คัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตนี้บันทึกลงบนสมุดไทยขาวหรือสมุดข่อยสีขาว กว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 66 เซนติเมตร แบ่งเนื้อหาเป็น 6 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เป็นบทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์ ตอนที่ 2-5 เป็นพระมาลัยกลอนสวด และตอนที่ 6 เป็นบทสวดแจงภาษาบาลี ซึ่งบันทึกด้วยอักษรขอมและภาษาไทยโบราณสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีภาพเขียนโบราณประกอบตลอดเล่ม “เหมือน ‘พาวเวอร์พอยต์’ เล่าเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ถ้าผิดศีลข้อที่สามต้องปีนต้นงิ้ว มีนายนิรยบาลใช้หอกแทง อ่านเข้าใจง่าย เห็นภาพพจน์ สมัยก่อนจึงนิยมใช้สอนกันมาก เป็นการสอนป้องและปรามว่าความชั่วเป็นของร้อน”
สำหรับการ “ปริวรรต” พระราชปริยัติมุนีอธิบายว่า “คัมภีร์ทางพุทธศาสตร์ที่เป็นภาษาบาลีทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอม เพราะภาษาบาลีไม่มีตัวอักษร เหมือนที่ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสไม่มีตัวอักษร ต้องใช้อักษรโรมัน ไทยเรามีทั้งภาษาและอักษรไทย การจารคัมภีร์ภาษาบาลีจึงต้องจารึกด้วยอักษรขอม หรือจะเขียนด้วยอักษรโรมันก็ได้ ไทยปัจจุบันก็ได้” คำว่า “ปริวรรต” จึงหมายถึงการถ่ายตัวอักษร จากอักษรขอมเป็นอักษรไทยร่วมสมัย “เช่นคำว่า book ในภาษาอังกฤษ เราถ่ายด้วยคำที่เขียนด้วยอักษรไทยว่า ‘บุ๊ก’ ทุกคนอ่านได้ แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษจะแปลไม่ออกว่าบุ๊กคืออะไร เราจึงปริวรรตจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยบาลี แล้วแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยปัจจุบัน” โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยฆราวาสผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรขอม ยังได้ทำอธิบายขยายความเป็นเชิงอรรถประกอบด้วย นอกจากนี้ทางวัดพระเชตุพนยังกำลังจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ โดยนำเอาสาระจากคัมภีร์พระมาลัยฉบับ “นครรัฐวาติกัน” มาจัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ต่อไป
นอกเหนือจากคัมภีร์พระมาลัยฉบับดังกล่าวแล้ว พระราชปริยัติมุนีกล่าวว่าระหว่างที่คณะทำงานนำคัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตไปถวายนั้น พิพิธภัณฑ์วาติกันส่วนแสดงของจากเอเชียกำลังปิดซ่อม “มงซินญอร์วิษณุเล่าว่ามีของถวายจากเมืองไทยประมาณ 200 กว่าชิ้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่าต้องมีคัมภีร์ฉบับอื่นอีกแน่นอน ต้องรอให้ทางพิพิธภัณฑ์ซ่อมแล้วเสร็จ จึงจะสำรวจรายการสิ่งของเหล่านั้นได้”
อ่านเพิ่มเติม