เหยี่ยวปีกแหลม ราชันแห่งห้วงเวหา
นักประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจว่า มนุษย์เริ่มจับและฝึกนกนักล่าเพื่อใช้ล่าสัตว์ที่ไม่สามารถฆ่าด้วยลูกศรหรือจับด้วยบ่วงเป็นครั้งแรกเมื่อใด หลักฐานอ้างอิงในบทกวีโบราณอย่าง มหากาพย์กิลกาเมช (The Epic of Gilgamesh) พูดถึงการฝึกเหยี่ยวเมื่อราว 4,000 ปีก่อนในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศอิรัก ตลอดหลายศตวรรษ การจับและฝึกเหยี่ยวแพร่หลายอยู่ในหลายวัฒนธรรมที่เรารู้จัก พระศพของกษัตริย์ตุตันคามุนได้รับการฝังโดยมีจี้รูป เหยี่ยวปีกแหลม ประดับอยู่ ชาวกรีก ประทับเหรียญเป็นภาพเทพซุสให้เหยี่ยวปีกแหลมเกาะพระหัตถ์ และพ่อค้าชาวนอร์สค้าขายเหยี่ยวเจอร์จากไอซ์แลนด์ไปทั่วทั้งยุโรป
เมื่อถึงตอนที่มาร์โค โปโล เข้าเฝ้ากุบไลข่านในศตวรรษที่ 13 จักรพรรดิมองโกลพระองค์นี้ทรงจ้างเจ้าพนักงาน 60 คนให้ดูแลผู้ฝึกเหยี่ยว 10,000 คน ขณะเดียวกันในยุโรป กษัตริย์เฟรเดอริกที่สองแห่งจักรวรรดิโรมันทรงใช้เวลา 30 ปีรวบรวมการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดเกี่ยวกับการฝึกเหยี่ยว กระทั่งปัจจุบันยังถือกันว่าเป็นหนังสือที่เชื่อถือได้ มากที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเทคนิคของกีฬาชนิดนี้
แต่ไม่มีภูมิภาคใดที่การฝึกเหยี่ยวจะเฟื่องฟูมากกว่าโลกอาหรับที่ซึ่งปัจจุบันผู้ฝึกเหยี่ยวกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ ขณะที่การฝึกเหยี่ยว (ซึ่งรวมถึงนกอินทรีและนกนักล่าอื่นๆ ด้วย) ส่วนใหญ่แล้วเป็นกีฬาของกษัตริย์ในยุโรป ที่นี่กลับเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเอาชีวิตรอดในทะเลทรายอาหรับ
ชาวเบดูอินจะจับเหยี่ยวปีกแหลมอพยพและฝึกพวกมันให้ล่าสัตว์ เช่น นกบัสตาร์ดฮูบารา และกระต่ายทะเลทราย ก่อนหน้าปืนจะเข้ามามีบทบาท เหยี่ยวช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการหาอาหารให้ครอบครัวของชาวเบดูอินได้อย่างมาก และในสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายอันแร้นแค้น แหล่งโปรตีนแม้เพียงเล็กน้อยก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง การฝึกเหยี่ยว มีความสำคัญมากต่อวัฒนธรรมอาหรับในยุคที่ศาสนาอิสลามแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กระทั่งศาสดามุฮัมมัดยังกล่าวถึงเหยี่ยวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานโดยประกาศว่า อาหารที่เหยี่ยวจับได้นั้นสะอาดพอที่ชาวมุสลิมจะบริโภคได้
แต่ในศตวรรษที่ 20 การพัฒนาอย่างรวดเร็วของดูไบและเอมิเรตส์หรือรัฐอื่นๆ เกือบขจัดวิถีปฏิบัตินี้จนหมด ไปจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี นกบัสตาร์ดฮูบาราลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากถูกมนุษย์รุกล้ำถิ่นอาศัย และในที่สุด การล่านกขนาดใหญ่ชนิดนี้ก็ถูกห้าม คงมีเพียงเศรษฐีที่มีเงินเลี้ยงเหยี่ยวปีกแหลมจะสามารถเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อล่านกบัสตาร์ดฮูบารา ในเอเชียกลางและแอฟริกาเหนือ
จากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มกุฎราชกุมาร ชีคฮัมดาน บิน โมฮัมเมด บิน ราชิด อัล มักตูม ทรงนำการแข่งเหยี่ยว ปีกแหลมมาเผยแพร่เพื่อทำให้ชาวเอมิเรตส์ทั่วไปเข้าถึงการฝึกเหยี่ยวได้ การแข่งขันใช้การจับเวลาเหยี่ยวขณะไล่เหยื่อล่อ ในระยะทางที่กำหนด ฤดูกาลแข่งขันซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคมมีเหยี่ยวปีกแหลมกว่า 2,000 ตัวเข้าแข่งขัน ชิงเงินรางวัลเกือบเจ็ดล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลกระทบของการแข่งขันเหยี่ยวเห็นได้ชัดเจนทั่วดูไบที่ซึ่งการครอบครองเหยี่ยวปีกแหลมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คอนให้เหยี่ยวเกาะพบเห็นได้ตามล็อบบี้โรงแรมและอาคารสำนักงานทั่วเมือง ผู้ฝึกเหยี่ยวพาเหยี่ยวป่วยไปโรงพยาบาลเหยี่ยว และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหยี่ยวต้องใช้จากห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าเกี่ยวข้องกับการแข่งขันเหยี่ยวโดยเฉพาะ
บ่ายวันหนึ่งผมไปเยี่ยมชมห้างที่ว่านี้ มีลูกค้ามากมาย หลายคนมาพร้อมกับเหยี่ยวที่สวมหมวกปิดตาเกาะบนข้อมือ ที่สวมถุงมือหนัง พวกเขาแวะเวียนมาเลือกซื้อสินค้าซึ่งมีตั้งแต่อาหารเหยี่ยว (นกพิราบและนกกระทาแช่แข็ง) วิตามินเหยี่ยว เรื่อยไปจนถึงเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดจิ๋วสำหรับติดตามเหยี่ยวที่พลัดหลง และหมวกปิดตาหนังซึ่งย้อมสีด้วยมือจากสเปน และโมร็อกโก ที่นี่มีแม้แต่ร้านที่ขายเฉพาะเครื่องบินจำลองบังคับด้วยวิทยุซึ่งทำสีให้ดูเหมือนนกบัสตาร์ดฮูบารา สำหรับฝึกเหยี่ยวหนุ่มสาวให้เรียนรู้การไล่ล่า
ห้างนี้ยังมีคลินิกเหยี่ยวที่ซึ่งผมพบชายหนุ่มในชุดพื้นเมืองดิชดาชายาวสีขาว มีเหยี่ยวเพเรกรินเกาะแขน ลูกชายวัยเด็ก สองคนเดินตามหลังมา “เหยี่ยวป่วยหรือครับ” ผมเอ่ยถาม “เปล่าครับ ผมพามันมาตรวจสุขภาพ” ชายคนนั้นตอบ “มันกำลังจะลงแข่ง!” เด็กชายคนหนึ่งบอก “มันจะชนะ!” คนพี่พูด ชายคนนั้นยิ้มกว้างอย่างภูมิใจ
ผมยังแวะไปดูโซนที่ขายเหยี่ยวเป็นๆ มีเหยี่ยวเพเรกรินและเหยี่ยวเซเกอร์ซึ่งผู้ฝึกเหยี่ยวชาวซาอุดีอาระเบียนิยม มาแต่เดิม และเหยี่ยวเครสเตลตัวลายๆ ขนาดเล็กอีกสองสามตัว ซึ่งเป็นนกสำหรับหัดเลี้ยง ผมถามเจ้าของนกว่า นกมาจาก ที่ไหน คนขายแต่ละคนชี้ไปยังเอกสารที่มีตราราชการประทับระบุประเทศต้นกำเนิดของเหยี่ยว ในทางปฏิบัติแทบจะพูดได้ว่าตอนนี้เหยี่ยวแต่ละตัวที่เข้าออกยูเออี ต้องมีหนังสือเดินทางของตัวเอง
แม้จะมีความพยายามของยูเออี แต่การลักลอบค้าเหยี่ยวยังคงเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ของโลก นักอนุรักษ์รายงานว่า เหยี่ยวเซเกอร์และเหยี่ยวเพเรกรินถูกจับในช่วงอพยพผ่านปากีสถานและลักลอบส่งผู้ซื้อที่มั่งคั่งในตะวันออกกกลาง เหยี่ยวเจอร์ในดินแดนแถบอาร์กติกของรัสเซียยังถูกลักลอบจับด้วย ในบรรดาชนิดพันธุ์ที่กล่าวมา มีเพียงเหยี่ยวเซเกอร์ที่ปัจจุบันจัดอยู่ในภาวะถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ แต่ก็มีรายงานว่าประชากรเหยี่ยวเจอร์บางกลุ่มในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ หลายแห่งดูเหมือนจะมีจำนวนลดลง นักอนุรักษ์กังวลว่า การค้าเหยี่ยวผิดกฎหมาย ผนวกกับถิ่นอาศัยของเหยี่ยวที่นับวันมีแต่จะหดหายไป โดยเฉพาะในแถบอาร์กติก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจคุกคามการอยู่รอดในระยะยาว ของเหยี่ยว
เรื่อง ปีเตอร์ กวิน
ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน
อ่านเพิ่มเติม