ฟันของเฟรดดี เมอร์คิวรี ช่วยเขามีเสียงร้องที่ไม่เหมือนใครจริงหรือ?

ฟันของเฟรดดี เมอร์คิวรี ช่วยเขามีเสียงร้องที่ไม่เหมือนใครจริงหรือ?

เฟรดดี เมอร์คิวรี ขณะแสดงคอนเสิร์ตในปี 1980
ขอบคุณภาพจาก Steve Jennings/Wire Image

 

ฟันของ เฟรดดี เมอร์คิวรี ช่วยเขามีเสียงร้องที่ไม่เหมือนใครจริงหรือ?

“ฉันมีฟันเกินมา 4 ซี่” เฟรดดี เมอร์คิวรี บอกกับ ไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ ผู้ที่จะกลายมาเป็นสมาชิกวงในอนาคตหลังร้องเพลงจบ “ฟันยื่นแบบนี้เลยมีพื้นที่ในปากเพิ่ม”

ส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์ Bohemian Rhapsody ที่ถ่ายทอดชีวประวัติของ เฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำวง Queen ผู้กลายเป็นตำนาน ทว่าฟันซี่ใหญ่ที่ยื่นออกจากปากช่างเหมือนตลกร้าย เพราะมันทำให้เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เฟรดดีถูกล้อเลียนเรื่องฟันมาตั้งแต่เด็ก นั่นทำให้เขาติดนิสัยชอบยกมือขึ้นมาปิดปากเวลาพูดกับใคร และแม้จะโด่งดังมีชื่อเสียงเงินทองมากมาย สุดยอดนักร้องผู้นี้ก็ยังคงไม่กล้าที่จะทำอะไรกับฟันของตนเอง เนื่องจากกลัวว่าความสามารถในการร้องเพลงของตนจะถดถอยลง และเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการไว้หนวดแทน

ก่อนที่จะมาใช้ชื่อเฟรดดี เมอร์คิวรี ชื่อจริงของเขาคือฟารูค บัลซารา บุตรชายคนโตของครอบครัวชาวปาร์ซีที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 1946 ที่เมืองแซนซิบา ประเทศแทนซาเนีย เฟรดดีเติบโตในอินเดียและเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก ก่อนจะย้ายมาอยู่ประเทศอังกฤษและเริ่มก่อตั้งวงดนตรีกับเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่อายุ 12 ปี หลังผ่านวงดนตรีสมัครเล่นมาแล้วหลายวงจนจบการศึกษาด้านดีไซน์ ในที่สุดเฟรดดีก็ได้พบกับไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ ที่ในขณะนั้นพวกเขากำลังเล่นดนตรีตามคลับในวันหยุดสุดสัปดาห์ และร่วมกันก่อตั้งวง Queen ขึ้นมา

เฟรดดี เมอร์คิวรี
เฟรดดี เมอร์คิวรีในวัย 12 ปี ถ่ายภาพคู่กับถ้วยรางวัลจากการแข่งขันคริกเก็ต
ขอบคุณภาพจาก https://steemit.com/music/@hilmerwhite/things-you-did-not-know-about-freddie-mercury

ด้วยบทเพลงอันโดดเด่น แปลกใหม่ ประกอบกับเสียงร้องอันทรงพลังและมากด้วยเทคนิคแพรวพราวของเฟรดดี วง Queen ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกประเทศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่แสดงสดได้อย่างยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ ส่วนตัวนักร้องนำเองติดอันดับนักร้องยอดเยี่ยมตลอดกาลลำดับที่ 18 โดย Rolling Stone และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักร้องที่มีแฟนเพลงรักมากที่สุดในประวัติศาสตร์

อะไรคือความลับเบื้องหลังของสไตล์การร้องเพลงหลากหลายโทนเสียงของเฟรดดี เมอร์คิวรี? ใช่ฟันที่ยื่นออกมาจนทำให้เขาไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรมันจริงหรือ? เมื่อปี 2016 ทีมนักวิจัยจากออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก และสวีเดนร่วมกันหาคำตอบนี้ แต่ก่อนจะทราบที่มาของเสียงร้องอันน่าทึ่ง มาเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงแหล่งกำเนิดเสียงในคอของเรา

เฟรดดี เมอร์คิวรี
สมาชิกวง Queen ไล่จากซ้ายไปขวา โรเจอร์ เทย์เลอร์ (กลอง), เฟรดดี เมอร์คิวรี (นักร้องนำ), ไบรอัน เมย์ (กีต้าร์) และจอห์น ดีคอน (เบส)
ขอบคุณภาพจาก https://www.nme.com/news/freddie-mercury-biopic-cast-members-queen-2127061

 

เสียงพูดมาจากไหน?

