ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน: วิถีแห่งอหิงสา

ศาสนาเชน
มุนี ศรุตนันที วัย 83 ปี นักบวชเชนนิกายทิคัมพร กำลังเดินช้าๆ ไปยังอีกอาคารหนึ่ง เพื่อศึกษาหลักธรรม เขาสละทางโลกเพื่อออกบวชตั้งแต่อายุ 66 ปี หลังเกษียณอายุจากตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของอินเดีย

อรุณรุ่งของวันใหม่ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายกลางเมืองหลวงแดนภารตะ ผมกับผู้ช่วยจับจองที่นั่งบนรถไฟตู้นอน เดินทางไปยังหมู่บ้านฟัลนา และต่อไปยังเมืองเล็ก ๆ ชื่อ รานัคปุระ ในรัฐราชสถาน อยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางตะวันตกประมาณ 680 กิโลเมตร “นํ้าไหล ไฟก็มา” มะกัน ไรก้า หนุ่มพื้นเมือง ไว้หนวดดูเคร่งขรึมตามแบบฉบับชาวราชสถาน พูดถึงรีสอร์ตเล็ก ๆ ในหุบเขารานัคปุระที่เขาเป็นผู้ดูแล มะกันในวัย 23 ปีดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย หุบเขาแห่งนี้อุดมไปด้วยแหล่งนํ้าตามธรรมชาติ แม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนที่ผืนดินร้อนระอุราวกับเตาอบ

เช้าวันรุ่งขึ้น มะกัน ไรก้า พาผมและผู้ช่วยซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปยังวัดเชนรานัคปุระ ห่างจากที่พักของเราไปประมาณสองกิโลเมตร วัดเชนแห่งนี้สร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบสี่ เพื่ออุทิศถวายแด่พระตีรถังกรองค์ที่หนึ่ง พระนามว่า อทินาถภควันต์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมงดงามอลังการเสาหินอ่อน 1,444 ต้น และผนังสลักลวดลายงามวิจิตร ทั้งหมดรังสรรค์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงพลังศรัทธาที่มีต่อศาสนา

เช้าตรู่อย่างนี้ผมแทบไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงไม้กวาดครูดไปตามพื้นคอนกรีต หญิงชราชาวพื้นเมืองกำลังทำความสะอาดลานวัด และเสียงคนสวดมนต์พึมพำ “รอผมอยู่ตรงนี้ พวกคุณเข้าไปไม่ได้” มะกันบอกพวกเรา เขาเดินตามเสียงสวดมนต์เข้าไปยังคูหาหินอ่อนขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร หลังผ่านไปราวครึ่งชั่วโมง ชายวัยกลางคนในชุดผ้าสีขาวคลุมไหล่พร้อมผ้าปิดปากเดินนำมะกันออกมา ทั้งสองมุ่งหน้าไปยังธรรมศาลา มะกันหันมาบอกให้พวกเราเดินตามเขาเข้าไป

ชายผู้นั้นคือ ทิพยะ จันทรามุนี นักบวชเชนนิกายเศวตัมพรซึ่งเดินทางมาจำวัด ณ ธรรมศาลาแห่งนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ท่านทิพยะ จันทรามุนี กล่าวกับพวกเราราวกับรู้ถึงจุดมุ่งหมายในการเดินทางมาของพวกเรา ท่านสาธยายถึงหัวใจของศาสนาเชนว่าคือหลักอหิงสา การที่มนุษย์ละเว้นจากการฆ่า การทำร้าย และการเบียดเบียนทุกรูปแบบ ทั้งในความคิด วาจา และการกระทำ ผู้นับถือศาสนาเชนจึงเป็นมังสวิรัติโดยสมบูรณ์ แต่จะมีพืชผักบางชนิดที่เป็นข้อห้าม เช่น หอม กระเทียมมันฝรั่ง และพวกรากไม้ เพราะการกินพืชผักเหล่านี้ถือเป็นการทำลายชีวิตของพืชในทันที ต่างจากธัญพืชอย่างข้าวสาลีที่จะสิ้นอายุขัยเองเมื่อผลิดอกออกผล

ศาสนาเชน
ศรัทธาชนชาวเชนนิกายเศวตัมพรใช้ผ้าปิดปากระหว่างทำพิธีบูชาทางศาสนา เพื่อป้องกันแมลงหรือสิ่งมีชีวิตที่อาจเล็ดลอดเข้าปาก อันเป็นการทำลายชีวิตอย่างไม่เจตนาและขัดหลักอหิงสธรรม

ระหว่างบทสนทนา ผมถามท่านทิพยะ จันทรามุนี ว่า ทำไมต้องมีผ้าปิดปากตลอดเวลา ท่านตอบว่า เพื่อป้องกันแมลงและกระทั่งจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อาจบินพลัดเข้าปากเราซึ่งจะกลายเป็นการฆ่าโดยไม่รู้ตัว “พวกเราปิดปากตลอดเวลาทุกครั้งที่ทำพิธีบูชาต่าง ๆ” ท่านยังกล่าวถึงหลักธรรมปฏิบัติของนักบวชเชน หรือ มหาพรตห้าข้อ อันประกอบด้วย 1) เว้นจากการฆ่า 2) เว้นจากการกล่าวเท็จ 3) เว้นจากการลักทรัพย์ 4) เว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ และ 5) เว้นจากการยึดถือในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน นอกจากนี้ยังต้องฝึกควบคุมอายตนะทั้งห้า อันได้แก่ ตา หู จมูกลิ้น กาย และใจ ทั้งนักบวชและคฤหัสถ์ห้ามบริโภคอาหารหลังดวงอาทิตย์ตกเด็ดขาด ท่านบอกว่าโลกทุกวันนี้ท้าทายต่อวิถีดั้งเดิมของเชนมาก “นักบวชอย่างเราเชื่อว่า กิเลสคือตัวเราเอง ยิ่งทรมานตนมากเท่าไร เราก็ยิ่งชนะกิเลสมากเท่านั้น” ท่านทิพยะ จันทรามุนี กล่าว

