระองค์ ปานหนึ่งว่าเทพเจ้าได้ปรากฏพระองค์อยู่ต่อหน้า…”

บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงริ้วขบวนแห่พยุหยาตราชลมารค ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ภาพ: กรมศิลปากร

หลักฐานหนึ่งซึ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่สืบต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏต่อสายตาของชาวต่างชาติมาแต่ครั้งนั้น กระบวนเรือหลวงซึ่งใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระมหากษัตริย์ไทย ก่อร่างมาจากการหลอมรวมกันระหว่างวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำของราชธานีในอดีตและคติความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธที่แผ่อิทธิพลมาจากแดนภารตะถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นราชประเพณีอันน่าภาคภูมิใจของชาวไทยและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

วัฒนธรรมของสังคมเมืองน้ำ

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา ราชธานีในอดีต เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบ การสัญจรทางน้ำจึงเป็นการคมนาคมหลัก ชาวเมืองจึงมีความชำนาญในการต่อเรือ เพราะเรือเป็นทั้งบ้าน แหล่งค้าขาย และมีส่วนสำคัญในการสงคราม จนทำให้อยุธยาในสมัยนั้นได้รับขนานนามว่า ชารินาว (Sharinaw)  หรือนาวานคร คือเมืองที่เต็มไปด้วยเรือ ตามบันทึกของชาวเปอร์เซียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 (ค.ศ. 1657 – 1765) 

เมืองท่านี้เป็นแหล่งวัฒนธรรมแห่งเมืองน้ำที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทยโบราณ เป็นทั้งธรรมเนียมประเพณีและความสุขสำราญใจ ในยามไม่มีศึกสงคราม การจัดริ้วขบวนเรือเป็นไปเพื่อการจรรโลงธรรม อุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนาของกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ถือเป็นโอกาสในการทอดพระเนตรบ้านเมืองและ ดูแลประชาราษฎร์ ปรากฎในบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปในการพระราชพิธี ณ บางประอิน มีการจัดริ้วขบวนอย่างเต็มพระเกียรติยศ กระนั้น เมื่อเสด็จฯ กลับสู่กรุงศรีอยุธยา ได้ทรงโปรดฯ ให้มีวงมโหรีปี่พาทย์และการแข่งเรืออย่างสนุกสนาน เป็นทั้งการสร้างขวัญกำลังใจให้ข้าราชบริพารและความปลื้มปิติให้พระราชอาคันตุกะและพสกนิกรริมฝั่งน้ำยิ่งนัก

ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ครั้นเมื่อเกิดศึกสงคราม จึงจะมีการจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อการรบและลำเลียงเคลื่อนย้ายกำลังพล สัตว์ต่าง และอาวุธจากยุทธภูมิหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่งเพื่อความคล่องตัว ขบวนทัพหลวงของพระมหากษัตริย์ยิ่งต้องพร้อมพรั่งด้วยริ้วกระบวนเรืออันมีจำนวนมากและระเบียบเคร่งครัด เพื่อแสดงถึงแสนยานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์ในการปกป้องพระราชอาณาจักร 

“กระบวนเพชรพวง” ต้นแบบขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ต้นแบบของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาจาก “กระบวนเพชรพวง” ซึ่งมีทั้งแบบแผนสำหรับขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยทางชลมารคนั้นเป็นการจัดครั้งยิ่งใหญ่ด้วยกระบวนเรือกว่าร้อยลำในวาระสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเรือหลวงออกมารับคณะราชทูตและแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองลพบุรีหรือราชธานีรองในสมัยนั้น 

แบบแผนการจัดกระบวนเพชรพวงกลายเป็นต้นแบบการจัดริ้วขบวนที่มีริ้วเรือพระที่นั่งอยู่ตรงกลาง และมีเรือขบวนประเภทต่างๆ ขนาบข้างซ้าย-ขวา นำขบวนและปิดท้ายขบวนในลักษณะดาวล้อมเดือน ซึ่งตำแหน่งของเรือจะจัดต่างกันไปตามการใช้งานและขนาดใหญ่-เล็กของเส้นทาง

ภาพ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ตามแบบแผนกระบวนเรือแบบโบราณ อ้างอิงจาก “สมุดภาพริ้วกระบวนพยุหยาตราชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ประกอบไปด้วยเรือ 7 ประเภท ตำแหน่งและการประดับตกแต่งเรือแบ่งลำดับศักดิ์ คือ หากมีธงประจำเรือมักมีเจ้านายประทับอยู่ในเรือ

