หวนคืนสู่ห้วงน้ำพิสุทธิ์

หวนคืนสู่ห้วงน้ำพิสุทธิ์

อุทยานชายฝั่งทะเลสาบแห่งชาติหมู่เกาะอะโพสเซิลกลางทะเลสาบ สุพีเรียร์ ธรรมชาติมีพลังในการสรรค์สร้าง ทำลาย และฟื้นฟูชีวิต

ในทะเลสาบที่ขึ้นชื่อว่าโหดร้ายกับมนุษย์อย่างยิ่ง หมู่เกาะอะโพสเซิล หรือหมู่เกาะอัครสาวก เป็นสถานที่ที่ค่อนข้าง สุขสงบ แต่นั่นหาได้หมายความว่ามันจะปลอดภัย

“นี่ไม่ใช่ที่สำหรับมือสมัครเล่นครับ” เดฟ คูเปอร์ บอก เขากำลังบังคับ อาร์เดีย เรือท้องแบนขนาด เจ็ดเมตรครึ่ง ผ่านน่านน้ำอันปั่นป่วนวุ่นวนของทะเลสาบสุพีเรียร์ ขณะแล่นกลับจากเกาะเดวิลส์ที่อยู่นอกชายฝั่ง  26 กิโลเมตร วันนี้ลมพัดมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 20 ถึง 25 น็อต และมีคลื่นสูง 1.5 เมตร คูเปอร์ซึ่งเป็นผู้จัดการด้านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของอุทยานชายฝั่งทะเลสาบแห่งชาติหมู่เกาะอะโพสเทิล กำลังนำเรือแล่นฝ่าคลื่นลมแรงไปบนยอดคลื่น

“มันเหมือนขี่ม้าน่ะครับ” เขาบอก “ผมก็แค่พยายามทำให้มันนุ่มนวลหน่อยเท่านั้น”

กว่าสามทศวรรษของการทำงานเป็นนักโบราณคดีประจำทะเลสาบสุพีเรียร์ คูเปอร์เข้าร่วมในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือมาแล้วหลายสิบครั้ง หมู่เกาะอะโพสเซิลคือ “เกาะน้อยใหญ่ที่เรียงร้อยต่อกันและดึงดูดผู้คนให้มาพายเรือเป็นระยะทางไกลๆครับ” คูเปอร์บอกและเสริมว่า “โดยทฤษฎีแล้ว ที่นี่ควรให้การปกป้องจากคลื่นลมได้ดี แต่มันยังเย้ายวน  ให้ผู้รักการผจญภัยและนักกีฬาทำเกินขีดความสามารถของตนเองอีกด้วย”

ทางเดินไม้ทอดไปสู่ประภาคารบนเกาะแซนด์ เกาะทั้ง 21 เกาะที่ประกอบเป็นอุทยานชายฝั่งทะเลสาบแห่งชาติหมู่เกาะ อะโพสเซิลมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ส่วนใหญ่จะมีค่ายพักแรมอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และหลายเกาะมีเส้นทางเดินป่า ที่จัดการอย่างดี

ภัยคุกคามอื่นๆ ส่อเค้าเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ทะเลสาบอุ่นขึ้นในอัตราที่น่าตกใจอย่างน้อย 0.5 องศาเซลเซียสทุกสิบปี พายุรุนแรงเกรี้ยวกราดขึ้นเรื่อยๆ พัดทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าจอดเรือ กัดเซาะชายฝั่ง และเพิ่มปริมาณตะกอนในทะเลสาบซึ่งอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งได้

แต่หมู่เกาะอะโพสเซิลก็มีผู้รักใคร่ชื่นชม อย่างเช่น ทอม เออร์ไวน์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอุทยานแห่งชาติทะเลสาบสุพีเรียร์ ทวดและเทียดของเขาทำงานด้วยกันในตำแหน่งผู้ดูแลประภาคารบนเกาะเอาเทอร์

“หมู่เกาะอะโพสเซิลล่อลวงให้เราลุ่มหลงครับ” เออร์ไวน์บอก “มันทำแบบนั้นกับครอบครัวผม มันเป็นส่วนหนึ่งในจิตวิญญาณร่วมของเราครับ”

