เรื่อง อเล็กซิส โอเคโอโว
ภาพถ่าย สเตฟานี ซินแคลร์
เซียร์ราลีโอนคือหนึ่งในสถานที่เลวร้ายที่สุดในโลก ถ้าเกิดเป็นเด็กผู้หญิง
ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกที่มีประชากรราวหกล้านคน ถูกแบ่งแยกจากสงครามกลางเมืองเลวร้ายที่กิน เวลายาวนานกว่าสิบปี และเมื่อไม่นานมานี้ยังย่อยยับด้วยโรคอีโบลา ลำพังการเกิดเป็นเด็กหญิงก็หมายถึงชั่วชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและประเพณีที่มักให้คุณค่าแก่เรือนร่างมากกว่าความรู้สึกนึกคิด องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟระบุว่า ประชากรหญิงส่วนใหญ่ของเซียร์ราลีโอนหรือราวร้อยละ 90 ผ่านพิธีกรรมการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) เพื่อประกาศความเป็นสาว และเชื่อว่าเป็นการเพิ่มโอกาสของการแต่งงานออกเรือน ทว่านี่ยังเป็นวิถีทางวัฒนธรรมอันหยั่งรากลึกเพื่อกดหรือควบคุมความต้องการทางเพศด้วยในประเทศนี้เด็กสาวเกือบครึ่งหนึ่งแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และอีกไม่น้อยที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่านั้น ส่วนมากเพียงไม่กี่เดือนหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก หลายคนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ การข่มขืนมักเกิดขึ้นโดยไร้การลงโทษ ในปี 2013 กว่าหนึ่งในสี่ของเด็กสาวอายุ 15 ถึง 19 ปีในเซียร์ราลีโอนตั้งครรภ์หรือมีลูกแล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราการตั้งครรภ์สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกของเด็กในช่วงอายุดังกล่าว
“ถ้าไปตามต่างจังหวัด คุณจะเห็นเด็กอายุ 13 บ้าง 15 บ้าง แต่งงานหรืออุ้มลูกกันแล้ว” แอนนี มาฟินดา พยาบาลบำรุงครรภ์ที่ศูนย์เรนโบ (Rainbo Center) ซึ่งให้การช่วยเหลือแก่เหยื่อความรุนแรงทางเพศในกรุงฟรีทาวน์ เล่าและเสริมว่า คนไข้ของศูนย์แห่งนี้ส่วนมากมีอายุเพียง 12-15 ปี
ตอนที่ฉันพบซาราห์ในฟรีทาวน์ เธออายุ 14 ปีและตั้งครรภ์ได้หกเดือน แต่ดูเหมือนอายุน้อยกว่านั้นหลายปีด้วยซ้ำ เธอเล่าให้ฉันฟังว่าถูกเด็กชายที่อาศัยอยู่ในละแวกบ้านข่มขืน และหลบหนีออกจากเมืองไปหลังทำร้ายเธอ เมื่อแม่รู้ว่าเธอตั้งท้องก็ไล่เธอออกจากบ้าน ตอนนี้ซาราห์ (สงวนนามสกุล) อาศัยอยู่กับแม่ของเด็กชายที่เธอบอกว่าทำร้ายเธอแม่ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเธอเป็นเพียงคนเดียวที่รับตัวเธอไว้ เพราะในเซียร์ราลีโอน ผู้หญิงมักอาศัยอยู่กับครอบครัวของสามี ซาราห์ต้องเข้าครัว ทำความสะอาด และซักผ้าให้คนทั้งครอบครัว เธอเล่าว่าแม่ของเด็กชายทุบตีเธอ ถ้าเธอเหนื่อยจนทำงานบ้านไม่ไหว
ด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมายเช่นนี้ในเซียร์ราลีโอน แล้วเด็กหญิงอย่างซาราห์จะใช้ชีวิตและเติบโตได้อย่างไร
ในประเทศยากจนที่ปกครองโดยรัฐบาลซึ่งดูเหมือนไม่มีเจตจำนงที่จะปกป้องเด็กหญิงเท่าใดนัก หนทางเข้าท่าที่สุดที่เด็กหญิงเหล่านี้พอจะทำได้คือ หนีไปให้พ้นจากที่ที่พวกเธอถือกำเนิด ท่ามกลางภัยคุกคามมากมาย โรงเรียนอาจเป็นที่พักพิงเพียงแห่งเดียวของพวกเธอ การศึกษาเป็นสิ่งท้าทายเพราะค่าเล่าเรียน แต่ก็เป็นความหวังเช่นกัน วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสามารถหยิบยื่นอิสรภาพทางเศรษฐกิจและโอกาสในการกำหนดชีวิตของตนเอง บางทีอาจด้วยการช่วยให้พวกเธอได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือได้งานที่ต้องอาศัยทักษะสูงขึ้น