  1. เรือพระที่นั่งกิ่ง หรือเรือกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุด ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือใช้ลำเลียงผ้าไตร หรือพานพุ่มดอกไม้ในงานพระราชพิธี
  2. เรือเอกไชย เป็นเรือตำรวจคู่ชัก นำหน้าและปิดท้ายขบวนเรือพระที่นั่ง
  3. เรือโขมดญา เป็นเรือรักษาความปลอดภัยแก่เรือพระที่นั่ง
  4. เรือรูปสัตว์ แสดงพลังและความสูงส่งแห่งองค์พระมหากษัตริย์ เช่น หงส์ นาค ครุฑ
  5. เรือไชย ลักษณะคล้ายเรือกิ่ง แต่มีไว้สำหรับกระทุ้งเส้าให้จังหวะ
  6. เรือแซ เป็นเรือนำขบวนพยุหยาตรา
  7. เรือพิฆาต เป็นเรือรบไทยแบบโบราณ มีปืนที่หัวเรือ 

มาถึงในยุครัตนโกสินทร์ การจัดริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้สืบต่อกันมาและใช้ทั้งในงานพระราชพิธี และงานรัฐพิธี ปรากฎหลักฐานชัดเจนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทั้งสองรัชกาลเป็นการเสด็จพระราชดำเนินระยะสั้นจากท่าราชวรดิฐไปนมัสการพระพุทธรูป ณ วัดอรุณราชวราราม

ในรัชกาลที่ 4 และ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ต้องใช้เส้นทางผ่านคลองขนาดเล็ก จึงไม่สามารถจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างเต็มรูปแบบได้ 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัชกาลที่ 7 | ภาพจากหอจดหมายเหตุ

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถือเป็นการเกิดประเพณีใหม่ในการนำกระบวนพยุหยาตราชลมารคเข้าร่วมเฉลิมฉลองในวาระกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการถวายผ้าพระกฐิน สมัยรัชกาลที่ 7 | ภาพจากหอจดหมายเหตุ

และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ รัชกาลที่ 9 นอกจากจะมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีตามราชประเพณีแล้ว ยังได้ต้อนรับคณะราชทูต ในงานประชุมเอเปค และวาระการครองราชย์ 60 ปี ซึ่งเป็นรัฐพิธีที่เชื่อมสัมพันธไมตรีทางการทูต และสร้างภาพลักษณ์ของเมืองแห่งมรดกทางวัฒนธรรมให้ต่างชาติได้เป็นที่ประจักษ์ 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในงานฉลองราชสมบัติครบ 60 ปี รัชกาลที่ 9 พ.ศ.2549
ภาพโดย เริงชัย คงเมือง เผยแพร่ครั้งแรก ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย สิงหาคม 2549

จวบจนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยทรงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมเนียมราชประเพณีการจัดริ้วขบวนเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค 

ในการจัดเตรียมความพร้อมนั้นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ทรงพระราชดำรัสมอบหมายไว้ ได้แก่ กองทัพเรือที่รับผิดชอบเรื่องการจัดกำลังพล การฝึกซ้อม หรือการดูแลตัวเรือซึ่งเป็นลักษณะของงานไม้ กรมศิลปากรจะดูแลในเรื่องของลวดลาย การลงรักปิดทอง-ประดับกระจกและการตกแต่งเรือที่เป็นลวดลายที่สวยงาม สำนักพระราชวังจะดูแลในเรื่องของเครื่องสูง เสื้อผ้า ชุดประจำเรือให้เป็นไปแบบธรรมเนียมของราชประเพณีในอดีต

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย วิรัช สวัสดี สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดขบวนเรือในสมัยของรัชกาลที่ 9 โดยได้ถือหลักปฏิบัติตามที่ทรงวางแบบไว้ในปี พ.ศ.2525 มาโดยตลอด จวบจน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ได้โปรดให้มีการจัดขบวนพระยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนคร

จะเห็นได้ว่าท่านทรงมอบหมายงานหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกองงานในพระองค์ สำนักราชวัง กองศิลปกรรม กรมศิลปากร กองทัพเรือ หรือแม้กระทั่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รวมตัวกันค้นคว้าองค์ความรู้ต่างๆ จัดเป็นรูปแบบใหม่ คือ แบบมาตรฐานขบวนเรือราชพิธีทรงพระราชทานไว้ให้ 

ขบวนพยุหายาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย นรา กิจเกรียงไกรกุล สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ประกอบด้วยเรือจำนวน 52 ลำ จัดริ้วขบวน 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร กำลังพลประจำเรือในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,412 นาย 

มีเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง 

สืบต่อความหมายศิลปกรรมแห่งสายน้ำ

บรรยากาศอันเป็นเสน่ห์ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกประการคือ เสียงเห่เรือ กาพย์เห่เรือซึ่งเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ นิพนธ์โดยเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศ เป็นการแต่งชมความงามของกระบวนเรือ และยังมีบทประพันธ์ที่กล่าวถึงความงามของธรรมชาติ พระนคร และอาหาร อันเป็นเครื่องสะท้อนแก่นการใช้ชีวิตที่รื่นรมย์ผสมศิลปะวัฒนธรรมที่ต่างกันไปตามยุคสมัย