ฤดูร้อนปี 2020 เออร์ไวน์แนะนำให้เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์ นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และช่างภาพได้รู้จักหมู่เกาะดังกล่าว นักพายคายักผู้มากประสบการณ์อย่างกุทเทนเฟลเดอร์ตัดสินใจทดสอบน้ำในทะเลสาบด้วยการออกเดินทาง 18 วันอันทะเยอทะยานที่เขาวางแผนพายเรือท่องเกาะต่างๆ ของกลุ่มเกาะนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 ฉันจึงขอร่วมทางในการพายคายักท่องทะเลสาบช่วงหนึ่งกับกุทเทนเฟลเดอร์และออกสำรวจเกาะอื่นๆ ด้วยตนเอง ตลอดทาง ฉันพบกับนักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ และสมาชิกชุมชน แม้ภูมิหลัง    จะแตกต่างหลากหลาย แต่ทุกคนล้วนรักและเคารพหมู่เกาะอะโพสเซิลอย่างล้ำลึกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ที่ค่ายพักนักตกปลาบนเกาะมานาโท โต๊ะถูกจัดไว้เช่นที่เคยเป็นในทศวรรษ 1930 เมื่อฮยัลเมอร์ “ผู้ว่าการ” โอลสัน กับเท็ด น้องชาย ซื้อต่อจากบริษัทค้าไม้เก่าแห่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่พักเวลามาตกปลาช่วงฤดูหนาว ตอนนี้ กระท่อม ที่กรมอุทยานเป็นผู้ดูแล มีข้าวของที่เคยเป็นของฮยัลเมอร์ รวมถึงมีดบนโต๊ะและถุงเท้าที่ปะชุนแล้วคู่หนึ่งบนพื้นด้วย
จิม พีต ผู้อาวุโสของเผ่าซึ่งมีชื่อภาษาโอจิบเวว่า กูเยาชก์ สอนกลุ่มวัยรุ่นชายชิปเปวากลุ่มเรดคลิฟฟ์แห่งทะเลสาบ สุพีเรียร์ที่มาเข้าค่ายบนเกาะแซนด์ กูเยาชก์สวมชุดพิธีการซึ่งรวมถึงสร้อยกรงเล็บหมีและผ้าคลุมประดับลูกปัด ขณะถ่ายทอดคำสอนตามขนบโอจิบเวเจ็ดประการอันได้แก่ ภูมิปัญญา ความรัก ความเคารพ ความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความจริง

“เป็นเรื่องง่ายที่จะรู้สึกเคารพศรัทธาเวลาอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ครับ” นีล ฮ็อว์ก เจ้าหน้าที่อุทยานเกษียณอายุผู้รับหน้าที่นำชมทะเลสาบและภูมิทัศน์รอบๆ มาตลอด 35 ปี บอก เราอยู่ในป่าโบราณบนเกาะเอาเทอร์ ซึ่งดงไม้ตระหง่านของต้นเฮมล็อก สนขาว เบิร์ชเหลือง และสนซีดาร์ ขึ้นเบียดกันเป็นดงหนาเสียจนแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดลงมายังไม้พื้นล่างที่ขึ้นอยู่ประปรายดูละม้ายลำแสงในอาสนวิหาร

ช่วงก่อนหน้าของบ่ายวันนั้น กลุ่มของเราจอดเรือคายักไว้ที่ปลายเหนือสุดของของเกาะเอาเทอร์ ซึ่งมีพื้นที่กว่า สองหมื่นไร่ และอยู่ห่างจากฝั่ง 45 กิโลเมตรในทะเลสาบสุพีเรียร์ และเป็นหนึ่งในเกาะที่มีผู้มาเยือนน้อยที่สุดในหมู่เกาะอะโพสเซิล

แต่ถึงจะห่างไกล เกาะเอาเทอร์ก็ถูกคนเข้ามาตัดไม้อย่างหนักเริ่มจากราวปี 1883  และระหว่างปี 1942 ถึง 1963  คนตัดไม้นั่งเครื่องบินเล็กเข้ามาตัดต้นเบิร์ชเหลืองและซูการ์เมเปิลเพื่อนำไปทำเปลเด็กอ่อน หลังตัดจนเกลี้ยง ค่ายพัก     ของคนตัดไม้ก็ถูกทิ้งให้ผุพังไป

อย่างไรก็ตาม ต้นไม้ตระหง่านเงื้อมที่ล้อมรอบเราอยู่ตอนนี้ไม่ได้ถูกตัด “ภาพที่เราเห็นอยู่นี้อาจเหมือนกับเมื่อ 400 ปีก่อนก็ได้นะครับ” ฮ็อว์กบอก