ถึงกระนั้น ประมาณการหนึ่งระบุว่า มีเด็กหญิงเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาระหว่างปี 2008 ถึง 2012 และการตั้งครรภ์เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดประการหนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการของเซียร์ราลีโอนห้ามเด็กหญิงตั้งครรภ์เข้าเรียนในโรงเรียน นโยบายดังกล่าวที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ตั้งครรภ์ส่งอิทธิพลต่อเพื่อนนักเรียนและปกป้องพวกเธอจากการถูกล้อเลียน
อมินัตตา ฟอร์นา นักเขียนผู้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งของเซียร์ราลีโอนเมื่อปี 2003 บอกว่าการห้ามเด็กหญิงตั้งครรภ์เข้าเรียนในโรงเรียน “เป็นแนวคิดคร่ำครึที่แก้ปัญหาแบบขอไปที และเป็นนโยบายที่ผิดพลาดมากค่ะ” เอลิซาเบท ดางคีห์ อดีตผู้ประสานงานศูนย์การศึกษาเพื่อเด็กหญิงวัยเรียนที่ตั้งครรภ์และมารดาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงฟรีทาวน์ และได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟกับกระทรวงศึกษาธิการของเซียร์ราลีโอน และหน่วยงานอื่นๆ บอกว่า “เมื่อคุณตั้งท้องก็โดนกีดกันแล้ว” เธอเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันคิดว่าเด็กพวกนี้คงอายที่จะกลับไป [เรียนที่โรงเรียน]แต่พวกเธอกลับมีความสุขเมื่ออยู่ที่นี่” ดางคีห์เองตั้งท้องเมื่ออายุ 17 ปี พ่อไล่เธอออกจากบ้าน ลูกสาวของเธอเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการก่อนอายุครบขวบปี ดางคีห์ซึ่งตอนนี้อายุ 35 ปีแนะนำนักเรียนของเธอให้พากเพียร ลืมอดีตที่ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนไปเสีย แล้วเดินหน้าต่อไป
ชาวเซียร์ราลีโอนมักกล่าวโทษว่า รากเหง้าของปัญหาในประเทศเริ่มต้นจากสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มกบฏและรัฐบาล เป็นเวลากว่าสิบปีนับตั้งแต่ปี 1991 ที่เด็กหญิงและสตรีหลายพันคนถูกข่มขืน ผู้คนเรือนหมื่นถูกฆ่า และประชาชนอีกกว่าสองล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ล่าสุดกว่านั้น คือการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาที่คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 4,000 รายภายในเวลาไม่ถึงสองปี โรคร้ายนี้ส่งผลต่อครอบครัวนับไม่ถ้วน ทำให้เด็กหญิงต้องกำพร้าและบีบให้พวกเธอต้องกลายเป็นผู้เลี้ยงดูพี่น้องก่อนที่จะรู้ความด้วยซ้ำ ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างกระท่อนกระแท่น แต่การกดขี่เด็กหญิงและสตรียังคงดำเนินต่อไป
ฟาทู วูรีย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในฟรีทาวน์ ผู้เติบโตในต่างประเทศก่อนเดินทางกลับมาตุภูมิ บอกว่า “ประเทศนี้ไม่ใส่ใจต่อร่างกาย ชีวิต และจิตวิญญาณของหญิงสาวชาวเซียร์ราลีโอนหรอกค่ะ นโยบายต่างๆที่คิดขึ้นมาไม่ได้คำนึงถึงหรือฟังเสียงของสตรีเซียร์ราลีโอนเลย”
ในฐานะผู้หญิงที่ใช้เวลาคลุกคลีอยู่ในแอฟริกาตะวันตกค่อนข้างนาน ฉันมีปฏิกิริยารุนแรงเมื่อไปเยือนเซียร์ราลีโอนครั้งแรก แต่ฉันก็พบด้วยว่า แม้ในประเทศที่รุมเร้าไปด้วยปัญหาแห่งนี้ยังมีเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่กำลังหาหนทางหลุดพ้นจากอุปสรรคขวากหนามทั้งปวง