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย วรรณพงษ์ สุรโรจน์ประจักษ์ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การเห่เรือ ต้องสัมพันธ์กับจังหวะการลงเส้า เพื่อสร้างความฮึกเหิมแรงกำลัง และให้จังหวะแก่ฝีพายไปในเวลาเดียวกัน ในกระบวนพยุหยาตราแต่ละครั้งจะมีกองทัพเรือเป็นผู้ฝึกฝนและควบคุมในพิธี และมีศิลปินแห่งชาติเป็นครูฝึกการขับร้อง เพราะถือเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะการร้องที่หนักแน่น นอกจากการเห่แล้ว ยังมี มโหรี ปี่ลงเรือ กลองแขก มโหระทึก กรับสัญญาณสำหรับนายเรือพระที่นั่ง ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับริ้วขบวนโดยรวม

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปรากฎความงดงามสมพระเกียรติทั้งภาพลักษณ์และเสียง จึงต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจจากสำนักพระราชวัง กรมศิลปากร และกองทัพเรือ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปกรรม งานสังคีต หรือการแต่งกายของกำลังพลประจำกระบวนเรือ ต่างถูกกำหนดขึ้นมาอย่างมีเหตุผล

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย สุรเชษฐ อินอัญชัญ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

รูปแบบของเรือในขบวนมีทั้งเรือทองที่เป็นชุดเรือสำคัญ อาทิ เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือเอกไชย เรือรูปสัตว์ที่มีการแกะสลัก ลงรักปิดทองที่โขนเรือและตัวเรือทั้งลำ รวมไปถึง เรือไม้ ที่ลงรักปิดทองที่ยอดดั้ง และท้ายเรือ ส่วนโครงสร้างของเรือพระราชพิธี คัดเลือกมาจากไม้ตะเคียน และไม้สักเพราะน้ำหนักพอดี ลอยน้ำได้ดี และสามารถแช่น้ำได้นาน ในประวัติศาสตร์อธิบายการสร้างเรือไว้ว่า ช่างต่อเรือต้องใช้ทักษะในการเบิกเนื้อไม้จากซุงท่อนเดียวให้ห่างออกจากกันให้กว้างที่สุดเพราะความคุ้มค่าและความแข็งแรง

เรือไม้โบราณ ที่วัดดุสิดาราม แสดงให้เป็นถึงศิลปะการเบิกไม้หนึ่งต้นให้เป็นลำเรือ ภาพถ่าย: อภิรักษ์ สุขสัย

ศิลปกรรมของเรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคผสมผสานวัฒนธรรมจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธ ซึ่งมาจากกระบวนการภารตะวิวัฒน์ที่แผ่อิทธิพลมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คติ “เทวราชา” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เปรียบพระมหากษัตริย์ดั่งพระนารายณ์อวตาร ราชาผู้ปกครองโดยธรรม  ดังปรากฏในโขนเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ หงส์ สื่อถึงความบริสุทธิ์และสูงส่ง ครุฑ เป็นยานพาหนะของพระนารายณ์ นาค อยู่ในความเชื่อของศาสนาพุทธ สื่อถึงการบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุธรรม

ขบวนพยุหายาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย บัญญัติ มานะกิจลาภ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

และยังมีโขนเรือรูปสัตว์ที่สอดคล้องกับวรรณกรรม “รามเกียรติ์ “ ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระราม ภาคหนึ่งของนารายณ์อวตารมาปราบความชั่ว จึงเป็นการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ผ่านโขนเรือรูปกระบี่ (ลิง) ซึ่งเป็นทหารเอกของพระรามอีกด้วย

ศรัทธาแห่งอุษาคเนย์และวิถีชีวิตในเมืองน้ำ ผูกพันอย่างแนบแน่นในราชประเพณีไทย ครั้งใดที่มีพระราชพิธี มักปรากฎภาพแห่งความทุ่มเทน้อมใจถวายงานให้สมพระเกียรติพระบารมีของกษัตริย์ไทย ความวิจิตรงดงามตามราชประเพณีได้ขยายผลเป็นแรงบันดาลใจไปสู่ประเพณีตามแบบฉบับของประชาชน ที่พร้อมจะเคลื่อนไปสู่อนาคตแต่ยังผูกพันแนบแน่นกับรากเหง้าประเพณี

ขบวนพยุหายาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ภาพถ่ายโดย ทรงพล เทศกิจ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เสียงเห่เรือที่ก้องไปทั่วคุ้งน้ำ การวาดฝีพายที่แข็งขันไปกับความเรืองรองของเรือพระราชพิธี เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นี่คือมรดกทางวัฒนธรรมอันยากยิ่งที่จะพบที่ใดในโลก

Recommend