หลังการตัดไม้อย่างหนักยุติลงเมื่อราวปี 1930 สิ่งที่น่าประหลาดใจก็เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์จากไป ผืนป่าที่ถูกทิ้งร้างก็เริ่มฟื้นฟูตัวเองขึ้นใหม่ จะต้องใช้เวลาอีกสามทศวรรษของการเติบโตใหม่ประกอบกับการอุทิศตนอย่างไม่รู้เหนื่อยของวุฒิสมาชิกจากรัฐวิสคอนซิน เกย์ลอร์ด เนลสัน กว่าจะโน้มน้าวให้รัฐสภาเชื่อได้ว่า หมู่เกาะเหล่านี้มีค่าควรแก่การอนุรักษ์ พอถึงปี 1970 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็ลงนามในกฎหมายประกาศให้หมู่เกาะอะโพสเซิลเป็นอุทยานชายฝั่งทะเลสาบแห่งชาติในที่สุด

ดวงอาทิตย์ตกเหนือเกาะยอร์กและเกาะแซนด์ ซึ่งมองเห็นได้จากระดับพื้นดินของประภาคารบนเกาะราสป์แบร์รี “ผมซาบซึ้งใจกับหมู่เกาะอะโพสเซิลมากครับ” ช่างภาพ กุทเทนเฟลเดอร์ บอก “พอรู้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงถึงธรรมชาตินี้ได้ง่ายๆ ผมจึงรู้สึกพิเศษอย่างยิ่งที่ได้ไปเยือน”

ทุกวันนี้ กลุ่มเกาะดังกล่าวเป็นถิ่นอาศัยของพืชกว่า 800 ชนิด รวมถึงต้นพริมโรสตานก เอเลแกนต์กราวนด์เซล และกล้วยไม้คอรัลรูตที่ชอบอยู่ในป่า ป่าหลายแห่งบนเกาะต่างๆ มีไม้พื้นล่างคือต้นยิวแคนาดา ซึ่งเป็นไม้พุ่มเขียวขจีและอ่อนนุ่ม มีดอกทรงโคนยาวสีแดงเรียกว่า “ขนมกวาง” ซึ่งแทบจะสูญสิ้นไปจากแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ติดกันหมดแล้ว

ประชากรกวางบนหมู่เกาะมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และความอุดมสมบูรณ์ของต้นยิวแคนาดาก็ก่อให้เกิดถิ่นอาศัยสมบูรณ์แบบสำหรับอเมริกันมาร์เทน หมาไม้ชนิดหนึ่งที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ของรัฐ และเคยหมดไปจากเกาะต่างๆ แล้ว ก่อนจะค่อยๆ พื้นจำนวนกลับมาอย่างช้าๆ และตอนนี้สามารถพบได้บนเกาะ 11 เกาะ หากพิจารณาชีวภูมิศาสตร์อันซับซ้อนของเกาะต่างๆ หมู่เกาะแห่งนี้ยังรองรับประชากรที่หลากหลายของสัตว์นักล่าอื่นๆ เช่น หมีดำ แมวป่าบ็อบแคต หมาป่าไคโยตี และหมาป่าสีเทา 

หมู่เกาะของอุทยานชายฝั่งทะเลสาบแห่งชาตินี้เป็นที่ลี้ภัยของมนุษย์บางกลุ่มอีกต่างหาก ยังคงมีที่ดินอีกห้าแปลง สองแปลงบนเกาะแซนด์และสามแปลงบนเกาะร็อกกี ที่ครอบครัวต่างๆ ได้เจรจาขอใช้งานพื้นที่ตลอดชีวิตหรือทำข้อตกลงเพื่อขอถือครองกับกรมอุทยานแห่งชาติ 

ฟีบี เจนช์ หนึ่งในกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าชาวเกาะคนท้ายๆ พูดถึงความสัมพันธ์ที่ยึดโยงครอบครัวเธอกับเกาะแซนด์ ในลักษณะนี้ว่า “ที่นี่คือวิหารของเรา บ้านของเรา และศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของเรา”

เรื่อง สเตฟานี เพียร์สัน 

ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์


อ่านเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ อ่องเอี่ยม : ผู้ประดิษฐ์ ‘ชูชก’ เครื่องหมักปุ๋ยอินทรีย์ ที่เปลี่ยนขยะอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีได้ ภายใน 24 ชั่วโมง

Recommend