ความประทับใจไม่รู้ลืมจากช่างภาพ หมีแพนด้า

ความประทับใจไม่รู้ลืมจากช่างภาพ หมีแพนด้า

ความประทับใจไม่รู้ลืมจากช่างภาพ หมีแพนด้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หมีแพนด้า เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารักจนอยากจะเข้าไปกอด แต่ความน่ารักไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ Ami Vitale ช่างภาพหญิงจากสหรัฐฯ ตกหลุมรักพวกมัน และในความเป็นจริงภารกิจถ่ายภาพหนึ่งในสัตว์ที่โด่งดังที่สุดของโลกให้แก่เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกนี้ ค่อนข้างที่จะท้าทายเอามากๆ

ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี Vitale มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมศูนย์ดูแลแพนด้าที่ดำเนินงานโดย ศูนย์ศึกษาวิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ในจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติ Wolong เมือง Wenchuan และในเมือง Bifengia มณฑลเสฉวน

หมีแพนด้า
กองทัพลูกแพนด้าในศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ Bifengxia มณฑลเสฉวน
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้ายักษ์นอนกลิ้งกับพื้นหญ้าภายในศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ Bifengxia มณฑลเสฉวน

“ตรงกันข้ามกับหมีแพนด้าที่เราเห็นในสวนสัตว์ ในการ์ตูน หรือสื่ออื่นๆ แพนด้าดูเป็นสัตว์ตลกเฮฮา แต่อันที่จริงพวกมันค่อนข้างเข้าใจยาก” Vitale กล่าว ที่อุทยานแห่งชาติ Wolong สถานที่ซึ่งแพนด้าอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ดังนั้นความท้าทายก็คือการรอให้พวกมันปรากฏตัวออกมา บางทีอาจเป็นหลังต้นไผ่ หรือเหนือยอดไม้

เป้าหมายของศูนย์อนุรักษ์แพนด้าเหล่านี้คือการปล่อยแพนด้าที่เกิดในศูนย์ให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้เองตามธรรมชาติ นั่นหมายความว่าขั้นตอนการปฏิบัติงานจำเป็นต้องให้แพนด้าหลีกเลี่ยงการติดต่อกับมนุษย์ให้มากที่สุด ข้อกำหนดนี้ทำให้การทำงานของ Vitale ยากเข้าไปอีกขั้น ช่างภาพหญิงต้องสวมชุดแพนด้า พร้อมด้วยหน้ากาก และกลบกลิ่นกายด้วยปัสสาวะและอุจจาระของแพนด้า นั่งรอเช้าจรดเย็นกว่าโมเมนท์ที่ใช่จะปรากฏขึ้น ซึ่งการปลอมตัวในลักษณะนี้จะทำให้แพนด้าคิดว่า Vitale คือหมีแพนด้าที่มีรูปร่างแปลกออกไป

 

เผชิญหน้ากับความท้าทาย

ที่ศูนย์วิจัย Bifengxia ซึ่งเป็นทั้งสถานที่เพาะพันธุ์ และศูนย์ดูแลด้วย เอื้อโอกาสให้ช่างภาพสร้างปฏิสัมพันธ์กับแพนด้ามากกว่า อย่างไรก็ดีบรรดาเจ้าหน้าที่ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของแพนด้ามากกว่าภาพถ่ายสวยๆ

“มันไม่ใช่แค่ความพยายามเข้าถึง และทำให้คนท้องถิ่นเชื่อใจ” Vitale กล่าว “แต่ความยากยังรวมถึงการทำงานกับสัตว์ป่าด้วย ลูกแพนด้าเหล่านี้เปราะบางมาก แต่พอผ่านไปหกเดือนพวกมันก็มีเขี้ยวเล็บงอกขึ้นมา”

“ยังไงพวกมันก็ยังเป็นหมี” Vitale เล่า

ขณะนี้ภาพถ่ายบันทึกประสบการณ์ตลอดสามปี รวมไปถึงบทเรียนที่เธอได้รับจากการทำงานร่วมกับแพนด้า ถูกรวบรวมและตีพิมพ์ลงในหนังสือ “Panda Love: the Secret Lives of Pandas”

หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าสามตัวที่ได้รับการดูแลจากแม่ตัวเดียวกัน การถ่ายโอนแพนด้าที่อ่อนแอ หรือลูกแม่ทิ้งไปให้แม่ตัวใหม่จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นให้แก่ลูกแพนด้า
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าวัยสามเดือนจำนวนสามตัวกำลังงีบหลับในโรงอนุบาลแพนด้า ปกติแล้วแม่แพนด้าที่ให้กำเนิดลูกแฝดมักล้มเหลวในการให้ความดูแลลูกอย่างเท่าๆ กัน ดังนั้นการพาลูกแพนด้ามาดูแลยังโรงอนุบาลชั่วคราวจึงเป็นการแก้ปัญหา

