“การเชื่อมโยงของข้อมูลทางพันธุกรรม
สามารถบ่งบอกถึงเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาครั้งใหญ่ได้อย่างไร”
เมื่อพูดถึง ‘ดีเอ็นเอ’ เราทุกคนก็มักจะคิดถึงว่าเป็นสิ่งที่บันทึกข้อมูลทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ทั้งร่างกาย วิวัฒนาการ และไปจนถึงต้นกำเนิดบรรพบุรุษของมัน มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เราสามารถใช้ดีเอ็นเอในการตรวจสอบความเป็นพ่อแม่ลูกและครอบครัว รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านข้อมูลทางพันธุกรรมนี้
และมันก็เป็นความคาดหวังเช่นเดียวกัน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาดีเอ็นเอของหมึกเทอร์เคว็ต (Turquet’s octopus; Pareledone turqueti) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หมึก ที่อาศัยอยู่บนพื้นทะเลทั่วแอนตาร์กติกา โดยคิดว่าจะให้ข้อมูลทางชีววิทยาจำนวนมากเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้
อย่างไรก็ตามรายงานที่เผยแพร่ไว้บนวารสาร Science ได้เผยให้เห็นว่ามีเรื่องที่ไม่คาดคิด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกในออสเตรเลีย พบสิ่งที่แตกต่างออกไปนั่นคือ ข้อมูลทางธรณีวิทยาย้อนหลังกลับไปนับแสนปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่ายุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย
“โครงการนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเพราะน้ำเสนอมุมมองใหม่ในการไขคำถามที่ค้างคามานานในชุมชนธรณีวิทยา” ซัลลี เลา (Sally Lau) ผู้เขียนหลักของการศึกษา กล่าว “ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตในปัจจจุบันมีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบรรรพบุรุษของพวกมันในอดีต ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนแคปซูลเวลา”
ต้นตระกูลหมึก
ทีมวิจัยได้ทำการจัดลำดับดีเอ็นเอของหมึกเทอร์เคว็ตจำนวน 96 ตัวซึ่งรวบรวมโดยสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลกที่มาจากการจับสัตว์น้ำโดยไม่ได้ตั้งใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดนั้นมีอายุย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษ 1990
และข้อมูลทั้งหมดก็ถูกสร้างเป็นแผนภูมิลำดับวงศ์ตระกูลโดยละเอียดที่ย้อนกลับไปได้หลายล้านปี ซึ่งจะช่วยบอกว่าหมึกเหล่านี้มีการผสมต่างสายพันธุ์หรือไม่ และหากมีการผสมพันธุ์เหล่านั้นเกิดขึ้นที่จุดใดในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ประชากรหมึกเทอเคว็ตในทะเลเวดเดลล์ อมันเซน และรอสส์ ที่ปัจจุบันถูกแยกจากกันโดยแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตกที่มีขนาดเท่ากับทวีป และไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้แล้ว กลับมีการเชื่อมโยงทางพันธุกรรมครั้งสุดท้ายเมื่อราว 125,000 ปีก่อนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ใน ‘ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย’ ที่มีอุณหภูมิโลกใกล้เคียงกับปัจจุบัน
กล่าวคือ การค้นพบนี้บ่งชี้ว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตกมีการพังทลายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้พื้นที่ชายฝั่งจมอยู่ใต้น้ำ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่แห่งนี้บนพื้นทะเลซึ่งทำให้หมึกยักษ์เข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกันได้ จนท้ายที่สุดก็ได้พบกับสมาชิกกลุ่มประชากรที่ครั้งหนึ่งเคยแยกจากกันทางภูมิศาสตร์
“นี่เป็นหลักฐานทางชีววิทยาชิ้นแรกจริง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อพิสูจน์การล่มสลายในอดีต และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่พิเศษและน่าประทับใจจริง ๆ เกี่ยวกับงานวิจัย” ไรอัน เวนชูเรลลี (Ryan Venturelli) นักธารวิจัยน้ำแข็งโบราณ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ กล่าว “ผมคิดว่ามันน่าเหลือเชื่อมมากที่เราสามารถใช้ประชากรหมึกเพื่อสอนเราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาได้”
สถานการณ์ปัจจุบัน
ทุกวันนี้อุณหภูมิทั่วโลกในปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสแล้วตามรายงานล่าสุด เช่นเดียวกันในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย โลกในตอนนั้นก็มีอุณหภูมิอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 0.5 ถึง 1.5 องศาเซลเซียส
แต่ในตอนนั้นระดับน้ำทะเลกลับสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 5 เมตร ถึง 10 เมตรเนื่องจากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตก (WAIS) ล่มสลายครั้งใหญ่ และนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัจจุบันที่กำลังร้อนขึ้น
“สิ่งที่ทำให้ WAIS มีความสำคัญก็คือการที่ WAIS ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในปัจจุบันของแอนตาร์กติกา ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น การพังทลายอย่างสมบูรณ์อาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 3-5 เมตร” แจน สตรั๊กเนล (Jan Strugnell) ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์การประมงเขตร้อนและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุก กล่าว
“การทำความเข้าใจว่า WAIS มีลักษณะอย่างไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่ออุณหภูมิโลกใกล้เคียงกับปัจจุบัน จะช่วยให้เราปรับปรุงการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลในอนาคตได้ดีขึ้น
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com