เมื่อผมถามถึงนักบวชในนิกายทิคัมพร ท่านตอบว่า “เราไม่ได้พบเจอนักบวชเหล่านั้นมาหลายปีแล้ว การพบนักบวชทิคัมพรเป็นเรื่องยาก เราแทบจะไม่รู้เรื่องราวของนิกายสุดโต่งนี้เลย เพราะพวกเขาจาริกตลอดเวลา ไม่มีแผนการล่วงหน้า ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านแถวนี้เคยพบเห็นนักบวชทิคัมพรครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณสองปีที่แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเคยเห็นอีกเลย” ท่านทิพยะ จันทรามุนีกล่าวจบก็ลุกขึ้นทันทีเพื่อไปฉันอาหาร ระหว่างเดินไปยังโรงทาน ท่านใช้แส้สีขาวทำจากขนแกะคอยปัดกวาดไปรอบ ๆ ตัว เพื่อป้องกันแมลงหรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่อาจพลัดหลงมาบนวิถีทางของท่าน

 

พลบคํ่า แสงตะวันค่อย ๆ หลีกทางให้ความมืดและม่านหมอกที่โรยตัวปกคลุม ค่างหนุมานหลายสิบตัวถือสถานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของตนตามอย่างเทพเจ้าฮินดูหยิบฉวยอาหารของพวกเราหน้าห้องพัก มะกันแนะนำให้เรารู้จักกับพ่อของเขา ชายสูงวัยในชุดเทอบันสีแดง จมัน ราม ไรก้า วัย 59 ปี เป็นพ่อครัวในโรงอาหารสำหรับชาวเชนในวัดเชนรานัคปุระ ซึ่งถือเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวไรก้าอีกทาง นอกเหนือจากการเลี้ยงสัตว์

มะกันเล่าว่า ครอบครัวของเขาเกิดในชนเผ่าไรก้า ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในราชสถาน “พวกเราเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และนับถือศาสนาฮินดู นามสกุลผมนั่นแหละที่บ่งบอกตัวตนของเราได้ดีที่สุด” เขาบอก พ่อของเขาทำงานในวัดเชนมาได้แปดปีแล้ว ทุกปีจะมีสาธุชนชาวเชนเดินทางมายังวัดแห่งนี้จำนวนมาก เพื่อทำบุญและสักการบูชาศาสดา “ชาวเชนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนดี มีการศึกษา และฐานะค่อนข้างรํ่ารวย ส่วนคนที่ประพฤติตนไม่ดีก็มีนะ” มะกันพูดพลางชี้นิ้วไปที่กองขวดวิสกี้ชื่อดังจากยุโรป “คนพวกนี้มักมากับครอบครัวแล้วอาศัยจังหวะแยกตัวออกมาดื่มสุรา แต่ก็มีจำนวนน้อยมากชาวเชนไม่มีชนชั้นวรรณะ ต่างจากพวกเราที่เรื่องเหล่านี้ยังคงฝังรากลึกในชีวิตประจำวัน ผมชอบพวกเขาตรงที่จิตใจดี และที่สำคัญ ผมกำลังคบหาอยู่กับหญิงสาวที่นับถือศาสนาเชนด้วย” มะกันเล่าอย่างภาคภูมิ “แต่ตอนนี้เธอไม่อยู่ เดินทางไปทำธุระกับทางบ้านที่มุมไบไม่อย่างนั้นผมจะพามาแนะนำให้พวกคุณรู้จัก”

“ผมเคยเห็นนักบวชชีเปลือยไม่กี่ครั้งในชีวิต ครั้งสุดท้ายที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นผมเดินทางไปเต้นรำในงานเทศกาลประจำปีของที่นั่น พวกนักบวชชีเปลือยจะเดินตัวเปล่าเล่าเปลือย มีเพียงกานํ้าและไม้กวาดหางนกยูง พวกเรากลัวนักบวชทิคัมพรมาก กลัวว่าท่านจะสาปเรา” มะกันเล่าถึงนักบวชทิคัมพร “พวกเราส่วนใหญ่ในอินเดียที่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรงทางศาสนาให้ความเคารพศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน หรือซิกข์ ซึ่งล้วนถือกำเนิดบนผืนแผ่นดินของเรา คุณเองก็เห็นชาวฮินดูและชาวซิกข์บางคนยังเข้าไปชมวัดและสักการบูชาองค์ตรีถังกร บางครอบครัวก็แต่งงานข้ามศาสนา แต่พวกเขายังคงนับถือศาสนาเดิมของครอบครัวและเปิดรับศาสนาของคู่ครองด้วย เหมือนตัวผมและแฟนสาว นี่มันคืออินเดียโฉมใหม่โดยแท้” มะกันพูดพลางยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

 

Recommend