เมื่อสิ่งนั้นมีคุณค่ามากพอที่จะบันทึกเป็นภาพถ่าย คุณจะยอมเฝ้ารอ Vitale นึกถึงช่วงเวลาที่เธอต้องรอแพนด้าอยู่นานสองวันสองคืนเต็มโดยที่ยังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น เพื่อเก็บช่วงเวลาการออกลูกของแม่แพนด้า จนในที่สุด “ฉันสังเกตเห็นอะไรบางอย่างแปลกไป เลยเตรียมพร้อมที่จะถ่ายภาพ แล้วลูกแพนด้าก็ออกมาส่งเสียงกรีดร้องดังลั่น มันเกิดขึ้นเร็วมาก”

“แค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น” เธอเล่า “จากนั้นเจ้าหมิงหมิง (แม่แพนด้า) ก็จับลูกใส่ปาก และหันหลังให้เรา”

การได้เห็นแพนด้าออกลูก เป็นภาพที่ Vitale ประทับใจมาก “ในตอนที่เริ่มโปรเจค ฉันไม่ใช่คนที่คลั่งไคล้แพนด้า แต่หลังจากได้ใช้เวลาอยู่กับพวกมัน ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าทำไมผู้คนจึงพากันรักมัน”

 

ปฏิสัมพันธ์กับสัตว์

ระหว่างการทำโปรเจค Vitale ยกย่องสัตว์เหล่านี้ ในฐานะที่พวกมันไม่ได้มีดีแค่น่ารักเท่านั้น แต่ที่เธอชื่นชอบคือปฏิสัมพันธ์ที่พวกมันมีตามธรรมชาติ

“แพนด้าขโมยหัวใจฉันไปเลย ยิ่งในตอนที่คุณตระหนักได้ว่าเจ้าสัตว์หน้าขนเหล่านี้มันช่างมหัศจรรย์, ลึกลับ และมีคุณค่ามากมาย” เธอกล่าว

หมีแพนด้าตามธรรมชาติมีถิ่นอาศัยเพียงแห่งเดียวบนโลก คือบริเวณเทือกเขาทางตอนกลางของจีน พวกมันเป็นสัตว์สันโดษ และจะอยู่เป็นคู่ก็ต่อเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น แพนด้าวิวัฒนาการมาเป็นหลายล้านปี เพื่อให้ระบบย่อยอาหารของมันสามารถดึงสารอาหารจากพืชท้องถิ่นได้ นั่นคือต้นไผ่ ทว่านั่นหมายถึงหากสูญเสียถิ่นที่อยู่ไป นี่ก็เป็นการคร่าชีวิตแพนด้าเช่นกัน

ชีวิตที่พึ่งพาใบไผ่เพียงอย่างเดียว และประชากรที่กำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ จากการสูญเสียถิ่นอาศัยส่งผลให้แพนด้าถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในทศวรรษ 1900 และตลอดการทำงานที่ผ่านมาของหน่วยงานจีน ในที่สุดเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา สถานะของพวกมันก็หลุดพ้นจากการเสี่ยงสูญพันธุ์ มาอยู่ที่ระดับเปราะบางต่อการสูญพันธุ์ (vulnerable) แทน โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ท่ามกลางปัญหาการบุกรุกถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของแพนด้าที่ยังคงเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ หมีแพนด้าเป็นสัตว์ที่มีลูกน้อย และมีลูกยาก

หมีแพนด้า
Liu Juan เจ้าหน้าที่ดูแลแพนด้าพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกแพนด้า ท่ามกลางความสนใจจากนักท่องเที่ยว
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าแรกเกิดจะยังมองไม่เห็น และแทบจะปราศจากเส้นขน พวกมันจะร้องเสียงดังเจื้อยแจ้วและมีขนาดตัวเพียง 1 ใน 900 เท่าของขนาดตัวแม่ ทว่าไม่ต้องใช้เวลานานเพราะแพนด้าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เติบโตเร็วที่สุด ในเดือนแรกน้ำหนักตัวของมันจะเพิ่มจาก 4 ออนซ์เป็น 4 ปอนด์ อย่างรวดเร็ว