เสียงคือการสื่อสารพื้นฐานในโลกของสัตว์ เสียงของมนุษย์เองก็เช่นกัน ตลอดวิวัฒนาการที่ผ่านมาเสียงของเราพัฒนาจากการสื่อสารเบื้องต้นไปสู่ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ และกลายมาเป็นภาษาในที่สุด

เมื่อเราเอื้อนเอ่ยคำบางคำออกมา ลมจะถูกส่งออกจากปอดไปยังกล่องเสียงที่ตั้งอยู่ใต้คาง กล่องเสียงเป็นอวัยวะที่สร้างขึ้นจากกระดูกอ่อนยึดติดกันด้วยเอ็นและกล้ามเนื้อ ตรงกลางมีอวัยวะสำคัญคือสายเสียง เมื่อลมเคลื่อนผ่านสายเสียงจะทำให้สายเสียงเกิดการสั่นสะเทือนขึ้นเป็นเสียงสูงต่ำ แต่เสียงที่เปล่งออกมานั้นยังไม่มีความหมาย จนกว่าจะกระทบกับเพดานปาก ลิ้น หรือริมฝีปาก ที่ขยับ ม้วน หรือกระดกให้เสียงเกิดเป็นคำพูดที่มีความหมายขึ้นมา โดยลักษณะของสายเสียงที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เสียงในแต่ละบุคคลต่างกันออกไป

หากเราเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอหรือสายเสียงให้ตึง เสียงที่เปล่งออกมาจะเป็นเสียงสูง ในทางกลับกันถ้าเราหย่อนสายเสียงก็จะได้เสียงที่ทุ้มต่ำแทน นักร้องที่เก่งจะสามารถควบคุมการเปล่งเสียงสูงและต่ำให้ออกมาได้ในหลายระดับและได้ในจังหวะที่พอเหมาะ ทว่าในขณะเดียวกันการใช้งานสายเสียงที่หนักเกินไปก็ส่งผลให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยอาการอักเสบของสายเสียง หรือที่เรียกกันว่าเส้นเสียงพังในระยะยาวได้

ชมการทำงานของสายเสียงได้ที่วิดีโอด้านล่าง

 

พรสวรรค์ของเฟรดดี

หนึ่งในความสามารถที่ผู้คนมักพูดถึงเฟรดดีก็คือ “เรนจ์เสียง” (Range) คำนี้มีหมายถึงความกว้างของเสียง ยิ่งมีเรนจ์เสียงกว้างมากเท่าไหร่ นักร้องคนนั้นก็ยิ่งไล่โน้ตเพลงลงต่ำได้มากและยังไล่ขึ้นเสียงสูงได้ดี จากงานวิจัยเกี่ยวกับการร้องเพลงของเฟรดดี เมอร์คิวรี ที่ถูกเผยแพร่ลงในสมาคมเสียงอังกฤษ Logopedics Phoniatrics Vocology ระบุว่า เสียงจริงๆ ของเฟรดดีนั้นอยู่ในระดับบาริโทน (Baritone) แต่เขากลับร้องเพลงในระดับเสียงเทเนอร์ (Tenor) ซึ่งสูงขึ้นมาอีกหนึ่งระดับได้อย่างไม่มีปัญหา โดยเรนจ์เสียงของเฟรดดีนั้นกว้างมาก เขามีเสียงต่ำสุดอยู่ที่ F2 และเสียงสูงสุดอยู่ที่ระดับโซปราโน F6 ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถฟังตัวอย่างเสียงต่ำของเขาได้จากเพลง “All Dead, All Dead” และเสียงสูงจากเพลง “Under Pressure”

“All Dead, All Dead”

“Under Pressure”

แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ลูกคอ (Vibrato) หรือระดับเสียงที่สูงขึ้นหรือต่ำลงต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเป็นระลอกๆ จากการวิเคราะห์เสียงร้องของเฟรดดี ปกติแล้วนักร้องทั่วไประดับของลูกคอจะอยู่ที่ 5.4Hz – 6.9Hz แต่เสียงของเขาทำได้ถึง 7.04Hz หรือเรียกได้ว่าลูกคอของเขาสั่นสะเทือนได้เร็วกว่า ลูชาโน ปาวารอตตี (Luciano Pavarotti) นักร้องโอเปร่าชื่อดังชาวอิตาลี ซึ่งมีลูกคออยู่ที่ระดับ 5.7Hz เสียอีก ด้านทีมวิจัยระบุว่าการสั่นของลูกคอที่เร็วกว่านักร้องคนอื่นนี้คือเอกลักษณ์ในการร้องเพลงของเฟรดดีที่น้อยคนจะเลียนแบบได้

ทว่าอะไรคือความลับเบื้องหลังเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ใช่ฟันที่ยื่นออกมาตามความเชื่อของเจ้าตัวไหม? คำตอบถูกเปิดเผยออกมาเมื่อทีมวิจัยลองวิเคราะห์กล่องเสียงของเฟรดดีจากวิดีโอบันทึกการร้องเพลงของเขาที่มีอยู่มากมาย ด้วยกล้องถ่ายวิดีโอความเร็วสูง 4,132 เฟรมต่อวินาที พวกเขาพบว่าเฟรดดีร้องเพลงด้วยเทคนิคที่้รียกว่า “Subharmonics” หรือการร้องเพลงด้วยลำคอ นั่นหมายความว่าเฟรดดีไม่ได้ร้องเพลงด้วยสายเสียงอย่างเดียว หากใช้เนื้อเยื่อในกล่องเสียงที่มีชื่อเรียกว่า “ventricular folds” ร่วมด้วย ในคนทั่วไปจะไม่ได้ใช้เนื้อเยื่อส่วนนี้ในการพูดหรือร้องเพลง ยกเว้นชาว Tuvan ในมองโกเลียที่มีวัฒนธรรมการขับร้องเพลงจากเสียงในลำคอ น่าทึ่งที่เฟรดดีนำเทคนิคนี้มาใช้สร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือบางทีเขาอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำเพียงแค่เปล่งเสียงออกไปตามสัญชาตญาณและหัวใจแห่งความเป็นนักร้อง

เฟรดดี เมอร์คิวรี
ภาพตัดขวางกล่องเสียง แสดงเส้นเสียง (เส้นมีขาว) และเนื้อเยื่อส่วน ventricular folds
ขอบคุณภาพจาก https://quizlet.com/266649813/speech-science-flash-cards/

ฟังตัวอย่างของลูกคอแบบเฟรดดีได้ที่เพลง “We are the champion”

ตัวอย่างการร้องเพลงในลำคอแบบชาว Tuvan

เฟรดดี เมอร์คิวรี
วง Queen ในงานคอนเสิร์ตการกุศล Live Aid เมื่อปี 1985 ที่จัดขึ้นในสนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน เพื่อระดมทุนช่วยผู้คนที่กำลังอดอยากในแอฟริกา
ขอบคุณภาพจาก https://attitude.co.uk/article/queen-at-live-aid-remembering-freddie-mercurys-finest-moment/7346/

อันที่จริงแม้ไม่มีงานวิจัยรองรับ เสียงร้องของเฟรดดีก็ยังคงเป็นที่หนึ่งในใจใครหลายคน แม้การศึกษานี้จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าฟันของเขามีส่วนช่วยให้ร้องเพลงเพราะหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของวง Queen นั้นจะไม่ได้มาจากพรสวรรค์ของเสียงร้องเพียงอย่างเดียว หากผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ สไตล์อันจัดจ้าน และทักษะการเอ็นเตอร์เทนคนดู ลีลาการเล่นสดของวงคือส่วนสำคัญที่ช่วยขายเสียงร้องอันมหัศจรรย์ของเฟรดดีให้ยังคงเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมาเฟรดดีได้แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าตัวเขาไม่ยอมเสี่ยงที่จะเสียเสียงร้องไปกับรูปโฉมที่ดูดีขึ้น อันที่จริงเป็นเรื่องปกติที่บรรดานักร้องมีชื่อเสียงหลายคนมักไม่ค่อยกล้าเปลี่ยนแปลงหรือแต่งเติมใบหน้าของพวกเขามากนัก เพราะรู้ดีว่าสมบัติอันล้ำค่าที่สุดหาใช่รูปลักษณ์ แต่คือเสียงที่พระเจ้าประทานให้มา ชื่อของเฟรดดี เมอร์คิวรีจะยังคงถูกกล่าวถึงไปอีกนาน ในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง Bohemian Rhapsody หนึ่งในเพลงยอดนิยมของ Queen คือข้อพิสูจน์ เพราะบทเพลงนี้รวมเอาความสามารถของเฟรดดี เมอร์คิวรีเอาไว้ในเพลงเดียว ทั้งยังเล่าชีวิตที่ผ่านมาของเขาซึ่งเต็มไปด้วยความแปลกแยกในสังคมที่ช่วงเวลานั้นยังไม่เปิดกว้างให้ผู้รักเพศเดียวกัน นี่คือบทเพลงอันคลุมเครือจากเด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวเคร่งศาสนาสู่ราชันแห่งร็อคสตาร์ราชินี

“Bohemian Rhapsody”

 

อ่านเพิ่มเติม

บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

 

แหล่งข้อมูล

เราพูดได้อย่างไร

มารู้จักเส้นเสียงกันดีกว่า

100 ปีจะมีสักคน : Freddie Mercury โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

HOW COME FREDDIE MERCURY NEVER FIXED HIS TEETH?

Science Confirms That Freddie Mercury Is The Greatest Singer Ever

The Secrets Behind Freddie Mercury’s Legendary Voice

New scientific study confirms the obvious: Freddie Mercury had an unparalleled singing voice

 

Recommend