Vitale เล่าความประทับใจที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการทำงานตลอดสามปี ตอนนั้นเธออยู่ที่อุทยาน Wolong กำลังพยายามถ่ายภาพของแม่แพนด้ากับลูกน้อย “ลูกแพนด้าหลับตลอดเวลา หรือไม่แม่ของมันก็พยายามซ่อนมันเอาไว้ ฉันคิดเอาว่าวันสุดท้ายคงพอแค่นี้แล้ว แต่ก่อนที่จะจากไป แม่แพนด้าก็เอาลูกเข้าปาก มันปีนขึ้นไปบนเนินเขา ก่อนจะคายลูกน้อยใส่อุ้งมือและชูขึ้นมา คล้ายกับว่าต้องการโชว์ให้ฉันดู จากนั้นมันก็เดินกลับมายังที่เดิม”

บางทีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงความบังเอิญ แต่สำหรับ Vitale นี่คือปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์และจิตวิญญาณที่แพนด้าแสดงให้มนุษย์เห็น ทั้งยังกระตุ้นให้เราตระหนักถึงตัวเราเอง หากเรารักแพนด้าแล้วก็ต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องพวกมันด้วย ในฐานะสิ่งมีชีวิตร่วมโลก “และการปกป้องธรรมชาติก็เทียบเท่ากับการปกป้องตัวเราเองด้วย” Vitale กล่าว

เรื่อง Alexa Keefe

ภาพ Ami Vitale

หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าแฝดตัวนี้ไม่ได้รับความใส่ใจจากแม่เท่าที่ควร มันเลยได้เข้าๆ ออกๆ โรงอนุบาล
หมีแพนด้า
ปกติแล้วลูกแพนด้าจะเริ่มหย่านมเมื่ออายุได้ราว 8 – 9 เดือน ไปจนถึงหนึ่งปี และมันจะเกาะติดกับแม่เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะได้ใช้ชีวิตเป็นของตนเอง
หมีแพนด้า
Zhang Xin เจ้าหน้าที่ดูแลแพนด้าประจำศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ Bifengxia กำลังชั่งน้ำหนักลูกแพนด้า “เราเก็บข้อมูลของแพนด้าโตเต็มวัย และแพนด้าเด็กทุกวันว่าพวกมันกินอะไร อุจจาระเป็นอย่างไร เราอยากให้ทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง” เธอกล่าว
หมีแพนด้า
แม่แพนด้าตัวหนึ่งกำลังอุ้มลูกน้อย
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าสองตัวเล่นกัน
หมีแพนด้า
แพนด้าวัย 6 เดือนกำลังเล่นสนุกอยู่ภายในศูนย์อนุรักษ์แพนด้า Duijangyan และเมื่ออายุได้หนึ่งปี มันจะเริ่มมองหาเพื่อน แพนด้าที่นี่แตกต่างตรงที่พวกมันใช้ชีวิตในสถานที่ปิด ต่างจากแพนด้าตามธรรมชาติที่มีชีวิตอย่างสันโดษ
หมีแพนด้า
แพนด้าชื่อ Ying Hua กับลูกน้อยของเธอ ในศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ Bifengxia
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้าสองตัวกำลังฝึกปีนต้นไม้ แตกต่างจากศูนย์อื่น แพนด้าในศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ Bifengxia ถูกพยายามให้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์น้อยที่สุด เพราะเมื่อมันโตขึ้นแพนด้าเหล่านี้จะถูกปล่อยให้กลับไปอยู่ตามธรรมชาติ
หมีแพนด้า
แพนด้าวัย 6 เดือนในศูนย์อนุรักษ์แพนด้า Dujiangyan นอนแทะแครอทอย่างสบายใจ
หมีแพนด้า
ลูกแพนด้ากำลังสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว
หมีแพนด้า
แพนด้าชื่อ Ye Ye และ Hua Jiao ลูกน้อยวัยสองปี กำลังสำรวจสภาพแวดล้อมในอุทยาน Wolong
หมีแพนด้า
แพนด้าแม่ลูกกำลังเล่นกันในอุทยาน Wolong แม่จะสอนให้ลูกของมันเอาตัวรอดได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งบทเรียนที่ว่านี้รวมไปถึงการจดจำบรรดาผู้ล่าด้วย
หมีแพนด้า
พรางตัวท่ามกลางต้นไผ่? ย้อนกลับไปเมื่อราว 2 ล้านปีก่อน แพนด้าเคยเป็นสัตว์กินเนื้อ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นสัตว์กินพืช

 

อ่านเพิ่มเติม

ฟอสซิลญาติแพนด้าอายุ 22,000 ปี

Recommend